BLOG BOARD_B
ติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Email: sale@soccersuck.com
ไว้คราวหน้า X
ไว้คราวหน้า X
ไม่ต้องแสดงข้อความนี้อีกเลย
ไปหน้าที่ 1
ไปที่หน้า
GO
ตั้งกระทู้ใหม่
ฝากรูป
หน้าแรกบอร์ด >> เดอะ บีทเทิลส์กับญี่ปุ่น
ผู้ตั้ง
ข้อความ
ออฟไลน์
ผู้เยี่ยมชม
Status:
: 0 ใบ : 0 ใบ
เข้าร่วม: 22 Oct 2012
ตอบ: 11695
ที่อยู่:
โพสเมื่อ: Sat Nov 23, 2013 20:52
ถูกแบนแล้ว
เดอะ บีทเทิลส์กับญี่ปุ่น
เดอะ บีทเทิลส์กับญี่ปุ่น – อะไรที่มากกว่าโยโกะ โอโนะ

หากมีคนตั้งคำถามว่า “ญี่ปุ่นมีอะไรที่เชื่อมโยงกับสี่เต่าทอง” เชื่อว่าผู้อ่านหลายๆ คงจะจินตนาการไปถึง “โยโกะ โอโนะ” ภรรยาของจอห์น เลนน่อน สตรีผู้เป็นทั้งศิลปินสุดติสต์ ต้นฉบับของเมียร็อคสตาร์ ไปกระทั่งถึงนางมารร้ายที่ถูกกล่าวหา (ส่วนนึง) ว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้เดอะ บีทเทิลส์มีอันต้องแยกวง

....แต่จริงๆ แล้ว เดอะ บีทเทิลส์เป็นอะไรมากกว่านั้นในประวัติศาสตร์หน้าเล็กๆ ในยุคหนึ่งสมัยหนึ่งของญี่ปุ่นพวกเขาคือสัญลักษณ์ของการเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตกและความรุ่งโรจน์ของญี่ปุ่นในช่วงฟื้นตัวจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามและประเทศเสียหายย่อยยับ และชัยชนะของการผสานวัฒนธรรมจากยุคเก่าและยุคใหม่…...................

วงการเพลงสากลของญี่ปุ่นเองมีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนานมาตั้งแต่ก่อนสงคราม ดนตรีคลาสสิค ศิลปะจากตะวันตก ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมสังคมญี่ปุ่นในยุคนั้น เมื่อญี่ปุ่นเปิดประเทศในยุคเมย์จิ (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5ของบ้านเรา) ญี่ปุ่นได้รับวิทยาการและอุดมการณ์ของตะวันตกมาอย่างเต็มที่ เพื่อผลักให้ประเทศตัวเองจากเกาะเล็กๆ ในชาติเอเชียไปสู่มหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่

แต่เมื่อสงครามเกิดขึ้น “ความเป็นตะวันตก” กลายเป็นสื่อของศัตรู ศิลปะที่แสดงด้านสดใสของมนุษย์ถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนแอ นักดนตรีและจิตรกรมากมายต้องเปลี่ยนแนวจากการทำงานศิลปะเพื่องานศิลปะจริงๆ ไปสู่ศิลปินรับใช้รัฐบาลทหารญี่ปุ่นและโฆษณาชวนเชื่อ
เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม ศิลปะและความสนุกสนานที่ถูกพักไปอย่างยาวนานก็เริ่มลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้ แต่ก็ไม่พ้นต้องอยู่ในความควบคุมอย่างใกล้ชิดจากอเมริกาที่เข้ามาปกครองญี่ปุ่นอยู่ดี ระบบการศึกษา ระบบกฎหมายของญี่ปุ่นถูกเปลี่ยนจากระบบที่รับใช้รัฐและกองทัพ มาสู่ระบบที่สร้างรัฐฆราวาสหรือ secular state อย่างเต็มขั้น

