คำแนะนำ : อ่านในเว้บจะสมบูรณ์กว่าครับ ผมลองอ่านในแอพแล้ว บางหัวข้อที่ไฮไลท์มันหายไป มองไม่เห็น
VIDEO
"Mission to the moon" Podcast โดยคุณรวิศ หาญอุตสาหะ ผู้บริหารแบรนด์ศรีจันทร์
EP นี้คุณรวิศแกชวนให้เราลองทบทวนดูว่างานที่ทำอยู่ตอนนี้ เรามีความสุขกับมันจริงมั้ย โดยตั้งคำถามไว้หลายข้อ ลองถามตัวเองดูนะครับ
สัญญาณที่บอกว่างานที่ทำอยู่มันไม่ใช่
ลองทบทวนตัวเองดูครับว่าเราเคยรู้สึกไม่อินกับงานที่ทำมั้ย? ทุกวัน พอถึงเวลาเลิกงานจะกระดี๊กระด๊ารู้สึกถูกปลดปล่อยเป็นอิสระ วันศุกร์คือวันที่ดีที่สุดของสัปดาห์
เวลาที่ไม่ได้อยู่ในช่วงเวลางาน เคยคิดถึงเรื่องงานในแง่บวกมั้ย? แง่บวกหมายถึงเวลาไปเห็นอะไร อ่านเจออะไร ได้ยินอะไรแล้วรู้สึกเชื่อมโยงไปถึงงานที่เราทำ ว่าเรื่องนี้มันน่าจะเอาไปพัฒนาให้การทำงานของเราดีขึ้นได้นะ
ถ้าเป็นแบบบรรทัดแรก คือทำงานแค่ให้ได้เงินเดือน แต่ใจไม่เคยรู้สึกว่างานที่ตัวเองทำมันมีคุณค่าอะไรเลย หรือนอกเวลางานก็คือการปิดสวิตช์ ไม่เคยนึกถึงอะไรที่เกี่ยวกับงานในแง่บวกเลย อาการแบบนี้เป็นสัญญาณบอกเราว่า งานที่ทำอยู่อาจจะไม่ใช่งานที่จะสามารถสร้างความสุขให้เราได้
ทำไมต้องมาสนใจว่างานที่ทำอยู่มันใช่หรือเปล่า? แค่ทำแล้วได้เงินก็โอเคแล้วไม่ใช่เหรอ?
ลองนึกดูง่ายๆ นะครับ วันนึงเราใช้เวลานอนประมาณ 1/3 ของวัน ทำงานอีก 1/3 ถ้าสนใจเฉพาะช่วงที่เราตื่น เราใช้เวลาอยู่กับงานไปแล้วครึ่งนึงของชีวิตหรือมากกว่านั้น
ยิ่งไปกว่านั้น ช่วงชีวิตของเรามีแนวโน้มว่าจะยาวขึ้นอีกมาก ด้วยเทคโนโลยีด้านต่างๆ โอกาสอยู่ได้ถึง 100 ปีเป็นเรื่องที่ใกล้ความจริงมากๆ
ถ้าเราอยู่ได้ยาวนานขนาดนั้นจริง แพทเทิร์นชีวิตที่เรารับรู้กันมาก่อนหน้านั้นคือ วัยเรียน วัยทำงาน วัยเกษียณ อาจจะใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะปัจจุบันเราเกษียณที่ 55-60 ปี
หมายความว่าระยะเวลาของวัยเกษียณจะยาวนานถึง 40 ปี โดยที่ไม่ทำงานเลย!! ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้
แพทเทิร์นชีวิตมันอาจจะเปลี่ยนไปหลังจากนี้ เราอาจจะทำงานไปจนถึงอายุซัก 80 ปี
ความคิดที่ว่าคนอายุ 30 หรือ 40 จะมาตามหางานที่ใช่เป็นเรื่องช้าเกินไปแล้ว ก็จะไม่จริงอีกต่อไป เพราะชีวิตการทำงานมันมาได้แค่ครึ่งทางเท่านั้นเอง!!
พอมองมุมนี้ ผมก็รู้สึกว่ามันคุ้มนะที่จะทดลองหางานที่ใช่ของตัวเองดู
Podcast จบลงที่ตรงนี้ ทีนี้เรามีวิธีการยังไงที่จะหาว่าจริงๆ แล้วเราชอบหรือเหมาะกับงานอะไร??
