ถ้าถามฝรั่งว่าเดือน September มีกี่วัน อาจจะต้องรอให้เขาคิดสักแป๊บ ซึ่งบางคนจะท่องบทกวี หรือนับข้อนิ้วมือ แต่ถ้าถามคนไทยส่วนมากก็มักจะตอบได้ทันที ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
ในการนับเดือนในภาษาไทยนั้น ถ้าเดือนไหนลงท้ายด้วย “
คม” หรือ “
ยน” เราก็รู้ว่ามี 31 หรือ 30 วันตามลำดับ ส่วนเดือนกุมภาพันธ์นั้นก็มี 28 หรือ 29 วัน เราจึงแทบไม่ต้องคิดอะไรมากมาย
ส่วนชาวตะวันตก ถ้าพูดว่า
September กับ
October บางคนอาจบอกไม่ได้ทันทีว่าเดือนไหนมี 31 หรือ 30 วัน เพราะคำลงท้ายไม่ได้บอกจำนวนวันเหมือนของเรา
---
** ฝรั่งมีวิธีหาจำนวนวันในแต่ละเดือนอย่างไร
เท่าที่ผมทราบมี 2 แบบ คือ
(1) ท่องบทกวีต่อไปนี้
30 days have September,
April, June, and November:
All the rest have 31,
Except February,
Which has 28 days clear,
And 29 in each leap year.
โดย leap year หมายถึง ปีอธิกสุรทิน ซึ่งก็คือปีที่มีวันที่ 29 กุมภาพันธ์
(2) ใช้วิธีการนับข้อนิ้วมือ
ถ้าเดือนไหนตรงกับข้อนิ้วมือจะมี 31 วัน ถ้าเดือนไหนตรงกับช่องระหว่างข้อนิ้วมือจะมี 30 วัน แต่จะยกเว้นเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์ที่มี 28 หรือ 29 วัน
วิธีการนับข้อนิ้วมีดังนี้ (ให้ดูภาพประกอบ)
- นับข้อนิ้วชี้เป็น January
- นับช่องระหว่างนิ้วชี้และนิ้วกลางเป็น February
- นับข้อนิ้วกลางเป็น March
- ทำต่อไปเรื่อยๆ จนถึงข้อนิ้วก้อย
- นับข้อนิ้วชี้อีกครั้ง และนับต่อไปเรื่อยๆ จนถึงเดือน December
ดังนั้นถ้าถามฝรั่งถึงจำนวนวันในเดือนนั้น เขาอาจจะต้องใช้เวลาสักหน่อย
** ทำไมคนไทยนับเดือนได้ง่ายกว่า
แต่เดิมประเทศไทยใช้ปฏิทินจันทรคติไทย โดยนับเดือนพระจันทร์ซึ่งจะนับเดือน 1-12 ซึ่งแต่ละเดือนจะมี 29 และ 30 วันเท่านั้น โดยไม่มีการใช้เดือน January, February, March, …, December ดังที่ปรากฏในปฏิทินสากล
กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตั้งชื่อภาษาไทยสำหรับชื่อเดือนในปฏิทินสากล โดยใช้ตำราจักรราศีที่อธิบายการโคจรของดาวเคราะห์รอบดวงอาทิตย์รอบ 12 จักรราศีตามหลักโหราศาสตร์
ท่านทรงนำคำสองคำมาสนธิกัน โดยคำแรกเป็นของชื่อราศีที่ปรากฏบนท้องฟ้าในช่วงเวลานั้น มารวมกับคำว่า "อาคม" หรือ "อายน" ซึ่งหมายถึง "การมาถึง"
ทั้งนี้ได้กำหนดการใช้คำอย่างชัดเจนว่า "คม" ใช้สำหรับเดือนที่มี 31 วัน และ "ยน" ใช้สำหรับเดือนที่มี 30 วัน ยกเว้นเดือนกุมภาพันธ์ที่มี 28 หรือ 29 วัน
ขณะนี้ถ้าฝรั่งต้องการเปลี่ยนชื่อเดือนให้ดูง่ายเหมือนของไทยคงทำได้ยากเพราะเขาใช้กันมานานมากแล้ว
** ตัวอย่างที่ดีของการสร้างคำศัพท์ให้เกิดประโยชน์กับคนไทย
อันที่จริงแล้ว กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ทรงสามารถสร้างชื่อแบบอื่นได้ แต่ท่านมีปรีชาญาณในการมองเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นว่าการตั้งชื่อแบบนี้จะทำให้คนไม่ต้องมาเสียเวลาหาวิธีจำหรือนับจำนวนวันในแต่ละเดือน
ตัวอย่างนี้ให้ข้อคิดที่ดีมาก นั่นคือ การทำอะไรใช่สักแต่ว่าทำให้ง่ายทำให้เสร็จเร็วเข้าไว้ แต่ต้องพยายามคิดหาวิธีที่ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตนเอง และลูกหลานในอนาคตอีกหลายชั่วอายุคน จนเขาเกิดความภาคภูมิใจในสิ่งที่เราได้มอบไว้ให้
อ่านจบแล้วท่านคิดอย่างไรบ้างครับ