ขนบในวงการดนตรีญี่ปุ่นในอดีตนั้นไม่ต่างอะไรจากวงการดนตรีในบ้างเราในยุคเดียวกันนัก นักดนตรีในค่ายเพลงจะได้รับเพลงที่จะตัวเองจะร้องมาจาก “ครูเพลง” เพื่อเอาไปร้อง ไม่ได้ร้องเพลงที่ตัวเองแต่งขึ้นเอง ดนตรีเป็นสื่อของความบันเทิง เต้นกินรำกินที่มักไปมีความเกี่ยวพันกับสถานบันเทิงหรือแก๊งค์มาเฟียที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดเมื่อหลังสงคราม

ดนตรีสำหรับเด็กวัยรุ่นก่อนการเข้ามาของสี่เต่าทองในญี่ปุ่น คือ “ดนตรีที่ต้องเต้นได้” และ นักดนตรีแสดงความเป็นตะวันตกโดยเสื้อเชิ้ตฮาวาย เสื้อสูทยูนิฟอร์ม ผมทรงเอลวิส สถานบันเทิงถูกกฎหมายควบคุมอย่างเข็มงวดราวกับเป็นสถานที่ต้องห้าม

ก่อนปี 1966 คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่รู้จักเดอะ บีทเทิลส์ แม้ในปี 1964 พวกเขาจะนำเพลง I Want to Hold Your Hand ไปบุกอเมริกาและสร้างกระแส Beatlesmania ไปทั่วโลกแล้วก็ตาม

เดอะ บีทเทิลส์ในยุคนั้นของญี่ปุ่นไม่ใช่ David Beckham ที่ได้รับการต้อนรับราวเทพเจ้า เด็กหนุ่มวง “ตัวด้วง”(คาบุโตะมุชิ) สี่คน ไว้ทรงผมยาวแปลกประหลาดเหมือนเด็กผู้หญิง เล่นกีตาร์ร้องเพลง ร้องเพลงภาษาต่างชาติไม่เข้าใจ ถูกมองว่าเป็น “ตัวอย่างที่ไม่เหมาะสม” และจะนำเด็กวัยรุ่นญี่ปุ่นไปสู่วัฒนธรรมตะวันตกที่สกปรก ถึงขนาดที่ว่าบางโรงเรียนประกาศห้ามให้เด็กนักเรียนฟังเดอะ บีทเทิลส์ มิเช่นนั้นจะถูกทำโทษ และมีการเหน็บแนมเช่น “ทำไมวงดนตรีแบบนี้ ถึงได้เครื่องราชอิสริยาภรณ์จากพระราชินีอังกฤษ”และ “เด็กอังกฤษพวกนี้ จะให้วัฒนธรรมของญี่ปุ่นแปดเปื้อน”
แต่สังคมญี่ปุ่นในยุค 1960 นั้นเปลี่ยนแปลงเร็วเกิดกว่าที่กระแสอนุรักษ์นิยมจะต้านไหว ญี่ปุ่นไม่ได้เป็นประเทศผู้แพ้สงครามจนๆ บ้านเมืองปรักหักอีกต่อไป คนจากยุคหลังสงครามกำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เป็นแรงงานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่น เครื่องมือเครื่องใช้เกรดบี (ในขณะนั้น) ของญี่ปุ่นเข้ามาแทนที่เครื่องใช้ไฟฟ้าราคาแพงของตะวันตก หอคอยโตเกียวเป็นตึกที่สูงที่สุดในโลก ญี่ปุ่นมีรถไฟที่เร็วในโลก เป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิค ในปี 1964 ญี่ปุ่นเปิดตัวสู่สายตาชาวโลกอีกครั้งอย่างภาคภูมิ แต่ในทางกลับกันนั้นเองโลกและ “ชาติตะวันตก” ก็กำลังหลั่งไหลเข้าสู่ญี่ปุ่นอย่างถาโถมเช่นดียวกัน



