ตอนที่ 2
นโม พุทธายะ สิทธัง
ไสยเวทย์เกี่ยวพันกับโหราศาสตร์อย่างไร
การสะเดาะเคราะห์ มีประวัติสืบมาตั้งแต่พุทธกาล มีเรื่องอยู่ในตำนานพระปริต และเมตตาสูตร และมีนิทานวัตถุปรากฎอยู่ในอรรถกถาธรรมบท ตอนสหัทสุวรรค กล่าวเนื่องด้วย "อายุวัฒนะกุมาร" อย่างไรก็ดี เรื่องบูชาเทวดานพเคราะห์ ซึ่งคาถาสวดทั้งฝ่ายพระพุทธศาสนา และทางไสยศาสตร์เจือกันนั้น ยัญญพิธีใดๆ อันเป็นคติทางพุทธศาสนา บัณฑิตทั้งหลายย่อมถือเอาทางที่ชอบ ซึ่งสำเร็จเป็นทานศีลภาวนา และละเว้นเสียจากกรรมอันเป็นบาป มีการฆ่าสัตว์บูชายันต์เป็นต้น
ไสยศาสตร์มีความเกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์อย่างไร และมีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์หรือไม่ ในการแสดงปาฐกถาพิเศษโดย อ.เทพย์ สาริกบุตร ณ.สมาคมโหรแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2504 มีความว่า
ก่อนอื่นขอให้ได้โปรดทำความเข้าใจกันให้ถ่องแท้ ในความหมายของคำว่า "ไสยศาสตร์" เสียก่อนว่า ไสยศาสตร์ แปลความหมายได้ว่า เป็นลัทธิอันเนื่องด้วยการใช้เวทมนต์คาถาในศาสนาพราหมณ์ ตามลัทธิพราหมณ์นั้น เขาแบ่งพระเวทของเขาไว้ 3 ประการ เรียกว่า "ไตรเภท" อันได้แก่
1 มฤคเวท เป็นคำฉันท์สำหรับสวดอ้อนวอนเทพเจ้า
2 ยชุรเวท เป็นคำร้อยแก้วใช่ท่องในเวลาบูชาบวงสรวงเทพเจ้า
3 สามเวท เป็นคำฉันท์ใช้สวดในพิธีถวายน้ำโสม
พระเวททั้งสามนี้ เขาถือว่าเป็นศรุติ คือ ได้ยินและได้รับมาจากพระโอษฐ์ของพระผู้เป็นเจ้าเอง มิได้เขียนและแต่งตั้งขึ้นโดยลำพัง ต่อมาภายหลังได้เพิ่มพระเวทขึ้นอีกคัมภีร์หนึ่ง เรียกว่า "อาถรรพเวท" เป็นคัมภีร์ที่ประกอบด้วยคาถาอาคม เรียกร้องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ตลอดจนวิญญาณภูตผีให้ช่วยเหลือให้พ้นภัย หรือสาปแช่งให้มีอันเป็นไปได้ตามใจปรารถนา
ย่อมเป็นที่ทราบกันอยู่ทั่วไปแล้วว่า ชาวไทยเรานั้นนอกจากจะมั่นคงในบวรพุทธศาสนาแล้ว ยังยึดถือมั่นในคติประเพณีที่มาจากศาสนาพราหมณ์อีกประการหนึ่งด้วย และพระพุทธศาสนาของเรานั้น พื้นฐานเดิมก็มาจากศาสนาพราหมณ์นั่นเอง แต่เดิมพุทธศาสนิกชนเรานั้น มั่นคงเลื่อมใสอยู่ในศาสนาพราหมณ์มาก่อน ครั้นต่อมาภายหลังจึงหันมาเลื่อมใสในพุทธศาสนา แม้ว่าการเชื่อถือในศาสนาพราหมณ์จะค่อยๆเลือนหายไปจากการเชื่อถือศรัทธา แต่ทว่า ก็ยังคงเหลือควันหลงเอาไว้ มิได้หมดสิ้นไปทีเดียว ยังคงนับถือปฎิบัติควบกันไปจนกระทั่งในปัจจุบันนี้ เรามิอาจจะแยกกันให้ออกไปได้ว่า อย่างใดเป็นพราหมณ์ อย่างใดเป็นพุทธ พระพุทธศาสนาแพร่ไปถึงไหน ก็มีคตินิยมในศาสนาพราหมณ์แผ่ตามไปด้วย
