นักเตะอบจ.
Status:
: 0 ใบ
: 0 ใบ
เข้าร่วม: 09 Feb 2009
ตอบ: 5906
ที่อยู่:
โพสเมื่อ: Fri Sep 15, 2017 00:36
Paolo Maldini - The Irreplaceable Defender CH.2
Paolo Maldini : The Irreplaceable Defender {แปะคลิปเพิ่มมาคลิปนึงครับ}
From The Invincibles to his Downfall
Chapter 1 - From his Birth to The Immortals
Chapter 2 - From The Invincibles to his Downfall
Chapter 3 - From his Downfall to the New era [Incompleted]
จากตอนที่แล้วเป็นเรื่องของเปาโล มัลดินี่ในวัยเด็กจนเข้าสู่ยุค The Immortals ในตำนานของ เดอะ รอสโซเนรี่ ด้วยการเข้ามาของสามทหารเสือและสุดยอดกุนซือ อาร์ริโก้ ซาคคี่ ผู้ซึ่งนำแนวคิดของ Total Football มาใช้ในแทคติค 4-4-2 และสร้างรูปแบบการเพรสซิ่งและเล่นเกมคุมโซน ใจความหนึ่งของ Total Football ที่มีผลต่อรูปแบบการเล่นของมัลดินี่ก็คือการให้ผู้เล่นอายุน้อยๆถูกฝึกให้เล่นทั้งเกมรุก เกมรับ ศาสตร์แห่งการป้องกันและศิลป์ของการคอนโทรลบอลผ่านบอลเพื่อที่จะได้ช่วยทีมในยามที่ตัวเองมีบอลและไม่มีบอล
“ทางเดียวที่คุณจะสร้างทีมที่แข็งแกร่งได้ก็คือคุณต้องทำให้นักเตะสื่อสารทั้งทางภาษาพูดและภาษากายเดียวกัน ในโลกฟุตบอลคุณไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียวหรอกนะ เอาล่ะคุณอาจจะทำได้จริงแต่ผมเชื่อว่าความสำเร็จนั้นมันอยู่ได้ไม่นานหรอก”
- อาร์ริโก้ ซาคคี่
การเข้ามาของซาคคี่นับแต่ปี 1987 ซาคคี่พาทีมมิลานประสบความสำเร็จสูงสุดทั้งภายในประเทศ, ระดับทวีปและระดับโลก มิลาน ณ ตอนนั้นถเรียกได้ว่าเป็นยุคที่โดดเด่นมีสีสันที่สุดในยุโรปจนได้รับฉายาว่า The Immortals (AN: ทวยเทพในอมตะนิยาย ) โดยที่มีมัลดินี่ซึ่งขณะนั้นอายุเพียงแค่ 19 ปีและยังเป็นกำลังหลักตลอดการคุมทีมของซาคคี่และในปี 1998 ขณะที่เค้าอายุแค่ 20 ปีก็ติดทีมชาติอิตาลีชุดใหญ่เป็นที่เรียบร้อย
VIDEO
AN: แปะให้ดูการ Pressing และ Offside Trap (ผมอธิบายไว้คร่าวๆใน CH.1) ของมิลานในยุคซาคคี่ครับที่เห็นเสื้อฟ้าๆนั่นแข่งกับเรอัล มาดริดในบอลยุโรปให้ดูทีมเวิร์คกับความเข้าใจแทคติคของนักเตะยุคซาคคี่นี่สุดๆจริงๆสมัยนี้หาดูยากละครับ
ช่วงนี้จะดูเหมือนเป็นเกร็ดประวัติของซาคคี่มากกว่ามัลดินี่แฮะ เดี๋ยวผมดึงกลับมาที่มัลดินี่แล้วกัน
ณ จุดสิ้นสุดของยุค The Immortals มัลดินี่อายุ 23 ปีก็ได้ผ่านหลักกิโลของเส้นทางการค้าแข้งระดับตำนานที่หลายคนยากจะมีเส้นทางที่คล้ายกันได้
- เริ่มติดตัวจริงทีมปิศาจแดงดำอายุ 17 ปี
- ก้าวเข้าสู่พีคของอาชีพการค้าแข้งตอนอายุ 19 ปีและเป็นส่วนหนึ่งในการพาทีมคว้าสคูเด็ตโต้ 1 สมัยในฤดูกาล 1987-1988
- สองปีต่อมาเป็นขุมกำลังหลักในการคว้าแชมป์ยุโรป, ซูเปอร์คัพ, คอนทิเนนเชี่ยลคัพ 2 สมัยซ้อน
- เริ่มรับใช้ชาติตอนอายุ 20 ปี
“ผมคิดว่านั่นเป็นปีที่เค้าเริ่มสร้างเส้นทางสู่การเป็นตำนานของเปาโล (1987) ด้วยการที่เค้าเริ่มเปล่งรัศมีของผู้เล่นระดับสูงออกมาและฤดูกาลนั้นเราก็คว้าสคูเด็ตโต้ หลังจากนั้นก็ไม่มีใครหยุดพวกเราได้ในปีต่อมาเราก็คว้าแชมป์ยุโรป” - ฟรังโก้ บาเรซี่ ถึง เปาโล มัลดินี่
ปีสุดท้ายที่มิลานได้เข้าชิงถ้วยยุโรปคือกว่า 20 ปีก่อน(1968) และมันกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 1987 กับขุมกำลังระดับท๊อปคลาสและแทคติคที่โดดเด่นที่สุดในยุโรป ณ เวลานั้น
“ด่านสุดท้ายสู่การทวงคืนความยิ่งใหญ่ของมิลานคือ สตวา บูคาเรสต์… มันเป็นการเล่นในรอบไฟนอลเป็นครั้งแรกในชีวิตผม บรรยากาศมันเยี่ยมมาก บรรยากาศในค่ำคืนนั้นมันหาไม่ได้อีกแล้วในปัจจุบันนี้ ทั้งแคมป์ นู เต็มไปด้วยสีแดงดำของทีมเราและแฟนบอลประมาณ 300-400 คนของสตวา มันเป็นภาพที่สวยงามเกินบรรยายจริงๆ ยังไม่นับรวมกำลังใจอันล้นหลามที่เราได้จากแฟนบอล… เสี้ยววินาทีแรกที่เราได้เห็นบรรยากาศภายในสนามและแฟนบอล พวกเรารู้ทันทีเลยว่าเกมนี้ต่อให้ต้องตายเราก็จะแพ้ไม่ได้”
- เปาโล มัลดินี่ ถึง ความรู้สึกแรกในการเล่นรอบไฟนอล
