ก่อนอื่นมาดูแผนที่มิดเดิ้ล-เอิร์ธกัน
ความเป็นมาของคนแคระ
เผ่าพันธุ์คนแคระแบ่งออกเป็น 7 เผ่า ได้แก่ Firebeards, Broadbeams, Longbeards (เผ่าเครายาว มีบทบาทมากที่สุด), Ironfists, Stiffbeards, Blacklocks และ Stonefoot
คนแคระ 4 เผ่าหลัง อาศัยอยู่ในภูมิภาคตะวันออกของทวีป และไม่มีบทบาทอยู่ในเนื้อเรื่อง
ทั้ง 7 เผ่าสืบเชื้อสายมาจากบิดาแห่งคนแคระ 7 คน ซึ่งเทพวาลานามว่า อาวเล ซึ่งเป็นเทพแห่งการช่าง ลอบสร้างขึ้นมา แต่มีอันให้ถูกพระผู้เป็นเจ้าบัญชาให้หลับไปก่อน ต้องรอจนเอลฟ์ตื่นขึ้นมาบนโลก
ภาพเทพอาวเลกับบิดาแห่งคนแคระทั้ง 7 (ไม่มีสโนไวท์นะ)
ดูริน ผู้เป็นอมตะ หรือดูรินที่ 1 แห่งเผ่าเครายาว คือบิดาที่อาวุโสสูงสุด และในตอนที่บิดาแห่งคนแคระจำเป็นต้องหลับไปก่อนเพื่อรอเวลาให้เอลฟ์ตื่นขึ้นบนโลก ดูรินก็เป็นบิดาคนสุดท้ายที่ตื่นขึ้นมาและเป็นบิดาที่หลับตามลำพังในขณะที่บิดารายอื่นๆจะหลับไปเป็นคู่
สถานที่ดูรินตื่นขึ้นคือภูเขากุนดาบัด ทางเหนือของเทือกเขามิสตี้ เมื่อบิดาของคนแคระทั้งหมดตื่นขึ้น เขากุนดาบัดก็กลายเป็นสถานที่พบปะและจัดประชุม
คนแคระทั้งหมดถือว่าภูเขาลูกนี้เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นเมื่อภายหลังที่พวกออร์คเข้ายึดครองภูเขาและดูรินเดินทางออกจากกุนดาบัดไปสร้างนครคาซัดดูม(มอเรีย) จึงทำให้เหล่าคนแคระฝังใจเกลียดชังพวกออร์คมาก
ในเวอร์ชั่นภาพยนตร์ The Hobbit อาซ็อก ศัตรูคู่อาฆาตของธอรินก็เป็นออร์คจากภูเขากุนดาบัด (ส่วนตัวว่าก็ค่อนข้างสมเหตุสมผลอยู่ ที่ปรับบทให้หัวหน้าออร์คผู้นี้เป็นทั้งศัตรูโดยธรรมชาติของธอรินซึ่งสืบเชื้อสายมาจากดูรินที่ 1 โดยตรง และยังย้ำความแค้นเดิมด้วยการสังหารธรอร์ อัยกาของธอรินในศึกอาซานุลบิซาร์อีกด้วย)
แต่ในฉบับหนังสือ อาซ็อกเป็นออร์คที่มายึดมอเรีย ไม่ปรากฎแหล่งที่มา และเขาได้สังหารธรอร์ไปก่อนหน้านั้น ซึ่งการสังหารครั้งนั้นเองที่นำมาซึ่งศึกอาซานุลบิซาร์ สงครามแห่งคนแคระและออร์ค เกิดขึ้นหน้าประตูมอเรีย
เป็นศึกที่ได้สร้างวีรบุรษ “ดาอิน ไออ้อนฟุต” ขึ้นมา และทำให้ธอรินที่ 2 แห่งวงศ์วานดูริน ได้ฉายา “โอเคนชีลด์”
คนแคระเผ่าเครายาวเชื่อกันว่า ดูรินสามารถกลับชาติมาเกิดได้ 7 ครั้ง และเมื่อเกิดใหม่แล้วก็สามารถจดจำอดีตชาติของตนเองได้ด้วย
และจะใช้ชื่อดูรินอยู่เสมอไป ทั้งยังจะกลับขึ้นเป็นกษัตริย์ตามเดิมอีกด้วย
ซึ่งในยุคต่อๆมา มีดูรินขึ้นเป็นกษัตริย์อีก 6 พระองค์ด้วยกัน และสิ้นสุดวงศ์วานที่กษัตริย์ดูรินที่ 7
ภาพต้นไม้ตระกูลของดูรินค่ะ
ถิ่นที่อยู่ของคนแคระ
- เทือกเขาสีน้ำเงิน หรือ เอเรด ลูอิน