ผมอ่านหนังสือเล่มนึงอยู่ ชื่อ Designing your life เขียนโดย Bill Burnett กับ Dave Evans แปลโดยคุณเมษ์ ศรีพัฒนาสกุล อ่านไปได้ครึ่งเล่มละ หนังสือเล่มนี้ถูกเขียนขึ้นหลังจากที่ผู้แต่งทั้งสองได้เปิดคอร์สสอนออกแบบเส้นทางชีวิตที่ Stanford มาหลายสิบปีแล้วเห็นว่ามันเวิร์ค
ขั้นตอนมันละเอียดพอสมควรเลยครับ เพราะมันเป็นการสำรวจ ทำความรู้จักกับตัวเองแบบลึกซึ้ง ผมเลือกเอาเฉพาะเครื่องมือที่คิดว่าน่าจะเชื่อมโยงได้กับ podcast ข้างบนมาเล่าให้ฟังละกัน
สร้างเข็มทิศ
ขีวิตเราเป็นระยะเวลายาวนาน การปล่อยให้มันลอยไปเรื่อยๆ โดยไม่มีทิศทางไม่ใช่เรื่องดี ถ้าเราอยากให้ชีวิตพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นจำเป็นต้องสร้างเข็มทิศของตัวเองขึ้น
แล้วสร้างยังไง?
ทบทวนมุมมองเรื่องการทำงาน : ลองตอบคำถามเหล่านี้ ค่อยๆ คิด
- เราทำงานทำไม?
- เราทำงานเพื่ออะไร?
- งานมีความหมายอย่างไร?
- งานมีส่วนเกี่ยวข้องกับตัวเอง ผู้อื่น และสังคมรอบข้างอย่างไร?
- งานที่ดีและคุ้มค่าคืออะไร?
- เงินหรือค่าตอบแทนมีผลอย่างไร?
- ประสบการณ์ การเติบโต แและการเติมเต็มมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง?
ทบทวนมุมมองชีวิต : ลองตอบคำถามเหล่านี้ ค่อยๆ คิด
- ทำไมเราจึงอยู่ ณ จุดนี้?
- ความหมายและจุดประสงค์ของชีวิตคืออะไร?
- ความสัมพันธ์ระหว่างคุณและคนอื่นๆ เป็นอย่างไร?
- ครอบครัว ประเทศ และโลกใบนี้เกี่ยวข้องกับคุณเช่นไร?
- ความดีคืออะไร? ความชั่วร้ายคืออะไร?
- คุณนับถือพระเจ้า พลังอำนาจเบื้องบน หรือสิ่งเหนือธรรมชาติหรือไม่ ถ้าใช่ สิ่งนั้นมีผลต่อชีวิตคุณอย่างไร?
- ความสุข ความทุกข์ ความยุติธรรม ความอยุติธรรม ความรัก ความสงบสุข และการต่อสู้แข่งขัน มีบทบาทอย่างไรในชีวิตคุณ?
ความสอดคล้องเชื่อมโยงระหว่างมุมมองทั้งสอง : ลองตอบคำถามเหล่านี้ ค่อยๆ คิด
- มุมมองการทำงานและมุมมองชีวิตของคุณส่งเสริมกันในจุดใดบ้าง?
- มีตรงไหนบ้างที่ขัดกัน?
- มุมมองหนึ่งช่วยผลักดันอีกมุมมองหนึ่งหรือไม่? และทำเช่นนั้นได้อย่างไร?
