BLOG BOARD_B
ติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Email: sale@soccersuck.com
ไว้คราวหน้า X
ไว้คราวหน้า X
ไม่ต้องแสดงข้อความนี้อีกเลย
ไปหน้าที่ 1
ไปที่หน้า
GO
ตั้งกระทู้ใหม่
ฝากรูป
ผู้ตั้ง
ข้อความ
ออฟไลน์
นักเตะอบต.
Status:
: 0 ใบ : 0 ใบ
เข้าร่วม: 14 Aug 2012
ตอบ: 499
ที่อยู่: 221b Baker Street
โพสเมื่อ: Wed May 07, 2014 22:55
จดหมายของรัชกาลที่5ถึงลูก


ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จักรวรรดินิยมตะวันตกกำลังรุกสยามอย่างหนัก ช่วงเวลานั้น พระองค์ทรงมองเห็นการณ์ไกล ทรงมีพระราชวิเทโศบาย (นโยบายต่างประเทศ) และรัฐประศาสโนบาย (นโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน) อย่างลึกซึ้ง ทรงพิจารณาเห็นว่า หากสยามไม่เตรียมรับมือความเปลี่ยนแปลง เห็นจะอยู่เป็นสยามประเทศในอนาคตลำบาก ดังนั้นในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านยังไม่ตื่น แต่พระองค์ทรงตื่นแล้ว จึงทรงเริ่มส่งพระโอรส พระธิดา พระนัดดา จำนวนหนึ่งไปทรงศึกษาต่อยังต่างประเทศ โดยเฉพาะแถบภาคพื้นยุโรป

ระหว่างที่พระโอรส พระธิดา และพระนัดดา จำนวนหนึ่งทรงศึกษาอยู่ต่างประเทศนั้น พระองค์ทรงมีพระราชหัตถเลขาไปยังพระโอรส พระธิดา และพระนัดดาเหล่านั้นอยู่เนืองๆ ความในพระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่ง สะท้อนให้เห็น “ศิลปะในการสอนลูกให้เป็นคนดี” อย่างลึกซึ้ง จนใครต่อใครที่ได้อ่านพระราชหัตถเลขาฉบับนี้ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พระราชหัตถเลขาฉบับนี้งดงามทั้งคำและความ ทั้งยังมีความร่วมสมัยเป็นอย่างยิ่ง แม้กระทั่งเมื่อหยิบมาอ่านในยุคโลกาภิวัตน์ ก็ยังไม่เชย

ข้อความในพระราชหัตถเลขาที่สอนศิลปะแห่งการเป็นคนดีอย่างลึกซึ้งฉบับนั้น มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้



...ขอจดหมายคำสั่งตามความประสงค์ให้แก่ลูก บรรดาที่จะออกไปเรียนหนังสือในประเทศยุโรป จงประพฤติตามโอวาทที่จะกล่าวต่อไปนี้...

1. การซึ่งจะให้ออกไปเรียนครั้งนี้ มีความประสงค์มุ่งหมายแต่จะให้ได้วิชาความรู้อย่างเดียว ไม่มั่นหมายจะให้เป็นเกียรติยศชื่อเสียงอย่างหนึ่งอย่างใดในชั้นซึ่งยังเป็นผู้เรียนวิชาอยู่นี้เลย เพราะฉะนั้นที่จะไปครั้งนี้ อย่าให้ไว้ยศว่าเป็นเจ้า ให้ถือเอาบรรดาศักดิ์เสมอลูกผู้มีตระกูลในกรุงสยาม คืออย่าให้ใช้ ฮีสรอแยลไฮเนสปรินส์ นำหน้าชื่อ ให้ใช้แต่ชื่อเดิมของตัวเฉยๆ เมื่อมีผู้อื่นเขาจะเติมหน้าชื่อ ฤาจะเอสไควก็ตามทีเถิด อย่าคัดค้านเขาเลย แต่ไม่ต้องใช้คำว่านายตามอย่างไทย ซึ่งเป็นคำนำของชื่อลูกขุนนางที่เคยใช้แทนมิสเตอร์เมื่อเรียกชื่อไทยในภาษาอังกฤษบ่อยๆ เพราะว่าเป็นภาษาไทยซึ่งจะทำให้เป็นที่ฟังขำๆ หูไป

