Tiki-Taka ตอนที่ 5: การยืนตำแหน่ง สามเหลี่ยมมหัศจรรย์ และการเข้าทำ
หลังจากที่ได้ทราบกันแล้วถึงวิธีการแบ่งโซนการเล่นออกเป็น 8 พื้นที่ สิ่งสำคัญต่อมาที่ต้องทำความเข้าใจอย่างมากคือเรื่องของ “ตำแหน่ง” หรือ “การยืนตำแหน่ง” ที่ทั้งผู้ฝึกสอนและนักฟุตบอลเองต่างต้องทำความเข้าใจร่วมกันให้ดี เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการเล่น
สำหรับการยืนตำแหน่งในระบบการเล่นแบบ Tiki-Taka นั้นถูกต่อยอดจากระบบการยืนตำแหน่งของระบบฟุตบอลในตำนานอันเลื่องชื่อ “โททัลฟุตบอล” (Totaal Voetball) ของทีมไอแอ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม และทีมชาติฮอลแลนด์
พื้นฐานยังอยู่ที่การจัดระบบที่สามารถยืดหยุ่นได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่โค้ชต้องพยายาม “ออกแบบ” เพื่อให้สอดคล้องกับนักฟุตบอลในทีมให้ได้มากที่สุด เช่น การปรับจากการยืนกองหลังไลน์แบ็กโฟร์ 4 คน มาใช้การเล่นเซ็นเตอร์ฮาล์ฟ 3 ตัวตามสถานการณ์ว่าคู่แข่งมีการใช้กองหน้าทั้งหมดกี่ตัว หรือการดันกองหลังขึ้นมายืนเป็นตัวทำเกมในแนวลึก (Deep-lying midfielder) หรือการขยับแบ็กไปยืนเป็นกองกลางตัวริมเส้น
นักฟุตบอลหนึ่งคนควรจะเล่นได้อย่างน้อย 2 บทบาทและ 2 ตำแหน่งที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยผู้เล่นต้องประเมินตามสถานการณ์ในขณะนั้นว่าทีมกำลังรุกหรือรับ และคำสั่งของโค้ชเป็นอย่างไร ไม่ใช่เมื่อได้รับคำสั่งตอนต้นเกมให้เป็นปีกขวา ก็จะคิดแค่การกระชากไปสุดเส้นหลังแล้วเปิดเข้ามา
แบบนั้นเป็นวิธีการกำหนดจิต (Mindset) ที่ผิด และต้องปรับเพื่อการพัฒนาของผู้เล่นเอง
ทีนี้มาดูแผนภูมิด้านล่าง ซึ่งจะมีตำแหน่งทั้งหมด 11 ตำแหน่งในพื้นที่สนามแผนผังการเล่นจากระบบไอแอ็กซ์ ในยุคหลุยส์ ฟาน กัล ช่วงปี 90
จะเห็นได้ว่ามีการทำไฮไลท์เป็นรูปวงรี 4 จุดด้วยกัน โดยจะมีการเชื่อมกันระหว่างชุดหมายเลข 11,6 และ 3 ชุดหมายเลข 4 และ 5 ชุดหมายเลข 2, 8 และ 7 และสุดท้ายคือหมายเลข 9 และ 10
ในแผนภูมินี้เราสามารถ “ตีความ” ระบบการเล่นได้หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ระบบแบบ 4-5-1, 3-4-3, 3-3-4, 4-3-3 หรือ 4-4-2 ง่ายๆเพียงแค่การปรับตำแหน่งของผู้เล่นหมายเลข 4 และ 10 สองคนเท่านั้น
ทีนี้มาลงรายละเอียดกันต่อ จะเห็นว่าในแต่ละโซนที่มีการไฮไลท์เป็นวงรีนั้น จะไม่มีโซนไหนเลยที่จะมีผู้เล่นเพียงแค่คนเดียว (ยกเว้นหมายเลข 1 คือผู้รักษาประตู) โดยเมื่อเราเป็นฝ่ายครองบอลทุกโซนจะมี “เพื่อน” อยู่ด้วยเสมอ
ความหมายของแผนภูมินี้จะสื่อไม่ได้เพียงจะสื่อให้เห็นถึงเรื่องของการยืนตำแหน่ง แต่ยังสื่อให้เห็นถึงการสนับสนุน (Covering) ของผู้เล่นในแต่ละโซน
รุด โครล ตำนานลูกหนังของไอแอ็กซ์ ที่ผ่านการเล่นระบบ “โททัลฟุตบอล” อธิบายเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจนว่า
“ถ้าผมเป็นแบ็กซ้าย (หมายเลข 3) แล้วผมเติมเกมไปโดยวิ่งเป็นระยะทาง 70 เมตร การต้องวิ่งกลับมาอีก 70 เมตร ไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่ แต่ถ้าผู้เล่นหมายกองกลางฝั่งซ้าย (หมายเลข 6) ขยับมายืนตำแหน่งแทนผม และผู้เล่นปีกซ้าย (หมายเลข 11) ขยับมายืนแทนหมายเลข 6 ระยะทางก็จะสั้นลงอย่างมาก สมมติว่าถ้าผมวิ่งเติมเกมทั้งหมด 10 ครั้ง ผมต้องวิ่งขึ้นลงรวมระยะทาง 1,400 เมตร แต่ถ้าเราช่วยกันทดแทนตำแหน่ง เราอาจจะวิ่งแค่ 1,000 เมตร ประหยัดกำลังที่ต้องวิ่งไป 400 เมตร ... นี่คือหัวใจของปรัชญาการเล่นโททัลฟุตบอล”
สามเหลี่ยมมหัศจรรย์และการเข้าทำที่สมบูรณ์
เมื่อทราบถึงการยืนตำแหน่งที่ดีแล้ว สิ่งที่ต้องเรียนรู้ต่อไปคือเป้าหมายของการเล่นแบบ Tiki-Taka ที่จะเน้นการครองบอล
ครองบอลเพื่ออะไร? ในเมื่อเรามีวิธีการบุกที่หลากหลาย เช่น การสาดบอลโด่งขึ้นไปรวดเดียวก็ทำได้เช่นกัน
คำตอบคือ ...
