BLOG BOARD_B
ติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Email: sale@soccersuck.com
ไว้คราวหน้า X
ไว้คราวหน้า X
ไม่ต้องแสดงข้อความนี้อีกเลย
ไปหน้าที่ 1
ไปที่หน้า
GO
ตั้งกระทู้ใหม่
ฝากรูป
หน้าแรกบอร์ด >> ประวัติศาสตร์รถไฟญี่ปุ่น
ผู้ตั้ง
ข้อความ
ออฟไลน์
ผู้เยี่ยมชม
Status:
: 0 ใบ : 0 ใบ
เข้าร่วม: 26 Jul 2010
ตอบ: 3084
ที่อยู่:
โพสเมื่อ: Tue Jan 14, 2014 16:23
ถูกแบนแล้ว
ประวัติศาสตร์รถไฟญี่ปุ่น
ประวัติศาสตร์รถไฟญี่ปุ่น

เรื่องโดย : SmokedSalmon @ Pantip.com

ช่วงนี้มีกระแสเกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูงในไทยขึ้นมาอีกครั้ง และได้ฟังได้อ่านความเห็นต่างๆ ที่วิพากษ์วิจารณ์รถไฟไทยในหลายๆ มุม ทั้งการพัฒนาที่ล่าช้า คุณภาพที่ต่ำสุดกู่ ฯลฯ ด้วยความที่ไม่สันทัดในเรื่องรถไฟก็เลยไปลองศึกษาดูใน Wikipedia และพบว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์ของรถไฟที่น่าสนใจเลยทีเดียว นอกจากนั้นบางส่วนบางตอนของเรื่องราวนั้นคล้ายคลึงกับสถานการณ์ของไทยในปัจจุบันด้วย

ต้องออกตัวไว้ก่อนว่าผมไม่ได้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้เท่าไหร่ เพียงแต่อยากจะให้ทุกคนได้รับรู้ประวัติอย่างย่อของเขาว่ากว่าจะมาเป็นรถไฟที่มีประสิทธิภาพในวันนี้ เขาผ่านอะไรมาบ้าง และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอื่นๆ เกี่ยวกับระบบรถไฟบ้านเขา ซึ่งผมคาดว่าจะมันช่วยทำให้เราตระหนักได้ถึงอะไรหลายๆ อย่างเกี่ยวกับอนาคตรถไฟของประเทศไทย งั้นเริ่มกันเลยครับ



รถไฟสายแรกของญี่ปุ่นนั้นถูกสร้างขึ้นในปี คศ. 1872 เป็นเส้นทางระหว่างเมืองโตเกียวกับโยโกฮาม่า ดำเนินการสร้างและบริการโดย Japan Government Railways หรือ JGR โดยมีประเทศอังกฤษให้คำปรึกษารางที่ใช้เป็นรางกว้าง 1.067 เมตร หรือรางขนาดแคบคล้ายแบบบ้านเรา หัวรถเป็นแบบหัวรถจักรไอน้ำซึ่งนำเข้ามาจากอังกฤษ (ในขณะที่ไทยสร้างรถไฟสายแรกจากกรุงเทพฯไปนครราชสีมาสร้างเสร็จ (บางส่วน) และเปิดใช้งานในปีพศ. 2439 หรือปี คศ.1896)



บุคคลผู้นี้คือนาย Briton Edmund Morell หัวหน้าวิศวกรคนแรกของ JGR ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งระบบรถรางในญี่ปุ่นครับ


หลังจากได้สร้างรถไฟสายแรกไปแล้ว ทางรัฐบาลญี่ปุ่นก็มีความพยายามที่จะขยายเส้นทางรถไฟออกไป โดยต้องการให้ดำเนินการโดยรัฐ แต่เนื่องจากจากปัญหาหลายประการรวมทั้งด้านการเงินทำให้การขยายเส้นทางเป็นไปอย่างล่าช้า ดังนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นจึงอนุญาตให้เอกชนมาสร้างและขยายทางรถไฟต่างๆ โดยบริษัทแรกที่เข้ามาสร้างคือ Nippon Railways ซึ่งการขยายเส้นทางก็เป็นไปอย่างรวดเร็วดังคาด จากนั้นก็มีเอกชนเจ้าอื่นๆ เข้ามาร่วมขยายทางรถไฟอีกหลายสาย