ขออธิบายความประสงค์ข้อนี้ให้ชัดว่า เหตุใดจึงได้ไม่ให้ไปเป็นยศเจ้า เหมือนอาว์ของตัวที่เคยไปแต่ก่อน ความประสงค์ข้อนี้ใช่ว่าจะเกิดขึ้นเพราะไม่มีความเมตตากรุณา ฤาจะปิดบังซ่อนเร้น ไม่ให้รู้ว่าเป็นลูกอย่างนั้นเลย พ่อคงรับว่าเป็นลูกและมีความเมตตากรุณาต่อบุตร แต่เห็นว่าซึ่งจะเป็นยศเจ้าไปนั้นไม่เป็นประโยชน์อันใดแก่ตัวนัก ด้วยธรรมดาเจ้านายฝ่ายเขามีน้อยเจ้านายฝ่ายเรามีมาก ของฝ่ายเขามีน้อยตัวก็ยกย่องทำนุบำรุงกันใหญ่โตมากกว่าเรา ฝ่ายเราจะไปมียศเสมออยู่กับเขา แต่ความบริบูรณ์แลยศศักดิ์ไม่เต็มที่เหมือนอย่างเขา ก็จะเป็นที่น่าน้อยหน้าแลเห็นเป็นเจ้านายเมืองไทยเลวไป

แลถ้าเป็นเจ้านายและต้องรักษายศศักดิ์ในกิจการทั้งปวง ที่จะทำทุกอย่างเป็นที่ล่อตาล่อหูคนทั้งปวงที่จะให้พอใจดูพอใจฟัง จะทำอันใดก็ต้องระวังตัวไปทุกอย่าง ที่สุดจนจะซื้อจ่ายอันใด ก็แพงกว่าคนสามัญ เพราะเขาถือว่ามั่งมี เป็นการเปลืองทรัพย์ในที่ไม่ควรจะเปลืองเพราะเหตุว่าถึงจะเป็นไพร่ก็ดี เมื่ออยู่ในประเทศมิใช่บ้านเมืองของตัว ก็ไม่มีอำนาจที่จะทำฤทธิ์เดชอันใดไปผิดกับคนสามัญได้ จะมีประโยชน์อยู่นิดหนึ่งแต่เพียงเข้าที่ประชุมสูงๆ ได้ แต่ถ้าเป็นลูกผู้มีตระกูลก็จะเข้าไปในที่ประชุมสูงๆ ได้เท่ากันกับเป็นเจ้าของนั้นเอง เพราะฉะนั้นจึงขอห้ามเสียว่า อย่าให้ไปอวดอ้างว่าเป็นเจ้านายอันใด จงประพฤติให้ถูกตามคำสั่งนี้


2. เงินค่าที่จะใช้สอยในการเล่าเรียนกินอยู่นุ่งห่มทั้งปวงนั้น จะใช้เงินทองพระคลังข้างที่ คือเงินที่ใช้ส่วนสิทธิ์ขาดแก่ตัวพ่อเองไม่ใช้เงินที่สำหรับจ่ายราชการแผ่นดิน เงินรายการนี้ได้ฝากไว้ที่แบงก์ ซึ่งจะได้มีคำสั่งให้ราชทูตจ่ายเป็นเงินสำหรับเรียนวิชาชั้นต้น 5 ปี ปีละ 320 ปอนด์ เงิน 1,600 ปอนด์ สำหรับเรียนวิชาหลักอีก5 ปี ปีละ 400 ปอนด์ เงิน 2,000 ปอนด์รวมเป็นคนละ 3,600 ปอนด์ จะได้รู้วิชาเสร็จสิ้นอย่างช้าใน 10 ปี แต่เงินนี้ฝากไว้ในแบงก์คงจะมีดอกเบี้ยมากขึ้น เหลือการเล่าเรียนจะได้ใช้ประโยชน์ของตัวเองตามชอบใจ เป็นส่วนยกให้ เงินส่วนของใครจะให้ลงชื่อเป็นของผู้นั้นฝากเอง แต่ในกำหนดยังไม่ถึงอายุ 21 ปีเต็ม จะเรียกเอาเงินใช้สอยเองมิได้ จะตั้งผู้จัดการแทนไว้ที่นอกให้เป็นผู้ชายจัดการไป จะได้ทำหนังสือมอบให้อีกฉบับหนึ่ง สำหรับที่จะได้ไปทวงในเวลาต้องการได้