เป็นเทือกเขาทางตะวันตกสุดของมิดเดิ้ล-เอิร์ธตั้งแต่สิ้นยุค 1 เป็นต้นมา (ดูแผนที่ประกอบได้จ้า) เป็นสถานที่ตื่นของบิดาแห่งคนแคระเผ่า Firebeards และ Broadbeams
ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีการสร้างนครโบราณของคนแคระขึ้นมา 2 แห่ง คือนครโนกรอด และนครเบเลกอสต์ ซึ่งปัจจุบันล่มสลายไปหมดแล้ว
ภายหลังเมื่อมังกรสเม้าก์บุกยึดเอเรบอร์ ตามมาด้วยศึกอาซานุลบิซาร์ ธราอินได้พาครอบครัวและราษฎรมาลงหลักปักฐานกันที่เทือกเขานี้
ก่อนที่ธอริน โอเคนชีลด์จะรวบรวมเครือญาติออกไปกอบกู้เอเรบอร์อีกครั้งหนึ่ง
- คาซัด-ดูม
นครที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของคนแคระ ลอดใต้เทือกเขามิสตี้ มีลักษณะเป็นโถงถ้ำและอุโมงค์ขนาดมโหฬาร ขึ้นชื่อว่างดงามและมั่งคั่งมากที่สุด
ดูริน ผู้เป็นอมตะ เป็นผู้ก่อตั้งนครนี้ขึ้นมาและมีทายาทสืบเชื้อสายปกครองนครต่อมาอีกหลายชั่วรุ่น แต่เมื่อถึงสมัยดูรินที่ 6 เกิดมีการขุดเหมืองเพื่อหาแร่มิธริลเพิ่มลึกจนไปปลุกบัลร็อกตัวสุดท้ายให้ตื่นขึ้นมา
บัลร็อกตัวนี้คือไมอาที่เป็นข้ารับใช้จอมมารมอร์กอธและหนีมากบดานอยู่ใต้เทือกเขามิสตี้ตั้งแต่ปลายยุค 1 ของโลก กษัตริย์ดูรินที่ 6 ถูกบัลร็อกสังหาร คนแคระที่เหลือต้องอพยพออกจากนคร และพวกออร์คก็เข้าไปยึดเป็นที่อยู่แทน
เมื่อนั้นเองที่นครคาซัด-ดูมถูกเปลี่ยนนามกลายเป็น “มอเรีย” ซึ่งหมายถึง อเวจีดำ ไม่มีคนแคระคนใดกล้ากลับไปที่นั่นอีก
จนบาลิน 1 ในคณะผู้ทวงสมบัติแห่งเอเรบอร์พาพรรคพวกจำนวนหนึ่งกลับไปอีกครั้งเพื่อกู้คืนอาณาจักรจากพวกออร์ค
- เอเรบอร์หรือภูเขาโลนลี่
หลังจากที่มอเรียถูกยึดไป ธราอินที่ 1 ผู้เป็นทายาทสายตรงของดูริน ผู้เป็นอมตะ ได้พาประชาชนไปทางตะวันออกของเทือกเขามิสตี้ ผ่านป่าเมิร์กวู้ดจนถึงเอเรบอร์แล้วสร้างอาณาจักรใต้ขุนเขาขึ้นที่นั่น
และมีการขุดพบอัญมณีอาร์เคนสโตนไม่นานหลังจากนั้น แต่ธอรินที่ 1 ผู้เป็นโอรสเลือกจะพาพลพรรคออกจากนคร ไปยังเทือกเขาสีเทาที่ทอดตัวอยู่ทางเหนือแทน
เนื่องจากเทือกเขานั้นยังมีทรัพยากรอยู่อีกมาก
แต่ภายหลัง คนแคระที่อาศัยในเทือกเขาสีเทานำโดยธรอร์(ปู่ของธอริน โอเคนชีลด์) ได้ย้ายกลับมายังเอเรบอร์อีกครั้งและอาณาจักรใต้ขุนเขาแห่งนี้ก็มั่งคั่งรุ่งเรืองยิ่งขึ้น
มีการค้าขายกับมนุษย์ในนครเดลที่อยู่ใกล้เคียง และแลกเปลี่ยนสินแร่ต่างๆที่ขุดพบกับคนแคระเครือญาติที่อาศัยในเขาเหล็ก
จนในที่สุดความโด่งดังของเอเรบอร์ก็ไปเข้าหูมังกรสเม้าก์ที่อยู่ทางเหนือเข้าจนได้
มังกรบินมาทำลายเมืองและเข้าไปนอนกกสมบัติอยู่ในท้องพระโรง คนแคระที่รอดชีวิตต่างหนีเอาตัวรอดไปทางตะวันตก บ้างก็ไปยังเทือกเขาสีน้ำเงิน บ้างก็ไปสมทบกับเครือญาติที่เขาเหล็ก