จบเกมรอสโซเนรี่ถล่มสตวา บูคาเรสต์ไป 4 ประตูต่อ 0 จากการการเบิ้ลของสองในสามทหารเสือชาวดัตช์ รุด กุลลิท และ มาร์โก ฟาน บาสเท่น สิ้นสุดค่ำคืนอันมหรรศจรรย์ด้วยการเฉลิมฉลองของเหล่าแฟนบอลและนักเตะของปิศาจแดงดำจุดสูงสุดของยุค
The Immortals
AN: แมตช์นั้นสามทหารเสือเรียกได้ว่าเด่นจริงๆ ควรค่าแก่คำสรรเสริญแซ้ซ้องมาก ลองไปหาดูนะครับ
ภาพหมู่ของ ดิ อิมพอสซิเบิล นำทีมโดยน้า ต้อย เศรษฐา ... เดี๋ยว
“เมื่อคุณคว้าแชมป์ใดๆก็ตามได้แล้วคุณก็อยากจะปกป้องมันเอาไว้เป็นเรื่องธรรมดา… แล้วคุณจะรู้ว่ามันยากมากที่จะป้องกันแชมป์ยุโรป และตอนนั้นเราชนะแค่หนึ่งลูกด้วยทำให้เราได้รู้ว่าลูกฟุตบอลลูกกลมๆอะไรมันก็เกิดขึ้นได้” - เปาโล มัลดินี่
“ผมคิดว่าในช่วงนั้น (1987-1991) เปาโลได้พัฒนาจนมาเป็นแกนหลักของผู้เล่นมิลานและก็ได้เวลาอันควรกับการเล่นให้ทีมชาติแล้ว”
- ฟรังโก้ บาเรซี่ ถึง เปาโล มัลดินี่
จากผลงานร่วมทีมคว้าแชมป์ยุโรปสองสมัยซ้อน มันก็ถึงเวลาอันสมควรแล้วจริงๆสำหรับการเข้ามารับใช้ชาติในระดับซีเนียร์ ของเปาโล มัลดินี่ ความจริงแล้วช่วงนั้น เชซาเร่ พ่อของเค้าก็ทำหน้าที่เป็นโค้ชทีมชาติ U21 อยู่และได้เรียกมัลดินี่ติดทีมชุด U21 มาตั้งแต่ปี 1986 แล้ว แต่เขาก็อยู่กับทีมชุดเล็กได้ไม่นานเพราะความสามารถของเปาโล ทำให้เค้าถูกดันขึ้นมาติดทีมชุดใหญ่ในขณะที่อายุเพียงแค่ 20 ปี
“เปาโลอายุแค่ 18 ในตอนนั้น(1986) ซึ่งในความคิดผมการที่เค้าเริ่มติดทีมชาติมันยังเร็วไปแต่ผมก็เลือกเค้ามาอยู่ดีแหละ…
ในปี 1988 วิชีนี่ (Azeglio Vicini) เฮดโค้ชทีมชุดใหญ่ก็เรียกผมเข้าไปพบแล้วก็บอกผมว่าเค้าอยากได้เปาโล ในทีมเค้า...
ทีมชุดใหญ่นะ… ผมก็ตอบไปว่า ”
- เชซาเร่ มัลดินี่ ถึง การตัดสินใจเรียกเปาโลติดทีมชาติอิตาลี
เปาโล มัลดินี่ ติดทีมชาติชุดใหญ่ในขณะที่อายุเพียง 20 ปี
ทว่า...
ทัวร์นาเมนต์เมเจอร์แรกในทีมชาติอิตาลีของ เปาโล มัลดินี่ ก็คือรายการยูโร ปี 1988 ซึ่งปีนั้นทีมชาติอิตาลีของวิชีนี่ทะลุเข้าถึงรอบรองชนะเลิศแต่กลับพลาดท่าแพ้ให้กับสหภาพโซเวียต
ต่อมาในปี 1990 ก็คือรายการบอลโลกซึ่งอิตาลีเป็นเจ้าภาพแต่ผลก็ยังเหมือนเดิมเล่นไปถึงรอบรองแล้วก็แพ้จุดโทษให้กับอาร์เจนติน่าที่สนาม ซาน เปาโล ของนาโปลีถิ่นของ เดียโก้ มาราโดน่า ซึ่งการดวลจุดโทษนี้เป็นการดวลจุดโทษครั้งแรกของ เปาโล มัลดินี่
“บอลโลกปีนั้นเราควรจะได้เข้าชิงนะเพราะพวกเราเล่นดีมาก… แต่ผลที่ออกมามันน่าผิดหวังกับทีมที่มีศักยภาพดีพอที่จะเป็นแชมป์”
- เปาโล มัลดินี่ ถึง บอลโลกปี 90
ในปี 1991 อิตาลีได้ทำการแต่งตั้ง อาร์ริโก้ ซาคคี่ ขึ้นเป็นเฮดโค้ชทีมชาติในขณะที่ ฟาบิโอ คาเปลโล่ ได้เข้ามารับช่วงต่อซาคคี่ที่มิลาน ถือเป็นจุดสิ้นสุดของยุค ดิ อิมมอร์ทอลส์ ของซาคคี่และก้าวเข้าสู่ยุคใหม่
ข้อแตกต่างระหว่างคาเปลโล่และซาคคี่คือ คาเปลโล่ ถูกมองเป็น “Yes-man” ที่คอยตอบสนองต่อความต้องการด้านการเงินและผู้เล่นเป็นอย่างดีในขณะที่ ซาคคี่ จะเป็นโค้ชที่มีความต้องการสูง ใช้เงินเยอะเพื่อวางรากฐานโครงสร้างของทีมในยุคนั้น
ชายผู้ตอบสนองความต้องการของทุกฝ่ายในสโมสรได้เป็นอย่างดี
คาเปลโล่แทบจะคงสภาพของทีมที่ถูกวางรากฐานเอาไว้ในยุคซาคคี่ไว้เกือบทุกอย่าง โดยปรับเปลี่ยนแค่การแทนที่ คาร์โล อันเชล็อตติ จอมทัพสมองเพชรที่เริ่มแก่ตัวลงด้วย ดิเมทริโอ อัลแบรทินี่ และซื้อตัวผู้รักษาประตูเพิ่มมาใหม่ แต่ในทางกลับกันมัลดินี่เริ่มแก่กล้าด้วยวิชาแล้วประสบการณ์จากการลงเล่นในเกมที่มีความเข้มข้นและความกดดันสูง จากพระรองเริ่มกลายเป็นพระเอกที่ทีมขาดไม่ได้
ภายใต้การคุมทีมของคาเปลโล่ที่ใช้รูปแบบแผนของซาคคี่ เอซี มิลาน กลายเป็นทีมหมายเลข 1 จากประเทศอิตาลีด้วยการคว้าแชมป์ลีกสูงสุด 4 ครั้งจาก 5 ฤดูกาลและสถิติไร้พ่าย 58 นัดรวดเป็นที่มาของฉายามิลานในยุคนี้ว่า The Invincibles หรือยุค ไร้พ่าย นั่นเอง
ในด้านบอลยุโรปที่ดูเหมือนจะค่อยมีโชคเท่าไหร่นัก มัลดินี่พาทีมมิลานเข้าชิง 3 ปีซ้อน (93, 94, 95) แต่ชนะเพียงแค่ 1 ครั้งในปี 94
แต่ชัยชนะในปี 94 ถือว่าเป็นชัยชนะที่คลาสสิคและยิ่งใหญ่เป็นที่น่าจดจำของ เปาโล มัลดินี่ หัวใจหลักของขุนพลยุคไร้พ่ายจริงๆ