รถไฟชินคันเซ็นขบวนแรก



โอลิมปิค ณ กรุงโตเกียว ปี 1964

เดอะ บีทเทิลส์จับใจวัยรุ่นญี่ปุ่นได้อย่างไม่ยากเย็น เช่นเดียวกับที่พวกเขาจับใจเด็กทั่วโลกมาแล้ว พวกเขาวงร็อควงแรกที่นำเข้าสู่ญี่ปุ่นหลังสงคราม และสิ่งที่ต่างจากวงดนตรีในยุคนั้นอย่างชัดเจนคือพวกเขา เล่น และ ร้อง เพลงที่ตัวเองแต่งขึ้นเอง ใส่ความรู้สึกของตัวเอง โดยที่ไม่ต้องรอให้ใครเอาเพลงมาใส่ให้ในมือ เสียงเพลงของพวกเขาคือตัวแทนของเด็กวัยรุ่นทุกๆ ชาติ เด็กวัยรุ่นญี่ปุ่นเริ่มจับกีตาร์ขึ้นร้องเพลงเอง แต่งเพลงใส่ความรู้สึกของตัวเอง เริ่มจากการเลียนแบบ เสื้อผ้าหน้าผมและดนตรี แล้วค่อยใส่สำเนียงแบบญี่ปุ่นลงไป และขัดเกลาออกมาจนเป็นพื้นฐานของวงป๊อปร็อคญี่ปุ่นเช่น B’z หรือ Mr. Children ในปัจจุบัน



คณะ The Spiders วงดนตรีในยุค 60 ที่ได้รับอิทธิพลจากเดอะ บีทเทิลส์อย่างชัดเจน มีเพลงดังในปี 1967 ชื่อเพลง Ban/Ban/Ban (バン・バン・バン)

และแล้วใน สิงหาคม ปี 1966 นั้นเอง คอนเสริต “ครั้งเดียวและครั้งสุดท้าย” ของเดอะ บีทเทิลส์ ก็เกิดขึ้น ณ กรุงโตเกียว ท่ามกลางความกังวลเรื่องความปลอดภัยในตัวสี่เต่าทอง และกระแสต่อต้านที่กลัวกันว่าจะบานปลายไปสู่ความรุนแรง ผู้จัดที่แต่เดิมวางแผนจะให้วงตระเวณสายไปเล่นที่อื่นๆ ในญี่ปุ่นก็ต้องลดเหลือแค่โตเกียวที่เดียว

ยิ่งไปกว่านั้นสถานที่เล่นคอนเสริตของพวกเขาคือ นิปปง บุโดคัง (Nippon Budokan日本武道館) ซึ่งแต่แรกเดิมฮอลคอนเสริตนี้ทีเป็นสนามแข่งขันกีฬา สร้างไว้เพื่อแข่งกีฬาจำพวกฟันดาบ ยิงธนู ศิลปะป้องกันกันตัวของญี่ปุ่นในกีฬาโอลิมปิคปี 1964 สถาปัตยกรรมตึกเป็นรูปตึกญี่ปุ่น ข้างในอาคารมีธงชาติญี่ปุ่นขนาดใหญ่ติดเด่นเป็นสง่า แม้แต่โลเคชั่นรอบๆ ก็ห้อมล้อมด้วยพระราชวังอิมพีเรียลและวัดวาอาราม

นิปปง บุโดคังจึงเป็นสถานที่ที่อบอวลไปด้วยจิตวิญญาณดั้งเดิมของญี่ปุ่นอย่างเต็มเปี่ยม!



แน่นอนว่าเมื่อวงดนตรีร็อคแอนด์โรลจากชาติตะวันตก ย่อมเป็นเหมือนเป็นการหยามเกรียรติ และทำให้จิตวิญญาณและวัฒนธรรมอันดีของญี่ปุ่นถดถอย ถึงขนาดที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเตรียมตัวจะก่อเหตุประท้วงต่อต้าน ตำรวจต้องสั่งห้ามไม่ให้มีที่นั่งตรงพื้นที่วางเวที แต่ให้ผู้ชมนั่งชมนั่งชมจากห่างๆ ตรงที่นั่งบนอัฒจันทร์รอบสนามแทนและสั่งให้ผู้ชม “ห้ามยืน”

ตัวเดอะ บีทเทิลส์เองก็รับรู้ว่ากำลังมีกระแสต่อต้านเดอะ บีทเทิลส์ อย่างรุนแรงในญี่ปุ่น พอล แมคคาร์ทนี่ ได้ให้สัมภาษณ์ในขณะที่อยู่ญี่ปุ่นว่า “หากวงดนตรีของญี่ปุ่นไปขึ้นเล่นบนเวทีขนาด Royal Theater ที่อังกฤษ พวกเราก็ไม่คิดว่าจะทำให้ประเพณีและวัฒนธรรมอันดีของอังกฤษเสื่อมเสียหรอกครับ ประเทศของผมก็มีประเพณี มีวัฒนธรรมเหมือนกัน เมื่อเขาให้พวกผมไปเล่นที่นั้น ผมก็เล่นครับ” ขณะที่จอห์น เลนน่อน กล่าวเสริมว่า “อย่างน้อยเล่นดนตรีมันก็ดีกว่ามาสู้กันไม่ใช่หรือ?”


