จาดาฟ พาเยง ชายชาวอินเดียปลูกต้นไม้ทุกวัน 40 ปี คืนชีวิตให้สัตว์ได้มีที่อยู่
ที่เมืองจอร์ฮัท สาธารณะรัฐอินเดีย มีชายคนหนึ่งทำงานเป็นนักปลูกป่า ชายคนนั้นชื่อว่า จาดาฟ พาเยง (Jadav Payeng)
จาดาฟเริ่มหันมาปลูกป่าตั้งแต่ปี 1979 บนเกาะมาจูลีที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ทำให้หน้าดินถูกชะล้างจนกลายเป็นเวิ้งทรายขนาดใหญ่ นักวิชาการได้วินิจฉัยผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวเอาไว้ว่าในอีก 15-20 ปีข้างหน้า เกาะแห่งนี้จะหายไปจากแผนที่โลก
ในปี 1979 ภายหลังมหันตภัยจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่คร่าชีวิตผู้คน ทำลายบ้านเรือนหลายร้อยหลังในเมืองจอร์ฮัทผ่านไป จาดาฟในวัย 16 ปี ได้มองเห็นงูตัวหนึ่งที่นอนตายอยู่บนพื้นดินแตกระแหง ไร้ร่มเงาของต้นไม้ปกคลุม เขาพยายามวิดน้ำลงบนตัวของมันแม้จะรู้ว่างูตัวนั้นคงไม่อาจฟื้นคืนชีวิตกลับมาแล้วก็ตาม
สิ่งนั้นมันทำให้จาดาฟสำนึกได้ว่าเขาควรจะทำอะไรสักอย่าง เขาเดินเข้าไปถามกรมป่าไม้ของอินเดียว่า “พอจะมีหนทางในการที่จะปลูกต้นไม้ในเกาะแห่งนี้บ้างหรือไม่ ?” แต่ผู้ใหญ่ในกรมป่าไม้กลับให้คำตอบกลับมาว่าพื้นที่ตรงนั้นไม่สามารถปลูกอะไรได้ ซ้ำยังแนะนำให้เขาลองปลูกไผ่ดูอีกด้วย
แต่จาดาฟก็ทำจริงๆ… เขากลับมาพร้มกับกล้าไผ่และเริ่มปลูกมันลงบนพื้นทรายในเกาะที่ไม่มีใครสนใจ เขาละทิ้งบ้านมาอยู่บนตลิ่งทรายแห้งแล้ง หันหลังให้การศึกษา ลงมือปลูกไผ่อย่างจริงจัง ไม่มีวันหยุด รดน้ำต้นไผ่เช้าเย็น ไม่กี่ปีนับจากนั้น ตลิ่งสันทรายได้กลายมาเป็นป่าไผ่
ในตอนนั้นเองที่จาดาฟได้ตัดสินใจที่จะหาพืชพรรณที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่รวมถึงเป็นพืชประจำท้องถิ่นมาลองปลูก นอกจากนั้นยังนำมดแดงจากในหมู่บ้านมาปล่อยในป่า โดยมดแดงสามารถช่วยปรับเปลี่ยนสภาพดินให้ดีขึ้นได้
ต่อมาไม่นาน ก็มีพืชพรรณและสัตว์ป่าเกิดขึ้นในบริเวณที่เคยเป็นสันทรายมาก่อน รวมถึงสัตว์ใกล้สูญพันธ์บางประเภท เช่น แรด เสือโคร่งแบงกอล เข้ามาใช้เป็นที่อยู่อาศัย
จาดาฟเล่าว่า เป็นเวลากว่า 12 ปี ที่ไม่ได้พบแร้งอยู่ในธรรมชาติ พวกนกอพยพก็ไม่ได้พบมานานแล้วเช่นกัน แต่ก็กลับมาเริ่มรวมกลุ่มกันที่นี่ กวางและสัตว์เคี้ยวเอื้องอื่นๆ ก็กลายเป็นส่งดึงดูดสัตว์ผู้ล่าให้เข้ามาอยู่ในป่าปลูกของเขา