การซึ่งใช้เงินพระคลังข้างที่ ไม่ใช้เงินแผ่นดินอย่างที่เคยจ่ายให้เจ้านายและบุตรข้าราชการไปเล่าเรียนแต่ก่อนนั้น เพราะเห็นว่าพ่อมีลูกมากด้วยกัน การซึ่งให้มีโอกาสและให้ทุนทรัพย์สินเงินทองอื่นๆ ด้วยเป็นของติดตัวอยู่ได้ ไม่มีอันตรายที่จะเสื่อมสูญ ลูกคนใดที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดก็ดี ฤาไม่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดก็ดี ก็จะต้องส่งออกไปเรียนวิชาทุกคนตลอดโอกาสที่จะเป็นไปได้เหมือนหนึ่งได้แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ลูกเสมอๆ กันทุกคน ก็ถ้าจะใช้เงินแผ่นดินสำหรับให้ไปเล่าเรียนแก่ผู้ซึ่งไม่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด กลับมาไม่ได้ทำราชการคุ้มกับเงินแผ่นดินที่ลงไป ก็จะเป็นที่ติเตียนของคนบางจำพวกว่ามีลูกมากเกินไปจนต้องใช้เงินแผ่นดินเป็นค่าเล่าเรียนมามากมายเหลือเกิน แล้วซ้ำยังไม่เลือกฟั้นเอาแต่ที่เฉลียวฉลาดจะได้ราชการ คนโง่คนเง่าก็เอาไปเล่าเรียนให้เปลืองเงิน เพราะค่าที่เป็นลูกของพ่อไม่อยากจะให้เป็นมลทินที่พูดติเตียนเกี่ยวข้องกับความปรารถนา ซึ่งจะสงเคราะห์แก่ลูกให้ทั่วถึงโดยเที่ยงธรรมนี้ จงมิได้ใช้เงินแผ่นดิน

อีกประการหนึ่งเล่าถึงว่าเงินพระคลังข้างที่นั้นเอง ก็เป็นเงินส่วนหนึ่งในเงินแผ่นดินเหมือนกัน เว้นแต่เป็นส่วนที่ยกให้แก่พ่อใช้สอยการในตัว ที่ทำการกุศลและสงเคราะห์บุตรภรรยาเป็นต้น เห็นว่าการสงเคราะห์ด้วยเล่าเรียนดังนี้เป็นดีกว่าอย่างอื่นๆ จึงได้เอาเงินรายนี้ใช้ เป็นการมีคุณต่อแผ่นดิน ที่ไม่ต้องแบ่งเงินแผ่นดินมาใช้เป็นค่าเล่าเรียนขึ้นอีกส่วนหนึ่งและพ้นจากคำคัดค้านต่างๆ เพราะเหตุที่พ่อได้เอาเงินส่วนที่พ่อจะได้ใช้เองนั้นออกให้เล่าเรียนด้วยเงินรายนี้ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดที่จะแทรกแซงว่าควรใช้อย่างนั้น ไม่ควรใช้อย่างนั้นได้เลย



3. จงรู้ตัวเป็นนิจเถิด ว่าเกิดมาเป็นเจ้านายมียศถาบรรดาศักดิ์มากจริงอยู่ แต่ไม่เป็นการจำเป็นเลยที่ผู้ใดเป็นเจ้าแผ่นดินขึ้น จะต้องใช้ราชการอันเป็นช่องที่จะหาเกียรติยศชื่อเสียงและทรัพย์สมบัติ ถ้าจะว่าตามการซึ่งเป็นมาแต่ก่อน เจ้านายซึ่งจะหาช่องทำราชการได้ยากกว่าลูกขุนนางเพราะเหตุที่เป็นผู้มีวาสนาบรรดาศักดิ์มาก จะรับราชการในตำแหน่งต่ำๆ ซึ่งเป็นกระไดขั้นแรก คือเป็นนายรองหุ้มแพรมหาดเล็ก เป็นต้น ก็ไม่ได้เสียแล้ว จะไปตั้งแต่งให้ว่าการใหญ่โตสมยศศักดิ์ เมื่อไม่มีวิชาความรู้และสติปัญญาพอที่จะทำการในตำแหน่งนั้นไปได้ ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น เจ้านายจะเป็นผู้ได้ทำราชการ มีชื่อเสียงดี ก็อาศัยได้แต่สติปัญญาความรู้และความเพียรของตัว