แต่คำพูดของเดอะ บีทเทิลส์ดูเหมือนจะไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นเลย มีวางแผนการรักษาความปลอดภัยที่แน่นหนาตั้งแต่ก่อนงาน มินำซ้ำเครื่องบินที่นำ เดอะ บีทเทิลส์มาลงญี่ปุ่นในวันที่ 29 มิถุนายน 1966 ก็ยังไม่สามารถลงจอดตามเวลาได้เพราะพายุไต้ฝุ่น เหมือนเป็นลมสวรรค์ที่ขัดขวางไม่ได้มีผู้นำวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาในญี่ปุ่น แต่อย่างไรก็ตาม สี่เต่าทองก็ได้ก้าวลงมาจากเครื่องบินของสายการบิน Japan Airline เหยียบแตะพื้นสนามบินฮาเนดะด้วยชุดยูคาตะ พร้อมเปิดการแสดงในญี่ปุ่นที่นิปปงบุโดคัง 5 รอบท้ามกลางกระแสสังคมส่วนหนึ่งที่ยังต่อต้านพวกเขา....



การแสดงของเดอะ บีทเทิลส์ที่บุโดคัง เริ่มต้นด้วยบรรยากาศมึนตึงและการรักษาความปลอดภัยอย่างคุมเข้ม การแสดงโดยทั่วไปเรียบร้อย ไม่มีเหตุร้ายอย่างที่กังวล เดอะ บีทเทิลส์ มาเล่น 5 รอบ มีรอบกลางวันและรอบกลางคืน รอบละ 11 เพลง ตั๋วถูกจำหน่ายไปเกือบหมด แต่อย่างไรก็ตามการตอบสนองของคนดูเป็นสิ่งที่ทำให้เดอะ บีทเทิลส์ถึงกับตะลึงงัน เพราะคนดูญี่ปุ่นไม่มีทีท่าตอบสนอง ไม่มีเสียงกรี๊ดกลบเสียงเพลง ไม่มีผู้หญิงแผดเสียง ปีนเก้าอี้ เป็นลม เหมือนกับคอนเสริตที่อื่นๆ มีแต่ผู้ชมที่นั่งเฉยๆ เงียบและปรบมือให้เมื่อเพลงจบ จนทั้งสี่คนถึงกับคิดคงถูกคนญี่ปุ่นเกลียดเข้าให้เสียแล้ว... โดยเฉพาะริงโก้ สตาร์นั้นถึงกับผิดหวัง และแสดงออกทางสีหน้าอย่างชัดเจน

ผู้จัดและผู้ที่เกี่ยวข้องกับคอนเสริตเป็นเดือดเป็นร้อน ต้องอธิบายให้สี่เต่าทองฟังว่า วัฒนธรรมการชื่นชมดนตรีและการแสดงออกทางความรู้สึกของคนญี่ปุ่นไม่เหมือนกับทางชาติตะวันตก คนญี่ปุ่นถูกอรมรมมาไม่ให้แสดงออกทางความรู้สึกมากนัก และไม่มีใครกล้าจะทำตัวแหกคอกไปจากพวกหรือแบบเดิมๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังสามารถพบเห็นได้แม้ปัจจุบันแม้จะลดน้อยลงแล้ว แต่ท่าทีของแฟนเพลงญี่ปุ่นก็ยังนับว่าสงบเสงี่ยมมากเมื่อเทียบกับที่อื่น ศิลปินตะวันตกหลายๆ คน ถึงกับงงในความ “เงียบงัน” ของแฟนเพลงญี่ปุ่นเช่นนี้ Noel Gallagher เคยได้กล่าวเมื่อเขามาเล่นคอนเสริตไว้ในบล็อกส่วนตัวว่า “ผมไม่รู้มันเป็นยังไงนะ แต่เวลามาเล่นที่ญี่ปุ่น เมื่อจบเพลงแล้วคนดูจะปรบมือดังเหมือนเสียงฟ้าผ่า แต่หลังจากนั้นอยู่ดีๆ ก็เงียบสนิท มันแปลกประหลาดมาก”