สเม้าก์ยึดครองอาณาจักรอยู่เป็นเวลาเกือบ 200 ปี ก่อนที่ธอริน โอเคนชีลด์ อดีตเจ้าชายแห่งเอเรบอร์ พร้อมคณะ จะกลับมาทวงคืน
- เอเรด มิธริน หรือ เทือกเขาสีเทา
เป็นเทือกเขาที่อยู่ทางเหนือของเมิร์กวู้ด เป็นถิ่นอาศัยของคนแคระที่หนีออกมาจากมอเรีย นอกเหนือจากเอเรบอร์ ต่อมาธอรินที่ 1 โอรสของธราอิน กษัตริย์ใต้ขุนเขา ได้เดินทางออกจากเอเรบอร์มาอาศัยอยู่กับญาติๆที่นี่
แต่เมื่อเวลาผ่านไป พวกมังกรที่มีถิ่นฐานในวิทเธอร์ ฮีธ อันเป็นหุบเขาทางทิศตะวันออกของเทือกเขาสีเทา ได้เปิดฉากทำสงครามกับคนแคระเรื่อยมา
ภาพวิทเธอร์ ฮีธ
ทั้งคนแคระและมังกรต่างก็ล้มตายจากการสู้รบนี้ไปมาก จนในที่สุดคนแคระก็พากันละทิ้งเทือกเขาสีเทา ในขณะที่ฝ่ายมังกรก็เหลือเพียงสเม้าก์ มังกรทอง เป็นตัวสุดท้าย
ธรรอร์นำผู้คนไปกลับไปยังเอเรบอร์ ในขณะที่กรอร์ อนุชาของธรอร์ เลือกจะไปยังเขาเหล็ก
- Iron Hills เขาเหล็ก
เป็นเทือกเขาที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจากเอเรบอร์ มีแร่โลหะให้คนแคระที่อพยพมา(นำโดยกรอร์)ได้ขุดพบมากมาย
แม้ความมั่งคั่งจะไม่เท่าเอเรบอร์ แต่ที่นี่ก็กลายเป็นอาณานิคมขนาดใหญ่ของคนแคระเผ่าเครายาว
จนมาถึงปลายยุค 3 ดาอิน ไออ้อนฟุต ญาติของธอริน โอเคนชีลด์ได้ขึ้นปกครองเขาเหล็ก ซึ่งตัวละครตัวนี้จะเปิดตัวใน The Hobbit: BotFA
- เขากุนดาบัด
สถานที่ตื่นของดูรินที่ 1 บิดาแห่งคนแคระเผ่าเครายาว ตั้งอยู่ทางตะวันตกของเทือกเขาสีเทา และอยู่ติดกับตอนเหนือของเทือกเขามิสตี้ เมื่อดูรินเดินทางจากไป พวกออร์คก็เข้ายึดภูเขาเป็นของตน กุนดาบัดกลายเป็นแหล่งอาศัยของออร์คทางทิศเหนือนับแต่นั้น จวบจนสิ้นยุค 3 ของโลก
ดาบเอลฟ์ทั้ง 3 ที่คณะธอรินใช้
ดาบทั้ง 3 นี้ คณะธอรินไปพบมาโดยบังเอิญ เมื่อกำจัดโทรลล์ภูเขาได้และเข้าไปค้นถ้ำของพวกมัน ตามภาพยนตร์ภาคแรก
ทั้ง 3 เล่มจะเปล่งแสงสีฟ้าเรืองออกมาเป็นสัญญาณเตือน ยามเมื่อมีออร์คหรือกอบลินเข้ามาใกล้
แกลมดริง
แกนดัล์ฟถูกใจดาบเล่มนี้จนเก็บไว้ใช้เป็นดาบประจำตัว และใช้มันมาจนยุคสงครามแหวน
โดยได้ทราบจากเอลรอนด์ว่า ดาบนี้เคยเป็นของทูร์กอน กษัตริย์เอลฟ์แห่งนครกอนโดลิน ซึ่งนครนั้นถูกบุกทำลายราบคาบไปตั้งแต่ยุคที่ 1 ของโลก สันนิษฐานว่าพวกโทรลล์คงจะไปดักปล้นมาอีกต่อหนึ่ง
ออร์คริสต์
ดาบเล่มนี้ถูกตีขึ้นในนครกอนโดลินเช่นกัน และถูกนับว่าเป็นดาบคู่ของดาบแกลมดริงด้วย ธอรินกลายมาเป็นเจ้าของดาบเล่มนี้
เขารู้สึกยกย่องชื่นชมมันเมื่อเอลรอนด์เล่าความเป็นมาของดาบว่าเคยใช้สังหารออร์คมามากมาย
ในฉบับภาพยนตร์ ด้ามของดาบออร์คริสต์ทำมาจากเขี้ยวมังกร
สติง
แม้จะถูกค้นพบพร้อมกัน แต่ดาบสติงก็ดูเหมือนจะเป็นมีดสั้นเท่านั้นสำหรับเอลฟ์หรือมนุษย์
แต่สำหรับฮฮบบิทที่ตัวเล็กกว่ามาก มันก็กลับกลายเป็นดาบเล่มยาวพอดีมือ
