ทำไม"ผู้หญิงสวย"มักลงเอยกับ"ผู้ชายไม่หล่อ"?
ความเป็นจริงของชีวิตที่เราพบเห็นกันทั่วไปที่ผู้หญิงสวยมักลงเอยกับผู้ชายไม่หล่อ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้สามารถอธิบายได้ในทางเศรษฐศาสตร์ และมันยังทำให้เรารู้ว่า หากเราอยากมีความสุขในการแต่งงาน เราควรหาคู่ครองที่มีหน้าตาระดับไหนเมื่อเทียบกับตัวเราเอง
……….
“A thing of beauty is a joy forever, its loveliness increases; it will never pass into nothingness.” – John Keats, Endymion: Book I
บทกวีของ Keats ที่กล่าวถึงความสำคัญของความงามคงเป็นการเกริ่นนำที่ดีของบทความนี้ ผู้เขียนเองไม่กล้าแปลออกมาเป็นภาษาไทย แต่คิดว่าเพื่อนๆ คงเข้าใจความหมายของมันได้เป็นอย่างดี
ที่ผ่านมา งานวิจัยทางด้านจิตวิทยาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเสน่ห์ทางร่างกาย (Physical Attractiveness) กับความสัมพันธ์อันเกิดจากความรัก (Romantic Relationship) มีให้เห็นจำนวนพอสมควร โดยที่ข้อสรุปนั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในสองกลุ่มทฤษฎี ในด้านหนึ่ง Equity and Similarity Theories ให้ข้อสรุปว่า คู่แต่งงานที่มีเสน่ห์ทางร่างกายใกล้เคียงกันจะให้ความสุขในการดำเนินชีวิตคู่มากกว่าคู่แต่งงานที่มีเสน่ห์ทางร่างกายแตกต่างกัน ขณะที่อีกด้านหนึ่ง Evolutionary Perspectives and Normative Resource Theories กลับท้าทายว่า ความไม่เหมือนกันของเสน่ห์ทางร่างกายของคู่แต่งงานนั้นก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นอสมมาตร (Asymmetric Outcome of Dissimilar Attractiveness) โดยถ้าเป็นคู่แต่งงานที่ผู้หญิงมีเสน่ห์มากกว่าผู้ชายจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าคู่แต่งงานที่ผู้ชายมีเสน่ห์มากกว่าผู้หญิง
……….
James K. McNulty, Lisa A. Neff, and Benjamin R. Karney (2008) ได้ทำการศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเสน่ห์ทางร่างกายกับความพึงพอใจในชีวิตสมรสของคู่แต่งงานใหม่ (แต่งงานกันมาไม่เกิน 6 เดือน และไม่เคยผ่านการแต่งงานหรือมีลูกมาก่อน) จำนวน 82 คู่