นอกจากผู้ชมแล้ว สี่เต่าทองยังต้องประมือกับ “ต้อนรับขับสู้แบบญี่ปุ่น” เนื่องจากผู้จัดคอนเสริตไม่อยากให้สมาชิกในวงออกไปข้างนอกเพราะเหตุผลเรื่องความปลอดภัย จึงได้เตรียมของฝากและของขวัญแบบญี่ปุ่นไว้ให้ทั้งสี่เต็มห้องที่โรงแรม แต่มีเรื่องเล่าว่าจอห์นกับพอลแอบหลบไปเดินเล่นอยู่รอบๆ พระราชวังอิมพิเรียล แต่ก็ถูก รปภ เจอตัวพากลับโรงแรม ได้แต่ฆ่าเวลาด้วยการวาดรูปเล่น สิ่งเหล่านี้ทำให้ทีมงานที่ได้พบปะเดอะ บีทเทิลส์ในช่วงเวลานั้น ถึงกับบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “เด็กหนุ่มจากอังกฤษ” เหล่านี้ไม่ได้กักขฬะหยาบคายหรือจะเป็นตัวร้ายอย่างที่สร้างภาพกันมาเลย

ในระหว่างนั้นการ์ตูนเรื่อง “โอะโซะมัตซุคุง” (Osomatsu-kun おそ松くん) โดย ฟูจิโอะอาคะซึคะ (Fujio Akatsuka 赤塚 不二夫) โดยเฉพาะท่าโพสของตัวละครตัวนึงที่ชื่อ “อิยามิ” เป็นท่าที่ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่เอาไปเลียนแบบกันทั่วบ้านทั่วเมืองและเป็นที่น่าสังเกตุด้วยว่าตัวการ์ตูนนี้ก็ไว้ผมทรงเดียวกับเดอะ บีทเทิลส์ บรรณาธิการของนิตยสาร Music Life ซึ่งเป็นนิตยสารเพลงสากลฉบับเดียวที่ได้สัมภาษณ์บีทเทิลส์ในขณะนั้นจึงได้นำท่าโพสนี้ไปแสดงให้เดอะ บีทเทิลส์ดูขณะที่ติดอยู่ในโรงแรม และยุให้จอห์น เลนน่อนทำท่าตาม ซึ่งจอห์นก็ทำตามและรูปนี้ก็ถูกตีพิมพ์ลงในสกู๊ปใหญ่ของนิตยสาร กลายเป็นรูปถ่ายที่ว่ากันว่าเป็นการพบกันระหว่างกระแสนิยมในญี่ปุ่นและกระแสจากโลกตะวันตกเลยทีเดียว









(นิตรสาร Music Life ในยุคนั้น ปัจจุบันเลิกตีพิมพ์แล้ว ในอดีตเป็นนิตยสารดนตรีที่สามารถชี้เป็นชี้ตายความดังของศิลปินสากลในญี่ปุ่น ในภาพเป็นภาพข่าวจอร์จ แฮร์ริสันขณะกลับจากบุโดคัง)