และสิ่งที่พิเศษสำหรับดาบเล่มนี้ก็คือ มันไม่มีชื่อเฉพาะ ไม่มีใครรู้ที่มาของมันตั้งแต่แรก
บิลโบ้เป็นผู้ตั้งชื่อให้ดาบด้วยตนเองตอนที่ใช้มันป้องกันตัวด้วยการแทงแมงมุมยักษ์แห่งป่าเมิร์กวู้ด
หลายสิบปีต่อมา ดาบเล่มนี้ถูกส่งมอบต่อให้โฟรโด้ แบ๊กกิ้นส์ ลูกชายของโดรโกซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของบิลโบ้
เสื้อเกราะมิธริล
มิธริลเป็นชื่อเรียกของแร่เงินชนิดหนึ่ง แข็งแกร่งแต่น้ำหนักเบา มีอีกชื่อว่า “แร่เงินมอเรีย” เนื่องจากขุดพบได้ในเหมืองมอเรีย มีมูลค่ามหาศาลและทำให้คนแคระแห่งมอเรียมั่งคั่งร่ำรวย
แร่เงินชนิดนี้ถูกนำไปสร้างเป็นเครื่องประดับบ้าง เป็นเครื่องแต่งกายบ้าง เช่น ตัวแหวนเอลฟ์เนนย่าของกาลาเดรียล สายประดับเอเลนดิลเมียร์ซึ่งเป็นมรดกประจำตระกูลของอารากอร์น
แต่ที่รู้จักกันมากที่สุดในเรื่องก็คือเสื้อเกราะมิธริลที่แกนดัล์ฟ พ่อมดเทา กล่าวว่ามันมีมูลค่าสูงกว่าไชร์ทั้งแคว้นเสียอีก
ซึ่งในภาพยนตร์ LotR: FotR ก็จะเห็นฉากที่บิลโบ้มอบเสื้อเกราะนี้ให้แก่โฟรโด้ในริเวนเดลล์
ใน The Hobbit: The Battle of the Five Armies เราจะได้รู้กันค่ะว่าบิลโบ้ได้เกราะนี้มาอย่างไร
หลายคนคงทราบอยู่แล้ว ถึงความเป็นมาของเอลฟ์ เราขอสรุปไว้แค่คร่าวๆนะคะ ถ้าแบบละเอียดต้องตามลิ้งค์ด้านบนเลยจ้า
แต่เดิมพวกเอลฟ์ตื่นขึ้นทางทิศตะวันออกไกลของทวีปมิดเดิ้ล-เอิร์ธ และได้เดินทางมาทางตะวันตกของทวีปตามคำชวนของเทพโอโรเมที่ชักชวนให้เดินทางข้ามทะเลไปยังทวีปอามานซึ่งเป็นแดนเทพ อยู่ทางตะวันตกสุดของโลก
เมื่อนั้น เอลฟ์ได้แตกออกเป็น 2 พวกใหญ่ๆ คือพวกที่ตัดสินใจเดินทางไปทางตะวันตกโดยข้ามเทือกเขามิสตี้ และพวกที่ไม่ไป
เอลฟ์ที่ไปทางตะวันตกเรียกรวมๆว่า เอลดาร์ ซึ่งก็ได้แตกย่อยไปเป็น 3 เผ่าใหญ่ๆ ได้แก่ เผ่าวันยาร์(Light Elves) เผ่าโนลดอร์(Deep Elves) และเผ่าเทเลรี(Sea Elves)
ซึ่งทั้ง 3 เผ่านี้ได้ข้ามทะเลไปยังแดนเทพ
แต่มีเอลฟ์เผ่าเทเลรีบางส่วนที่ข้ามเทือกเขามิสตี้มาแล้วแต่ไม่ได้ข้ามทะเลไป เอลฟ์เหล่านี้เรียกว่า “ซินดาร์” (Grey Elves)
ซึ่งธรันดูอิลเป็นเอลฟ์ในสายนี้
ส่วนเอลฟ์ซิลวันแห่งเมิร์กวู้ดคือเอลฟ์เผ่าเทเลรีบางพวกที่ปฏิเสธจะข้ามเทือกเขามิสตี้ และเลือกจะอาศัยอยู่ในป่า
เอลฟ์ซิลวันนี้จะด้อยกว่าพวกเอลฟ์เอลดาร์และเอลฟ์ซินดาร์ ทั้งในด้านร่างกายและสติปัญญา
กาลาเดรียล คือเอลฟ์เผ่าโนลดอร์ ที่เกิดในทวีปอามาน ในยุคแห่งต้นไม้คู่
ต้นไม้คู่มีนามว่า เทลเพริออน และเลาเรลิน เป็นต้นไม้สีเงินและสีทอง ส่องแสงสว่างแก่ทวีปอามาน
เอลฟ์ที่ได้เห็นแสงนี้ เรียกว่า High Elves จะมีร่างกายและสติปัญญาเป็นเลิศ เหนือกว่าเอลฟ์ในมิดเดิ้ลเอิร์ธเป็นอย่างมาก