เพราะฉะนั้น จงอุตสาหะเล่าเรียนโดยความเพียรอย่างยิ่ง เพื่อจะได้มีโอกาสที่จะทำการให้เป็นคุณแก่บ้านเมืองของตัว และโลกที่ตัวได้มาเกิด ถ้าจะถือว่าเกิดมาเป็นเจ้านายแล้วนิ่งๆ อยู่จนตลอดชีวิตก็เป็นสบาย ดังนั้นจะไม่ผิดอันใดกับสัตว์ดิรัจฉานอย่างเลวนัก สัตว์ดิรัจฉานมันเกิดมากินๆ นอนๆ แล้วก็ตาย แต่สัตว์บางอย่างยังมีหนังมีเขามีกระดูกเป็นประโยชน์ได้บ้าง แต่ถ้าคนประพฤติอย่างเช่นสัตว์ดิรัจฉานแล้วจะไม่มีประโยชน์อันใดยิ่งกว่าสัตว์ดิรัจฉานบางพวกไปอีก เพราะฉะนั้น จงอุตสาหะที่จะเรียนวิชาเข้ามาเป็นกำลังที่จะทำตัวให้ดีกว่าสัตว์ดิรัจฉานให้จงได้ จึงจะนับว่าเป็นการได้สนองคุณพ่อ ซึ่งได้คิดทำนุบำรุงเพื่อจะให้ดีตั้งแต่เกิดมา

โปรด “จงรู้ตัวเป็นนิจเถิด ว่าเกิดมาเป็นเจ้านายมียศถาบรรดาศักดิ์มากจริงอยู่ แต่ไม่เป็นการจำเป็นเลยที่ผู้ใดเป็นเจ้าแผ่นดินขึ้น จะต้องใช้ราชการอันเป็นช่องที่จะหาเกียรติยศชื่อเสียงและทรัพย์สมบัติ”


4. อย่าได้ถือตัว ว่าตัวเป็นลูกเจ้าแผ่นดิน พ่อมีอำนาจยิ่งใหญ่อยู่ในบ้านเมือง ถึงจะเกะกะไม่กลัวเกรงข่มเหงผู้ใด เขาก็คงจะมีความเกรงใจพ่อไม่ต่อสู้ ฤาไม่อาจฟ้องร้องว่ากล่าว การซึ่งเชื่อใจดังนั้นเป็นการผิดแท้ทีเดียว เพราะความปรารถนาของพ่อไม่อยากจะให้ลูกมีอำนาจที่จะเกะกะอย่างนั้นเลย เพราะรู้เป็นแน่ว่าเมื่อรักลูกเกินไป ปล่อยให้ไม่กลัวใครและประพฤติการชั่วดังนั้น คงจะเป็นโทษแก่ตัวลูกนั่นเองทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพราะฉะนั้นจงรู้เถิดว่า ถ้าเมื่อได้ทำความผิดเมื่อใด จะได้รับโทษโดยทันที

การที่มีพ่อเป็นเจ้าแผ่นดินนั้น จะไม่เป็นการช่วยเหลืออุดหนุนแก้ไขอันใดได้เลย อีกประการหนึ่ง ชีวิตสังขารของมนุษย์ไม่ยั่งยืนยืดยาวเหมือนเหล็กเหมือนศิลา ถึงโดยว่าจะมีพ่ออยู่ในขณะหนึ่ง ก็คงจะมีเวลาที่ไม่มีได้ขณะหนึ่งเป็นแน่แท้ ถ้าประพฤติความชั่วเสียแต่ในเวลามีพ่ออยู่แล้ว โดยจะปิดบังซ่อนเร้นอยู่ได้ด้วยอย่างหนึ่งอย่างใด เวลาไม่มีพ่อ ความชั่วนั้นคงจะปรากฏเป็นโทษติดตัวเหมือนเงาตามหลังอยู่ไม่ขาด เพราะฉะนั้น จงเป็นคนอ่อนน้อมว่าง่ายสอนง่าย อย่าให้เป็นทิฐิมานะไปในทางที่ผิด จงประพฤติตัวหันหาทางที่ชอบที่ถูกอยู่เสมอเป็นนิจเถิด จงละเว้นทางที่ชั่วซึ่งรู้ได้เองแก่ตัว ฤามีผู้ตักเตือนแนะนำให้รู้แล้ว อย่าให้ล่วงให้เป็นไปได้เลยเป็นอันขาด



