จริงๆ หาข้อมูลและพิมพ์ไว้ตั้งแต่เมื่อวานแล้ว แต่ก็คิดว่ามันเป็นข้อมูลที่ไม่ครบทุกด้าน ก็เลยว่าจะไม่โพสต์
แต่เมื่อวานอ่านการถกเถียงของแฟนหงส์ทั้งฝั่งเห็นด้วยกับค่าเหนื่อยโม ส่วนอีกฝั่งก็เข้าใจว่า FSG ต้องมองภาพรวมสโมสร ก็เลยรู้สึกว่าอยากหาข้อมูลเพิ่มอีกสักหน่อย ตกผลึกความคิดอีกซักนิด
ก็เลยกลายมาเป็นบทความนี้
ออกตัวไว้ก่อนเลยนะครับ ความเห็นผมคือ คิดว่า Salah เหมาะสมกับค่าเหนื่อยระดับ £400k/w และเป็นสิทธิ์ของนักเตะที่จะเรียกร้องในสิ่งที่ตัวเองสมควรได้รับ
แต่ในอีกทางนึง LFC โดย FSG ก็มีเหตุผลที่จะต้องคิดคำนวณยอดตัวเลขที่จะเสนอให้ Salah เหมือนกัน ก็เลยจะมาชวนคุยกันว่า อะไรทำให้หงส์หยุดชะงักกับตัวเลขระดับ 400k และพอจะมีทางเป็นไปได้มั้ยที่จะจ่ายนักเตะระดับนี้แล้วสโมสรไม่พังครืนลงมา
ข้อมูลทั้งหมดเป็นความเข้าใจของผมผ่านรูปแบบค่าจ้างขององค์กรที่ผมเคยรับรู้ ผ่านการเห็นตัวเลขต่างๆ รวมถึงข้อมูลจาก football manager นะครับ ถ้าตรงไหนคลาดเคลื่อนก็พูดคุยกันได้ครับ
โครงสร้างค่าเหนื่อยคืออะไร?
ก่อนจะเข้าใจคำนี้ คงต้องมองเรื่องการแบ่งสัดส่วนงบในการบริหารทีมซะก่อน ซึ่งก็น่าจะมีหลายส่วนมาก ทั้งด้านการพัฒนาสนามและ facilities ต่างๆ / งบที่เกี่ยวกับนักเตะ / งบการตลาดและส่งเสริมภาพลักษณ์สโมสร บลาๆๆ
จากในรูปที่เอามาจาก FM จะเห็นว่างบด้านนักเตะมีส่วนใหญ่ๆ 3 ส่วน คือ งบซื้อขายนักเตะ ค่าเหนื่อยนักเตะ และงบทีมแมวมอง
จะเห็นว่าวิธีบริหารของทีมคือ ตั้งงบประมาณสำหรับค่าเหนื่อยไว้ก้อนนึง หลังจากนั้นบอร์ดและผจก.ทีมก็ไปบริหารเอา
ซึ่งฤดูกาลปัจจุบัน ลิเวอร์พูลมีรายจ่ายตรงนี้อยู่ที่ £139,178,000/ปี หรือ £2,676,500/สัปดาห์
ตัวเลขส่วนนี้ค่อยๆ เพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี ตามมาตรฐานองค์กรทั่วไป โดยย้อนกลับไป 3 ฤดูกาลที่ผ่านมา ตัวเลขจะเป็น £132,854,000 (20/21), £128,400,000 (19/20) และ £122,980,000 (18/19)
และถ้าจะเปรียบเทียบกับอีก 3 ทีมหัวตาราง epl สำหรับฤดูกาลนี้ ก็จะได้ตามนี้
1. Manchester United £226,646,000/ปี
2. Chelsea £162,642,000/ปี
3. Manchester City £143,156,000/ปี
ที่มา :
https://www.spotrac.com/epl/liverpool-fc/payroll/
https://www.si.com/soccer/liverpool/articles/reported-liverpool-player-salaries-2021-22-season