ภาพนี้เป็นหัวจักรไอน้ำอันแรกที่ญี่ปุ่นนำมาใช้นะครับ


การขยายทางรถไฟดำเนินไปเรื่อยๆ มีทั้งที่สร้างโดยรัฐและเอกชนโดยในปี คศ. 1889 ทางรถไฟสาย Tokaido ที่เชื่อมระหว่างโตเกียวและโอซาก้าก็สร้างเสร็จซึ่ง Tokaido Main Line นี่เองนับเป็นทางรถไฟที่สำคัญที่สุดของประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเลยก็ว่าได้ (แต่ปัจจุบันเส้นทางเดิมถูกแทนที่ด้วยรางที่ทันสมัยกว่าหมดแล้ว)



ในปี คศ. 1906 มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในระบบรถไฟ สืบเนื่องจากการออกพระราชบัญญัติ Railway Nationalization คือการแปรรูประบบรางจากเอกชนมาเป็นของรัฐ ทำให้ระบบรางผนวกรวมกันเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ของรัฐเพื่อให้รัฐสามารถบริหารจัดการได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น โดยการดำเนินการเสร็จสิ้นในปี คศ. 1907 รวมระยะรางที่ซื้อมาจากเอกชน เป็น 4,525 กิโลเมตร

แต่เนื่องจากการผนวกรวมรางนั่นเอง ก็เป็นเหตุให้รัฐมีค่าใช้จ่ายสูงมากจนไม่มีงบเพียงพอที่จะขยายเส้นทางเพิ่มในพื้นที่ห่างไกลรัฐจึงได้ร่าง พรบ.ใหม่ที่อนุญาตให้เอกชนมีสิทธิ์ในการนำเนินกิจการรถรางเบา หรือ Light Railway ในปีคศ. 1910 สำหรับการนำหัวรถดีเซลมาใช้นั่นเริ่มในปีคศ. 1929 ซึ่งนำเข้ามาจากเยอรมัน



Light Rail Train ก็หน้าตาประมาณนี้ครับ



หัวจักรดีเซล Class DD13 ครับ


การพัฒนาระบบรถไฟเป็นไปด้วยดีในปี 1931 ญี่ปุ่นมีระยะทางของรางทั้งหมด 14,574 กิโลเมตร จนกระทั่งปีคศ. 1938 ประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ระบบรถไฟต่างๆ ถูกทหารเข้าควบคุมดูแลและมีการแปรรูปรางเอกชนที่เหลือมาเป็นของรัฐอีกครั้งมีการรื้อรางรถไฟออกไปจำนวนมากเพราะการขาดแคลนแร่เหล็กรางคู่บางส่วนถูกรื้อเหลือเพียงรางเดี่ยวและบางเส้นทางถึงกับถูกรื้อออกทั้งหมด อีกทั้งมีการลดการให้บริการทางรถไฟลงมากเพื่อนำไปใช้ทางทหาร นอกจากนี้ผลพวงของสงครามยังทำให้ทางรถไฟจำนวนมากได้รับความเสียหายอย่างหนัก อย่างไรก็ตามมันก็ยังกลับมาเปิดให้บริการได้อย่างรวดเร็ว



ภาพสมัยก่อน ทหารจะไปรบก็นั่งรถไฟกัน


หลังสงครามจบลง ญี่ปุ่นตกอยู่ในสภาวะข้าวยากหมากแพงแต่การเดินทางรถไฟนั้นเป็นที่ต้องการมาขึ้นในขณะที่รถไฟที่มีให้บริการเหลือเพียงไม่มาก ทำให้ความหนาแน่นของผู้โดยสารสูงเกินจะรับได้

ซึ่งขณะนั้นสหรัฐอเมริกาที่ได้เข้ามาควบคุมญี่ปุ่นก็ได้จัดการปฏิรูปการรถไฟญี่ปุ่นให้เป็นบริษัทมหาชนเสีย เรียกว่า การรถไฟแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japanese National Railways: JNR) ก่อตั้งเมื่อปี 1949 การปฏิรูปนี้ทำให้การก่อสร้างซ่อมแซมระบบรถไฟต่างๆเป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีการเปลี่ยนแปลงระบบของตัวรถไฟอีกอย่างคือการเปลี่ยนไปใช้ไฟฟ้าแทนดีเซล
โดยมีการติดตั้งสายนำไฟฟ้าไปตามเส้นทางหลักต่างๆ และยกเลิกการใช้รถจักรไอน้ำทั้งหมด