อเลสซานโดร คอสตาคูร์ต้าติดโทษแบน, บาเรซี่ ปาแปง และ ฟาน บาสเท่น บาดเจ็บคือสภาพของรอสโซเนรี่ที่จะต้องเจอกับบาร์เซโลน่าในยุค “Dream Team” ของโยฮัน ครัฟฟ์ที่มีคู่หูกองหน้าระดับตำนานอย่าง ฮริสโต สตอยช์คอฟ และ โรมาริโอ้
แม้แต่คนที่เพิ่งเริ่มดูบอลยังตระหนักได้ว่าความหวังในการคว้าแชมป์ยุโรปของมิลานริบหรี่จริงๆผู้เล่นตัวหลักในแนวรับและรุกหายไปถึง 4 คน นั่นทำให้มัลดินี่จำต้องมายืนตำแหน่งเซนเตอร์แบ๊ค
"คนปัญญาอ่อนยังรู้ว่าบาร์ซ่าจะยำเละนัดนี้"
“เรามีปัญหาอย่างหนัก เซนเตอร์ตัวหลักเราหายไปสองคนแล้วยังต้องเผชิญกับทีมที่มีเกมรุกดีที่สุดในโลก”
- เปาโล มัลดินี่ ถึง สภาพทีมมิลานในนัดชิงปี 94
แต่เหตุการณ์กลับพลิกผัน ดูเหมือนว่าบาร์เซโลน่าในตอนนั้นประมาทเลินเล่อสวนทางกลับมิลานที่มีแรงฮึดขึ้นสู้ผลปรากฎว่ามัลดินี่ควบคุมแนวรับได้อย่างแน่นหนารักษาคลีนชีทและเอาชนะบาร์ซ่าได้แบบขาดลอยและช็อคโลกไปถึง 4-0
“มันเป็นเกมที่ยากลำบากมากจริงๆ แต่ดูเหมือนว่าในฝั่งของบาร์เซโลน่าจะคิดว่าเรายอมแพ้ง่ายๆ” - ฟิลิปโป้ กาลี่
“พวกเค้า(บาร์ซ่า)ลงมาเล่นเหมือนกับเดินเล่นในสวนสาธารณะมากกว่าลงมาเล่นนัดชิงบอลยุโรปนะกับทีมที่ยังคงอยู่ในช่วงพีคอย่างเรา ผู้บริหารบางคนของพวกเขาถ่ายรูปคู่กับรถแห่ขบวนล่วงหน้าเลยนะตอนนั้น” - เมาโร ทาซอตติ
“ด้วยความตระหนักว่าทีมเราเป็นรองอย่างมาก มันกลับกลายเป็นแรงผลักดันให้เราทำมันให้เป็นไปได้ ปีนั้นน่าจะเป็นปีที่ดีที่สุดของผมในการคว้าแชมเปี้ยนส์ ลีก” - เปาโล มัลดินี่
ทีมชุด Together We Can ในค่ำคืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุค The Invincibles
AN: บทความส่วนนี้ผมไม่ได้ออกความเห็นของผมนะครับ ผมแปลมาจากบทสัมภาษณ์ของนักเตะที่พูดถึงบาร์เซโลน่าในคืนนั้น ไม่ได้มีเจตนาสร้างความแตกแยกแต่อย่างใด ขออภัยแฟนบาร์ซ่าด้วยครับ
แต่ในปีเดียวกันมัลดินี่กลับต้องผิดหวังในระดับชาติอีกครั้งกับการพ่ายแพ้จุดโทษให้กับขุนพลแซมบ้าในฟุตบอลโลก ปี 94 ที่ประเทศอเมริกา
“ผมไม่เคยมีโชคเวลาทีมผมต้องเตะจุดโทษเลย” - เปาโล มัลดินี่
“แต่ครั้งนี้ผมมีความคิดว่าบราซิลเล่นได้ดีกว่าเราตลอดทัวร์นาเม้นต์นะ… แชมป์สำหรับพวกเค้ามันก็สมควรแล้ว”
- เปาโล มัลดินี่ ถึง ทีมชาติบราซิลปี 94
เส้นทางการค้าแข้งของตำนานกองหลัง อีล กัปปิตาโน่ ฟรังโก้ บาเรซี่ ณ เวลานั้นได้ใกล้สิ้นสุดลงแล้ว ถึงเวลาส่งมอบเส้นทางการเป็นตำนานกัปตันทีมชาติให้แก่ทายาทรุ่นใหม่ หลังจากศึกบอลโลกปลอกแขนกัปตันก็ถูกส่งต่อมาให้ เปาโล มัลดินี่ วัย 26 ปี
The Last World Cup และการสืบทอดปลอกแขนกัปตัน
หลักฐานของมัลดินี่ในการก้าวเข้าสู่การเป็นกองหลังระดับตำนานที่ไม่มีใครเหมือนก็กลายเป็นลายลักษณ์อักษรในปีนั้นเมื่อ เปาโล มัลดินี่ เป็นกองหลังคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัล World Player of the Year Award ของนิตยสาร World Soccer
ดาวจรัสแสง
“ฟรังโก้ บาเรซี่ สมควรจะได้รับรางวัลนี้มากกว่าผม… จริงๆนะ”
- เปาโล มัลดินี่ ถึง รางวัล World Player of the Year Award
ความสามารถเป็นที่ยอมรับในวงการฟุตบอลอย่างแพร่หลาย
และในปี 1995 เปาโล มัลดินี่ ได้รับคะแนนเป็นที่สามรองจาก คิงจอร์จ เสือดำแห่งไลบีเรีย จอร์จ เวอาห์ (George Weah) ผู้ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นเพื่อนร่วมทีมในอนาคตและ เจอร์เกน คลินส์มันน์ กับรางวัล FIFA World Player of the Year Award
ในปี 1996 เปาโล มัลดินี่ ได้แสดงความเป็นผู้นำชั้นยอดออกมาในบอลยูโร 96 ที่ประเทศอังกฤษภายใต้การคุมทีมของเจ้านายเก่าอย่าง อาร์ริโก้ ซาคคี่ ด้วยบุคลิกที่มีความเป็นผู้นำอย่างเป็นธรรมชาติและยังคงเป็นลูกศิษย์คนโปรดของซาคี่เพราะความตั้งใจที่จะศึกษาสิ่งต่างๆรอบตัว
พาทีมชาติลุยรายการเมเจอร์ครั้งแรกในฐานะกัปตัน
แม้ว่าจะมีกัปตันที่เก่งแค่ไหนแต่คนเพียงไม่กี่คนมันยังคงไม่เพียงพอที่จะประสบความสำเร็จ อิตาลีตกรอบแบ่งกลุ่มจากการพลาดจุดโทษสำคัญ อีกครั้ง
“ไม่มีงานเลี้ยงใดไม่เลิกรา” จากนี้ไปจะเป็นช่วงเวลาที่ย่ำแย่และโหดร้าย...