5. เงินทองที่จะใช้สอยในค่ากินอยู่นุ่งห่มฤาใช้สอยเบ็ดเสร็จทั้งปวง จงเขม็ดแขม่ใช้แต่เพียงพอที่อนุญาตให้ใช้ อย่าทำใจโตมือโตสุรุ่ยสุร่ายโดยถือตัวว่าเจ้านายมั่งมีมาก ฤาถือว่าพ่อเป็นเจ้าแผ่นดินมีเงินทองถมไป ขอบอกเสียให้รู้แต่ต้นมือ ถ้าว่า ถ้าผู้ใดไปเป็นหนี้มาจะไม่ยอมใช้หนี้ให้เลย ฤาถ้าเป็นการจำเป็นจะต้องใช้ จะไม่ใช้เปล่าโดยไม่มีโทษแก่ตัวเลย พึงรู้เถิดว่าต้องใช้หนี้เมื่อใด ก็จะต้องรับโทษเมื่อนั้นพร้อมกัน อย่าเชื่อถ้อยคำผู้ใด ฤาอย่าหมายใจว่าโดยจะใช้สุรุ่ยสุร่ายไปเหมือนอย่างเช่นคนเขาไปแต่ก่อนๆ แต่พ่อเขาเป็นขุนนางเขายังใช้กันได้ ไม่ว่าไรกัน ถ้าคิดดังนั้น คาดดังนั้น เป็นผิดแท้ทีเดียว

พ่อรักลูกจริง แต่ไม่รักลูกอย่างชนิดนั้นเลย เพราะรู้เป็นแน่ว่า ถ้าจะรักอย่างนั้นตามใจอย่างนั้น จะไม่เป็นการมีคุณอันใดแก่ตัวลูกผู้ได้รับความรักนั้นเลย เพราะจะเป็นผู้ไม่ได้วิชาที่ปรารถนาจะให้ได้ จะไปได้แต่วิชาที่จะทำให้เสียชื่อเสียง และได้ความร้อนใจอยู่เป็นนิจ

จงนึกไว้เสมอว่าเงินทองที่แลเห็นมากๆ ไม่ได้เป็นของหามาได้โดยง่ายเหมือนเวลาที่จ่ายไปง่ายนั้น เงินที่ส่วนตัวได้รับเบี้ยหวัดฤาเงินกลางปีอยู่เสมอนั้น ก็ด้วยอาศัยที่พ่อเป็นผู้ทำนุบำรุงรักษาบ้านเมือง แลราษฎรผู้เจ้าของทรัพย์นั้นก็เฉลี่ยเรี่ยรายกันมาให้ เพื่อจะให้เป็นกำลังที่จะหาความสุขคุ้มค่ากับค่าที่เหน็ดเหนื่อย ที่ต้องรับการในตำแหน่งอันสูง คือเป็นผู้รักษาความสุขของเขาทั้งปวง เงินนั้นไม่ควรจะมาจำหน่ายในการที่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นเรื่อง แลเป็นการไม่มีคุณ กลับให้โทษแก่ตัว ต้องใช้แต่ในการจำเป็นที่จะต้องใช้ ซึ่งจะเป็นการมีคุณประโยชน์แก่ตนแลผู้อื่นในทางชอบธรรม ซึ่งจะเอาไปกอบโกยใช้หนี้ให้แก่ลูกผู้ทำความชั่วจนเสียทรัพย์ไปนั้นสมควรอยู่ฤา