ตามธรรมชาติของมนุษย์เรานั้น เป็นผู้มีจิตใจสูง เมื่อเกิดทุกข์ภัยขึ้นก็ย่อมเสวงหาที่พึ่งที่อาศัย เพื่อให้รอดพ้นจากทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้น เหตุใดมนุษย์เราจึงจำต้องหาที่พึ่ง เรื่องที่พึ่งนี้มนุษย์เราได้ค้นคว้าหากันมาแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว เพราะมนุษย์เราตั้งแต่เริ่มเกิดมา ก็พกเอาความกลัวประจำติดตัวมาด้วย ความกลัวของมนุษย์มีมากเท่าไร เป็นเหตุให้แสวงหาที่พึ่งมากเท่านั้น ในที่สุดแม้กระทั่งต้นไม้และภูเขาก็กลายเป็นที่พึ่งของมนุษย์เราได้ตามเหตุการณ์ สำหรับที่พึ่งกล่าวตามลัทธิพุทธศาสนานั้น ที่พึ่งที่ดีอย่างแท้จริงและมั่นคงนั้น ได้แก่ พระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้า จัดว่าเป็นที่พึ่งอันดีเลิศ สามารถช่วยให้หมดทุกข์หมดภัย ตามข้อความในพุทธภาษิตยืนยันเอาไว้ว่า
พาหุง เว ยันติ........................ปัพพะตานิ วะนานะ จะ
อารามะรุกขะ เจตยะนิ..............มะนุสสา ภัยตัชชิตา
เนตัง โข สะระณัง เขมัง........... เนตัง สะระณะ มุตตะมัง
เนตัง สะระณะ มาคัมมะ............สัพพะทุกขา ปะมุจจะติ
พวกมนุษย์ถูกภัยคุกคาม พากันยึดถือวัตถุเป็นอันมาก คือ ภูเขาทั้งหลายบ้าง ป่าไม้ทั้งหลายบ้าง อารามพฤกษาและเจดีย์ทั้งหลายบ้าง เป็นสรณะที่พึ่ง วัตถุมีภูเขาเป็นต้นนั้น มิใช่ที่พึ่งอันปลอดโปร่ง มิใช่ที่พึ่งอันสูงสุด มนุษย์จะมาพึ่งภูเขา ว่าเป็นสรณะที่พึ่งแล้ว จะพ้นจากทุกข์หาได้ไม่
โย จะ พุทชัช จะ ธัมมัญ จะ สังฆัญ ตะ สะระณัง คะโต
จัตตาริ อะริยะ สัจจานิ สัมนะปัญญายะ ปัสสะติ
ทุกขัง ทุกขะ สะมุบปาทัง ทุกขัสสะ จะ อะติกกะมัง
อะริยัญ จัฎฐังคิกัง มะคะคัง ทุกขูปะสะมะคามินัง
เอตัง โขสะระณัง เขมัง เอตัง สะระณะมุต ตะมัง
เอตัง สะระณะมาคัมมะ สัพพะทุกขา ปะมุจจะติ
ส่วนบุคคลใดถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะที่พึ่ง บุคคลนั้นย่อมเห็นอริยสัจจ์ทั้ง 4 คือ ทุกข์เหตุเป็นแดนเกิดขึ้นพร้อมแห่งทุกข์ การก้าวล่วงทุกข์เสียได้ และหนทางมีองค์ 8 ที่ได้ดำเนินถึงความดับทุกข์ได้ด้วยปรีชาอันชอบ พระรัตนตรัย มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น และเป็นที่พึ่งอันปลอดโปร่ง เป็นสถานที่พึ่งอันสูงสุด มนุษย์มาถึงพระพุทธเจ้า เป็นต้นว่า เป็นสรณะที่พึ่งแล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ได้
ด้วยเหตุตามที่กล่าวนี้ ท่านโบราณคณาจารย์จึงได้หาทางดับความหวาดกลัว อันเป็นสัญชาตญาณประจำตัวของมนุษย์เราทุกคน ด้วยการผูกประพันธ์คาถาคำสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยด้วยประการต่างๆ เพื่อให้เรารำลึกถึงมั่นคงอยู่ในพระคุณพระรัตยตรัย จะได้เป็นเครื่องคุ้มภัยระงับอันตรายทั้งปวง เป็นมูลเหตุให้เกิดการใช้คาถาบริกรรมภาวนาขึ้น
ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า คติประเพณีที่พุทธศาสนิกชนไทยเรายึดมั่นปฎิบัติมานั้น มีทั้งลัทธิทางพุทธศาสตร์และไสยศาสตร์ของพราหมณาจารย์ระคนปะปนกันอยู่ เมื่อท่านโบราณคณาจารย์ได้ริเริ่มประพันธ์คาถาสำหรับระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย เพื่อใช้ระงับความหวาดกลัวและอันตรายต่างๆ วิธีการดังกล่าวนี้ได้เจริญแพร่หลายมากขึ้น หนักเข้าก็หันไปคิดดัดแปลงแก้ไขคาถาอาคม หากแต่ได้ตัดเอามนต์ของพราหมณ์ออกทิ้งไป โดยบรรจุพระพุทธมนต์เข้าไปแทน เพราะเห็นว่า แม้มนต์ของพราหมณ์จะมีอานุภาพมากมาย ถ้าหากเป็นพระพุทธมนต์จะต้องมีอานุภาพมากยิ่งขึ้นกว่าเป็นแน่ เช่น การเป่า ปลุกเสก ลงเลขยันต์ ในปัจจุบันนี้ เดิมทีเป็นลัทธิทางไสยศาสตร์ของพราหมณ์ ครั้นต่อมาได้ดัดแปลงเอาพุทธมนต์เข้าไปแทน เมื่อปฎิบัติกระทำเข้าได้รับผลเป็นที่พึงพอใจ ความนิยมนับถือจึงได้แพร่หลายจนถึงทุกวันนี้ ฉะนั้นจึงขอได้โปรดทำความเข้าใจไสยศาสตร์ยุคปัจจุบันนี้ เฉพาะที่ใช้อยู่ในประเทศไทยเรานั้น เราต้องอาศัยเค้าโครงมาจากไสยศาสตร์ของพราหมณ์มาแต่ครั้งเดิมเท่านั้น ส่วนเนื้อแท้ที่จริงก็คือ มาจากพุทธศาสตร์นั่นเอง มิใช่ไสยศาสตร์ที่ใช้กันในลัทธิพราหมณ์ เป็นสิ่งที่พึงควรเคารพ หาใช่สิ่งเหลวไหลที่เข้าใจกันไม่ และเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์ เพราะเป็นสิ่งที่สามารถระงับความกลัว อันมีประจำอยู่ในกายมนุษย์เราทุกคนให้สูญสิ้นไปได้
ปัญหาขั้นต่อไปก็คือ ไสยศาสตร์เกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์อย่างไร สำหรับปัญหาในเรื่องโหราศาสตร์และไสยศาสตร์นั้น เป็นเรื่องที่มีส่วนสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น เพราะศาสตร์ทั้ง 2 นี้ เป็นของพราหมณ์นำมาเผยแพร่พร้อมกัน การศึกษาวิชาโหราศาสตร์โดยเฉพาะอย่าง วิชาโหรในระบบนิรายนะ ซึ่งได่แพร่หลายในกลุ่มภารตะ ไทย พม่า มอญ เขมร ฯลฯ หลักวิชาส่วนใหญ่ที่ใช้ศึกษากัน พอจะอนุมานได้เป็นหลักใหญ่ๆ รวม 3 ประการด้วยกัน คือ
ประการที่ 1 ได้แก่ ภาคคำนวณ ก็ได้แก่การศึกษาการคำนวณการโคจรของดาวเคราะห์ตามคัมภีร์สุริยาตร์ คำนวณหาจุดอุปราคาตามคัมภีร์สารัมภ์ ฯลฯ
ประการที่ 2 ได้แก่ ภาคพยากรณ์ คือ การศึกษาในการพยากรณ์ดวงชะตาของบุคคล พยากรณ์ความเป็นไปของบ้านเมือง
ประการที่ 3 ได้แก่ ภาคพิธีกรรม คือ เมื่อพยากรณ์ดวงชะตาดูแล้ว เห็นว่าอยู่ในเกณฑ์ที่มีเคราะห์ร้าย ก็จัดพิธีกรรม สะเดาะพระเคราะห์ให้ หรือเมื่อคราวจะเปลี่ยนเทวดามหาทักษาตามคัมภีร์ทักษาพยากรณ์ ก็ประกอบพิธีส่งเทวดาองค์ที่จะหมดหน้าที่เสวยอายุ และประกอบพิธีรับเทวดาองค์ที่จะเข้ามาเสวยอายุใหม่ ในกาลกำหนดฤกษ์มงคล เมื่อกำหนดได้แล้วก่อนจะเริ่มกระทำ ก็ต้องมีการบูชาฤกษ์ พิธีกรรมเหล่านี้ เป็นหน้าที่ของโหรจะต้องเป็นผู้จัดทำทั้งนั้น
