อาณานิคมที่สาปสูญแห่งโรอาโนก
โลกใบนี้มีเรื่องราวน่าค้นหามากมายไม่ยิ่งหย่อน ไปกว่าจักรวาลอันไกลโพ้น ที่รอพวกเราไปพิสูจน์และพบเจอนะครับ เรื่องราวต่อไปนี้ก็เป็น หนึ่งในเรื่องลึกลับที่อ่านเจอ แล้วนำมาแชร์ให้เพื่อนๆอ่านกัน ระหว่าง รอแมนยูเตะนะครับ
เรื่องราวของอาณานิคมแห่งนี้ เป็นหนึ่งในสิบปริศนาลี้ลับของสหรัฐอเมริกา กับชะตากรรมของชาวอังกฤษนับร้อยที่หายสูญไปอย่างไร้ร่องรอย ซึ่งแม้แต่ในปัจจุบัน ก็ยังไม่มีใครรู้ว่า เพราะเหตุใดหรือสิ่งใดที่ทำให้ ชาวอาณานิคมแห่งนี้จึงละทิ้งถิ่นฐานไป โดยไม่มีผู้ใดพบเห็นพวกเขาอีกเลย
ป่าบนเกาะโรอาโนก
อาณานิคมโรอาโนก (Roanoke) ตั้งอยู่บนเกาะโรอาโนกในเขตแดร์ รัฐแคโรไลน่าเหนือ สหรัฐอเมริกา อาณานิคมแห่งนี้เกิดขึ้นจากความพยายามของสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่หนึ่งที่ทรงต้องการตั้งชุมชนถาวรของชาวอังกฤษในทวีปอเมริกาเหนือ พระนางจึงทรงให้เซอร์วอลเตอร์ ราเลย์จัดการหาสถานที่อันเหมาะสมในทวีปอเมริกาเหนือเพื่อจัดตั้งอาณานิคมโดยนอกจากจะมีเป้าหมายในการแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรอันมหาศาลของดินแดนโลกใหม่แล้ว ทางอังกฤษยังต้องการใช้อาณานิคมใหม่ที่จะตั้งขึ้นนี้เป็นฐานทัพในการส่งเรือสลัดเอกชนเข้าปล้นกองเรือขนสมบัติของสเปนด้วย อย่างไรก็ตามในภารกิจครั้งนี้ ราเลย์ไม่ได้ดำเนินการด้วยตนเอง โดยใน วันที่ 27 เมษายน ค.ศ.1584 เขาได้ส่งทีมสำรวจไปยังชายฝั่งตะวันออกของอเมริกาเหนือ โดยคณะสำรวจได้มาถึงที่นี่ในวันที่ 4 กรกฎาคม และเริ่มจัดตั้งชุมชนพร้อมกับสร้างสัมพันธภาพกับชนพื้นเมืองท้องถิ่น คือชาวเผ่าเซโคทันและเผ่าโครอาทัน จากนั้นจึงทำการสำรวจภูมิประเทศเพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการก่อตั้งอาณานิคม
ค่ายพักชนพื้นเมืองโครอาทัน
วันที่ 9 เมษายน ค.ศ.1585 เซอร์วอลเตอร์ได้ทำการสำรวจครั้งที่สองโดยให้ เซอร์ริชาร์ด แกรนวิลล์นำเรือห้าลำออกเดินทางมาอเมริกาเหนือ หลังเจอกับพายุจนกองเรือพลัดแยกไประยะหนึ่ง ในที่สุด แกรนวิลล์ก็นำกองเรือมาถึงเกาะโรอาโนกและได้ดำเนินการจัดตั้งอาณานิคมถาวรของชาวอังกฤษขึ้นที่นี่เป็นแห่งแรก โดยให้ราล์ฟ เลนและชายฉกรรจ์ 107 คน ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ โดยแกรนวิลล์สัญญาว่าเขาจะกลับมาใน เดือนเมษายน ค.ศ.1586 พร้อมกับกำลังคนและเสบียงอาหารเพิ่มเติม เลนได้สร้างป้อมขนาดเล็กขึ้นบนเกาะและได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่โดยรอบ