เพราะฉะนั้นจึงต้องว่าไม่ยอมที่จะใช้หนี้ให้ โดยว่าจะต้องใช้ให้ก็ต้องมีโทษเป็นประกันมั่นใจว่าจะไม่ต้องใช้อีก เพราะจะเข็ดหลาบในโทษที่ทำนั้น จึงจะยอมใช้ให้ได้ ใช้ให้เพราะจะไม่ให้ทรัพย์ผู้อื่นสูญเสียเท่านั้น ใช่จะใช้ให้โดยความรักใคร่อย่างบิดาให้บุตรเมื่อมีความยินดีต่อความประพฤติของบุตรนั้นเลย เพราะฉะนั้นจงจำไว้ ตั้งใจอยู่ให้เสมอว่าตัวเป็นคนจน มีเงินใช้เฉพาะแต่ที่จะรักษาความสุขของตัวพอสมควรเท่านั้น ไม่มั่งมีเหมือนใครๆ อื่น แลไม่เหมือนกับผู้ดีฝรั่งเลย ผู้ดีฝรั่งเขามั่งมีสืบตระกูลมาด้วยได้ดอกเบี้ยค่าเช่าต่างๆ ตัวเองเป็นผู้ได้เงินจากราษฎรเลี้ยงพอสมควร ที่จะเลี้ยงชีวิตแลรักษาเกียรติยศเท่านั้น อย่าไปอวดมั่งอวดมีทำเทียมเขาให้ฟุ้งซ่านไปเป็นอันขาด

อีกอย่างหนึ่ง จะนึกเอาเองว่า ถึงโดยเป็นหนี้สินลงอย่างไร พ่อจะไม่ใช้ ฤาจะให้ใช้ก็กลัวต้องทำโทษ คิดว่าเงินทองของตัวที่ได้ปีหนึ่งปีหนึ่ง มีอยู่ทั้งเบี้ยหวัดและเงินกลางปี เวลาออกไปเรียนไม่ได้ใช้ เงินรายนี้เก็บรวมอยู่เปล่าๆ จะเอาเงินรายนี้ใช้หนี้เสีย ต่อไปก็คงได้ทุกปี ซึ่งจะคิดอย่างนี้แล้ว แลจับจ่ายเงินทองจนต้องเป็นหนี้กลับเข้ามานั้น ก็เป็นการไม่ถูกเหมือนกัน เพราะว่าผลประโยชน์อันใดที่จะได้อยู่ในเวลามีพ่อกับเวลาไม่มีพ่อนั้น จะถือเอาเป็นแน่ว่าจะคงที่อยู่นั้นไม่ได้

แลยิ่งเป็นผู้ใหญ่ขึ้นก็จะมีบ้านเรือนบุตรภรรยามากขึ้น คงต้องใช้มากขึ้นเงินที่จะได้นั้นบางทีก็จะไม่พอ จะเชื่อว่าวิชาที่ตัวไปเรียนจะเป็นเหตุให้ได้ทำราชการได้ผลประโยชน์ทันใช้หนี้ก็เชื่อไม่ได้เพราะเหตุที่ตัวเป็นเจ้านาย ถ้าบางทีจะเป็นเวลากีดขัดข้องเพราะเป็นเจ้านายนั้นก็จะทำอะไรไม่ได้เลยถ้าจะหันไปข้างทำมาหากิน ซึ่งเป็นการยากที่จะทำเพราะเป็นเจ้าเหมือนกัน คือไปรับจ้างเขาไปเป็นเสมียนไม่ได้ เป็นต้น เมื่อทุนรอนที่มีเอาไปใช้หนี้เสียหมดแล้ว จะเอาอันใดเป็นทุนรอนทำมาหากินเล่า เพราะฉะนั้นจึงว่า ถ้าจะคิดใช้อย่างเช่นนี้ ซึ่งตัวจะคิดเป็นว่าเป็นอันไม่ต้องกวนพ่อแล้วนั้นก็ยังเป็นการเสียประโยชน์



6. วิชาที่ออกไปเรียนนั้น ก็คงต้องเรียนภาษาแลหนังสือในสามภาษา คืออังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ให้ได้แม่นยำจัดเจนคล่องแคล่วจนถึงแต่งหนังสือได้สองภาษาเป็นอย่างน้อย เป็นวิชาหนังสืออย่างหนึ่ง กับวิชาเลข ให้เรียนรู้คิดใช้ได้ในการต่างๆ อีกอย่างหนึ่งนี้เป็นต้น วิชาสองอย่างที่จำเป็นจะต้องเรียนรู้ให้ได้จริงๆ เป็นชั้นต้น แต่วิชาอื่นๆ ที่จะเรียนต่อไปให้เป็นวิชาชำนาญวิเศษในกิจการข้างวิชานั้น จะตัดสินเป็นแน่นอนว่า ให้เรียนสิ่งใดในเวลานี้ยังไม่ควร จะต้องเป็นคำสั่งต่อภายหลังเมื่อรู้วิชาชั้นต้นพอสมควรแล้ว

