เป็นแมลงที่พบในระบบนิเวศบกต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศเขตร้อน มีการคาดคะเนว่าในโลกนี้มีมดอยู่ประมาณ 10,000 ชนิด แต่ที่พบแล้วมีประมาณ 8,800 ชนิด สำหรับประเทศไทยคาดว่ามีมดประมาณ 800 - 1,000 ชนิด ที่รู้จักกันมีไม่กี่ชนิด เช่น มดคันไฟ มดแดง มดดำ มดตะนอย ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมดที่พบในบ้าน ที่เหลือเป็นมดอยู่ในป่าต่างๆ
จากการศึกษาพบว่ามดสื่อสารกันโดยใช้อวัยวะที่เรียกว่าหนวดสัมผัสกันและใช้สารเคมีที่ปล่อยออกมา นักวิทยาศาสตร์บางท่านยังเชื่อว่ามดบางชนิดสามารถใช้เสียงสื่อสารกันได้ด้วย นอกจากนี้ยังพบว่ามดบางชนิดเมื่อไปพบแหล่งอาหารก็จะปล่อยสารเคมีชนิดหนึ่งออกมาจากต่อมภายนอก (Exocrine gland) ที่เรียกว่าต่อมดูเฟอร์ (Dufoue's gland) สารเคมีชนิดนี้เรียกว่าฟีโรโมน มดจะปล่อยฟีโรโมนขณะเดินไปพบอาหาร และยังพบอีกว่า ฟีโรโมนนี้จะระเหยได้ทำให้ปริมาณของฟีโรโมนจะจางลงไปเรื่อยๆ ฟีโรโมนของมดบางชนิดจะจางหายไปในเวลาไม่เกิด 100 วินาทีซึ่งการระเหยของสารเคมีนี้มีประโยชน์ต่อการสื่อสารของมด กล่าวคือถ้าแหล่งอาหารเก่าหมด เจอแหล่งอาหารใหม่ มดจะสามารถติดตามกลิ่นใหม่ไปยังแหล่งอาหารได้ถูกต้อง ไม่สับสนกับกลิ่นเดิม นอกจากนี้ยังพบว่ามดชอบเดินตามรอยฟีโรโมนที่มีกลิ่นแรงมากกว่ากลิ่นที่จาง
Beckers, Deneuberg และคณะ พบว่ามดสามารถหาเส้นทางที่สั้นที่สุดจากรังไปสู่แหล่งอาหารได้ ถึงแม้จะมีสิ่งอื่นมารบกวนระหว่างเส้นทางที่เดินทางก็ตาม ดังตัวอย่างการทดลองนำอาหารไปไว้ใกล้รังมด เขาพบว่ามดจะเดินตามกันไปและกลับตามเส้นตรงที่ลากไว้ระหว่างรังกับอาหาร ดังภาพ
การเดินตามกันไปนี้มดจะเดินตามกลิ่นของฟีโรโมนที่มดตัวหน้าปล่อยไว้ เพราะฉะนั้นปริมาณฟีโรโมนตามเส้นทางจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นตามจำนวนมดที่เดินไป ถึงแม้จะมีบางส่วนระเหยไปบ้างก็ตาม และพบว่ามดจะเดินไปตามเส้นทางที่มีปริมาณฟีโรโมนเข้มข้นกว่าเส้นทางที่มีปริมาณฟีโรโมนเจือจาง จากความรู้ดังกล่านี้ Beckers ใช้เป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อไปว่า มดสามารถค้นหาเส้นทางที่ไปยังแหล่งอาหารที่มีระยะทางสั้นที่สุดได้อย่างไร เขาทำการทดลองโดยนำสิ่งกีดขวางไปกั้นบนเส้นทางเดินของมดระหว่างรังมดกับอาหารดังภาพ
เมื่อมีสิ่งกีดขวางกั้นทางเดินของมด มดก็จะพยายามเดินไปข้างหน้าตามกลิ่นของฟีโรโมน แต่ก็ไปไม่ได้ มีทางเลือก 2 ทางที่ทำได้ คือจะเดินอ้อมไปทางซ้ายหรือทางขวา ซึ่งเขาคาดว่ามดจำนวนครึ่งหนึ่งควรจะเดินอ้อมไปทางซ้าย และอีกครึ่งหนึ่งอ้อมไปทางขวางและทั้ง 2 กลุ่ม จะมาพบกันตามเส้นทางเดิมที่มีกลิ่นฟีโรโมน ดังภาพ
แต่จากข้อเท็จจริงที่ว่าเส้นทางที่มีระยะสั้นกว่าจะได้รับกลิ่นของฟีโรโมนที่ตกค้างอยู่ตามทางเดินเดิมได้แรงกว่าเส้นทางที่ยาวกว่า มดส่วนใหญ่จึงเลือกเดินอ้อมสิ่งกีดขวางไปในเส้นทางที่มีระยะสั้นกว่า และมดส่วนใหญ่ที่เดินทางนี้จะปล่อยฟีโรโมนออกมาสะสมในเส้นทางนี้มากขึ้น และจากข้อเท็จจริงที่ว่ามดชอบเดินตามกลิ่นฟีโรโมนที่แรงมากกว่าที่มีกลิ่นฟีโรโมนจางกว่า มดทุกตัวจึงเลือกเดินอ้อมสิ่งกีดขวางที่มีระยะทางสั้นกว่า ดังในภาพ
จึงกล่าวได้ว่าการค้นหาเส้นทางที่มีระยะทางที่สั้นที่สุดจากรังไปยังอาหารของมดสัมพันธ์กับรูปร่างของสิ่งกีดขวางและพฤติกรรมการแยกย้ายไปหาอาหารของมด
เครดิต
http://biology.ipst.ac.th/index.php/--2546/132-2009-12-22-04-09-38.html
ปล ผมไม่ได้มีเจตนา อย่างอื่นอย่างใด อยากเอาความรู้มาแชร์กันครับผม มดตัวเล็กที่อาศัยอยู่ร่วมโลกกับเรา แต่ มดมี ความสามัคคี ที่ 1 เลย