เป็นชุดคำถามที่ตอบยากเหมือนกันครับ ผมลองนั่งทำ ใช้เวลาเยอะพอสมควร เพราะหลายข้อเราก็ไม่เคยตั้งคำถามกับตัวเองเลย แต่อยากให้ค่อยๆ พิจารณาแล้วเขียนบรรยายออกมาให้ละเอียด
คนที่มีแนวโน้มที่จะมีความสุขจากการทำงาน มุมมองทั้งสองด้านควรจะไปในทิศทางเดียวกัน ยิ่งถ้าเป็นเหตุเป็นผลเกื้อหนุนกันได้ก็จะยิ่งดี เช่น ถ้าคุณมองว่าการสร้างประโยชน์ให้สังคมคือมุมมองชีวิตที่คุณยึดถือ การได้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณประโยชน์จะสร้างความสุขในการทำงานให้คุณได้ กลับกัน ถ้าคุณมองว่าความยุติธรรมคือความดีงาม แต่งานที่ทำเป็นการเอารัดเอาเปรียบคนอื่น แบบนี้จะเกิดความขัดแย้งขึ้นในใจตลอดเวลา ความสุขก็เกิดขึ้นไม่ได้
ลองตอบด้วยความจริงใจนะครับ บางคนอาจจะถือว่าเรื่องเงินเป็นเรื่องสำคัญ ผมว่าก็ไม่ได้ผิดอะไร เรากำลังพยายามทำความรู้จักกับตัวเอง ไม่ใช่พยายามสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดี
เมื่อคุณได้ลองเชื่อมโยงมุมมองทั้งสองแล้ว คุณจะเห็น
"ทิศเหนือที่แท้จริง" ของชีวิต
หาหนทาง
มีคำอยู่ 2 คำที่ควรต้องรู้ในหัวข้อนี้ คือ
"ภาวะลื่นไหล (Flow)" กับ
"พลังงาน (Energy)"
ภาวะลื่นไหล คือ ภาวะที่เราทำอะไรบางอย่างได้อย่างลื่นไหล มีความสนใจเต็มที่เหมือนเวลาหยุดนิ่ง (โดยมากมักเป็นงานที่ไม่ยากเกินไปจนทำให้เราเหนื่อย และไม่ง่ายเกินไปจนเราเบื่อ)
พลังงาน อาจจะเรียกอีกอย่างว่า พลังชีวิตก็ได้ คือพลังที่เกิดจากการทำกิจกรรมอะไรบางอย่างแล้วก่อให้เกิดพลังชีวิตกับตัวเอง เช่น การได้ดูหนังดีๆ ซักเรื่อง พอดูจบแล้วรู้สึกมีพลังที่จะทำเรื่องดีๆ ต่อไปอีกหลายเรื่อง
สองอย่างนี้ฟังดูควรจะไปทางเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ กิจกรรมบางอย่างที่เราทำได้อย่างลื่นไหลช่วยเพิ่มพลังชีวิตให้เราได้ แต่บางอย่างถึงจะทำได้ลื่นไหลแต่ก็กินพลังชีวิตเราไปได้เหมือนกัน
ถ้าเข้าใจความหมายของ 2 คำนี้แล้ว ลองมาทำแบบฝึกหัดอันนี้ดู
แบบทดสอบบันทึกความสุข : ให้คุณลองจดบันทึกกิจกรรมทุกอย่างที่ทำในแต่ละวันอย่างละเอียด อาจจะทำติดต่อกันซัก 2-3 สัปดาห์ เพื่อให้ครอบคลุมกิจกรรมทุกประเภทที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา
หลังจากจดชื่อกิจกรรมและรายละเอียดคร่าวๆ แล้ว (*รายละเอียด AEIOU ผมจะอธิบายเสริมในตอนท้ายของหัวข้อนี้) ให้ลองใส่คะแนนให้กิจกรรมนั้น โดยแบ่งเป็นคะแนน flow กับคะแนน energy คุณจะแบ่งคะแนนยังไงก็ได้ตามสะดวก (ส่วนตัวผมแบ่งเป็น -3, -2, -1, 0 ,1, 2, 3)
การบันทึกกิจกรรมตัวเองแบบละเอียดนี้ เป็นการทบทวนและเจาะลึกลงไปถึงรายละเอียดที่แม้แต่ตัวเราเองก็อาจจะไม่รู้ในบางเรื่อง พอทำเสร็จแล้ว คุณจะเริ่มรู้แล้วว่าอะไรที่ทำแล้วจะช่วยให้เรามีความสุข (ถ้าเป็นไปได้ควรจะเป็นกิจกรรมที่ทั้งคะแนน flow และ energy เป็นบวก โดยเฉพาะ energy ถ้าเราทำกิจกรรมที่เพิ่มพลังชีวิตให้เราได้ตลอด เราจะกลายเป็นคนที่ดู active อยู่ตลอดเวลา)
AEIOU คืออะไร?