โลโก้ของ JNR



ส่วนนี่รถ Kodama limited express (คันขวา ส่วนคันซ้ายคือ Shinkansen 0 series) เป็นรถไฟที่ใช้ยุคแรกๆ ของ JNR ผลิตตั้งแต่ปี 1958 ซึ่งทำ Maximum speed ได้ถึง 160 km/h


เมื่อการเดินทางโดยรถไฟกลับสู่ภาวะปกติ ผู้คนก็เริ่มถามหาถึงการขนส่งที่สะดวกและรวดเร็วกว่ารถไฟแบบเดิมๆ ซึ่งรางรถไฟแบบแคบไม่สามารถทำความเร็วได้มากเท่าไหร่ (ขณะนั้นทางรถไฟแทบทั้งหมดยังเป็นรางแคบอยู่) อีกทั้งสภาพภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยภูเขา มีทางคดเคี้ยวมาก ทำให้การเดินทางโดยรถไฟธรรมดาไม่ทันใจ ด้วยเหตุนี้เองจึงมีคนปิ๊งไอเดียการสร้างรถไฟความเร็วสูง หรือที่เราเรียกกันว่า “ชินคันเซ็น”



การที่โครงการชินคันเซ็นปรากฏออกมาเป็นรูปร่างได้ต้องยกความดีความชอบให้นาย Hideo Shima วิศวกรใหญ่ และนาย Shinji Sogo ประธานคนแรกของ JNR เพราะในช่วงแรกของการเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูงหรือชินคันเซ็นนั้นมีเสียงต่อต้านออกมาพอสมควรถึงเรื่องอนาคตของการขนส่งว่าจะเข้าสู่ยุคขนส่งทางอากาศและรถไฟก็จะตกยุคไปในที่สุด แต่นาย Shinji Sogo ได้ยืนกรานในแนวคิดรถไฟความเร็วสูงนั้นและสามารถผลักดันจนเป็นที่สำเร็จ ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นนับเป็นชาติแรกที่มีการสร้างรถไฟความเร็วสูงแบบใหม่นี้



ภาพ 0 Series Shinkansen ชินคันเซ็นรุ่นแรกสุด


รัฐบาลญี่ปุ่นได้อนุมติโครงการในปี 1958 สำหรับการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงในสาย Tokaido Shinkansen ที่เชื่อมระหว่างโตเกียวและโอซาก้า ระยะทาง 515 กิโลเมตร ซึ่งเป็นคนละเส้นกับ Tokaido Main Line เดิม แต่จะขนานกันไป โดยเป็นการวางระบบรางใหม่ทั้งระบบเป็นรางคู่ขนาดมาตรฐานหรือ 1.435 เมตร พร้อมทั้งยกระดับเส้นทางใหม่นี้ ญี่ปุ่นจำเป็นต้องกู้เงินธนาคารโลกมาเป็นทุนก่อสร้างเส้นทางนี้ถึง 80 ล้าน ดอลล่าสหรัฐ แต่ภายหลังพบว่ามีการคำนวนงบที่ผิดพลาด ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นถึงสองเท่าตัว นาย Shinji Sogo จึงลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบ



เส้นทาง Tokaido Shinkansen ครับ เป็นเส้นสีส้มทึบ ไม่ใช่เส้นประนะครับ


ปีคศ. 1964 ทางรถไฟ Tokaido Shinkansen ก็สร้างแล้วเสร็จ โดยรถรุ่นแรกที่นำมาวิ่งคือ Shinkansen 0 Series ซึ่งมีความเร็วในการใช้งานจริงสูงสุดอยู่ที่ 210 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยรถรุ่นนี้ถูกใช้เรื่อยมาจนปลดระวางไปในปีคศ. 2008 ทางรถไฟความเร็วสูงสายใหม่นี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก มีผู้โดยสารถึง 100 ล้านคนภายในเวลาไม่ถึง 3 ปี และมีผู้โดยสารรวม 1,000 ล้านคนในปี 1976 ช่วงนั้นจึงนับเป็นยุคทองของการรถไฟญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้