ดั่งเป็นบททดสอบจากพระเจ้าที่ส่งมาท้าทายความแข็งแกร่งและมั่นคงทางจิตใจมนุษย์คนนี้
มันเริ่มจาก .. .ความยิ่งใหญ่ของมิลานยุคไร้พ่ายได้สิ้นสุดลงแล้วจากอายุที่เพิ่มขึ้นและการแขวนสตั๊ดของตำนานทั้งหลายของพรพรรครอสโซเนรี่ซึ่งส่งสัญญาณเตือนว่า ปิศาจแดง-ดำ ถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนถ่ายเลือดใหม่ได้แล้ว แต่ทว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเกิดขึ้นเร็วเกินไป
- การจากไปของคาเปลโล่ผู้เปรียบเสมือนสมองของปิศาจตนนี้ทำให้ความมั่นคงของปรัชญาและตัวตนของมิลานเริ่มสั่นคลอน
- บาเรซี่และทาซอตติแขวนสตั๊ดยุติบทบาทการโลดแล่นในเวทีเซเรียทำให้ตำแหน่ง อีล กัปปิตาโน่ ขาดความศักดิ์สิทธิ์แต่ยังดีที่มีทายาทสืบทอดอย่าง เปาโล มัลดินี่ ผู้มีคุณสมบัติเพรียบพร้อมสำหรับหน้าที่นี้ แต่การขาดหายไปของผู้เล่นคนสำคัญส่งผลให้ เดอะ รอสโซเนรี่ อ่อนแอลงอย่างหนักเหมือนขาดกระดูกสันหลังของทีมไป
- การเปลี่ยนโค้ชที่มีรูปแบบการทำทีมขัดกับหลักปรัชญาที่ถูกวางรากฐานให้กับมิลานส่งผลสำคัญต่อการปรับตัวของผู้เล่นทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่เข้ากับมิลานในรูปแบบใหม่
- ซ้ำแล้วการเสริมตัวของมิลานคุณภาพต่ำลงบวกกับการนำเข้านักเตะต่างชาติเข้ามาเยอะโดยทีมเพิ่งขาดตัวหลักไปทำให้การปรับตัวเข้ากับปรัชญาใหม่ของทีมเป็นไปได้ยากกว่าเดิมมาก รากฐานทีมเวิร์ค ปรัชญาเดิมๆพังทลายลง
ด้วยสาเหตุคร่าวๆดังที่กล่าวมาทำให้ทีมยักษ์ใหญ่แห่งยุโรปได้หลับใหลลงกลายเป็นสามัญชนคนธรรมดา...
นักเตะต่างชาติที่เซ็นเข้ามาเป็นการลงทุนที่ล้มเหลว
จบฤดูกาลแชมป์เก่ากลายเป็นทีมดาดๆกลางตาราง บอลยุโรปตกรอบแบ่งกลุ่ม บาเรซี่และ ทาซอตตี้ ประกาศเลิกเล่นทำให้สถานการณ์ปั่นป่วนอย่างหนัก
แม้ว่า ซาคคี่ และ คาเปลโล่ จะพยายามกลับมากอบกู้สถานการณ์แต่...
มิลานตอนนี้เหมือนกับต้นไม้ที่ถูกถอนรากออกมาแล้ว ระบบต่างๆที่เคยวางไว้ถูกทำลายลงภายในเวลาไม่ถึงปีและการถ่ายเลือดใหม่ที่ปรับเข้ากับระบบไม่ได้พาลแต่จะทำให้ระบบที่แหลกอยู่แล้ว..แตกละเอียดไปมากกว่าเดิม การกลับมาของ ซาคคี่ และ คาเปลโล ไม่มีผลมิลานจบฤดูกาลสองปีแรกมิลานตกไปอยู่อันดับที่ 11 และ 10 ตามลำดับ
แฟนบอลเริ่มตั้งคำถามถึงภาวะความเป็นผู้นำของมัลดินี่และความสามารถของผู้เล่นมิลานทุกคน
การจากไปของสองผู้เล่นอาวุโสที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของลูกทีมมาอย่างยาวนาน
“ยามที่ทีมผลงานไม่ดี ความกดดันและคำวิพากษ์วิจารณ์ส่วนใหญ่จะมาตกลงที่นักเตะซีเนียร์ พวกเขาจะหาแพะรับบาปและสุดท้ายเหล่าแพะนั้นก็คือพวกเรา แต่ถ้าคุณ(นักเตะซีเนียร์)คนไหนเล่นได้ดีแล้ว เค้าก็จะไปลงที่คนอื่นแทน”
- มัลดินี่ พูดถึง ความกดดันในยุคปั่นป่วนของมิลาน
“มันมีการเปลี่ยนแปลงมากมายในเวลาอันสั้น รูปแบบการคุมทีมของโค้ชคนใหม่ นักเตะเซ็นฟรีเข้ามาและยังมีนักเตะต่างชาติเข้ามาเยอะแยะไปหมด ในช่วงเวลาอันสั้นนี้มันทำให้ปรัชญาของสโมสรก็ได้รับผลกระทบและทำให้เราสูญเสียความเป็นมิลานไปเล็กน้อย
(AN: นี่คือเล็กน้อยหรอ?) และพวกนักเตะเก่าและนักเตะใหม่ทั้งหลายก็ต้องพยายามปรับตัวให้สอดคล้องกับปรัชญาใหม่นี้”
- ดิเมทริโอ อัลแบรทินี่
แต่ทว่า เปาโล มัลดินี่ ยืนหยัดต่อสู้กับพายุระลอกแรกของช่วงตกต่ำในชีวิต แข็งขืนแบกทีมที่แตกระแหงเข้าไปถึงรอบชิง
โคปปา อิตาเลีย ได้แต่มันยังไม่เพียงพอ มิลานพ่ายแพ้ให้กับลาซิโอในปี 98
แม้ว่าผลงานกับทีมจะย่ำแย่เพียงใดแต่เปาโลก็ยังคงถูกเรียกติดทีมชาติไปลุยบอลโลกในปี 1998 ซึ่ง ณ ตอนนั้นกุนซือทีมชาติอิตาลีไม่ใช่คนห่างคนไกล เชซาเร่ มัลดินี่ นั่นเอง
การติดทีมชาติที่มีเสียงครหามากในยุคนั้น
“ตอนนั้นผมก็กังวลอยู่นะว่าจะถูกมองว่ามีระบบ Favortism ภายในทีมแต่ผมก็ตกลงกับลูกไว้ว่าเราจะไม่ใช้ความสัมพันธ์ฉันท์พ่อลูกในการทำงานรับใช้ชาติ เราจะไม่คุยกันเป็นการส่วนตัวในเวลางาน… ผมว่าเปาโลมีปัญหามากกว่าผมอีกที่จะต้องคอยเรียกผมว่า ‘บอส’ ไม่ใช่ ‘พ่อ’ ” - เชซาเร่ มัลดินี่ ถึง เสียงครหาในการเรียกลูกชายติดทัพอิตาลี
“แต่ความจริงแล้วมันไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญเลยเรื่องนั้น เค้าก็เป็นแค่ผู้เล่นที่สมควรติดตัวจริง” - เชซาเร่ มัลดินี่
และแล้วพายุลูกที่สองในช่วงเวลาอันเลวร้ายของมัลดินี่ก็ซัดเข้ามาอีกครั้ง...