จนถึงเดือนเมษายน ค.ศ.1586 ขณะที่ยังไม่มีวี่แววว่ากำลังคนและเสบียงจะถูกส่งมาเพิ่ม ชาวอาณานิคมของราล์ฟได้เกิดขัดแย้งกับชนพื้นเมือง ทำให้ป้อมถูกโจมตี แม้จะยังรักษาที่มั่นไว้ได้ แต่สถานการณ์ของชาวอาณานิคมเริ่มอยู่ในสภาพเสี่ยง ทว่าในยามนั้น เซอร์ฟรานซิส เดรก แม่ทัพเรืออังกฤษเพิ่งกลับจากภารกิจปล้นชิงเรือสเปนในทะเลคาริบเบียน เขาได้นำกองเรือมาที่นี่และเสนอจะนำชาวอาณานิคมที่เหลือออกจากเกาะ ซึ่งทุกคนตกลง ทำให้ป้อมถูกทิ้งร้างไป และเมื่อแกรนวิลล์กลับมาเกาะโรอาโนกในเวลาต่อมา ก็พบว่าไม่มีใครอยู่ที่นี่แล้ว เขาจึงกลับไปรายงานเซอร์ราเล่ ที่อังกฤษ
ต่อมาใน ปี ค.ศ.1587 เซอร์ราเล่ได้ส่งชาวอาณานิคมจำนวน 150 คน นำโดย จอห์น ไวต์ มาที่อ่าวเซซาพีค ในอเมริกาเหนือ ไวต์เป็นศิลปินและเป็นสหายของราเล่ เขาเคยเข้าร่วมการสำรวจในครั้งก่อน ซึ่งหลังจากมาถึงแล้ว ไวต์และคนของเขาได้เดินทางไปเกาะโรอาโนกเพื่อค้นหาคนของแกรนวิลล์ที่อาจยังหลงเหลืออยู่ ทว่าพวกเขาไม่พบใครที่นั่น
จอห์น ไวต์ตัดสินใจตั้งอาณานิคมขึ้นใหม่ที่เกาะ เขาได้ผูกมิตรกับชาวเผ่าโครอาโทนและได้ติดต่อเจรจาขอผูกมิตรกับชนเผ่าที่คนของราล์ฟเคยขัดแย้งด้วย ทว่าชาวเผ่านั้นปฏิเสธที่จะรับไมตรีของไวต์ และหลังจากนั้นไม่นาน ก็มีชาวอาณานิคมนามว่า จอร์จ โฮวี ถูกชาวพื้นเมืองสังหารขณะออกไปจับปูที่หาดทรายนอกชุมชน
สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้ชาวอาณานิคมหวาดกลัว พวกเขาขอให้ไวต์เดินทางกลับอังกฤษเพื่ออธิบายสถานการณ์อันสิ้นหวังของชาวอาณานิคมและขอความช่วยเหลือ ไวต์จึงเดินทางกลับอังกฤษโดยทิ้งชาวอาณานิคมไว้ 115 คนรวมทั้งเวอร์จิเนีย แดร์ หลานสาวที่เพิ่งเกิดของจอห์น ไวต์ โดยเวอร์จิเนีย แดร์ ถือเป็นชาวอังกฤษคนแรกที่ถือกำเนิดในอเมริกา
พิธีศีลจุ่มของเวอร์จิเนียร์ แดร์
ไวต์สัญญากับทุกคนว่าจะรีบกลับมา ทว่าหลังจากเขามาถึงอังกฤษได้เกิดสงครามขึ้น โดยพระเจ้าฟิลิปที่สอง แห่งสเปนได้ส่งกองทัพเรืออมาดาเข้ารุกรานอังกฤษ สงครามครั้งนี้ ทำให้การหาเรือเพื่อเดินทางกลับโรอาโนกของไวต์ต้องประสบปัญหาเนื่องจากเรือเกือบทุกลำได้เข้าร่วมรบ
อย่างไรก็ตาม ไวต์ได้พยายามหาเรือเพื่อไปโลกใหม่ จนในที่สุด เขาสามารถว่าจ้างเรือเล็กได้สองลำ สำหรับการเดินทางและในปี ค.ศ.1588 พวกเขาก็ออกเดินทาง ทว่าสภาพอากาศและปัญหาเรื่องลูกเรือทำให้ไวต์ไม่อาจไปถึงเกาะโรอาโนก
กระทั่งล่วงมาถึง ปี ค.ศ.1590 ซึ่งสงครามได้สิ้นสุดลง โดยอังกฤษเป็นได้รับชัยชนะเหนือกองทัพเรือสเปน ไวต์ได้จัดหาเรือสำเภาและออกเดินทางไปยังเกาะโรอาโนกพร้อมกำลังคนและเสบียงอาหาร
จอห์น ไวต์ขึ้นฝั่งที่โรอาโนกในวันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ.1590 ซึ่งเป็นวันเกิดครบรอบสามปีของหลานสาวเขา แต่ไวต์พบว่าอาณานิคมว่างเปล่า คนของเขาไม่พบร่องรอยใด ๆ ของชาย 90 คน ผู้หญิง 17 คน และเด็ก 11 คน สิ่งที่พบมีเพียงป้อมถูกทิ้งร้าง ไม่มีร่องรอยของการต่อสู้หรือการการโจมตีใด ๆ
อักษรคำว่าโครอาโทนที่ถูกสลักไว้