ภาพ 0 Series Shinkansen ในพิพิธภัณฑ์


จากความสำเร็จดังกล่าวทำให้มีการต่อขยายทางรถไฟสาย Sanyo Shinkansen จากโอซาก้าไปยังฮิโรชิม่าและฟุกุโอกะ ซึ่งสร้างเสร็จในปีคศ. 1975 นอกจากการวางเส้นทางชินคันเซ็นแล้วในช่วงนั้นรัฐบาลยังมีผลักดันให้ก่อสร้างรางเพิ่มเติมสำหรับทางรถไฟอีกส่วนใหญ่ที่ยังเป็นรางเดี่ยว แต่แผนการขยายและก่อสร้างทางรถไฟเพิ่มเติมนั้นหยุดชะงักลง เนื่องจากการรถไฟใช้จ่ายเงินอย่างมหาศาลไปกับการวางระบบรางใหม่สำหรับรถไฟความเร็วสูงรวมไปถึงการโกงกิน และการใช้จ่ายในเรื่องไม่จำเป็น

จนกระทั่งปี 1987 การรถไฟมีหนี้สินถึง 280 ล้านดอลล่าสหรัฐ และสามารถกล่าวได้ว่าการรถไฟต้องจ่ายเงินไป 147 เยนเพื่อที่จะได้รายได้มาแค่ 100 เยน ค่าโดยสารพุ่งสูงขึ้นจนเกินกว่าค่าครองชีพจะรับไหวผู้โดยสารค่อยๆ หดหายลง

หรือนี่จะเป็นจุดจบของระบบรถไฟในญี่ปุ่น?

ยังหรอก...



แล้วจะทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหา?

ในปีคศ. 1987 นั่นเอง รัฐสภาญี่ปุ่นมีมติให้ แปรรูปการรถไฟอีกครั้งไปเป็นของเอกชนโดยแตกเป็นบริษัท 6 ย่อยตามภูมิภาคเช่น JR-Central, JR-West, JR-East ฯลฯ โดยเรียกรวมๆ กันว่า Japan Railways Group หรือ JR Group การแปรรูปเป็นเอกชนนี่เองทำให้แต่ละบริษัทมีอิสระในการดำเนินการมากขึ้นและที่สำคัญคือเกิดการแข่งขันระหว่างองค์กร โดยการเปลี่ยนแปลงเริ่มจากการลดจำนวนคนงาน และพัฒนาสิ่งที่มีอยู่เดิมให้ดีขึ้น จนทำให้ในปลายปี 1987 มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 3.2% จากปี 1986 ผู้คนก็หันกลับมาสนใจการเดินทางด้วยรถไฟอีกครั้ง



ภาพนี้แสดงขอบเขตการดูแลของ JR แต่ละภาค



แถมอีกอันเพื่อความชัดเจนครับ

นอกจาก JR Group จะประกอบไปด้วยบริษัทเดินรถตามภูมิภาคแล้วยังประกอบไปด้วยอีกสามบริษัทย่อยคือ JR Freight ดูแลเกี่ยวกับการขนส่งสินค้า ซึ่งก่อตั้งขึ้นพร้อมกับ 6 บริษัทแรก และอีกสองอย่างคือ Railway Technical Research Institute (RTRI) และ JR Information Systems

ซึ่ง RTRI นี่นับเป็นส่วนสำคัญอย่างมากกับการพัฒนารถไฟในญี่ปุ่นในช่วงหลัง เนื่องจากเป็งองค์กรที่ดำเนินการวิจัยและพัฒนาทุกสิ่งที่เกี่ยวกับรถไฟ ตั้งแต่การพัฒนาความปลอดภัยไปจนถึงการออกแบบรถไฟความเร็วสูงในอนาคต เช่น Maglev และรถไฟที่สามารถใช้ได้ทั้งรางแคบและรางมาตรฐาน



ตัวอย่างรถไฟเปลี่ยนขนาดรางได้ Gauge Change Train รุ่น GCT01-201 ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาสามารถวิ่งได้บนราง 1,067 mm ถึง 1,435 mm


จากการทำงานอย่างเป็นเอกภาพระหว่าง JR Group ทำให้รถไฟในญี่ปุ่นฟื้นตัวขึ้นมาใหม่และยิ่งใหญ่กว่าเดิม ทั้งคุณภาพ การบริการและความเร็ว จนก้าวขึ้นเป็นแนวหน้าในการพัฒนาระบบรถไฟของโลกในทุกวันนี้