https://lfcglobe.co.uk/liverpool-fc-players-wages-contract-details/
ซึ่งตรงนี้คือยอดใช้จ่ายในปัจจุบัน แต่ผมไม่แน่ใจว่าทีมได้ใช้จ่ายเต็มวงเงินงบประมาณส่วนที่เป็นค่าเหนื่อยแล้วหรือยัง หรือเหลือเท่าไหร่
กลับมาดูรายละเอียดของค่าเหนื่อยกันต่อ ตามความเข้าใจที่ผมได้มาจาก football manager เวลาที่เราจะเสนอสัญญาให้นักเตะเซ็น ในสัญญาจะต้องระบุบทบาทความสำคัญของนักเตะไปด้วย ซึ่งจะมีตั้งแต่ระดับ
- นักเตะสำคัญประจำทีม (key player)
- ตัวจริง (first team)
- ตัวหมุนเวียน (rotation)
- สำรอง (backup)
- ดาวรุ่งพุ่งแรง (hot prospect)
- นักเตะเยาวชน (youngster)
ตรงนี้แหละครับที่จะมาพร้อมกับ range ของค่าเหนื่อยที่นักเตะจะได้รับตามความสำคัญต่อทีม ดูจากตัวเลขปัจจุบัน นักเตะที่น่าจะอยู่ในระดับ key player ของลิเวอร์พูล น่าจะมี 3 คน คือ VVD, Thiago และ Salah ซึ่งค่าเหนื่อยน่าจะอยู่ในช่วง 200-250k/w (อันนี้เดาเอานะครับ อาจจะเป็น 200-220k/w ก็ได้)
First team กับ rotation คงอยู่ในช่วง 100-200k/w ส่วนพวกสำรองก็คงระดับหลักหมื่น (เดาอีกเหมือนกัน แต่วิธีคิดน่าจะประมาณนี้)
สิ่งที่กำลังเป็นคำถามว่าถ้าหงส์อัพค่าเหนื่อยให้ Salah ที่ 400k/w จะเกิดอะไรตามมา?
อย่างแรก เพดานค่าเหนื่อยของกลุ่ม key player จะขยับจาก 250k (หรือ 220k) กลายเป็น 400k ซึ่งตอนนี้เรามีนักเตะ key player อยู่ 3 คน
โอเคว่าในเคส VVD สัญญาอยู่ถึงปี 2025 การต่อฉบับถัดไปค่าเหนื่อยอาจจะไม่ทะลุหลัก 200k แล้วเพราะถึงตอนนั้นเจ้าตัวจะอายุ 34 ปี
เช่นเดียวกับ Thiago ที่สัญญาหมดปี 2024 ในตอนที่เจ้าตัวอายุ 33 ปี
แต่คนที่สัญญากำลังจะหมดพร้อม Salah คือ Sadio Mane และก็อาจจะมีข้อถกเถียงเรื่องความสำคัญต่อทีม ว่า Mane อยู่ในระดับเดียวกับโมมั้ย หรือเป็นแค่ First team ซึ่งตรงนี้ก็มีช่องว่างให้เอเยนต์ของณเดชน์ได้ต่อรองอยู่พอสมควร ถ้าหากว่าเพดานถูกเขยิบขึ้นไป
ในเคสนี้เราอาจจะไม่ได้กังวลมาก ด้วยฟอร์มปัจจุบัน หากนักเตะเรียกค่าเหนื่อยที่สูงเกินผลงาน ก็สามารถจะขายทำกำไรกลับเข้าสโมสรได้
อย่างที่สอง ถ้ามีการขยับเพดานค่าเหนื่อยของ key player ขึ้นไปสูงขนาดนั้น มีความเป็นไปได้ที่เพดานค่าเหนื่อยของนักเตะกลุ่มรองๆ ลงมาอาจจะต้องขยับตามขึ้นไปไม่มากก็น้อย
มาลองคิดกันเล่นๆ ว่าเพดานของแต่ละระดับจะขยับขึ้นไปขนาดไหน
Key player 250k —> 400k
First team 200k —> 220k มั้ย?