สาเหตุที่เลือกพิจารณาคู่แต่งงานใหม่ก็ด้วยเหตุผลสองประการ หนึ่งคือ คู่ที่เพิ่งแต่งงานกันจะตั้งใจยึดมั่นคำสัญญา และมีความมุ่งหวังจะมีชีวิตคู่ที่ยืนยาวในระดับที่เท่าๆ กันทั้งสองฝ่าย สองคือ คู่แต่งงานใหม่มักจะมีช่วงอายุและประสบการณ์จากความรักที่ใกล้เคียงกัน ขณะที่คู่แต่งงานที่อยู่กันนานแล้ว ผลลัพธ์ของการแต่งงานจะขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายจนไม่อาจประเมินผลของเสน่ห์ทางร่างกายได้อย่างถูกต้อง
“ภาพยนตร์เรื่องดังที่เกี่ยวกับความรักระหว่างนางเอกชื่อดังกับผู้ชายธรรมดาๆ (แต่ที่จริงหน้าตาก็ไม่ค่อยธรรมดาอย่างที่เรื่องพยายามจะเสนอแฮะ)”
ในการวัดผลลัพธ์ของการแต่งงาน McNulty, Neff, and Karney (2008) จำแนกออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ๑) ความพอใจในชีวิตแต่งงาน (Marital Satisfaction) เป็นการให้คู่แต่งงานตอบแบบสอบถามแบบสเกลที่มีพื้นฐานมาจาก Quality Marriage Index (Norton, 1983) ๒) พฤติกรรมที่ปฏิบัติต่อคู่ครอง (Marital Interaction Behavior) จะถูกวัดจากอาสาสมัครทางจิตวิทยาที่ได้รับการอบรม ระหว่างที่คู่บ่าวสาวอธิบายถึงปัญหาของชีวิตแต่งงาน และ ๓) ระดับความมีเสน่ห์ทางร่างกาย (Physical Attractiveness) จะถูกประเมินจากอาสาสมัคร โดยที่ไม่ทราบว่าใครเป็นคู่ของใคร
ข้อมูลสถิติพื้นฐานของตัวแปรตามทั้งสาม พบว่า คู่แต่งงานมีความพอใจในชีวิตแต่งงานอยู่ในระดับที่สูง (คะแนนเต็ม 45; ผู้ชายมีค่าเฉลี่ย = 42.1 SD = 4.0 ผู้หญิงมีค่าเฉลี่ย = 42.1 SD = 5.3) ขณะที่อาสาสมัครให้คะแนนการปฏิบัติต่อกันในทางบวกมากกว่าลบ (คะแนนจาก -1.0 ถึง +1.0; ผู้ชายมีค่าเฉลี่ย = 0.20 SD = 0.24 ผู้หญิงมีค่าเฉลี่ย = 0.24 SD = 0.21) และให้คะแนนความมีเสน่ห์ทางร่างกายโดยเฉลี่ยอยู่ค่ากลางๆ (คะแนนเต็ม 10; ผู้ชายมีค่าเฉลี่ย = 4.5 SD = 1.0 ผู้หญิงมีค่าเฉลี่ย = 4.3 SD = 1.2)
ผลการศึกษาตามตารางที่ ๑ แสดงค่าความสัมพันธ์ระหว่างระดับความมีเสน่ห์ทางร่างกายของสามีหรือภรรยา (Absolutue Attractiveness) กับความพอใจในชีวิตสมรสหรือพฤติกรรมที่ปฏิบัติต่อกัน โดยผู้ชายที่หล่อจะมีแนวโน้มทั้งความพอใจในชีวิตสมรสต่ำ (r=-0.27*) และการปฏิบัติต่อภรรยาที่ไม่ค่อยดี (r=-0.31*) แต่ผู้หญิงที่สวยมีแนวโน้มจะปฏิบัติกับสามีค่อนข้างดี (r=0.26*) ขณะที่ทั้งความพอใจและการปฏิบัติต่อกันจะดีหรือไม่ดีนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรูปร่างหน้าตาของคู่สมรสเลย
“ตารางที่ ๑ ความสัมพันธ์ระหว่างเสน่ห์ทางร่างกายกับความพอใจในชีวิตสมรส”
……….