ปีนี่ก็เป็นปีครบรอบ 140 ปี ของรถไฟญี่ปุ่น และครบรอบ 25 ปี ของ JR Group แล้ว (และ 116 ปีรถไฟไทย) ถ้าเราลองมองดูดีๆ เราจะเห็นว่าประวัติศาสตร์มันมีอะไรหลายๆอย่างที่คล้ายๆกับรถไฟของประเทศไทยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ได้รับการช่วยเหลือจากต่างชาติ การใช้รางแบบแคบ หรือการเผชิญกับภาวะขาดทุนย่อยยับ แต่เค้าสามารถผ่านไปได้ในขณะที่เรายังอยู่ที่เดิม
หนึ่งในสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดความแตกต่างคือการ “วิจัย” ที่ทำให้ญี่ปุ่นสามารถสร้างอค์ความรู้จนพัฒนาต่อได้ด้วตนเอง และอีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือความตั้งใจจริง ที่จะทำเพื่อประเทศชาติครับ

ผมก็หวังว่าสักวัน ไทยเราจะมีใช้อย่างเขาเช่นกัน แม่ว่าวันนี้เราจะตามหลังเค้าอยู่ 50 ปี ก็ตาม

ขอแทรกเกร็ดความรู้หลายๆ อย่างเกี่ยวกับระบบรถรางในญี่ปุ่นไว้ตอนท้ายนี้ และจะขอเน้นเกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูงนะครับ



ก่อนอื่นขอแนะนำถึงสายของรถชินคันเซ็นที่วิ่งพล่านกันทั่วประเทศญี่ปุ่นก่อน โดยญี่ปุ่นมีเส้นทางชินคันเซ็นสายหลักดังนี้คือ

1. Tokaido Shinkansen เส้นทางจากโตเกียวสู่โอซาก้า ระยะทาง 515 km เปิดใช้งานในปี 1964 สายแรกและสายยอดนิยมที่มีคนขึ้นเยอะที่สุดคือ 151 ล้านคนต่อปี

2. Sanyo Shinkansen เส้นทางจากโอซาก้าต่อจาก Tokaido ไปตอนใต้ของประเทศ ระยะทาง 553 km เปิดใช้งานครบในปี 1975

3. Nagano Shinkansen วิ่งจากใกล้ๆ โตเกียวไปยังเมืองนากาโน่ ระยะทาง 117 km เปิดใช้งานในปี 1997 สายนี้กำลังต่อขยายไปทางตะวันตก

4. Joetsu Shinkansen อันนี้เชื่อมกับกลางๆ เส้น Nagano ไปจบที่เมือง Niigata ระยะทาง 269 km เปิดใช้งานปี 1982

5. Tohoku Shinkansen เป็นเส้นที่วิ่งจากโตเกียวขึ้นทางเหนือไปที่อาโอโมริ ระยะทาง 674 km (ยาวที่สุด) เปิดใช้งานครั้งแรกปี 1982 และก่อสร้างต่อเรื่อยมาจนเสร็จในปี 2010

6. Kyushu Shinkansen เป็นสายที่ต่อจาก Sanyo อีกทีไปยังเกาะคิวชูด้านใต้สุดของ 4 เกาะหลัก ระยะทาง 256 km ก่อสร้างเสร็จเมือปี 2011 ที่ผ่านมา



เกี่ยวกับระบบราง รู้หรือไม่ว่าระบบทางส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นนับเป็นแบบรางแคบ 1.067 เมตร ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางระหว่างเมืองหรือรถวิ่งในเมือง (ส่วนไทยใช้แบบ 1.000 เมตรพอดี) ส่วนระบบรางมารตฐาน 1.435 เมตร มีใช้กันในรถไฟความเร็วสูงทำให้ได้ Top speed ที่มากขึ้น (และเนื่องด้วยความเร็ว เพื่อป้องกันอันตรายจากสิ่งที่อาจขึ้นมาเพ่นพ่านบนราง รางชินคันเซ็นทั้งหมดจึงเป็นรางแบบยกระดับหรือกั้น ไม่มีถนนตัดผ่าน) แต่รางแคบของญี่ปุ่นก็ไม่ได้ช้าอืดอาด แต่สามารถทำความเร็วได้ถึง 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเลยทีเดียว



จากตอนแรกที่กล่าวไปว่า ชินคันเซ็นรุ่นแรกหรือ 0 Series ก็สามารถวิ่งได้ถึง 210 km/h แล้ว แต่ไม่จบแค่นั้นเพราะของมันต้องพัฒนา ชินคันเซ็นได้ถูกพัฒนาต่อไปอีกมากมายหลายรุ่นจนกล่าวไม่หมด
จึงขอยกรถรุ่นเด็ดๆ มาให้ดูแค่สองรุ่น



N700 Series Shinkansen

เริ่มสร้างในปี คศ 2005 และนำมาใช้งานในปี 2007 บนเส้นทาง Tokaido, Sanyo และ Kyushu ผลิตโดย Hitachi, Kawasaki Heavy Industries, Kinki Sharyo, Nippon Sharyoสามารถทำความเร็วสูงสุดบนรางสาย Sanyo ที่ความเร็ว 300 km/h และ 260-270 km/h บนเส้นทางอื่น



รูปภายในตู้โดยสาร สำหรับชั้นที่นั่งธรรมดาครับ ซึ่งปกติรถไฟแบบนี้ จะมีคนเข็นสินค้าขายตลอดหรือจะเป็นตู้หยอดเหรียญก็มี



E5 Series Shinkansen

รุ่นนี้เป็นสุดยอดตัวท็อปใหม่ล่าสุด เริ่มสร้างในปี 2009 และเพิ่งนำมาออกวิ่งเดือนมีนาคมปีที่ 2011 ผลิตโดย Hitachi และ Kawasaki เป็นรุ่นที่ญี่ปุ่นเค้า proudly present มาก เดินไปสถานีไหนก็ติดโปสเตอร์โฆษณารถไฟนี่เต็มไปหมด อย่างรูปเปิดกระทู้ก็คือคันขวาสุด รุ่นนี้สามารถ Design มาให้ทำ Top speed บนรางจริงได้ถึง 320 km/h (แต่ตอนนี้ยังวิ่ง max แค่ 300) วิ่งบนสาย Tohoku และที่พิเศษกว่าชาวบ้านเค้าคือที่นั่งมี 3 ระดับ แบ่งเป็น Ordinary seat, Green seat และ Gran seat (เหมือนชั้น 3 ชั้น 2 ชั้น 1 บ้านเรา) ซึ่งปกติชินคันเซ็นอื่นๆ จะไม่มี Gran seat ซึ่งหรูสุดยอดนั่นเอง ทั้งขบวนมีแค่ 18 ที่นั่งเท่านั้น (ส่วน Green คือหรูธรรมดา เก้าอี้ใหญ่กว่าปกติ)



ภาพตัวอย่างโปสเตอร์ E5 Series Shinkansen ชื่อจริงๆ ของมันก็คือ HAYABUSA


จบเรื่องรุ่นไปแล้ว ขอกล่าวถึงข้อมูลทางเทคนิคของชินคันเซ็นซักเล็กน้อย รถไฟชินคันเซ็นนั้นให้พลังงานไฟฟ้าจากสายไฟเหนือรถที่มีตลอดความยาวราง โดยใช้ไฟกระแสสลับ 25,000 Volt 50 Hz ก็ถือว่ากิน Volt สูงกว่ารถปกติมาก ซึ่งรถแบบรางแคบวิ่งทั่วไปของเค้าจะใช้ไฟประมาณ 1,500 Volt DC ไปจนถึง 20,000 Volt AC ขึ้นอยู่กับชนิดและประเภท รางที่ใช้ก็คือรางมารตฐาน 1.435 เมตร ความเร็ว ณ ปัจจุบันก็ ทะลุ 250 km/h ไปกันเกือบหมดแล้ว แต่ถ้าวัดความเร็วเฉลี่ยตั้งแต่เริ่มยันจบจากโตเกียวไปโอซาก้า แวะหยุดสามสถานี จะอยู่ที่ประมาณ 160 km/h ส่วนแบบหยุดแค่ต้นทางและปลายทางบนสาย Sanyo สามารถทำความเร็วเฉลี่ยได้ถึง 250 km/h



เจ้า HAYABUSA อีกรูปครับ...