แม้ว่าปีนี้นักเตะของอิตาลีจะมีความครบเครื่องมากกว่าปีก่อนๆ แต่จังหวะและโอกาสที่ เชซาเร่ มัลดินี่เข้ามาคุมทีมทำให้อิตาลีกลายเป็นทีมเน้นรับแบบคาเตนาโช่เหมือนอิตาลีในสมัยที่แกยังเป็นนักเตะอยู่
นั่นส่งผลให้อิตาลีกลายเป็นทีมเน้นรับแม้ว่าจะมีนักเตะสุดยอดตัวรุกอย่าง บาจโจ้และเดล เปียโร่ แต่กลายเป็นว่าด้วยแทคติคคาเตนาโช่ทำให้กลายเป็นวางแผนปิดตายนักเตะตัวรุกของทีมตัวเอง
แม้ว่าแผงแนวรับที่สร้างจากหยาดเหงื่อของมัลดินี่และกองหลังคนอื่นๆจะแน่นเหนียวซักเท่าไหร่ สุดท้ายอิตาลีพ่ายให้กับฝรั่งเศสจากการดวลจุดโทษ อีกครั้งหนึ่ง
“มันเป็นครั้งที่เท่าไหร่แล้วนะ… สี่? แม้ว่าในปีนี้ผมคิดว่าทีมเราไม่ได้แกร่งน้อยไปกว่าปี 90, 94 แต่ถ้าเราไม่แพ้ฝรั่งเศสเราจะได้ผ่านเข้ารอบไปเจอโครเอเชียซึ่งผมคิดว่าเราน่าจะทะลุเข้าชิงได้ไม่ยากนัก… ถ้าเราชนะฝรั่งเศสนะ”
- เปาโล มัลดินี่ ถึง ความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าในระดับทีมชาติ
AN: Cesare Maldini's Tactical Analysis
Spoil
แทบจะไม่ต้องเดาเลยถ้าให้คนแบบ เชซาเร่ มัลดินี่มาคุมทีมอิตาลีรูปแบบการเล่นจะออกมาแบบไหน
เชซาเร่ มัลดินี่ ผู้เติบโตมากับฟุตบอลที่เป็นสเน่ห์ของชาวอิตาเลี่ยนสมัยก่อน ถูกปลูกฝังการเล่นแบบคาเตนาโช่มาในหัวและใช้ชีวิตกับมันตลอดการค้าแข้ง
ใช่ครับแทคติคของเชซาเร่เป็นแทคติคที่ยังคงความเป็นคาเตนาโช่อยู่นั่นเอง
ด้วยปรัชญายอดฮิตของฟุตบอลอิตาลีสมัยก่อน “คุณไม่มีทางแพ้หรอก… ถ้าคุณไม่เสียประตู”
ซึ่งมันอาจจะจริงสำหรับเกมลีก แต่นี่มันเกมบอลถ้วยมันไม่มีผลเสมอในรอบน็อคเอ้าท์
แม้ว่าจะมีการใช้แทคติค 4-4-2 แบบคุมโซน แต่ด้วยปรัชญาส่วนตัวในการเล่นเกมรับทำให้ เชซาเร่ มัลดินี่ สลับกับการใช้งานสวีปเปอร์ ซึ่งการเล่นแบบนี้โดนวิพากษ์วิจารณ์กันทั่วประเทศในการที่เล่นเกมรับเกินกว่าเหตุ
แต่แผนที่เบสจากคาเตนาโช่นั้น พูดแบบเข้าใจง่ายๆว่าจะออกมาเป็นฟอร์เมชั่นแบบไหนรูปแบบ
การเล่นก็จะเป็นการอุดแล้วก็สวนด้วยความเร็วในการผ่านบอลไปข้างหน้าในแนวลึกแล้วไปอาศัยทักษะส่วนตัวของกองหน้าในการทำประตู (เคยพูดถึงในพาร์ทแรกของบทความก่อนครับ) แทคติคนี้จะไม่มีการใช้ความสามารถในการเล่นบอล ออกบอลแนวขวางเลย ทำให้ลิมิตรูปแบบการเล่นและการเลือกตัวลงสนามอย่างมาก
ทีมที่ควรจะผ่านเข้าไปรอบลึกๆและมีโอกาสคว้าแชมป์โลก
เมื่อผลงานออกมาได้ไม่ถูกใจแฟนบอลทั่วประเทศ เชซาเร่ มัลดินี่ ก็เริ่มโดนตำหนิอย่างหนักหน่วงในความผิดพลาดที่แฟนบอลอัซซูรี่คิดว่าเกิดจาก เชซาเร่ มัลดินี่ กระทงแรกคือการเล่นอุดสวนทำให้ความสร้างสรรค์ในเกมรุกของ โรแบร์โต้ บาจโจ้ และ อเลสซานโดร เดล เปียโร่ ถูกจำกัด ทั้งยังไม่เลือกใช้งานคู่กองหน้าสองคนนี้ให้เล่นด้วยกันแต่มักจะให้สลับกันเล่น กระทงสองเลือกที่จะเมินนำ
จานฟรังโก้ โซล่า เข้าทีม
จบศึกบอลโลก เชซาเร่ มัลดินี่ ก็แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่ง
กลับมาที่สโมสรมิลาน
ดูเหมือนว่า. . สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นแล้วในปีนี้
ในฤดูกาล 1998-99 ภายใต้การคุมทีมของโค้ชคนใหม่ อัลแบร์โต้ ซัคเคโรนี่ (Alberto Zaccheroni) ซึ่งได้นำเข้านักเตะคู่ใจเข้ามาสองคนและมีส่วนสำคัญในการกลับมาของมิลานคือ โอลิเวอร์ เบียร์โฮฟ และ โธมัส ฮีลวิก ปีนั้นมิลานไม่มีรายการยุโรปได้กลับมาคว้าแชมป์แบบหวุดหวิดโดยมีแต้มเหนือลาซิโอ้แค่แต้มเดียว
การตื่นขึ้นของยักษ์หลับ...หรือเพียงแค่ละเมอเท่านั้น!?!