ปู่ของกาลาเดรียลเป็นกษัตริย์เอลฟ์เผ่าโนลดอร์ที่อาศัยในอามาน กาลาเดรียลจึงมีศักดิ์เป็นเจ้าหญิง
แต่ภายหลัง ต้นไม้คู่ถูกทำลาย พวกโนลดอร์อพยพกลับมามิดเดิ้ลเอิร์ธ
ลูกสาวของกาลาเดรียลแต่งงานกับเอลรอนด์ กาลาเดรียลจึงมีศักดิ์เป็นแม่ยายของเอลรอนด์ค่ะ
ในสมัยสงครามแหวน กาลาเดรียลนับเป็น 1 เอลฟ์ที่มีอายุมากที่สุดผู้หนึ่ง
นางกับเคเลบอร์นผู้เป็นสามี ปกครองอาณาจักรลอธลอริเอน แต่ในฐานะของลอร์ดและเลดี้เท่านั้น ไม่ใช่ในฐานะราชินี
ส่วนเอลรอนด์เป็นเอลฟ์ที่เกิดในมิดเดิ้ลเอิร์ธ มีพ่อเป็นครึ่งเอลฟ์ครึ่งมนุษย์ มีแม่เป็นเอลฟ์ และมีบรรพบุรษเป็นไมอา
เอลรอนด์ได้รับพรจากพระผู้เป็นเจ้า ให้เลือกว่าจะเป็นเอลฟ์ก็ได้หรือจะเป็นมนุษย์ก็ได้ ซึ่งเขาเลือกเป็นเอลฟ์
ในช่วงต้นยุค 3 ของโลก ผู้นำของเอลฟ์โนลดอร์ในมิดเดิ้ลเอิร์ธ คือ กิล-กาลัด ซึ่งก็มีศักดิ์เป็นญาติผู้พี่ของเอลรอนด์
เอลรอนด์รับหน้าที่เป็นแม่ทัพมือขวาให้กับกิลหาลัด
เอลรอนด์ตั้งริเวนเดลล์ขึ้นมา เป็นที่ลี้ภัยให้พวกเอลฟ์
เอลรอนด์นับเป็น Loremaster (ครูตำนาน) และเป็นผู้ที่เป็นเลิศในด้านการเยียวยารักษา เพราะได้ครองแหวนวิลย่า แหวน 1 ใน 3 วงของพวกเอลฟ์
ซึ่งเป็นแหวนแห่งการรักษาค่ะ
ความเป็นมาของแหวนวิเศษทั้ง 20 วง
ในฉากเปิดเรื่องของ The Lord of the Rings: The Fellowship of the Ring ได้มีการอธิบายไว้คร่าวๆ ถึงการสร้างแหวนทั้งหมด
ซึ่งแบ่งเป็นแหวนสำหรับเอลฟ์ 3 วง แหวนของคนแคระ 7 วง แหวนที่มอบให้มนุษย์ 9 วง และเอกธำมรงค์ หรือแหวนเอก (The One Ring) อีก 1 วง
ทำไมต้องสร้างแหวนขึ้นมา
แหวนทั้งหมดถูกสร้างขึ้นในยุค 2 ของโลก ในยุคนั้นมีอาณาจักรเอลฟ์นามว่า “เอเรกิออน”(ในภาษาซินดาริน) หรือ “ฮอลลิน”(ภาษาเวสทรอน หรือภาษากลาง) ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของเทือกเขามิสตี้ ใกล้กับประตูทางเข้าเหมืองมอเรีย
กาลาเดรียลและเคเลบอร์น สวามีของนาง เป็นผู้ก่อตั้งอาณาจักรนี้ขึ้นมา ร่วมกับเคเลบริมบอร์ บุตรแห่งคูรูฟิน
ประชากรส่วนมากในเอเรกิออนคือเอลฟ์สายโนลดอร์ ซึ่งหลงใหลและเชี่ยวชาญในงานช่าง งานประดิษฐ์
เอเรกิออนติดต่อและเป็นพันธมิตรกับมอเรียอันเป็นอาณาจักรของคนแคระที่อยู่ใกล้เคียง
เคเลบริมบอร์นั้นเป็นผู้มีฝีมือด้านการช่างเป็นเลิศ เขาสนิทสนมกับคนแคระแห่งมอเรียนามนาร์วีเป็นอย่างมาก (ใน LotR: FotR ที่หน้าประตูมอเรีย ตอนที่แกนดัล์ฟพาคณะแหวนมา เพื่อหาทางลอดใต้เทือกเขามิสตี้ หน้าประตูนั้นมีปริศนาและมีตัวอักขระสลักอยู่ อ่านได้ว่า นาร์วีเป็นผู้สร้างประตูและเคเลบริมบอร์แห่งฮอลลิน เป็นผู้สลักอักขระ)
ภาพหน้าประตูมอเรีย ซึ่งเขียนด้วย "อิธิลดิน" สารที่สกัดมาจากมิธริล สามารถมองเห็นได้ใต้แสงจันทร์เท่านั้น