McNulty, Neff, and Karney (2008) ได้ทำการประเมินต่อด้วยสมการถดถอย (Regression Analysis) โดยใช้ระดับความมีเสน่ห์ทางร่างกายทั้งของสามีและภรรยาเป็นตัวแปรอิสระ และควบคุมปัจจัยอื่นๆ อันได้แก่ การศึกษาและรายได้
ผลการศึกษาที่แสดงในตารางที่ ๒ มีความน่าสนใจหลายประการ
- ในด้านการปฏิบัติต่อกัน
ความหล่อของสามี ส่งผลทางลบทั้งต่อการปฏิบัติของตัวสามีเองต่อภรรยา (เช่น ให้เกียรติภรรยาน้อยลง) และการปฏิบัติของตัวภรรยากับสามี (เช่น มักเกิดความหึงหวง หวาดระแวง)
ความสวยของภรรยา ส่งผลบวกทั้งต่อการปฏิบัติของตัวภรรยาที่มีต่อสามี (เช่น ให้เกียรติสามีมากกว่า เพราะต้องรักษาภาพพจน์) และการปฏิบัติของตัวสามีต่อภรรยา (เช่น คอยเอาอกเอาใจมากขึ้น เพราะภรรยาสวย)
- ในด้านความพึงพอใจต่อชีวิตสมรส ไม่พบความสัมพันธ์ที่ชัดเจนว่ารูปร่างหน้าตาจะส่งผลให้ความพึงพอใจเพิ่มขึ้นหรือลดลง
“ตารางที่ ๒ ผลการประมาณค่าสมการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างเสน่ห์ทางร่างกายกับความพอใจในชีวิตสมรส”
กล่าวโดยสรุปสั้นๆ ก็คือ รูปร่างหน้าตาที่ดีของฝ่ายหญิงจะส่งผลบวกต่อการปฏิบัติต่อกันระหว่างคู่สมรส ขณะที่รูปร่างหน้าตาที่ดีของฝ่ายชายกลับส่งผลลบ
……….
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้อธิบายได้จากสองแนวคิด
หนึ่งคือ แนวคิดทางด้าน(กึ่ง)มานุษยวิทยาที่อธิบายได้ว่า การมีรูปร่างหน้าตาดีของผู้หญิงนั้น ตัวผู้หญิงเองจะถือว่าเป็นทรัพยากร(หรือทรัพย์สิน) และมักใช้ไปเพื่อคัดเลือกคู่ครองที่เหมาะสม ขณะที่การมีรูปร่างหน้าตาดีของผู้ชายนั้น ตัวผู้ชายจะถือว่ามันเป็นอาวุธที่ใช้ในการล่า เพื่อขยายเผ่าพันธุ์ ดังนั้น เมื่อมีการลงเอยกันแล้ว ผู้หญิงมักถือว่าตนเองได้คู่ครองที่เหมาะสม และสร้างครอบครัวต่อไป แต่ผู้ชายจะยังคงใช้เพื่อการล่า และนำมาซึ่งปัญหาครอบครัวต่อไป
สองคือ แนวคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์(พฤติกรรม) ผู้หญิงเป็นเพศที่มีความงามมากกว่าผู้ชาย จึงไม่ขาดแคลนทรัพยากรความงาม พวกเขาจึงให้ความสำคัญกับด้านอื่นๆ ที่พวกเขาขาดแคลนแทนที่ เช่น ฐานะ ความสามารถ ไหวพริบ หรือแม้แต่มุกตลก ขณะที่ผู้ชายให้ความสนใจกับความงามของผู้หญิงเพราะเป็นสิ่งที่พวกเขาขาดแคลนมากกว่า แต่ไม่รู้ว่าโชคดีหรือโชคร้ายที่งานวิจัยของ Dan Ariely ระบุว่า ในสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ผู้หญิงสนใจฐานะมากที่สุด
“ฉากแต่งงานระหว่างหม่ำกับจั๊กจั่นในภาพยนตร์เรื่อง วงศ์คำเหลา” (ที่มาของภาพ)
……….
สุดท้ายนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า หากคุณเป็นผู้หญิงและอยากมีความสุขในชีวิตสมรส จงมองหาผู้ชายที่หน้าตาแย่กว่า แต่หากคุณเป็นผู้ชาย และอยากมีความสุขในชีวิตสมรส จงมองหาผู้หญิงที่หน้าตาดีกว่า พูดง่ายๆ ก็คือ ผู้หญิงที่มีหน้าตาดีจะมีความสุขมากกว่ากับการมีคู่ครองที่เป็นผู้ชายหน้าตาไม่ดีนั่นเอง
ที่มา: McNulty, J.K., Neff, L.A. & Karney, B.R. (2008). Beyond initial attraction: physical attractiveness in newlywed marriage. Journal of Family Psychology, Vol 22, No 1: 135-143.
เครดิต :
http://setthasat.com/2012/11/15/beyond-initial-attraction/