หลักฐานที่พบ มีเพียงคำว่า โครอาโทน (Croatoan) ที่ถูกสลักบนรั้วรอบหมู่บ้านและคำว่า โคร (Cro) ที่ถูกสลักไว้บนต้นไม้ใกล้ ๆ กัน บ้านและสิ่งก่อสร้างทุกหลังถูกรื้อออก ซึ่งหมายความ พวกเขาไม่ได้จากไปอย่างเร่งรีบ ทั้งนี้ ก่อนที่ไวต์จะไปจากที่นี่ เขาได้สั่งชาวอาณานิคมว่า หากเกิดเรื่องขึ้น ก็ให้พวกเขาสลักรูปไม้กางเขนไว้บนต้นไม้ใกล้ๆ เพื่อบอกให้รู้ว่า พวกเขาถูกบังคับให้หนีไป ทว่าการที่ไม่มีเครื่องหมายดังกล่าว ไวต์จึงคิดว่า พวกเขาน่าจะย้ายไปที่ เกาะโครอาโทน (ปัจจุบันคือเกาะแฮทเทอรัส) แต่ไวต์ก็ไม่สามารถเดินทางไปพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่นั่นได้ เนื่องจากพายุใหญ่ที่กำลังก่อตัว ทำให้คนของเขาไม่ยอมไปต่อ จากนั้นในวันรุ่งขึ้น พวกเขาก็ออกจากเกาะ
เซอร์วอลเตอร์ ราเล ผู้ถือสิทธิในการจัดตั้งอาณานิคมบนเกาะโรอาโนกได้ส่งคนออกค้นหาชาวอาณานิคมที่หายไป ทว่าสภาพอากาศที่เลวร้าย ทำให้การค้นหาล้มเหลว จนกระทั่งหลายปีต่อมา เมื่อเซอร์ราเล ถูกประหารชีวิตในข้อหาก่อกบฏ การค้นหาชาวอาณานิคมจึงยุติลง
นอกจากอังกฤษแล้ว ชาวสเปนเองก็ออกค้นหาอาณานิคมแห่งนี้ เนื่องจากพวกสเปนต้องการทำลายที่มั่นของเรือสลัดเอกชนซึ่งพวกเขาเชื่อว่าตั้งอยู่บนอาณานิคมที่โรอาโนก ทว่าชาวสเปนกลับพบเพียงความว่างเปล่าเช่นกัน
นักประวัติศาสตร์ได้พยายามหาคำอธิบายเรื่องการการหายไปอย่างไร้ร่องรอยของชาวอาณานิคมโรอาโนก นักประวัติศาสตร์คิดว่าหากพวกเขาย้ายไปอยู่ที่เกาะโครอาโทน หรือย้ายไปยังบริเวณอื่นใกล้เคียงก็น่าจะมีหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับชาวอาณานิคมหลงเหลืออยู่บ้าง ทว่าแม้จะมีการพบข้าวของบางชิ้นของชาวผิวขาวในพื้นที่แถบนั้น แต่ก็ไม่มีหลักฐานอื่นใดยืนยันถึงการเคยมีอยู่ของพวกเขา
ทั้งนี้หลายปีหลังเกิดเหตุการณ์หายตัวของชาวเกาะโรอาโนก มีนักเดินทางชาวผิวขาวอ้างว่า พวกเขาพบเห็นคนขาวอาศัยอยู่รวมกับชาวอินเดียนพื้นเมืองในพื้นที่ใกล้เคียง แต่นอกจากคำบอกเล่าแล้ว ก็ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใด นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบแผ่นหินบันทึกของอลิซาเบธ แดร์ บุตรสาวของจอห์น ไวต์ มารดาของ เวอร์จิเนีย แดร์ ซึ่งบันทึกเหล่านั้นเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากไวต์ไปจากเกาะ ทั้งยังเล่าถึงวาระสุดท้ายของชาวอาณานิคมด้วย อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าแผ่นหินถูกทำขึ้นหลังการหายสาบสูญ จึงไม่มีใครเชื่อถือข้อความในนั้น
การหายตัวไปของชาวอาณานิคมโรอาโนกกลายเป็นหนึ่งในปริศนาลี้ลับของประวัติศาสตร์อเมริกา จนถึงทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนสำหรับเรื่องที่เกิดขึ้น รวมทั้งชะตากรรมที่แท้จริงของ เวอร์จิเนีย แดร์ ชาวอังกฤษคนแรกที่ถือกำเนิดบนแผ่นดินอเมริกา และทั้งหมดนี้เองที่ทำให้ อาณานิคมแห่งโรอาโนก ได้รับสมญาว่า อาณานิคมที่สาบสูญ (The lost colony)
ขอบคุณที่มาดีๆ จากเวป komkid