Tiki-Taka ตอนที่ 3: การประยุกต์ Tiki-Taka สู่เด็กๆ และแบบฝึก El Rondo
การประยุกต์วิธีการเล่นแบบ Tiki-Taka สู่ทีมฟุตบอลเยาวชน
ความรู้และความเข้าใจในวิธีการเล่นกลยุทธ์นี้เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมาพร้อมกันกับความสามารถในการครองลูกบอล เพราะปกติแล้วเด็กๆจำนวนมากที่ขาดความเข้าใจในบทบาทของตัวเองว่าควรจะเล่นแบบไหน
ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การฝึกสอนประสบความสำเร็จและทำให้เกิดการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ ผู้ฝึกสอนจำเป็นที่จะต้องไม่ “ลงโทษ” ในความผิดพลาดที่เกิดขึ้น แต่ควรที่จะ “ชื่นชม” กับสิ่งที่เด็กๆทำได้ดี
กล่าวคือ หากเด็กๆพยายามที่จะเล่นอย่างสร้างสรรค์ เช่น การจ่ายตามช่อง การจ่ายตัดแนวรับ ซึ่งเกิดจากการใช้จินตนาการผู้ฝึกสอนไม่ควรที่จะลงโทษหรือตำหนิหากผิดพลาด ซึ่งจะทำให้เด็กกลัวและไม่กล้าที่จะเล่นอย่างสร้างสรรค์ เป็นการทำลายจินตนาการของเด็กๆไปอย่างไม่รู้ตัว แต่ควรที่จะคอยให้คำแนะนำ และชมเชยหากเด็กๆทำได้ดี เป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้จินตนาการในการเล่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ฝึกสอนควรทำมากกว่า
และถ้าเป็นไปได้ควรมีการจัดทำคู่มือฉบับนี้มอบให้แก่เด็กๆทุกคน เพื่อให้เด็กๆได้ศึกษาถึึงบทบาทและวิธีการเล่นอย่างลึกซึ้ง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้รู้ถึงตำแหน่งและบทบาทของทุกคน เพื่อเข้าใจแนวคิดของ Tiki-Taka ทั้งหมดไม่ใช่รู้แค่ตำแหน่งและบทบาทของ “ตัวเอง” เพราะหากเด็กมีความรู้และความเข้าใจถึงตำแหน่งและบทบาทของทั้งทีมแล้ว นอกจากจะเล่นในตำแหน่งและบทบาทของตัวเองได้ดีแล้ว ยังสามารถช่วยเหลือเพื่อนในทางอ้อมได้อีกด้วยเพราะมีความเข้าใจในตำแหน่งและบทบาทของผู้เล่นคนอื่นๆ
เบร็นดอน ร็อดเจอร์ส อดีตผู้จัดการทีมสวอนซี เคยกล่าวถึงแนวทางการเล่นว่า “แบบแผนสำหรับทุกสิ่งในการเล่นของผมคือการจัดการ เวลาที่ครองบอล ทุกคนจำเป็นต้องรู้ถึงรูปแบบการเคลื่อนไหวทั้งหมด การหมุนเวียนตำแหน่ง การเลื่อนไหลของการเล่น และการยืนตำแหน่งของทั้งทีม”
ผู้ฝึกสอนจำเป็นต้องพยายามวิเคราะห์ถึงทักษะและศักยภาพของเด็กๆ ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการเลือกตำแหน่งภายในโซนของเด็กๆในเวลาที่ได้ครอบครองบอล
การฝึกซ้อมคือกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ และการเล่นฟุตบอลที่สมบูรณ์แบบคือสิ่งที่เราทุกคนสามารถทำได้ บางครั้งเราอาจจะล้มเลวในช่วงแรก แต่จำไว้ว่าไม่มีอะไรที่จะพัฒนาหากไม่เคยผ่านความล้มเหลวมาก่อน
ขอเพียงฝึกสอนและฝึกซ้อมกันอย่างตั้งใจ พัฒนาการจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน!
El Rondo การฝึกพื้นฐาน Tiki-Taka
พื้นฐานสำคัญของการเล่นแบบ Tiki-Taka เกิดจากการฝึกฝนที่เรียกว่า “เอล รอนโด” (El Rondo)
เอล รอนโด มีหลักการคล้ายกับการเล่น “ลิงชิงบอล” ในบ้านเรานั่นเอง โดยจะมีการจัดกลุ่มย่อย เช่น 7 ต่อ 3, 4 ต่อ 2 หรือ 3 ต่อ 1 ให้เล่นในพื้นที่แคบๆ เช่น 10x10 เมตร (ให้ดูความเหมาะสมว่าพอที่จะเล่นได้หรือไม่ และขนาดพื้นที่จะขยายตามจำนวนผู้ฝึก)
หลักการง่ายๆก็คือ ให้ฝ่ายที่ครองบอลผ่านบอลไปมา โดยให้เล่นได้แค่ 1 หรือ 2 จังหวะ (หรือครึ่งจังหวะ) ส่วนฝ่ายรับให้ไล่บอลไปเรื่อยๆ แต่ไม่ต้องพยายามเข้าแย่งบอล (ตรงนี้คือจุดที่แตกต่างจากลิงชิงบอล) ทีนี้ใครจ่ายบอลพลาด หรือโดนตัดบอลได้ (ย้ำว่าไม่จำเป็นต้องเข้าไปแย่ง แค่ไล่ให้จน) ก็สลับมาเป็นคนไล่บอลบ้าง หรืออาจมีการกำหนดกติกาว่า ถ้ามีการตัดบอลได้ 3 ครั้งจะให้คู่ใหม่เข้ามาไล่บอลบ้าง
สิ่งที่เด็กจะได้จากแบบฝึกนี้คือ...
ฝ่ายรุก จะได้ฝึกการจ่ายบอลในพื้นที่แคบๆให้แม่นยำ ฝึกสายตาให้สอดส่ายมองหาเพื่อนเสมอ เป็นการฝึกไหวพริบ และยังทำให้เกิดความเข้าใจกับเพื่อนด้วย โดยจะต่อยอดไปที่ทักษะการครองบอล การสัมผัสบอลแรกให้เล่นต่อได้ทันที
ฝ่ายรับ จะได้ฝึกการกดดัน (เพรสซิ่ง) ซึ่งสิ่งสำคัญคือการไล่ไปพร้อมกัน ช่วยกันไล่ และเป็นการพัฒนาความเข้าใจกับเพื่อน
เพราะสิ่งสำคัญคือการเล่นเป็น “ทีม” ปรัชญาของ Tiki-Taka นักฟุตบอลต้องเชื่อใจเพื่อน ความแข็งแกร่งที่แท้จริงอยู่กับทั้งทีม ไม่ได้อยู่กับคนใดคนหนึ่ง
VIDEO
“มันคือการเล่นรอนโด (ภาษาสเปนแปลว่าหมูกลางสนาม หรือลิงชิงบอล) ... รอนโด รอนโด รอนโด เราเล่นแบบนี้ทุกวัน มันคือการฝึกที่ดีที่สุด เราจะเรียนรู้ถึงความรับผิดชอบ และจะพยายามไม่เสียบอล” ชาบี้ เอร์นานเดซ
ที่มา :
http://elife.azay.co.th