พิธีการที่จัดทำก็จัดโดยนำวิธีการไสยศาสตร์มาใช้ ซึ่งเป็นเครื่องชี้ชัดว่า โหราศาสตร์กับไสยศาสตร์ มีส่วนสัมพันธ์กันแน่นแฟ้นจริงๆ
ผู้เรียนวิชาโหราศาสตร์เจนจบ หรือเรียกกันว่าโหรนั้น แต่เดิมมาก็ได้แก่พวกพราหมณ์ปุโรหิต ต่อมาเมื่อมีการพระราชทานบรรดาศักดิ์กันขึ้น พราหมณ์ปุโรหิตซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มพวกโหร ได้รับพระราชทานทินนามบรรดาศักด์เป็นที่ "พระยาโหราธิบดี" ซึ่งแปลว่า อธิบดีของพวกโหรนั่นเอง แต่ตำแหน่ง "โหราธิบดี" นี้ เป็นตำแหน่งพิเศษผิดแผกกว่าตำแหน่งอื่นของพวกพราหมณาจารย์ เพราะเหตุว่า ตำแหน่งของพวกพราหมณ์นั้น มักจะสืบช่วงกันในสายสกุล เช่น พวกพราหมณ์พิธีอันได้แก่ตำแหน่ง "พระมหาราชครูพิธี" เมื่อบิดาสิ้นไป บุตรก็ได้รับทายาทครองตำแหน่งสืบทอดช่วงแทน นอกจากจะมีเหตุสุดวิสัยจริงๆ จึงจะเปลี่ยนสายสกุลอื่นขึ้นเป็นแทน
สำหรับตำแหน่ง โหราธิบดีนั้น จะรับช่วงทายาทกันได้ก็ต่อเมื่อมีความรู้ ความสามารถพอแก่การจริงๆจึงจะเป็นได้ ถ้าปราศจากองค์คุณสมบัติ ถึงแม้จะเป็นบุตรก็รับสืบทอดช่วงมิได้ และโดยปกติแล้วผู้ที่เป็น "พระยาโหราธิบดี" ทุกท่าน ได้เปิดการอบรมสั่งสอนกุลบุตรให้ได้มีโอกาสเล่าเรียนวิชาโหร โดยมิได้เลือกว่า ผู้ที่อยู่ในตระกูลพราหมณ์หรือตระกูลไทย ต้องการแต่จะเลือกเฟ้นเอาผู้มีความรู้ ความสามารถจริงๆว้แทนตัว ฉะนั้นตำแหน่ง "โหราธิบดี" ต่อมาภายหลังจึงได้เปลี่ยนจากพราหมณ์เป็นไทย เพราะเหตุที่มีคุณสมบัติพอที่จะปฎิบัติการได้
การประกอบพิธีกรรมในหน้าที่โหร ซึ่งแต่เดิมมามีพราหมณาจารย์ เป็นผู้ประกอบพิธีดำเนินหลักการไปตามลัทธิไสยศาสตร์ของพราหมณ์ คือ มีการกระทำยัญญกิจพิธี ฆ่าสัตว์บูชายันต์ เมิ่อวิชานี้ได้แพร่ถึงเมืองไทย และมีคติทางพระพุทธศาสนาเข้ามาเจือปนอยู่ด้วย ประกอบทั้งท่านที่ทำหน้าที่โหร ก็เป็นคนไทยเป็นส่วนมาก พิธีการทางไสยศาสตร์ดั้งเดิมของพราหมณ์ จึงถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ถูกกับกาลเทศะ เพราะคติทางพุทธศาสนาเราหลีกเลี่ยงการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
พิธียัญญกิจแต่ดั้งเดิมจึงสลายไป คงเหลือแต่เพียงบางส่วนเท่านั้น มิใช่กระทำไปตามพิธีไสยศาสตร์ของพราหมณ์โดยแท้จริงก็หาไม่
ในเรื่องการสะเดาะพระเคราะห์เหล่านี้ มีบางท่านอาจจะเห็นว่าเป็นสิ่งเหลวไหลไร้สาระ ความจริงนั้น แม้ในพระพุทธศาสนาเราก็ยกย่องรับรองว่าเป็นจริง เพราะสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ยังโปรดให้ชีวิตมนุษย์และเทวดา ที่ถึงคราวชะตาขาดได้มีชิวิตอยู่ยั่งยืนตลอดไป ซึ่งจะขอยกมาเป็นอุทาหรณ์สัก 2 เรื่องดังนี้ คือ
เรื่องที่ 1