นอกจากเรื่องความเร็วแล้ว ชินคันเซ็นยังยอดเยี่ยมในด้านความปลอดภัยและความตรงต่อเวลา ซึ่งนับแต่มีชินคันเซ็นมา ผู้โดยสารรวม 7,000 ล้านคน ยังไม่เคยเกิดเหตุรถไฟชนกันเลย และยอดผู้เสียชีวิตจากการชนกันหรือตกรางเป็น 0 (แต่มีผู้เสียชีวิต 1 รายเนื่องจากโดนประตูหนีบและสัมภาระหล่นทับ) อุบัติเหตุที่รุนแรงที่สุดของชินคันเซ็นคือการตกรางเนื่องจากแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2004 ทำให้ 8 ตู้ขบวนจาก 10 หลุดออกจากรางแต่ไม่มีผู้เสียชีวิต และเดี๋ยวนี้ญี่ปุ่นก็ได้พัฒนาความปลอดภัยมากขึ้นโดยมีระบบตรวจจับแผ่นดินไหวที่รุนแรงและหยุดรถโดยอัตโนมัติ แม้ไม่มีอุบัติเหตุรุนแรงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตแต่ก็มีหลายคนมาฆ่าตัวตายโดยโดดไปให้รถไฟชน (เป็นวิธีฆ่าตัวตายที่พบบ่อยที่ญี่ปุ่น)



N700 ไม่หวั่นแม้วันหิมะตก


สำหรับความตรงต่อเวลา ก็มีสถิติที่น่าสนใจจากการเก็บข้อมูลการวิ่งของชินคันเซ็น 160,000 เที่ยว เก็บข้อมูลในปี 2003 พบว่าโดยเฉลี่ยชินคันเซ็นจะมีความคลาดเคลื่อนจากตารางเวลาไม่เกิน 6 วินาที !!!!! โดยสถิตินี้รวมข้อมูลการล่าช้าจากอุบัติเหตุและภัยพิบัติต่างๆไว้แล้ว!!!!!!! ซึ่งข้อมูลที่เก็บใบปี 2003 นี้ก็พัฒนาจากทีเก็บข้อมูลในปี 1997 ที่มีความล่าช้าเฉลี่ยอยู่ที่ 18 วินาที

จากข้อมูลพวกนี้ ก็ทำให้เราเห็นว่ารถไฟญี่ปุ่นนั้นเร็วเพียงใด แต่เขาไม่หยุดอยู่แค่นั้น มีอีกสิ่งที่จะเหนือกว่าชินคันเซ็นทั่วไปอีก สิ่งนั้นก็คือ รถไฟ Maglev! ซึ่งเรื่องนี้ ไว้ผมจะเขียนในกระทู้หน้านะครับ สำหรับวันนี้ขอจบไว้เพียงเท่านี้ครับ หากมีข้อผิดพลาดตรงไหนรบกวนบอกด้วยนะครับ และขอขอบคุณทุกท่านที่มาติดตามอ่านกันนะครับ ^^

และอันนี้เป็นแผนที่ระบบรถไฟเพียงบางส่วนในโตเกียว





อย่ากลัวการพัฒนาครับ



เรื่องโดย : SmokedSalmon @ Pantip.com
ที่มา : www.pantip.com
อ้างอิง:
http://en.wikipedia.org/wiki/History_of_rail_transport_in_Japan
http://en.wikipedia.org/wiki/Japanese_Government_Railways
http://en.wikipedia.org/wiki/Japanese_National_Railways
http://en.wikipedia.org/wiki/Japan_Railways_Group
http://www.rtri.or.jp/rd/division/rd79/yamanashi/english/
http://www.railway.co.th/home/srt/about/history.asp
http://www.pantip.com/cafe/wahkor/topic/X12028816/X12028816.html
0
0
หากโดน 40 เรื้อน จะถูกแบน
โหวตเป็นกระทู้แนะนำ
ไปหน้าที่ 1
ไปที่หน้า
GO
ตั้งกระทู้ใหม่
หน้าแรกบอร์ด >> ประวัติศาสตร์รถไฟญี่ปุ่น
กรุณาระบุเหตุผลที่จะแจ้งความ
ผู้ต้องหา:
ข้อความ:
Submit
Cancel
กรุณาเลือก Forum และ ประเภทกระทู้
Forum:

ประเภท:
Submit
Cancel