เคเลบริมบอร์ก่อตั้งคณะเอลฟ์ช่างแห่งเอเรกิออนขึ้นมา ภายใต้ชื่อ ไกวธ์-อี-เมียไดน์
ในตอนนั้นเซารอนซึ่งแต่เดิมกบดานอยู่ในเอเรียดอร์ ได้ย้ายไปตั้งฐานและซ่องสุมกำลังในมอร์ดอร์ทางตะวันออกแทน ขณะนั้นนครลินดอน ซึ่งเป็นนครเอลฟ์ทางตะวันตกสุดของมิดเดิ้ล-เอิร์ธ ปกครองโดยกิล-กาลัด เอเรนิออน ผู้ถือเป็นกษัตริย์เอลฟ์โนลดอร์โดยบรรดาศักดิ์
กิล-กาลัดได้รับความร่วมมือจากเจ้าชายอัลดาริออน เจ้าชายรัชทายาทแห่งอาณาจักรนูเมนอร์ อาณาจักรมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของทวีป
เรื่องนี้ทำให้เซารอนเป็นกังวล เขาส่งฑูตไปหากิล-กาลัดเพื่อตีสนิท แต่กลับถูกฝ่ายนั้นปฏิเสธอย่างไม่ไยดี เซารอนจึงเปลี่ยนแผนมาเข้าหาคณะช่างเมียร์ไดน์แห่งเอเรกิออนแทน
โดยเซารอนจำแลงกายมาด้วยรูปลักษณ์งดงาม ตั้งชื่อใหม่ให้ตนเองว่าอันนาทาร์(Lord of Gifts)และหลอกเอลฟ์แห่งเอเรกิออนว่าตนเป็นฑูตจากแดนอมตะที่เหล่าเทพวาลาร์ส่งมาเพื่อให้ความช่วยเหลือเอลฟ์ในมิดเดิ้ล-เอิร์ธ (หรือก็คืออิสตารี พ่อมดนั่นเอง)
ภาพอันนาทาร์ จากอาร์ทเวิร์คของ WETA Workshop
และด้วยความที่เซารอนช่วยให้ความรู้ด้านการช่างแก่เอลฟ์แห่งเอเรกิออน จึงทำให้อาณาจักรแห่งนี้ต้อนรับขับสู้เซารอนเป็นอย่างดี
แม้แต่เคเลบริมบอร์ผู้เป็นหัวหน้าช่างก็ยังหลงลมปากของเซารอนไปด้วย
เพียงไม่นานเซารอนก็สามารถกุมใจเอลฟ์แห่งเอเรกิอนไว้ได้หมด และยุยงให้เอลฟ์เหล่านั้นต่อต้านกาลาเดรียล
ซึ่งต่อมากาลาเดรียลตัดสินใจเดินทางไปยังลอรินันด์ (ชื่อภาษานันดอรินของลอริเอน) และภายหลังเมื่อเจ้าชายอัมรอธแห่งลอรินันด์สิ้นพระชนม์ กาลาเดรียลก็ได้รับตำแหน่งเลดี้ปกครองที่นั่นต่อมา
ส่วนในเอเรกิออน พวกเอลฟ์ช่างนั้นเป็นเอลฟ์โนลดอร์ที่อพยพมาจากแดนอมตะตั้งแต่ยุค 1 ของโลก เอลฟ์พวกนี้ยังคงถวิลหาความงามอันเป็นนิรันดร์ของแดนอมตะ
หากแต่ในมิดเดิ้ล-เอิร์ธ สรรพสิ่งมิได้คงเดิมเหมือนอย่างในที่ๆเอลฟ์พวกนี้จากมา และเซารอนล่วงรู้ถึงเรื่องนี้ เมื่อนั้นอุบายอันยิ่งใหญ่ของเขาก็ถือกำเนิด
เซารอนส่งเสริมพวกเอลฟ์ช่างว่า ด้วยความรู้ของเซารอน พวกเขานั้นสามารถทำให้ดินแดนเอเรกิออนในมิดเดิ้ล-เอิร์ธ “งดงามเป็นอมตะได้ไม่แพ้แดนเทพ”
และเสนอให้เหล่าเมียร์ไดน์ทดลองสร้างแหวนวิเศษขึ้นมา (ดังจะเห็นได้ว่าแหวนทุกวงนั้นถูกสร้างขึ้นไม่ใช่แค่ช่วยเสริมพลังของผู้สวม หากแต่ยังมีจุดประสงค์หลักเพื่อการดำรงรักษาและชลอความเสื่อมความโรยราได้ด้วย ความเสื่อมที่ว่านี้คือความเสื่อมในธรรมชาติแวดล้อม และความเสื่อมอายุของผู้สวมแหวน แต่ทว่า วิชาความรู้ในการประดิษฐ์แหวนนั้นได้มาจากเซารอน แหวนทุกวงจึงล้วนแฝงไปด้วยความกระหาย อยากครอบครอง ความยึดติด ซึ่งเป็นสิ่งที่เซารอนรู้สึกนึกคิด)