Spoil
*บางทีการระบุแค่ชื่อกิจกรรม อาจจะยังไม่ลึกพอที่เราจะรู้จักตัวเองดี เลยมีเครื่องมือตัวนึงมาช่วยเรา เรียกว่า AEIOU เวลาที่เราบันทึกชื่อกิจกรรมอยากให้ลองพิจารณารายละเอียดทั้ง 5 อย่างนี้ด้วย คือ
A - Activities (กิจกรรม) : ขณะนั้นคุณทำอะไร เป็นกิจกรรมที่มีแบบแผนชัดเจนหรือไม่ คุณมีบทบาทชัดเจน (เช่น เป็นหัวหน้าทีม) หรือเป็นเพียงผู้มีส่วนร่วม (เช่น เข้าประชุม)
E - Environments (สิ่งแวดล้อม) : สิ่งแวดล้อมมีผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของเราอย่างลึกซึ้ง ความรู้สึกเวลาอยู่ในสนามฟุตบอลกับเวลาอยู่ในโบสถ์นั้นแตกต่างกัน ลองสังเกตสภาพแวดล้อมขณะทำกิจกรรม สถานที่นั้นเป็นแบบไหนและทำให้คุณรู้สึกอย่างไร
I - Interactions (ปฏิสัมพันธ์) : คุณมีปฏิสัมพันธ์กับอะไร คนหรือเครื่องจักร เป็นปฏิสัมพันธ์ใหม่หรือเป็นสิ่งที่คุ้นเคยอยู่แล้ว และมันดำเนินไปอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ
O - Objects (สิ่งของ) : คุณได้ใช้สิ่งของหรืออุปกรณ์อะไรหรือไม่ เช่น ไอแพด สมาร์ทโฟน ไม้ฮอกกี้ หรือเรือใบ ของสิ่งใดที่มีผลกระตุ้นความสนใจของคุณ
U - Users (ผู้คน) : มีใครเกี่ยวข้องด้วยบ้าง พวกเขาเหล่านั้นมีผลต่อประสบการณ์แง่บวกหรือแง่ลบอย่างไร
ดูยุ่งยากเนอะ แต่จากที่ผมลองทำด้วยตัวเอง อยากบอกว่ารายละเอียดตรงนี้แหละที่สำคัญ มันทำให้เรารู้จักตัวเองแบบที่เราไม่เคยรู้มาก่อน เช่น กิจกรรมประเภทเดียวกัน แต่พอสถานที่ต่างกัน flow กับ energy ก็ต่างกัน
หลายกิจกรรมที่มีคะแนน flow และ energy มากๆ จะมีจุดร่วมบางอย่างคล้ายกัน และซ้ำๆ กัน นั่นแปลว่า จุดร่วมนั้นเป็นสิ่งที่ส่งผลกับเราในแง่บวก ถ้าคุณได้อยู่กับมันนานๆ ชีวิตน่าจะมีความสุขมากขึ้น
ยอมเสียเวลาซักนิด ใส่ใจรายละเอียดตรงนี้ดูครับ คุ้มค่า อีกอย่าง ไม่ได้มีใครมาเร่งให้คุณต้องทำให้เสร็จภายในครึ่งชม.นะ คุณจะใช้เวลาเป็นเดือนเพื่อสำรวจตัวเองก็ได้ ถ้าเทียบกับว่ามันจะช่วยให้ชีวิตพัฒนาขึ้นไปอีกสิบปี แค่เดือนเดียวคุ้มจะตาย
ชักยาวเกินไปละ เอาเท่านี้ก่อนละกัน คิดว่าถ้าลองอ่านดู คงพอจะเริ่มได้ไอเดียอะไรบางอย่างแล้วล่ะ อย่างน้อยก็พอจะเข้าใจตัวเองมากขึ้น ว่าอะไรที่ทำแล้วเรามีความสุข อะไรที่ทำแล้วผลาญพลังชีวิตของเรา
ผมแนะนำให้ลองซื้อเล่มนี้ไปอ่านดูครับ 295.- ถือว่าไม่แพงเลย ถ้ามันช่วยเปลี่ยนชีวิตคุณได้
ขอบคุณหนังสือ Designing your life อีกทีครับ ขออนุญาตคัดลอกเนื้อหาบางส่วนมาลง เพื่อเป็นประโยชน์กับคนอ่านนะครับ