แต่บัดนี้ จะขอตักเตือนอย่างหนึ่งก่อนว่า ซึ่งให้ออกไปเรียนภาษาวิชาการในทวีปนั้น ใช่ว่าจะต้องการเอามาใช้แต่ภาษาฝรั่งนั้นอย่างเดียว ภาษาไทยแลหนังสือไทยซึ่งเป็นภาษาของตัว หนังสือของตัว คงจะต้องใช้อยู่เป็นนิจ จงเข้าใจว่า ภาษาต่างประเทศนั้นเป็นแต่พื้นของความรู้ เพราะวิชาความรู้ในหนังสือไทยที่มีผู้แต่งไว้นั้นเป็นแต่ของเก่าๆ มีน้อย เพราะมิได้สมาคมกับชาติอื่นช้านาน เหมือนวิชาการในประเทศยุโรปที่ได้สอบสวนซึ่งกันและกันจนเจริญรุ่งเรืองมากแล้วนั้น หนังสือฝ่ายไทยจึงไม่พอที่จะเล่าเรียน จึงต้องไปเรียนภาษาอื่นเพื่อจะได้เรียนวิชาให้กว้างขวางออก แล้วจะเอากลับลงมาใช้เป็นภาษาไทยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น จะทิ้งภาษาไทยของตัวให้ลืมถ้อยคำที่จะพูดให้สมควรเสียฤา จะลืมวิธีเขียนหนังสือไทยที่ตัวได้ฝึกหัดแล้วเสียนั้นไม่ได้เลย ถ้ารู้แต่ภาษาต่างประเทศไม่รู้เขียน อ่าน แปล ลงเป็นภาษาไทยได้ ก็ไม่เป็นประโยชน์อันใด ถ้าอย่างนั้นหาจ้างแต่ฝรั่งมาใช้เท่าไรเท่าไรก็ได้

ที่ต้องการนั้นต้องให้กลับแปลภาษาต่างประเทศลงเป็นภาษาไทยได้ แปลภาษาไทยออกเป็นภาษาต่างประเทศได้ จึงจะนับว่าเป็นประโยชน์ อย่าตื่นตัวเองว่าได้ไปร่ำเรียนภาษาฝรั่งแล้วลืมภาษาไทยกลับเห็นเป็นการเก๋การกี๋ อย่างเช่นนักเรียนบางคนมักจะเห็นผิดไปดังนั้น แต่ที่จริงเป็นการเสียที่ควรจะติเตียนแท้ทีเดียว

เพราะเหตุฉะนั้น ในเวลาที่ออกไปเรียนวิชาอยู่ ขอบังคับว่าให้เขียนหนังสือถึงพ่อทุกคนอย่างน้อยเดือนละฉบับ เมื่อเวลายังเขียนหนังสืออังกฤษไม่ได้ ก็เขียนมาเป็นหนังสือไทย ถ้าเขียนหนังสืออังกฤษ ฤาภาษาหนึ่งภาษาใดได้ให้เขียนภาษาอื่นนั้นมาฉบับหนึ่ง ให้เขียนคำแปลเป็นหนังสือไทยอีกฉบับหนึ่งติดกันมาอย่าให้ขาด เพราะเหตุที่ลูกยังเป็นเด็ก ไม่ได้เรียนภาษาไทยแน่นอนมั่นคง ก็ให้อาศัยไต่ถามครูไทยที่ออกไปอยู่ด้วยหรือค้นดูตามหนังสือภาษาไทย ซึ่งได้จัดออกไปให้ด้วยคงจะพอหาถ้อยคำที่จะใช้แปลออกเป็นภาษาไทยได้ แต่หนังสือไทยที่จะเป็นกำลังช่วยอย่างนี้ยังมีน้อยจริง เมื่อเขียนเข้ามาคำใดผิดจะติเตียนออกไป แล้วจงจำไว้ให้ถูกต่อไปภายหน้า อย่าให้มีความกลัวความกระดากว่าจะผิด ให้ทำตามที่เต็มความอุตสาหะความแน่ใจว่าเป็นถูกแล้ว เมื่อผิดก็แก้ไปไม่เสียหายอันใด