ในฤดูกาลถัดมามิลานได้ทำการถอยอาวุธหนักมาชื่อว่า อังเดร เชฟเชนโก้ (Andriy Shevchenko)
ทุกคนคงรู้ถึงความสามารถผู้ที่วันหนึ่งจะกลายเป็นตำนานดาวยิงคนหนึ่งของสโมสรคนนี้ ฤดูกาลแรกที่เข้ามากดในลีกคนเดียวไป 24 เม็ดในเซเรีย 29 เม็ดทุกรายการ แทบจะเป็นทุกอย่างของทีม ณ เวลานั้นและได้เข้าชิงตำแหน่ง บัลลงดอร์ ทันทีแม้จะผิดหวังได้อันดับ 3 แต่ถือว่าเป็นการประเดิมซีซั่นที่สุดยอดมาก
เดอะ แบก 1999 : เร็ว แข็ง คม ยิงไส้แตก
แต่ทว่าผลงานของมิลานในเซเรียยังแลดูทรงๆกับการสิ้นสุดฤดูกาลด้วยอันดับ 3 แต่ทว่าผลงานในถ้วยยุโรปมิลานใดอันดับบ๊วยในกลุ่มไม่ได้แม้แต่ไป UEFA Cup
มันมีอะไรในกอไผ่? อันดับที่ได้ ระบบดี หรือแค่ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า?
AN: Zaccheroni’s Brief Tactical Analysis
Spoil
บทนี้จะเป็นบทวิเคราะห์สั้นๆของแทคติคในยุคการคุมทีมของ ซัคเคโรนี่ นะครับ
ซัคเคโรนี่ผมคิดว่าตอนมามิลานคล้ายๆคอนเต้ ทีมค่อนข้างจะปั่นป่วนไม่เป็นระบบเลยเพราะเปลี่ยนโค้ชบ่อย นักเตะตัวหลักเริ่มแก่ตัว นักเตะหน้าใหม่เริ่มเป็นชาวต่างชาติเข้ามาทำให้การสื่อสารและความเข้าใจซึ่งกันและกันมีปัญหามาก
ขอท้าวความแต่เดิมก่อนว่าการที่ อาร์ริโก้ ซาคคี่ เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการวางแทคติคของบอลอิตาลีมีผลกับบอลระบบหลัง 3 ตัวมาก ไม่เป็นที่นิยมเหมือนแต่ก่อนและยังมีความเชื่อว่าการจะเล่นหลัง 3 นักเตะจะต้องมีความฟิต ตัวริมเส้นจะต้องวิ่งขึ้นสุดลงสุด และ ทีมเวิร์คจะต้องแน่น ซึ่งว่ากันว่ากว่าจะเล่นด้วยกันได้เนียนตาต้องใช้เวลาเป็นปี
แต่ก็ยังคงมีโค้ชอิตาเลี่ยนสมัยก่อนยังคงชื่นชอบจะใช้ หนึ่งในนั้นก็คือ ซัคเคโรนี่ ครับกล้าเอามาใช้กับมิลานชุดนั้น (คนนี้ใช้มาก่อน วอลเตอร์ มาซซารี่ อีกนะครับ)
แผนนี้ผมมองว่าไม่มีอะไรมากใช้ความอดทนและความว่องไวของนักเตะอย่างเดียวเลย โชคดีที่แผงหลังใช้ มัลดินี่ คอสตากูตาร์ อยาล่า เป็นแกนหลักในแผงหลัง โดยมีกลาง อัมบรอซินี่ ช่วยวิ่งไล่บอลข้างหน้าแผงหลังส่วน ฮีลวิก กับ กูลี่ ก็วิ่งขึ้นลงในกราบขวา-ซ้าย
แต่จุดสังเกตของสองปีนี้คือทั้งสองปีนั้นมิลานมีเดอะแบกประจำทีมซึ่งก็คือ
โอลิเวอร์ เบียร์โฮฟ และ อังเดร เชฟเชนโก้
และดูเหมือนว่าจะจริง ยักษ์ที่สะลึมสะลือเหมือนจะตื่นขึ้นกลับหลับใหลไปอีกรอบ
ในปีต่อมา เบียร์โฮฟไม่สามารถยิงประตูได้อย่างเคย สถานการณ์มิลานดิ่งนรกสู่ฝันร้ายอีกครั้ง ทำให้ซัคเคโรนี่โดนปลดฟ้าผ่าระหว่างฤดูกาลและแต่งตังคนที่คุ้นเคยอีกครั้งคนนั้นก็คือ เชซาเร่ มัลดินี่ พ่อของ เปาโล มัลดินี่ มาทำงานร่วมกับอดีตนักเตะในตำนานอย่าง เมาโร ทาซอตติ ขึ้นกุมบังเหียนจนจบฤดูกาล
แม้ว่าอันดับจะดูไม่เลวร้ายมากเพราะจบที่อันดับ 6 แต่ถ้าฤดูกาลนี้ขาดเดอะ แบก 1999 ในปีก่อนหน้ารับรองอันดับมิลานแตะเลข 2 หลักแน่นอนเพราะพี่เชว่าคนนี้ยังคงความเป็นสุดยอดดาวยิงทะลวงไส้กับการกดไป 24 ประตูในเซเรีย 34 ประตูทุกรายการ ปีนี้เค้าเป็น เดอะ รอสโซเนโร่ ของจริง ปีนั้นเค้าได้เข้าชิงตำแหน่งบัลลงดอร์อีกครั้งและจบด้วยตำแหน่งเดิมคือ อันดับ 3
แต่ทว่าฤดูกาลนี้มีการสร้างสถิติใหม่ให้กับ มิลาน และ อินเตอร์ นั่นก็คือ สถิติชนะเยอะที่สุด และ แพ้เยอะที่สุด ใน แดร์บี้ เดลลา มาโดนีน่า (Milan Derby) โดย มิลานได้สถิติชนะเยอะที่สุดนั่นก็คือ 6-0 และ อินเตอร์ก็ได้รับสถิติแพ้เยอะที่สุด 0-6 ไปประดับสถิติสโมสรกันโดยสองประตูในนั้นเป็นของ เชฟเชนโก้
เดอะ แบก รีเทิร์น: ขาดตรูคือตาย
ในช่วงชีวิตนี้ของมัลดินี่เรียกได้ว่าเสมือนไฟที่เกือบมอดดับอย่างแท้จริง เกมรับมีปัญหา ทีมดูเหมือนจะไปไม่รอด ระบบที่วางเอาไว้ไม่อาจหยั่งรากลงไปในทีมได้