Rotation 150k —> 180k มั้ย?
Backup 100k —> 120k มั้ย?
ตีกลมๆ ถ้าปรับขึ้นระดับนี้ งบส่วนนี้จะเพิ่มขึ้น 10-20% โดยจะไม่เพิ่มขึ้นทันทีในตอนนี้ แต่จะทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกครั้งที่มีการเสนอสัญญาใหม่ให้นักเตะ คาดการณ์คร่าวๆ ว่าอาจจะเพิ่มขึ้น 10-20% ภายใน 4 ฤดูกาล (ในขณะที่อัตราเพิ่มปกติอยู่ที่ 4% ในแต่ละปี)
ตรงนี้ถึง "อัตราการเพิ่มค่าเหนื่อย" จะกระโดดขึ้นไป 3-4 เท่าตัว ถ้าตีเป็นตัวเลข (แบบกลมๆ อีกรอบ) โดยเทียบจากตัวเลข £139M ค่าเหนื่อยก็น่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ £25M/ปี
£25M.. ดูแล้วก็ไม่น่าเกินความสามารถของบอร์ดบริหารที่จะหาเงินส่วนนี้มาเพิ่มได้
แต่..... อย่างที่บอกแหละครับ เราไม่รู้รายละเอียดว่างบประมาณส่วนนี้มันสามารถจะปรับเปลี่ยนได้มากน้อยแค่ไหน และสามารถทำได้ทันทีเลยมั้ยเพื่อรองรับสัญญาใหม่โม
อย่างที่สาม เมื่อเพดานขยับแล้ว ขยับเลย คงไม่สามารถปรับลงมาใหม่ได้ ไม่งั้นคงมีปัญหาในการบริหารจัดการทีมอย่างหนัก
ถ้ามองจากด้าน FSG (หรือมองจากติ่ง FSG แบบที่แฟนบอลอีกฝั่งถูกค่อนขอด) ผมยังให้เครดิตกับทีมงานชุดนี้อยู่มาก เปรียบเทียบการลงทุนกับผลลัพธ์ที่ได้ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา รูปแบบการบริหารของลิเวอร์พูลก็ถูกพูดถึงเยอะนะครับ ในแง่การใช้เงินที่สมเหตุสมผล แถมยังต่อกรกับทีมมหาเศรษฐีหลายๆ ทีมได้อย่างสูสี
กรณีต่อสัญญาโมที่ยังไม่มีบทสรุป ผมก็ยังเชื่อมั่นว่า FSG ฉลาดพอที่จะรู้ข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือก เพราะแม้แต่แฟนบอลชาวบ้านอย่างเราๆ ก็ยังคุยกันได้เป็นตุเป็นตะเลย
แต่จะมองแบบแฟนบอลอีกหลายๆ ท่านก็ได้ว่า หรือนี่จะถึงเวลาแล้วที่หงส์ควรปรับโครงสร้างค่าเหนื่อยเพื่อต่อยอดให้ทีมอยู่ในระดับบนสุดต่อไปได้ กว่าที่เราจะกลับขึ้นมาถึงระดับนี้ได้ เราลงทุนไปไม่รู้เท่าไหร่ ถ้าไม่รักษาระดับการบินสูงต่อไป เงินที่ลงทุนไปก็ดูจะเสียเปล่า
แล้วทีมอื่นเค้าบริหารค่าเหนื่อยนักเตะยังไง ทำไมถึงจ่ายค่าเหนื่อยแพงๆ ดึงนักเตะดังๆ มาเข้าทีมได้?
