John W. Henry จากชาวไร่มาเป็นผู้จัดการกองทุนระดับโลก ด้วยระบบ Trend Following
วันนี้ผมมีประวัติของนักลงทุนคนหนึ่ง ที่แฟนฟุตบอลเมืองไทยโดยเฉพาะทีมลิเวอร์พูลอาจจะคุ้นชื่อ เพราะ John W. Henry เป็นเจ้าของทีมนั่นเอง ในแวดวงการลงทุนบ้านเราเค้าอาจจะไม่ดังเท่า Buffet, Soros หรือนักเล่นหุ้นหลายๆคนนะครับ....
แต่เขาก็เป็นหนึ่งในผู้จัดการกองทุนซึ่งสร้างผลงานอย่างยอดเยี่ยมและยาวนาน รวมถึงเรื่องราวชีวิตตั้งแต่เป็นชาวไร่ข้าวโพดและถั่วเหลือง กว่าจะมีเงินมาซื้อสโมสรฟุตบอล เขาสร้างตัวจากตลาดการเงินมาได้ยังไงนั้น ผมจะค่อยๆเล่าให้ฟังครับ
เริ่มต้นประวัติส่วนตัวกันก่อน John เกิดเมื่อปี 1949 โดยไม่ใช่ลูกนักธุรกิจหรือคนรวยอะไร พ่อแม่ก็เป็นชาวไร่ปลูกถั่วเหลือง ประวัติด้านการศึกษาก็ไม่ได้ดีเด่น เพราะเขาเองก็เข้าเรียนสาขาปรัชญา แต่ก็เรียบไม่จบมหาวิทยาลัยเพราะมัวแต่ทุ่มเวลาให้วงดนตรีร็อคแอนด์โรล
แม้แต่ตอนรวยแล้วก็ยังไม่เลิกดนตรีอันเป็นที่รัก
แล้วเขาเข้ามาในเกมการเงิน สร้างตัวมาได้ยังไง !?
ตอนแรก John เริ่มจากการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าของข้าวโพด และถั่วเหลือง เพื่อประกันความเสี่ยงให้กับอาชีพเกษตรกรของครอบครัวเอง แต่ด้วยความหลงใหลในการทำกำไร ระหว่างไปเที่ยวนอร์เวย์ช่วงฤดูร้อนปี 1976 เขาก็เลยลองทำระบบการลงทุนเอง จนนำมาถึงการก่อตั้งกองทุนเก็งกำไรในตลาดฟิวเจอร์
ระบบการลงทุน
ระบบการลงทุนแรกที่เขาคิดอยู่บนพื้นฐานของ Trend-reversal คือการเข้าซื้อหรือขายในจุดกลับตัวของตลาด นั่นทำให้กองทุนจะเล่นได้ทั้ง Long และ Short โดยเข้าตามแนวโน้มแล้วถือสัญญาไว้ตลอดเวลา จนกว่าแนวโน้มระยะยาวจะเปลี่ยนไป
ก่อตั้งกองทุนแรก ภายใต้บริษัท John W. Henry & Company, Inc.
พอเห็นว่าระบบการลงทุนมันใช้งานได้ เขาก็เลยก่อตั้งกองทุน JWH แล้วเปิดรับเงินลงทุนจากบุคคลทั่วไปในปี 1982 กองทุนจะอยู่บนพื้นฐานของระบบที่คิดขึ้นมาตอนแรก โดยทำตามระบบการลงทุนอย่างเคร่งครัด ถึงแม้จะมีการปรับแต่งโมเดลให้ดีขึ้นบ้าง แต่พื้นฐานหลักยังคงยึดแนวโน้มในภาพใหญ่เช่นเดิม
ผลกำไรจากระบบการลงทุน
ตามข้อมูลที่รวบรวมหามาได้ กองทุนหลักของบริษัท Global Analytics Program สามารถทำผลตอบแทนได้อย่างสวยงาม และต่อยอดนำผลกำไรจากการลงทุนไปเข้าซื้อทีมกีฬา รวมถึงกิจการต่างๆที่เขาเป็นเจ้าของในปัจจุบัน ถ้านับตั้งแต่ปี 1997 จนถึงปี 2012 ที่กองทุนปิดตัวลง ได้ผลตอบแทนทบต้นประมาณ 10.73%
ส่วนผลตอบแทนตั้งแต่เริ่มตั้งกองทุน ผมเองลองหาข้อมูลตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในอินเตอร์เน็ตไม่พบ แต่มีบางแห่งระบุว่านับตั้งแต่ปี 1984-2004 เป็นเวลา 20 ปี กองทุนของเขาสามารถทำผลตอบแทนได้ถึง 30% ต่อปี ก่อนที่ผลงานจะค่อยๆลดลงในช่วงหลัง หลายๆแหล่งข่าวระบุว่าเนื่องจากเขามัวแต่ทุ่มเทเวลาให้ทีมเบสบอล Boston Red Sox
ผลงานที่น่าสนใจของเขา
ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ที่เรารู้จักกันในชื่อ Hamburger Crisis ก่อนหน้านั้นราคาน้ำมันดูทำท่าไม่ค่อยจะดี ซึ่งโปรแกรมของเขาสามารถตรวจจับการร่วงหล่นที่ผิดปกติ และทำกำไรจากการ Short น้ำมันได้อย่างงดงาม คิดเป็นกำไรถึง 91% ภายในปีเดียว
กองทุนปิดตัวลง
ในช่วงปี 2012 มีการรายงานว่ากองทุนของเขานั้นมีขนาดเล็กลงมากเหลือเพียงประมาณ 100 ล้านเหรียญเท่านั้น จากที่เมื่อช่วงปี 2004-2006 มีทรัพย์สินรวมกันว่า 2,900 ล้านเหรียญ โดยนอกจากอัตราการทำกำไรที่ลดลงแล้ว ผู้ลงทุนหลายๆคนยังได้ทำการถอนเงินลงทุนเนื่องจากกลัวว่าการที่ John ไปสนใจทีมเบสบอลมากเกินไป จะทำให้เงินลงทุนของพวกเขาสูญเปล่า สุดท้ายกองทุนก็ปิดตัวลงในปลายปี 2012 และคืนเงินที่เหลือให้กับนักลงทุน
ชีวิตของ John W. Henry เริ่มต้นจากการเป็นคนธรรมดาๆ เป็นเกษตรกรทั่วไป ที่หันมาสนใจในตลาดทุน เริ่มพัฒนาระบบการลงทุนตามแนวโน้มในระยะยาว และทำตามระบบการลงทุนอย่างดี จนนำมาซึ่งความมั่งคั่งในท้ายที่สุด
ส่งท้ายกันด้วยคำพูดที่น่าสนใจ ที่แสดงให้เห็นถึงการไม่พยายามคาดการณ์หรือพยากรณ์ตลาด เพียงแต่ดูว่า Trend ไปทางไหน แล้วก็เข้าไปจนจบ Trend สุดท้ายแล้วก็จะสามารถสร้างผลตอบแทนในระยะยาวได้...
I don’t believe that I am the only person who cannot predict future prices. No one consistently can predict anything, especially investors. Prices, not investors, predict the future.
ผมไม่คิดว่าผมเป็นเพียงคนเดียวที่ไม่สามารถทายอนาคตได้ ในตลาดมันไม่มีใครที่สามารถทำนายอนาคตได้หรอก เหมือนที่นักลงทุนทั้งหลายพยายามทำ สุดท้ายแล้วราคาจะเป็นสิ่งที่บอกเองว่าอนาคตมันเป็นยังไง