เห็นได้ชัดว่า จาดาฟเป็นบุคคลที่มีทัศนคติที่ดีอย่างมากต่อป่าและงานอนุรักษ์ โดยเขาเคยให้สัมภาษณ์กับ Christopher Jobson (2012) ไว้ว่า “การที่ต้นไม้เติบโตขยายอาณาเขตออกไปเรื่อยๆ จะยิ่งทำให้ยากแก่การป้องกันรักษาป่ามากยิ่งขึ้น และภัยคุกคามที่น่ากลัวที่สุดคือมนุษย์ พวกเขาจะทำลายทุกอย่างเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้เกิดกับตนเอง เพราะเหตุนั้น สัตว์ป่าก็จะเกิดการสูญพันธ์อีกครั้ง”
“สิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ล้วนเป็นสัตว์ด้วยกันทั้งนั้นไม่เว้นแม้แต่มนุษย์ จะแตกต่างก็ตรงที่มนุษย์สวมใส่เสื้อผ้าก็เท่านั้น สัตว์ร้ายในโลกใบนี้ไม่มีหรอก ถ้าจะมีก็คงเป็นมนุษย์นี่แหละที่ร้ายที่สุด เพราะมนุษย์จะบริโภคทุกอย่างจนกระทั่งไม่เหลืออะไรอยู่เลย ดังนั้น จึงไม่มีอะไรจะรอดพ้นจากเงื้อมมือมนุษย์ได้ ไม่ว่าจะเป็นเสือ หรือช้างก็ตาม ธรรมชาติสร้างห่วงโซ่อาหาร ทำไมเราต้องไปฝืนกฎธรรมชาติด้วยการทำลายห่วงโซ่อาหารเสียเอง ใครจะเป็นคนปกป้องสัตว์ป่า หากเราในฐานะผู้บริโภคลำดับสุดท้ายอยู่เหนือห่วงโซ่อาหารทั้งหมดเริ่มต้นล่าพวกมันเสียเอง”
ปัจจุบันป่าแห่งนี้ทำหน้าที่รักษาระบบนิเวศให้กับท้องถิ่น เป็นที่พักพิงให้สัตว์ป่าพื้นเมือง รวมทั้งเป็นที่อยู่ของเสือเบงกอล กวาง แรด แร้ง ช้าง และงู
จากความพยายามทั้งชีวิต เรื่องราวของจาดาฟได้ถูกนำไปถ่ายทอดเป็นคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ทำให้เขากลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้ได้รับรางวัล ‘Forest man of India’ จากอดีตนายกรัฐมนตรี ดร. เอ. พี. เจ. อับดุล กลาม
รางวัลที่จาดาฟได้รับอาจจะดูไม่มากนักหากเทียบกับสิ่งที่เขาได้ทำให้ประเทศชาติ แต่ถ้าเมื่อ 40 ปีก่อน จาดาฟไม่เริ่มปลูกต้นไม้ ในวันนี้ เกาะมาจูลีที่เคยเหลือป่าอยู่แค่ครึ่งเกาะ อาจจะไม่มีพื้นที่ป่ากว้างกว่าเซนทรัลปาร์ค เป็นที่ให้สัตว์ป่าจำนวนมากอยู่อาศัย และมาจูลีอาจจะหายไปตามการคาดการของนักวิทยาศาสตร์ก็เป็นได้
ปัจจุบัน เกาะมาจูลีได้กลายเป็นเขตป่าสงวน ด้วยขนาดพื้นที่ 1,360 เอเคอร์ มีสัตว์ป่าเข้ามาอาศัยทั้ง เสือ แรด กระต่ายป่า นกหลากหลายสายพันธ์ุ และยังพบแร้งตามธรรมชาติได้ในป่าผืนนี้อีกด้วย โดยได้รับการเปลี่ยนชื่อใหม่ เป็น Molai forest ตามชื่อกลางของจาดาฟ (Jadav Molai Payeng) เพื่อเป็นเกียรติแก่ตัวเขาเองนั่นเอง โดยจาดาฟมักจะพูดคำหนึ่งอยู่เสมอว่า “หากต้องการตัดต้นไม้ของผม คุณต้องข้ามศพผมไปก่อน”
Credit :
https://www.seub.or.th/bloging/ในป่าใหญ่/java-payeng-ชายผู้พลิกฟื้นผืนทรา/
https://www.wegointer.com/2019/02/a-man-spends-40-years-turning-a-desert-into-a-giant-forest/