เมื่อคราวสมเด็จพระพุทธองค์ เสด็จขึ้นไปโปรดพุทธมารดาในชั้นดุสิต มีเทพยดาองค์หนึ่งชื่อว่า "สุปติฎฐิตเทพบุตร" ซึ่งเป็นเทพบุตรที่ถึงคราวจะต้องจุติจากสวรรค์ มีความอาลัยมิอยากจะจากสวรรค์ลงมาเกิดเลย พระอินทร์ก็สงสารจึงได้ทรงกราบทูลขอความอนุเคราะห์จากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้โปรดทรงเอื้อเฟื้อต่อสุปติฎฐิตเทพบุตร เพราะอีก 7 วัน จะสิ้นอายุในเมืองสวรรค์แล้ว พระพุทธเจ้าจึงทราบ โปรดประทานอุณหิสวิชัยคาถาให้สุปติฎฐิตเทพบุตร เพื่อต่ออายุด้วยอานุภาพที่สุปติฎฐิตเทพบุตรได้เจริญอุณหิสวิชัยคาถา ก็กลับเจริญต่อไปได้อีกสองพุทธธันดร
เรื่องที่ 2
เป็นเรื่องของกุมารคนหนึ่ง ซึ่งพราหมณาจารย์ได้พยากรณ์ชะตาชีวิตไว้ว่า จะถึงแก่ความตายในระยะ 7 วัน นับแต่วันพยากรณ์ไป บิดามารดาของกุมารนั้นอ้อนวอน ให้พราหมณาจารย์หาทางแก้ไขให้กุมารผู้เป็นบุตรนั้น ให้รอดชีวิตอยู่สืบต่อไป พราหมณาจารย์ผู้นั้นก็หมดปัญญาที่จะกระทำ จึงได้แนะนำให้ไปเฝ้าพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ก็ทรงโปรดพยากรณ์ว่า กุมารนี้จะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีก 7 วัน บิดามารดากุมารนั้น จึงกราบทูลขอให้ทรงพระกรุณาอนุเคราะห์ เพื่อช่วยให้กุมารได้เจริญชนมายุต่อไป
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงโปรดประทานพระคุณแต่กุมารนั้น โดยทรงแนะนำให้บิดามารดาของกุมารไปจัดที่ๆเหมาะสมให้กุมารนั้นนอน แล้วนิมนต์พระสงฆ์ไปสวดพระปริตตลอดทั้ง 7 วัน 7 คืน พระองค์ก็ทรงเสด็จไป ณ ที่นั้นด้วย ขณะที่พระพุทธองค์เสด็จไป หมู่เทพยดาก็พากันมาแวดล้อมอยู่อย่างแน่นขนัดหาที่จะประมาณมิได้
ในวันถ้วนคำรบ 7 วัน มียักษ์ตนหนึ่งชื่อว่า อสุอวรุทธโก ได้มุ่งมาเพื่อจะเอากุมารนั้นไปกิน แต่ครั้นเมื่อมาใกล้ที่กุมารนั้นอยู่ ก็ไม่สามารถเข้าไปใกล้กุมารได้ เพราะเกรงแก่พุทธอำนาจและอานุภาพพระปริต กุมารนั้นจึงรอดพ้นภัยไป บิดามารดาจึงขนานนามว่า "อายุวัฒณกุมาร" ภายหลังเมื่อเติบใหญ่ขึ้น ก็ได้เป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา
การที่ยกอุทาหรณ์มาประกอบนี้ ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า ในการประกอบพิธีสะเดาะพระเคราะห์ โดยอาศัยวิธีการทางไสยศาสตร์นั้น ทางพระพุทธศาสนาเราก็มีเหมือนกัน เฉพาะอย่างยิ่งที่ได้ปฎิบัติทำกันอยู่ทุกวันนี้ เนื้อแท้ที่จริงนั้นกระทำขึ้นโดยอาศัยพุทธานุภาพ และพระปริตเป็นส่วนใหญ่ เพราะเหตุไสยศาสตร์ตามลัทธิพราหมณ์ แต่ดั้งเดิมนั้นได้สลายตัวไปแล้ว โดยมีพุทธศาสตร์เข้าไปแทรกอยู่แทนที่ แต่อาศัยชื่อของไสยศาสตร์คงไว้เท่านั้นเอง
Credit เรื่องราว
http://www.horasaadrevision.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=13079
Credit ภาพประกอบ
http://www.horasadthai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=534549569&Ntype=1
ปล.หากท่าใดทราบแล้ว หรือมีการลงซ้ำขออภัยด้วยนะครับ