ลองมาดูกัน
Man City
https://www.spotrac.com/epl/manchester-city-fc/payroll/
Chelsea
https://www.spotrac.com/epl/chelsea-fc/payroll/
Man UTD
https://www.spotrac.com/epl/manchester-united-fc/payroll/
ทีนี้ลองมาดูว่าในแต่ละทีมมีจำนวนนักเตะที่รับค่าเหนื่อยใน range ต่างๆ เป็นยังไง
เราเห็นอะไรจากตัวเลขนี้
ทีมที่ยอดค่าเหนื่อยใกล้เคียงกับหงส์ที่สุดคือ city
แต่ทีมที่มีรูปแบบค่าเหนื่อยใกล้เคียงกับเราที่สุดคือ chelsea
city มีโครงสร้างค่าเหนื่อยแบบมี superstar คือ มีนักเตะ 1-2 คนที่ค่าเหนื่อยสูงปรี๊ดออกมาจากเพื่อนร่วมทีม
ในขณะที่ chelsea จ่ายค่าเหนื่อยแบบค่อยๆ ลดหลั่นกันลงไป โดยยกเว้นลูกากู ที่ได้ค่าเหนื่อยระดับ 300k อันนี้เข้าใจได้ เพราะซื้อตัวเข้ามาหลังจากโชว์ฟอร์มกระฉูดกับงูใหญ่
หงส์แดงอาจจะมองว่านักเตะภายในทีมทุกคนมีความสำคัญ อาจมีคนที่โดดเด่นกว่าเพื่อนบ้าง แต่ก็เล่นกันเป็นทีม ทำให้ค่าเหนื่อยค่อยๆ ลดหลั่นลงมา หรือนี่จะเป็นจุดที่เป็นกับดักทางความคิดของบอร์ดบริหาร
ถ้าเราเข้าไปดูพัฒนาการค่าเหนื่อยของ key player ที่อยู่กับแต่ละทีมมานาน จะเห็นสิ่งนึงที่น่าสนใจ
นักเตะกลุ่มนี้มีลักษณะที่เหมือนกันคือ เป็นตัวแบกทีม และอยู่กับทีมมายาวนานเกิน 5 ปี ทำให้เห็นพัฒนาการของค่าเหนื่อยได้อย่างดี
ทุกคนเข้ามาด้วยค่าเหนื่อยเริ่มต้นที่ไม่มากนัก และจะมีฤดูกาลนึงที่ค่าเหนื่อยเพิ่มขึ้นทีเดียวเท่าตัว เพราะในปีนั้นฟอร์มในสนามเบ่งบานจนต้องอัพค่าเหนื่อยเพื่อกันทีมอื่นมาดึงตัวไป
หงส์แดงกำลังเผชิญสถานการณ์แบบเดียวกับที่ผีแดง สิงห์ เรือใบเคยผ่านมา และจัดการให้ทุกอย่างอยู่ในความสงบได้ด้วยการอัพค่าเหนื่อยแบบเท่าตัว
ตรงนี้ทำให้เราพอจะมองเห็นได้ว่า ถ้าเงื่อนไขที่เอเยนต์ของโมเสนอกับสโมสรที่ 400k ก็เป็นตัวเลขที่ไม่เกินเลยกับความเป็นจริงเลยแม้แต่นิดเดียว
ถ้าบอร์ดบริหารไม่สามารถคิดนวัตกรรมในการแก้ปัญหานี้ได้ วิธีการเพิ่มค่าเหนื่อยแบบที่ทีมอื่นทำกันมาแต่ไหนแต่ไร ก็คงเป็นทางที่ไม่ควรปฏิเสธ เพราะมันอาจไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด
ถ้าอย่างนั้น ก็อาจจะยังพอเป็นไปได้ที่ตัวเลขสุดท้ายจะจบระหว่าง 350-400k
สุดท้ายแล้ว การมีวินัยการเงินที่รัดกุมเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมอยู่แล้ว แต่หวังว่าบอร์ดจะมองการขยับเพดานค่าเหนื่อยครั้งนี้ ในแง่ของการปรับเพื่อให้ทีมโตขึ้น ไม่ใช่การทำลายให้เกิดความวุ่นวายเกินควบคุมในอนาคต
ก็ลุ้นกันต่อไปครับ