Tiki-Taka ตอนที่ 6: วิธีรับ การเพรสซิ่ง และกฎ 6 วินาที
ต่อเนื่องจากเรื่องของความเข้าใจในการยืนตำแหน่งจะมาสู่เรื่องสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ไม่สามารถมองข้ามได้เลยคือเรื่องของการตั้งรับหรือ “เกมรับ” เพราะฟุตบอลไม่ได้มีเพียงแค่ศาสตร์ของการเล่นเกมรุกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
วิธีรับแบบ Tiki-Taka
ระบบเกมรับในโลกฟุตบอลที่ขึ้นชื่อลือชาในวงการที่สุดคือระบบการเล่นแบบ “คาเตนัคโช่” ซึ่งมีที่มาจากประเทศอิตาลี โดยเป็นระบบการเล่นที่เหนียวแน่นที่สุด แนวคิด ทัศนคติ ระบบทุกอย่างถูกวางบนพื้นฐานของเกมรับทั้งสิ้น
แล้วในระบบการเล่นที่เน้นเกมรุกเกือบทั้งหมดอย่าง Tiki-Taka เมื่อถึงคราวต้องตั้งรับจะเล่นอย่างไร?
จากแผนภูมิเรื่องของการยืนตำแหน่งในตอนที่แล้ว แนวคิดพื้นฐานของระบบการเล่นแบบนี้คือการครอบครองบอลให้ได้มากที่สุด ซึ่งในยามเติมเกมรุกจะมีการกระจายตำแหน่งกันอย่างน่าสนใจ
โดยในทีมบาร์เซโลน่า ยามเมื่อได้ครองบอลกองกลางตัวรับอย่าง เซร์จิโอ บุสเกตส์ (หรือคนอื่น) จะมีสถานะเป็นกองหลังตัวกลาง ขณะที่คู่เซ็นเตอร์ฮาล์ฟอย่าง เคราร์ด ปิเก้ และการ์เลส ปูโญล จะถ่างออกเล็กน้อย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ “คลุม” พื้นที่ทั้งหมดในสนาม
และการทำแบบนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้ฟูลแบ็กอย่าง ดาเนี่ยล อัลเวส หรือฆอร์ดี้ อัลบา สามารถเติมเกมรุกได้ ซึ่งจุดนี้สำคัญมากเพราะในฟุตบอลสมัยใหม่ฟูลแบ็กที่เติมเกมรุกได้ดีและสามารถป้อนบอลให้เพื่อนได้จะเป็นปัจจัยในการนำทีมไปสู่ชัยชนะ
อาร์แซน เวนเกอร์ ก็เคยกล่าวเรื่องนี้ไว้ว่า “ฟูลแบ็กที่สร้างสรรค์เกมได้คือส่วนสำคัญสำหรับชัยชนะ”
ทีนี้หากทำเกมไปแล้วโดนตัดบอลได้จะรับอย่างไร?
ด้วยรูปแบบของระบบ TIki-Taka นักฟุตบอลจะมีการกระจายตำแหน่งเพื่อ “คลุม” พื้นที่เกือบทั้งสนามอยู่แล้ว ทีนี้ถ้าโดนตัดบอลได้แล้วคู่ต่อสู้เตรียมที่จะสวนกลับ หากปล่อยให้มีการวางบอลยาวเพื่อสวนกลับโดยง่ายนั้นมีโอกาสสูงที่ทีมจะเสียประตูเพราะผู้เล่นในทีมเราจะดันเกมขึ้นมาหมด และจะมีพื้นที่ว่างโดยเฉพาะบริเวณหลังแบ็กทั้งสองฟากสนามที่จะเป็นจุดอ่อนให้จู่โจมได้ แม้ว่าเราจะมีการถ่างเซ็นเตอร์ฮาล์ฟไปยืนสนับสนุนไว้ก็ตาม
สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อโดนตัดบอลได้คือการ “เพรสซิ่ง” หรือการไล่กดดันเพื่อเอาบอลคืนมาให้ได้เร็วที่สุด
เป๊ป กวาร์ดิโอล่า เคยแนะเคล็ดลับความสำเร็จของบาร์ซ่าว่า
“เราต้องตัดบอลในตอนที่พวกเขาอยู่ระยะ 30 เมตรจากประตู ไม่ใช่ตัดบอลในระยะ 80 เมตร”
จาก Passing สู่ Pressing และกฎ 6 วินาที
การเพรสซิ่ง หรือการกดดันคู่ต่อสู้นั้น โค้ชที่นำมาใช้และมีชื่อเสียงมากที่สุดคือ อาริโก ซาคคี่ อดีตโค้ชทีมเอซี มิลาน และทีมชาติอิตาลี แต่คนที่ได้รับการยอมรับอย่างมากในฐานะคนที่ “คิดค้น” หรืออย่างน้อยคือการวางรากฐานของระบบคือ วาเลรี่ โลบานอฟสกี้ โค้ชในตำนานของทีมสหภาพโซเวียตและทีมชาติยูเครน ที่แม้จะจากโลกนี้ไปแต่ได้ทิ้งมรดกล้ำค่าเอาไว้
ในการศึกษาของโลบานอฟสกี้ โลกของฟุตบอลมีการเพรสซิ่ง 3 แบบด้วยกัน
1. Full-pressing หรือการเพรสซิ่งเต็มรูปแบบ