สิ้นสุดฤดูกาลมิลานก็ได้ลองของแปลกแต่งตั้งผู้จัดการทีมคนใหม่นั่นก็คือ ฟาติฮ์ ทีริม (Fatih Terim) เข้ามาคุมทัพและได้ทำการเปลี่ยนรูปแบบการเล่นของมิลาน(อีกแล้ว)ให้เน้นเกมบุกมากขึ้น โดยรูปแบบแทคติคของทีริมจะมีความคล้ายคลึงกับแทคติคแบบ โททัล ฟุตบอล (Total Football) จากฮอลแลนด์ แต่ก็อยู่ได้ไม่นานครับเพราะทำให้มิลานกลายเป็นทีมเน้นรุกแบบบ้าระห่ำ (ผมเขียนแทคติคแกไว้ในสปอยล์ข้างล่างนะครับ) และการบริหารจัดการผู้เล่นค่อนข้างแย่เลยครับ ตอนหลังปีร์โล่ออกมาให้สัมภาษณ์ตำหนิด้วย
การเข้ามาของจักรพรรดิ
AN: Terim's Tactical Analysis
Spoil
ก่อนอื่นต้องพูดถึงรูปแบบการจัดการทีมของทีริมก่อน ฉายาของทีริมคือ อิมพาราทอ หรือในอิตาลีเรียกว่า อิมเปราตอเร่ ซึ่งแปลเป็นอังกฤษและไทยว่า Emperor, จักรพรรดิ
ที่มาของจักรพรรดินะครับไม่ได้สวยงามเหมือนที่เราคิดกัน ทีริมเป็นจักรพรรดิที่หยิ่งในศักดิ์ศรี เป็นบอสมากกว่าเป็นลีดเดอร์ ตะคอก กดดัน และเลือกนักเตะที่ยอมเชื่อฟังคำสั่งของตน ทำนองนี้
แต่อย่าเพิ่งคิดว่าเค้าไม่เก่งหรืออะไรนะครับในปีที่มาคุมมิลานเค้าปฎิเสธข้อเสนอจากบาร์ซ่าและลิเวอร์พูลเพื่อมาคุมมิลานเลยทีเดียว ไม่รู้ว่าเค้าคิดถูกหรือผิดกันแน่
เค้าอแดปท์ปรับปรุงแทคติคที่ผมคิดว่าน่าจะเบสมาจาก Total Football ของฮอลแลนด์ในฟอร์เมชั่น 4-3-1-2 หัวใจของทีมคือ รุย คอสต้า โดยที่เปลี่ยนปรัชญาเล็กน้อยจากเดิม “ทุกตำแหน่งที่ไม่ใช่ผู้รักษาประตู ต้องเล่นแทนกันได้” เป็น “ทุกตำแหน่งที่ไม่ใช่ผู้รักษาประตู ต้องเล่นเกมบุกได้” นั่นล่ะครับคุมทีมไปได้ 13 นัดจากมิลานซึ่งเป็นทีมที่เล่นเกมรับได้แน่นสุดๆ กลายเป็นเล่นเกมรุกยิงกันกระจุยกระจายเฉลี่ยๆ 2 ลูก+ ต่อเกมแต่ในทางกลับกัน เสียประตูแทบทุกนัดทำให้ระบบเกมรับยิ่งรวนไปอีก
พายุหลายลูกโหมกระหน่ำเข้าสู่ชีวิตของมัลดินี่ที่ต้องดำรงตำแหน่ง อีล กัปปิตาโน่ เป็นเสาหลักให้กับทีมที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของปรัชญา รูปแบบการเล่น เปาโล มัลดินี่ ก็ยังคงอดทน และไม่ยอมล้มลงกับบททดสอบครั้งใหญ่ในชีวิตของเขา
จนกระทั่งมาพบกับบททดสอบที่โหดร้ายที่สุดในชีวิตในการเล่นทีมชาติ
มัลดินี่เพิ่งจะสร้างประวัติศาสตร์การลงเล่นให้อิตาลีมากที่สุดไปจำนวนทั้งสิ้น 113 เกมส์แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จใดๆและเวลาของเขาก็ใกล้หมดลงทุกที
เพิ่มหลักกิโลในชีวิต แต่เวลาก็เริ่มที่จะหมดลง
และในปี 2000 เปาโล มัลดินี่ ก็ได้พบกับ 1 ใน บททดสอบสุดท้ายต่อความแข็งแกร่งทางจิตใจของพระเจ้า
มัลดินี่ลงเล่นครบทุกนัดพาอิตาลีชนะทุกนัดในบอลยูโร ทั้งรายการก่อนเจอฝรั่งเศส ในแผงหลังอิตาลีที่ประกอบด้วยสุดยอดไลน์อัพแผงหลังในฝันของใครหลายคน มัลดินี่(แบ๊ค) - เนสต้า (เซนเตอร์) - คันนาวาโร่ (เซนเตอร์) เสียเพียงแค่สองประตู
มัลดินี่ที่ยิ่งอายุเยอะ ยิ่งเก่ง ยิ่งเจนประสบการณ์
ท้ายที่สุดอิตาลีแพ้ฝรั่งเศสด้วยประตูโกลเด้น โกลของดาวิด เทรเซเก้ในนัดชิงชนะเลิศ
โอกาสที่ดีที่สุดและดูเหมือนจะเป็นโอกาสสุดท้ายในการได้จับถ้วยรายการเมเจอร์ของตำนานกองหลังที่เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลก็หลุดลอยออกไป
บางครั้งการที่ยืนหยัดสู้อย่างอดทนเพื่อสิ่งที่ไม่มีทางจะได้มามันก็เจ็บปวด
“ผมรู้สึกว่าเราเริ่มอ่อนแอลงเรื่อยๆ เราไม่ได้เต็มที่กับมันเท่าที่ควร เราควรเรียนรู้ที่จะยอมรับมัน” - เปาโล มัลดินี่ ถึง ยูโร 2000
AN:ถ้าได้ดูเทปหลังจากอิตาลีแพ้จะเห็นว่ามัลดินี่ใจสลายมาก สีหน้าไม่ใช่แค่เหนื่อยกายแต่เหมือนว่าใจไปต่อไม่ไหวแล้ว ตอนให้สัมภาษณ์ย้อนหลังเหมือนจะยังมีอารมณ์ความรู้สึกเสียดายอยู่หน่อยๆ
ความผิดหวังจากบอลยูโร ความไม่แน่นอนของสโมสร ช่วงเวลานั้นมันยากเกินจะเข้าใจความรู้สึกของ อีล กัปปิตาโน่ จริงๆ
และแล้ววาระสุดท้ายในการรับใช้ชาติของมัลดินี่ก็มาถึงกับบอลโลก 2002 ที่ประเทศเกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพร่วมกับประเทศญี่ปุ่น
ปี 2002 อิตาลีไม่ได้เล่นดีเหมือนปี 2000 แม้ว่ามัลดินี่จะพาทีมชนะเอกวาดอร์เปิดหัวรอบแบ่งกลุ่มไปได้ 2-0 หลังจากนั้นเค้าก็ไม่ชนะใครอีกเลย แต่ที่มันน่าเจ็บใจสำหรับแฟนบอลและขุนพลอัซซูรี่คือ ความไม่ชอบมาพากลของการแข่งรอบน็อคเอาท์กับเกาหลีใต้
เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ดูหนึ่งในแมตช์แห่งความอัปยศ
“มันแย่… มันเลวร้ายมากจริงๆ มันเป็นเกมที่บ้าบอคอแตก ความทรงจำที่แย่มากที่นั่นน่ะ บรรยากาศภายในสนามมันแตกต่างกับที่เราเคยเจอมานะ บรรยากาศในทวีปเอเชียน่ะ แต่ที่มันแปลกมากกว่าก็คือรูปแบบในการเชียร์บอลของแฟนๆบ้านเค้า มันไม่เหมือนกับที่ผมเคยเจอมาก่อนเลย… จากนั้นก็มาเจอปัญหากับกรรมการอีก อันนี้เลวร้ายยิ่งกว่า” - เปาโล มัลดินี่ ถึง เกมกับเกาหลีใต้
สรุปแล้วมัลดินี่รูดม่านการรับใช้ชาติของ อีล กัปปิตาโน่ ผู้เข้มแข็ง ยืนหยัดฝ่าฟันผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากของวงการบอลอิตาลีมาทั้งในระดับประเทศและสโมสรเพื่อผลักดันให้ทีมเดินต่อไปข้างหน้าด้วยการพ่ายแพ้ต่อเกาหลีใต้แบบเป็นที่น่ากังขาจากการทำหน้าที่ของผู้ตัดสินและประตูของอาห์น จุง ฮวอน
หลังจากนั้นมัลดินี่ก็ประกาศยุติบทบาทการรับใช้ชาติอิตาลีกว่า 16 ปีและเป็นกัปตันทีมกว่า 8 ปีด้วยสถิติลงเล่นให้ทีมชาติเยอะที่สุด 126 นัด ยิงไป 7 ประตูในบ้านทั้งหมด โดยสวมปลอกแขนทั้งหมด 74 ครั้งก่อนส่งมอบตำแหน่งกัปตันให้กับทายาทที่ไม่ด้อยไปกว่าตนเอง ผ่านฟุตบอลโลกมา 4 ครั้ง ฟุตบอลยูโรมา 3 ครา แต่ก็เป็นเพียงแค่พบเพื่อเพียงผ่านจริงๆ
“มันน่าผิดหวังมากนะสำหรับเปาโล เค้าไม่เคยได้สิ่งที่เค้าควรจะได้ในขณะที่เค้ารับใช้ทีมชาติ แม้ว่าเค้าจะพาทีมเข้าไปถึงรอบลึกๆก็ตาม” - เมาโร ทาซอตติ
“ตลอดการเล่นในรายการบอลโลกของผม อิตาลีเป็นหนึ่งในทีมเต็งตลอดแต่มันก็ยังมีเส้นบางๆที่กั้นระหว่างคำว่า แพ้ และ ชนะ”
- เปาโล มัลดินี่
“ในทีมชาติ ผมคิดว่าเปาโล เป็นหนึ่งในนักเตะที่ดีที่สุดตลอดกาล เค้ามีความสามารถ ความกล้าหาญ และ การวางตัวของเค้า”
- เชซาเร่ มัลดินี่
และตรงนี้ผมถือว่าเป็นจุดสิ้นสุดกับช่วงแห่งความโชคร้ายในชีวิตการค้าแข้งของมัลดินี่ที่เจอเหตุการณ์น่าผิดหวังประดังเข้ามาแทบจะทุกปีซึ่ง ณ ตอนนั้นอายุแกก็ปาไป 34 ปีซึ่งโดยปกติจะถือว่าเป็นช่วงปลายสุดๆของกองหลังแล้ว หลังจากจบบอลโลกกลับมาในสโมสรที่ระส่ำระส่ายก็คงคิดว่าความยิ่งใหญ่ของตำนานกองหลังคนนี้คงตายไปแล้ว
ในช่วงเวลาที่ผ่านแม้ว่าทีมจะตกต่ำย่ำแย่ ไม่ประสบความสำเร็จ ผ่านการเปลี่ยนแปลงของปรัชญาสโมสร โค้ช และเพื่อนนักเตะมากมายทั้งในมิลานหรืออิตาลี แต่อย่างน้อยก็ยังมี อีล กัปปิตาโน่ อย่าง เปาโล มัลดินี่ ที่ยังคอยดันทีมไปข้างหน้า ประคับประคองเอกลักษณ์ของมิลานและอิตาลีเอาไว้อยู่เพื่อรอวันที่จะกลับมาประสบความสำเร็จอีกครั้ง
ขอจบตอนด้วยคำกล่าวที่ผมอ่านเจอมาจากที่ไหนซักที่แล้วกันครับทำนองนี้
“A real legend doesn’t need Ballon d’Or, Jules Rimet or EURO trophy to be one, he was born legend, living and playing football like one.”
“ตำนานที่แท้จริงไม่จำเป็นต้องมี บัลลงดอร์, ชูรส์ ริเม่ต์ หรือ ถ้วยรางวัลยูโร เพื่อที่จะเป็นตำนานหรอกเค้าก็แค่เกิดมา, ใช้ชีวิตและเล่นบอลแบบตำนานเท่านั้นเอง”
The Irreplaceable Defender
ครับพาร์ทนี้จะจบลง ณ จุดสิ้นสุดของยุคตกต่ำทั้งของมิลานและมัลดินี่ที่เจอแต่ความล้มเหลว
แล้วพาร์ทหน้าซึ่งคาดว่าจะเป็นพาร์ทสุดท้ายของตำนานกองหลังปู่โสมเฝ้ามิลานฆ่าไม่ตายคนนี้ ผมเปรียบเสมือนนกฟินิกซ์ที่เคยตายและสูญเสียอะไรบางอย่างกับช่วงเวลาร้ายๆ(ยูโร 2000) แต่ก็จุดไฟในตัวเองกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งนึงในช่วงที่ควรจะเป็นขาลงของชีวิตการค้าแข้งด้วยประสบการณ์และพรสวรรค์ส่วนตัว จนทำให้เป็นกองหลังที่น่ามหัศจรรย์ของโลกตลอดกาล
หลังจากการกลับมาในฐานะกุนซือของชายคนนี้ในปี 2001
ที่สุดของแจ้
เจอกันใหม่ในการกลับมาขอมิลานและมัลดินี่ครับ
แก้ไขล่าสุดโดย arnonearth เมื่อ Mon Sep 25, 2017 13:19, ทั้งหมด 28 ครั้ง
โหวตเป็นกระทู้แนะนำ