----นำกระทู้จากเพือนเมือวานมาลงให้ครับ แล้วอ่านและคิดวิเคราะห์ด้วยตนเองครับผม
ถ้ารำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 วันสังหารหมู่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แบบเร็วๆ จากภาพนี้ก็คือ คืนวันที่ 5 ตุลาคม เราได้ยินข่าวว่าจะมีการบุกธรรมศาสตร์ คิดว่าคงอันตรายแต่เพราะไม่เคยมีประสบการณ์ถูกสังหารหมู่ จึงนึกภาพอันตรายที่จะเกิดขึ้นไม่ชัดนัก แต่ความรู้สึกก็คงเหมือนประชาชนเสื้อแดงเสื้อเหลืองที่ชุมนุมกันอยู่ในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้ หรือกลุ่มประชาชนอื่นๆ ที่มุ่งมั่นในการต่อสู้ นั่นคือความรู้สึกไม่กลัวตาย ไม่ได้นึกถึงความตาย ประมาณว่าตายเป็นตาย ไม่เสียใจถ้าตายเพราะได้ยืนหยัดทำในสิ่งที่เชื่อ นั่นคือต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
กลางดึก พ่อแม่พี่น้องของนิสิตนักศึกษาประชาชนหลายคนที่ฟังวิทยุยานเกราะ มาตามลูกหลานกลับบ้าน แม่ของข้าพเจ้าก็มา แต่ตามกลับไปได้เฉพาะพี่สาว เพราะข้าพเจ้ามีงานบนเวทีที่ต้องขึ้นแสดงสลับกับการแสดงต่างๆ ของกลุ่มนักศึกษา
ใกล้ๆ เช้า มีเสียงปืน มีคนวิ่งมาจากทางหน้าหอใหญ่ ส่งเสียงตะโกนว่า มันยิงเราแล้ว จากนั้นก็เป็นความชุลมุน เสียงสุดท้ายที่ข้าพเจ้าได้ยินต่อเนื่องคือเสียงของ ธงชัย วินิจจะกูล ซึ่งบัดนี้เป็น ศจ ดร ว่า ประมาณว่าอย่ายิงๆ เราไม่มีอาวุธ
จากนั้น ก็มีความพยายามจัดการให้ผู้ชุมนุมหนีออกนอกมหาวิทยาลัย เสียงปืนเริ่มดัง มีใครสักคนล้มลงข้างๆ ข้าพเจ้าซึ่งเวลานั้นเป็นนักศึกษาปีสี่ จูงน้องนักศึกษาหญิงปีหนึ่งคนหนึ่ง ออกทางประตูท่าพระจันทร์ (พวกเราหนีออกไปก่อนเจ้าหน้าที่จะบุกเข้ามาและบังคับนักศึกษาหญิงให้ถอดเสื้อ นอนกลางสนาม) จะออกไปทางศิลปากร ระหว่างวิ่งๆ เดินๆ มีใครสักคนกวักมือเรียกเราเข้าไปหลบในบ้านเขา แต่ในที่สุด เจ้าของบ้านก็เปิดประตูให้เจ้าหน้าที่เข้ามากวาดต้อนเราออกไป ให้ยืนหันหน้าเข้ากำแพงวัดมหาธาตุ
ตอนแรกข้าพเจ้าคิดว่า เจ้าหน้าที่คงยิงเราทิ้ง จินตนาการวินาทีนั้นคือ พยายามเรียนรู้และทำความเข้าใจว่า ถ้ากระสุนวิ่งเข้ามาในร่างกาย น่าจะเกิดปฏิกิริยาอย่างไรกับร่างกายบ้าง แล้วก็พร้อมรับความตาย
อุตส่าห์คิดได้ด้วยว่า ถ้าวิญญาณมีจริง จะไปบอกแม่พ่อและพี่น้องว่าอย่าเสียใจ ไม่ได้ทิ้งไปไหน แต่เดินทางเปลี่ยนภพไปก่อน แม่พ่อเลี้ยงลูกๆ มาดีมาก หนังสือต่างๆ ที่แม่และพ่อให้ลูกๆ อ่านตั้งแต่เล็กทำให้ลูกๆ รักความเป็นธรรม รักเสรีภาพ และตัวลูกชอบที่ลูกเป็นคนอย่างที่ลูกเป็น ^-^
แต่ไม่มีการยิงทิ้ง และข้าพเจ้าก็ถูกกวาดต้อนขึ้นรถ ตามภาพที่ปรากฎในวิดีโอ
เรื่องราวก็เป็นไปตามที่เป็นเช่นนั้น และเกือบสี่ทศวรรษผ่านไป เราหลายๆ คนในช่วงเวลานั้น ก็มาถึงจุดแม่น้ำแยกสาย กลุ่มหนึ่งประกาศว่ายืนหยัดอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย แต่อีกกลุ่มหนึ่ง (ในทัศนะของข้าพเจ้าซึ่งนับว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มแรก) เหมือนยืนหยัดสนใจแต่เรื่อง "คนดี คนเลว, ความดี ความเลว" ดังนั้น ก็อาจเหมือนสนับสนุนฝ่ายรัฐประหารและอำนาจนอกระบบ