2. Half-pressing หรือการเพรสซิ่งครึ่งรูปแบบ
3. False-pressing หรือการเพรสซิ่งผิดรูปแบบ
ทั้ง 3 รูปแบบดังกล่าวนั้น รูปแบบที่ได้ผลดีที่สุดคือการเพรสซิ่งเต็มรูปแบบ ซึ่งจะเป็นการเพรสซิ่งเต็มสนาม ไล่กดดันตั้งแต่ในแดนคู่ต่อสู้ ขณะที่ฮาล์ฟ เพรสซิ่ง จะเริ่มกดดันหลังคู่ต่อสู้ผ่านเส้นกึ่งกลางสนามมา ส่วนการเพรสซิ่งผิดรูปแบบ คือการกดดันในยามที่จำเป็นต้องไล่กดดัน
อย่างไรก็ดี ศิลปะของการเพรสซิ่งนั้น โลบานอฟสกี้ กล่าวว่าต้องรู้จักประยุกต์การเพรสซิ่งทั้ง 3 รูปแบบเข้าด้วยกัน เช่น ในช่วงต้นเกมเป็นการเพรสซิ่งแบบเต็ม จากนั้นเปลี่ยนมาใช้การเพรสซิ่งผิดรูปแบบเพื่อล่อให้คู่ต่อสู้ติดกับ
การเพรสซิ่งในระบบ Tiki-Taka บาร์เซโลน่า แสดงให้เห็นตลอดทุกนัดว่าเมื่อยามที่พวกเขาเสียบอลนักเตะจะไล่ตัดบอลกันตั้งแต่แนวรุก และเป็นการไล่ชิงบอลแบบพร้อมเพรียงกันเหมือนทุกคนกำลังเล่น “El Rondo” หรือ “ลิงชิงบอล” กันอยู่
อธิบายให้ชัดเจนคือ ปกติในการเล่นเกมรุกของระบบนี้ ก็จะมีเรื่องของการยืนตำแหน่ง การต่อบอล โดยทุกคนก็จะเหมือนกับเล่น El Rondo อยู่แล้ว ทีนี้เมื่อพลาดเสียบอลไป จากการ “ต่อบอล” ผู้เล่นก็จะเปลี่ยนเป็นการ “แย่งบอล” แทน โดยจะเป็นการรุมเข้าไปช่วยกันแย่งบอล และปิดช่องทางไม่ให้คู่ต่อสู้ออกบอลได้ง่าย
รูปแบบที่ตายตัวในการ “รุมแย่ง” ไม่มี เพราะอาจจะเป็นการเข้าไปบีบ บล็อก หรือขวางไว้ โดยอาจจะมีเพื่อนที่อยู่ตำแหน่งใกล้ๆกันวิ่งมาฉกบอลจากด้านหลัง หรือเพรสซิ่งเพื่อทำให้คู่ต่อสู้รนจนออกบอลผิดพลาดกันไปเอง
บาร์เซโลน่า ใช้สไตล์การเพรสซิ่งแบบนี้มานานและได้ผลอย่างดีโดยตลอดจนทำให้มีแฟนๆถึงกับตั้งชื่อสไตล์การเพรสซิ่งของบาร์เซโลน่า ว่าเป็น “กฎ 6 วินาที” ซึ่งหมายถึงการไล่บอลให้คู่ต่อสู้จนมุมและแย่งบอลกลับมาได้ใน 6 วินาที
เบร็นดอน ร็อดเจอร์ส ผู้จัดการทีมลิเวอร์พูล ที่ใช้ระบบการเล่นแบบเดียวกันก็เคยอธิบายให้ความกระจ่างไว้ “คุณไม่สามารถจะไล่กดดันด้วยตัวคนเดียวได้ เราต้องใช้การเพรสซิ่งแบบคุมโซน โดยเมื่อบอลอยู่ในโซนของเรานั่นหมายถึงเราต้องพยายามบีบจำกัดคู่ต่อสู้ ความสามารถในการกดดันโดยทันที และชิงบอลกลับมาภายใน 5-6 วินาทีนั้นสำคัญมาก แต่ต้องจำไว้ว่าถ้าเรากดดันไม่ได้ เราห้ามวิ่งไล่เป็นหมาบ้าเด็ดขาดเพราะไม่มีทางที่เราจะไล่แบบนั้นได้ตลอด”
กฎ 6 วินาทีจึงหมายถึงการไล่กดดันเพื่อชิงบอลกลับมาภายใน 6 วินาที ซึ่งเป็นช่วง “เวลาทองคำ” ที่จะทำให้คู่ต่อสู้พลาดเสียบอลได้ง่ายที่สุด แต่หากหลุดจากช่วงเวลา 6 วินาทีนี้ไป ให้กลับไปลงตั้งโซนรับตามปกติ
สิ่งสำคัญในกฎ 6 วินาทีคือ ทุกคนในทีมต้องรู้กัน และหากมีคนให้สัญญาณไม่ว่าจะมีการออกเสียงหรือไม่ออกเสียง (เช่น การวิ่งขึ้นไปบีบทันที) ทุกคนที่อยู่ในโซนใกล้กันต้องขึ้นไปช่วยไล่ทันทีเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการเพรสซิ่ง
ตอนที่ 1
http://www.soccersuck.com/boards/topic/929620
ตอนที่ 2
http://www.soccersuck.com/boards/topic/930775
ตอนที่ 3
http://www.soccersuck.com/boards/topic/931624
ตอนที่ 4
http://www.soccersuck.com/boards/topic/932744
ตอนที่ 5
http://www.soccersuck.com/boards/topic/933393
ที่มา :
http://www.azay.co.th/