เราครองบอลเพื่อที่จะ “สร้างโอกาสที่ดีที่สุดในการเข้าทำ”
หัวใจสำคัญของระบบการเล่นนี้คือการทำให้ทีมอยู่ในสถานการณ์ 3 ต่อ 2 หรือเรียกว่า “สามเหลี่ยม” ได้มากครั้งที่สุด ซึ่งความจริงเรื่องการเล่นเป็น “สามเหลี่ยม” ก็เป็นพื้นฐานที่นักฟุตบอลควรจะรับรู้อยู่แล้ว
พื้นฐานของ Tiki-Taka ไม่มีอะไรมากไปกว่าการเคาะบอลจากซ้ายไปขวาแล้วกลับมากลางเป็นแบบนี้เรื่อยไป และค่อยๆดันเกมสูงขึ้นจนเข้าสู่พื้นที่สุดท้าย (Final Third) จนกว่าจะมีพื้นที่ว่างเกิดขึ้นที่จะสามารถเจาะเข้าทำได้ ซึ่งสามารถฝึกได้จากพื้นฐานการเล่น “เอล รอนโด” ที่เคยแนะนำไปแล้ว
แต่สิ่งที่จะสร้างความแตกต่างได้คือการ “ผสมผสานการเล่น” ที่ผู้เล่นต้องประยุกต์ตามสถานการณ์ว่าจะเลือกเล่นแบบใด เช่น บางสถานการณ์ที่โดนบีบประชิดตัวอาจจะเลือกครองบอลก่อนเพื่อหามุม “สามเหลี่ยม” ใหม่ในการเล่น (ให้นึกถึงการม้วนบอลของชาบี้ เอร์นานเดซ) หรือหากพบช่องเจาะเข้าทำก็ต้องพร้อมจะจ่ายทะลุช่องทันที หรือหากพบพื้นที่ว่างต้องสอด (Overlap) ขึ้นไปเพื่อสร้างโอกาสให้เพื่อนและทีม
ไหวพริบเป็นสิ่งสำคัญในการเล่นระบบนี้ ไม่แพ้สมาธิที่ต้องจดจ่อกับเรื่องการครองบอล การยืนตำแหน่ง ฯลฯ
ขณะเดียวกันนอกเหนือจากสถานการณ์ 3 ต่อ 2 แล้ว ในสถานการณ์ 1 ต่อ 1 ก็จำเป็นจะต้องสามารถจู่โจมเพื่อสร้างปัญหาให้กับแนวรับของคู่ต่อสู้ได้เช่นกัน โดยใช้ความเร็วและทักษะเข้าจู่โจม
ท่องไว้ในใจให้มั่น
- คิดถึงเรื่องพื้นที่ (โซน) ไม่ใช่คิดถึงตำแหน่ง
- แบ่งปันหน้าที่ในสนาม
- คิดถึงการผ่านบอลล่วงหน้า 3-4 จังหวะ (การเคลื่อนที่ของคนที่ 3) และผ่านบอลให้ได้
- เข้าใจในทีมและเพื่อนร่วมทีม
- รู้จักการสนับสนุนเพื่อน
- การเคลื่อนที่หาพื้นที่ว่าง เปิดช่องทางให้เพื่อน
- พยายามครองบอล
- สถานการณ์ 3 ต่อ 2 และ 1 ต่อ 1
- การถ่างและกระชับพื้นที่
- ระบบการเล่น ในสถานการณ์ทั้งที่ได้ครองบอลและไม่ได้ครองบอล
“นักเตะอังกฤษแบบดั้งเดิมจะไม่คิดถึงการเล่นจนกว่าพวกเขาจะได้บอล แต่เราไม่ได้คิดถึงการเล่นเป็นคนแรก (คนได้บอล) เราจะคิดไกลไปถึงคนที่ 3 ซึ่งเป็นคนที่ต้องวิ่งทำทาง ถ้าผมได้บอล นักเตะคนที่ 3 จะวิ่งทันทีเพราะเขารู้ว่าผมจะผ่านบอลให้คนที่ 2 และคนที่ 2 ก็จะจ่ายให้คนที่ 3 แต่ถ้าผมช้า นักเตะคนที่ 3 ก็ต้องช้าไปด้วย และเราก็เสียโอกาส มันจึงเป็นเรื่องของโอกาสพิเศษที่ต้องมาพร้อมกับการจ่ายบอลที่พิเศษ” อาร์โนลด์ มูเรน อดีตนักฟุตบอลระดับตำนานทีมชาติฮอลแลนด์
ตอนที่ 1
http://www.soccersuck.com/boards/topic/929620
ตอนที่ 2
http://www.soccersuck.com/boards/topic/930775
ตอนที่ 3
http://www.soccersuck.com/boards/topic/931624
ตอนที่ 4
http://www.soccersuck.com/boards/topic/932744
ที่มา :
http://www.azay.co.th/