แหวนทั้ง 16 วงจึงถูกสร้างขึ้นมา มีพลังมากน้อยต่างกันไป เนื่องจากส่วนมากมันเป็นงานทดลอง
ไม่นานนักเคเลบริมบอร์ที่เริ่มระแวงเซารอนขึ้นมา ได้แอบสร้างแหวนขึ้นมาอีก 3 วงด้วยตนเอง
หลังจากนั้นเขาได้สืบรู้ว่าเซารอนกำลังสร้างแหวนเอกขึ้นมา แหวนเอกนี้เซารอนต้องใช้พลังเกือบทั้งหมดของตนใส่ลงไปในแหวนเพื่อให้สามารถควบคุมจิตใจของผู้สวมแหวนวงอื่นๆ ได้ทั้งหมด
เคเลบริมบอร์รีบไปปรึกษากาลาเดรียล กาลาเดรียลแนะนำให้เคเลบริมบอร์ทำลายแหวนทั้งหมดทิ้งเสีย
แต่แหวนเหล่านั้นก็เหมือนดั่งแหวนเอกที่เราได้เห็นกันในภาคแรกของหนัง LotR “ไม่มีผู้ใดตัดใจทำลายมันลงได้”
กาลาเดรียลจึงบอกให้เคเลบริมบอร์แอบซ่อนแหวนทั้งสามไว้ให้ดี อย่าให้เซารอนล่วงรู้ และให้กระจายแหวนออกไปในที่ต่างๆกัน
เคเลบริมบอร์จึงมอบแหวนเนนย่า-แหวนแห่งน้ำให้แก่นาง
(อันที่จริง แหวนวงนี้เคเลบริมบอร์ตั้งใจสร้างมันขึ้นเพื่อมอบให้กาลาเดรียลโดยเฉพาะอยู่แล้ว โดยให้มันมีหน้าที่ปกป้องและธำรงรักษาดินแดนลอริเอนไม่ให้โรยราเสื่อมถอย แต่ในขณะเดียวกันแหวนวงนี้ก็ทำให้กาลาเดรียลคิดถึงแดนอมตะอันเป็นบ้านเกิดของนางด้วย)
อีก 2 วงเขามอบให้แก่กิล-กาลัด กิล-กาลัดมอบแหวนนาร์ย่า-แหวนแห่งไฟ ให้แก่เคียร์ดัน เอลฟ์ผู้อาวุโสที่สุดในมิดเดิ้ล-เอิร์ธ
ในภายหลังเมื่อสงครามพันธมิตรครั้งสุดท้ายอุบัติขึ้นเขาก็มอบแหวนวิลย่า-แหวนแห่งลม ให้แก่เอลรอนด์ ซึ่งเป็นทั้งญาติและแม่ทัพคนสนิท
ต่อมาเมื่อเซารอนสร้างแหวนเอกสำเร็จ เขาก็จัดกองทัพเข้าบุกเอเรกิออน ทรมานและสังหารเคเลบริมบอร์ ชิงแหวนที่เหลืออยู่มาเป็นของตน
แต่สำหรับข้อมูลผู้ครอบครองแหวนเอลฟ์ทั้งสาม เคเลบริมบอร์ไม่ยอมปริปากจนวาระสุดท้าย
หลังจากนั้นก็เกิดสงครามในเอเรียดอร์ แต่ด้วยความช่วยเหลือจากกองทัพอันเกรียงไกรของอาณาจักรนูเมนอร์ ทัพของเซารอนก็แตกพ่ายอย่างสิ้นเชิง
เซารอนหนีกลับไปยังมอร์ดอร์และมิดเดิ้ล-เอิร์ธก็สุขสงบเป็นเวลาหลายปี
แหวนทั้ง 3
วิลย่า
แหวนแห่งลม หัวแหวนทำจากแซฟไฟร์ ซึ่งเป็นพลอยสีน้ำเงิน แหวนวงนี้มีฤทธิ์แห่งการเยียวยารักษา
ถือกันว่ามีพลังมากที่สุดในบรรดาแหวนเอลฟ์ทั้งหมด เอลรอนด์แห่งริเวนเดลล์เป็นผู้ครอบครอง ภายหลังจากได้รับมอบจากกิล-กาลัด กษัตริย์เอลฟ์เผ่าโนลดอร์จากแดนตะวันตกพระองค์สุดท้าย
เนนย่า
แหวนแห่งน้ำ ตัวแหวนทำจากมิธริล ส่วนหัวแหวนประดับด้วยพลอยแอดามันท์สีขาว เป็นแหวนที่มีพลังปกปักรักษาและชลอความร่วงโรยของดินแดน
แหวนวงนี้เป็นแหวนสำหรับกาลาเดรียลเพียงผู้เดียวเท่านั้น
ซึ่งเคเลบริมบอร์แห่งเอเรกิออนตั้งใจมอบให้เพื่อทำให้ความปรารถนาที่อยากปกครองดินแดนของกาลาเดรียลได้เป็นจริง