มันเป็นเรื่องเศร้าในบางเวลาถ้าคิดว่าเพื่อนหลายคน "จริงจัง" กับการแยกสายมาก จนโกรธไม่เผาผีกับเพื่อนที่คิดต่างแม้จะรู้จักมักคุ้นกันมายาวนานกว่าสามสิบปี
สำหรับข้าพเจ้า เพื่อนก็คือเพื่อน และข้าพเจ้าเชื่อว่า หลังจากประชาชนด้วยกันฆ่ากันเองโดยไม่จำเป็นมาแล้วหลายรอบ สังคมไทยน่าจะกำลังก้าวไปถึงจุดที่เข้าใจว่า ประชาธิปไตยต้องมีความต่างและเคารพความต่าง ถกเถียงกันปะทะกันโดยวิธีที่ไม่ต้องฆ่ากัน
มันเหมือน "คนแก่" รำพึง แต่คนรำพึงก็แก่แล้วจริงๆ
มีผู้ได้ชมวิดีโอ 6 ตุลาคม 2519 แล้วแจ้งว่าได้เห็นข้าพเจ้าประมาณนาที่ที่สี่สิบหก จึง cap ภาพมาให้
Nithinand Yorsaengrat
ผู้เขียน
.............
เรื่องเกี่ยวเนื่อง:
เปิด 10 ภาพช็อกโลก! ไทยร่วมด้วย
มติชนออนไลน์ 12 ธันวาคม 2555 รายงานว่า เว็บไซต์ toptenz.net จัดอันดับ "10 ภาพถ่ายช็อกโลก" โดยหนึ่งในนั้นมีภาพถ่ายเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ติดอยู่ในลำดับที่ 8 ของการจัดอันดับดังกล่าวด้วย
ภาพถ่ายดังกล่าวจับกริยาของชายคนหนึ่ง ซึ่งกำลังหยิบเก้าอี้ขึ้นฟาดศพนักศึกษาชายที่ถูกแขวนคออยู่บนต้นมะขาม บริเวณท้องสนามหลวง ตรงข้ามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ภาพช็อกโลกรูปนี้เป็นผลงานของ นีล อูเลวิช ผู้ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์เมื่อปี พ.ศ.2520 (ค.ศ.1977) จากผลงานภาพนิ่งจำนวนมากที่ถ่ายทอดภาวะที่บ้านเมืองไม่มีขื่อไม่มีแป และความโหดเหี้ยมซึ่งเกิดขึ้นบนท้องถนนในกรุงเทพมหานครเมื่อปี 2519
ผู้บาดเจ็บคนแรกในสงครามคือสัจจะ
Unseen 6 ตุลา 2519-ในปีนี้ มีภาพเหตุการณ์วันที่ 6 ต.ค.2519 ซึ่งไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อนจำนวน 25 ภาพ ส่งมาจากอดีตนักเรียนอาชีวะผู้ไม่ประสงค์ออกนาม โดยภาพชุดดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ช่วงเช้า หลังมีการใช้กำลังตำรวจ-ตชด. บุกเข้าไปใน มธ.
ภาพชุดดังกล่าว มีชายคนหนึ่งถูกใส่กุญแจมือ ลากลงจากรถ และนำมาแขวนคอ โดยจากการตรวจสอบ ชายในภาพเป็นคนละคนกับชายในภาพที่ถูกแขวนคอซึ่งเผยแพร่ก่อนหน้านี้ ซึ่งคือ วิชิตชัย อมรกุล นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่เป็นหน่วยรักษาความปลอดภัยให้ผู้ชุมนุมใน มธ. ช่วงคืนวันที่ 5 ต่อเช้าวันที่ 6 อย่างไรก็ตาม จนขณะนี้ยังไม่ทราบว่าชายคนดังกล่าว และคนอื่นๆ ในภาพเป็นใคร ทั้งนี้ หากมีผู้ทราบเบาะแสก็สามารถติดต่อมาที่ตนเองในฐานะผู้ประสานงานคณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ได้
Credit :
http://thaienews.blogspot.com/2013/10/61937.html
---------------------------------------------------