7. จงรู้ว่าการเล่าเรียนของลูกทั้งปวงนั้น อาว์ของเจ้า กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรประการได้รับปฏิญาณต่อพ่อว่า จะตั้งใจอุตสาหะเป็นธุระในการเล่าเรียนของลูกทั้งปวง ทั้งในปัจจุบันแลภายหน้า พ่อได้มีความวางใจมอบธุระสิทธิ์ขาดแก่กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรประการเป็นธุระทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อมีธุระขัดข้องประการใดให้มีหนังสือมาที่กรมหมื่นเทวะวงศ์ฯ ก็จะรู้ได้ตลอดถึงพ่อ แลกรมหมื่นเทวะวงศ์ฯ นั้นคงจะเอาธุระทำนุบำรุงทุกสิ่งทุกอย่างให้สำเร็จตลอดไปได้

ส่วนที่ในประเทศยุโรปนั้น ถ้าไปอยู่ในประเทศใดที่มีราชทูตของเราอยู่ ราชทูตคงจะเอาเป็นธุระดูแลทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อมีการขัดข้องประการใด จงชี้แจงแจ้งความให้ท่านราชทูตทราบ คงจะจัดการได้ตลอดไป เมื่อไปอยู่ในโรงเรียนแห่งใด จงประพฤติการให้เรียบร้อยตามแบบอย่างซึ่งเขาตั้งลงไว้ อย่าเกะกะวุ่นวายเชื่อตัวเชื่อฤทธิ์ไปต่างๆ จงอุตสาหะพากเพียรเรียนวิชาให้รู้มาได้ ช่วยกำลังพ่อเป็นที่ชื่นชมยินดีสมกับที่มีความรักนั้นเถิด”


ที่มา : คำสอนของ "พระพุทธเจ้าหลวง" - พระปิยมหาราช โดยเยาวนิศ เต็งไตรรัตน์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
แก้ไขล่าสุดโดย Michael Connelly เมื่อ Wed May 07, 2014 23:23, ทั้งหมด 1 ครั้ง
โหวตเป็นกระทู้แนะนำ

ออฟไลน์
ดาวซัลโวยุโรป
Status: The sands of time were eroded by The river of con
: 0 ใบ : 0 ใบ
เข้าร่วม: 05 Sep 2013
ตอบ: 38977
ที่อยู่: The Gates of Delirium
โพสเมื่อ: Wed May 07, 2014 23:06
[RE: จดหมายของรัชกาลที่5ถึงลูก]
เหมือนเคยเรียนในวิชาภาษาไทย
0
0
หากโดน 40 เรื้อน จะถูกแบน


facebook.com/ProgSurround
ออฟไลน์
นักเตะอบต.
Status:
: 0 ใบ : 0 ใบ
เข้าร่วม: 14 Aug 2012
ตอบ: 499
ที่อยู่: 221b Baker Street
โพสเมื่อ: Wed May 07, 2014 23:16
[RE: จดหมายของรัชกาลที่5ถึงลูก]
tammy9838 พิมพ์ว่า:
เหมือนเคยเรียนในวิชาภาษาไทย  

ผมเอง รู้สึกโชคดีมาก ที่มีโอกาสได้อ่านพระราชหัตถเลขาฉบับนี้
จากหนังสือกฎหมายของอาจารย์ท่านหนึ่ง เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่คนไทยควรอ่าน
จึงขอแบ่งปันให้เพื่อนๆในบอร์ดนี้ได้รับรู้ในพระราชจริยวัตรอันงดงามของในหลวงรัชกาลที่ 5ร่วมกัน

ผมปริ๊นติดผนังบ้านไว้ล่ะ
ไว้คอยเตือนใจ ให้เกิดความตั้งใจที่ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จโดยความสุจริต
2
0
หากโดน 40 เรื้อน จะถูกแบน

ไปหน้าที่ 1
ไปที่หน้า
GO
ตั้งกระทู้ใหม่
กรุณาระบุเหตุผลที่จะแจ้งความ
ผู้ต้องหา:
ข้อความ:
Submit
Cancel
กรุณาเลือก Forum และ ประเภทกระทู้
Forum:

ประเภท:
Submit
Cancel