นางใช้มันในการดูแลลอธ ลอริเอน จนอาณาจักรแห่งนั้นดูราวกับเป็นอาณาจักรนิรันดร์ ที่ซึ่งเวลาไม่เคยเคลื่อนผ่านไปเลย
กาลาเดรียสวมแหวนวงนี้หลังจากที่เซารอนสูญเสียแหวนเอกและสูญเสียพลัง
แต่ปกติจะไม่มีใครมองเห็นมันบนนิ้วของนาง เว้นแต่โฟรโด้ ผู้ถือแหวนเอก
นาร์ย่า
แหวนแห่งไฟ หัวแหวนทำจากอัญมณีสีแดง เป็นแหวนที่มอบกำลังใจและปลุกไฟสู้ในจิตใจของผู้ครอบครอง
เคียร์ดัน นายช่างต่อเรือแห่งเกรย์ เฮเว่นส์ มอบแหวนวงนี้ต่อให้พ่อมดเทา แกนดัล์ฟ ตั้งแต่ที่แกนดัล์ฟเดินทางจากแดนตะวันตกมาถึงท่าเรือ
โดยได้ขอให้แกนดัล์ฟเก็บแหวนไว้ เพราะมันจะมีประโยชน์ต่อภาระงานของแกนดัล์ฟในภายภาคหน้า
และสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แกนดัล์ฟสำเร็จภารกิจก็ด้วยพลังของนาร์ย่าวงนี้นี่เอง
ตามหนังสือนั้น แกนดัล์ฟได้สวมแหวนอย่างเปิดเผยก็ในวันสุดท้ายในมิดเดิ้ล-เอิร์ธของเขาที่ท่าเรือเกรย์ เฮเว่นส์ ในยามที่กำลังจะมุ่งหน้ากลับสู่แดนตะวันตก
แหวนทั้ง 9
เซารอนมอบแหวน 9 วงให้แก่มนุษย์ 9 คน ซึ่งบ้างก็เป็นกษัตริย์ หมออาคม หรือไม่ก็นักรบ ที่ใฝ่หาอำนาจและล่อลวงได้ง่ายกว่าพวกคนแคระมาก
ทั้งเก้าสวมแหวนตลอดเวลาและถูกเซารอนควบคุมจิตใจโดยสมบูรณ์ จนในที่สุดก็ไม่มีรูปกายปรากฏในโลกนี้อีกต่อไป กลายเป็นภูตแหวน หรือนาซกูล ที่ทำตามบัญชาของเซารอนเท่านั้น
หัวหน้าของนาซกูลได้รับฉายานามว่า วิชคิง(Witch King ในหนังสือฉบับแปลไทย แปลไว้ว่าราชาขมังเวทย์ ซึ่งแปลได้เหมาะดี แต่มันยาว ขอเรียกว่าวิชคิงพอ 555)
รองหัวหน้ามีชื่อว่าคามูล แต่ที่เหลือไม่มีการระบุชื่อ(วิชคิงเองก็เป็นฉายานาม ไมใช่ชื่อจริง)
นาซกูลทั้ง 9 มักจะขี่ม้าดำหรือเฟลบีสต์ สัตว์ร้ายมีปีกลักษณะคล้ายนกขนาดยักษ์ซึ่งเซารอนเพาะเลี้ยงขึ้นมา (คนทั่วไปที่เห็นจึงเรียกนาซกูลว่า The Black Riders)
ใน The Hobbit: BotFA เราจะได้เห็นนาซกูลกันแบบชัดๆ แถมจะได้เห็นท่านเอลรอนด์ดวลดาบกับนาซกูลด้วย!
แหวนทั้ง 7
อิงตามเวอร์ชั่นหนังและหนังสือ LotR เซารอนมอบแหวนอีก 6 วงให้แก่คนแคระ
มีเพียงแหวนของธรอว์ ปู่ของธอรินเท่านั้นที่คนแคระแห่งมอเรียเล่าต่อกันมาว่าเคเลบริมบอร์เป็นผู้ถวายให้กษัตริย์ดูรินที่ 3 แห่งคาซัด-ดูม
ในตอนแรกเซารอนหวังจะใช้แหวนล่อให้คนแคระมาเข้าพวก
แต่ปรากฎว่าคนแคระนั้นถูกสร้างมาให้มีจิตใจแข็งแกร่ง ไม่ยินยอมต่อความชั่วร้ายได้โดยง่าย เซารอนจึงไม่อาจควบคุมจิตใจคนแคระได้เหมือนที่ทำกับมนุษย์
แหวนได้ทำให้คนแคระทวีความละโมภและหลงใหลในสมบัติและทองคำเพียงเท่านั้น
เมื่อไม่เป็นไปดั่งใจ เซารอนจึงหาทางยึดแหวนคืนมาจากคนแคระ ซึ่งยึดคืนมาได้ 3 วง รวมถึงแหวนแห่งธรอร์ด้วย
ส่วนอีก 4 วงถูกมังกรกลืนกินหรือทำลายไปหมดแล้ว
ยาวโพดดด