ระหว่างที่เดอะ บีทเทิลส์มาแสดงที่ญี่ปุ่นมีการถ่ายทอดภาพในคอนเสริตทางโทรทัศน์ไปทั่วประเทศพร้อมทั้งทำสารคดีถ่ายทำตั้งแต่ทางวงมาถึงญี่ปุ่น โดยรายการนี้มาเรตติ้งถึง 59.8% ซึ่งพอกับๆ การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกและงานถ่ายถอดกีฬาใหญ่ๆ ภาพในสารคดีนี้มีฉากหนึ่งเป็นภาพการนำเดอะ บีทเทิลส์ ขึ้นรถคาดิแลควิ่งไปบน“ทางด่วนนครหลวง” (ชุโตะโคโซคุ 首都高速)มีรถตำรวจวิ่งตามตลอดทาง พร้อมด้วยเพลง Mr. Moonlight จากอัลบั้ม Beatles for Sale เปิดคลอไปด้วย เป็นฉากที่เรียกได้ว่า “โด่งดัง” แล้วเป็นที่จดจำของเด็กวัยรุ่นญี่ปุ่นยุค 60 ก็ว่าได้
ทางด่วนนครหลวงเป็นทางด่วนขนาดใหญ่ที่สร้างตัดผ่านโตเกียวเพื่อขนรถมาจากชานเมือง และยังใช้อยู่มาจนถึงปัจจุบัน กล่าวได้ว่าเป็นถนนที่สร้างขึ้นโดยน้ำพักน้ำแรงของแรงงานคนหนุ่มที่ถูกเกณฑ์เข้ามาจากต่างจังหวัดเพื่อมาสร้างถนน สนามกีฬา และสาธารณูปโภค รับกับ “โปรเจ็คระดับชาติ” ขนาดใหญ่เช่นโอลิมปิค การที่วงดนตรีตะวันตก นั่งรถคันหรู วิ่งไปบนทางด่วนขนาดใหญ่เฉียดฟ้า สิ่งก่อสร้าง พร้อมด้วยรถตำรวจนำทาง คือความรุ่งเรืองและเฟื่องฟู ความหรูหรา เป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นไม่ได้เคยได้สัมผัสมาก่อนนับตั้งแต่ยุคสงคราม เปรียบเสมือนอนาคตที่สดใสของญี่ปุ่นกำลังรออนาคตของชาติในวันข้างหน้าอยู่ ซึ่งฉากเด็กวัยรุ่นที่ได้ดูฉากนี้หลายคนเติบโตขึ้นมาเป็นนักดนตรีและศิลปินชื่อดังของญี่ปุ่นในปัจจุบันก็ยังนำบทเพลง Mr. Moonlight มาอ้างอิงในงานของตัวเอง



เป็นที่น่าเสียดายว่าเดอะ บีทเทิลส์ไม่ได้กลับมาแสดงที่ญี่ปุ่นอย่างครบ 4 คนอีกเลยนับจากนั้น จอห์น เลนน่อน ไปๆ มาๆ ระหว่างญี่ปุ่นและนิวยอร์ค พร้อมกับภรรยา ในระหว่างที่เขาพักจากงานดนตรีไปเลี้ยงลูกชาย และมีความเป็นไปได้สูงว่าถ้าหากเขาไม่เสียชีวิตไปเสียก่อน ก็คงจะมาใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่น, พอล แมคคาร์ทนี่กลับมาอีกครั้งในปี 80 พร้อมกับวง Wings แต่เกิดเหตุการณ์โดนจับนอนคุกเพราะตำรวจพบกัญชา จนนำไปสู่อวสารของวงในเวลาต่อมา , จอร์จ แฮร์ริสันมาเล่นคอนเสริตในฐานะศิลปินเดี่ยว, ริงโก้ สตาร์ มาโฆษณาน้ำแอปเปิ้ลในทีวี, ณอน เลนน่อน ลูกชายของจอห์น มาโฆษณารถยนต์ของฮอนด้า, ทุกวันนี้สถานีโทรทัศน์ เช่นรายการ “ตีราคาสไตล์ยุ่น” (นันเดะโมะคันเทดัน何でも鑑定団) ก็ยังนำเพลง Help! ไปเปิดรายการ ความนิยมของเดอะ บีทเทิลส์ ถูกส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่นและดูเหมือนจะไม่เคยเลือนหลายไป แม้ว่าสี่เต่าทองจะมาเหยียบแผ่นดินเกาะญี่ปุ่นเพียง 3 วันก็ตาม

เดอะ บีทเทิลส์ สามารถทำลายกำแพงของวัฒนธรรมของโลกตะวันตกและตะวันออกได้อย่างราบคาบ ทุกวันนี้ตามหัวเมืองใหญ่ในญี่ปุ่นเต็มไปด้วย live house และร้านขายเครื่องดนตรี ที่มีกีตาร์ราคาถูก คุณภาพพอประมาณ ซึ่งเด็กๆ สามารถหาซื้อไปหัดเล่นได้จากเงินค่าทำงานพิเศษ กระแสต่อต้านและความหวาดกลัวของวัฒนธรรมอื่นในช่วงนั้นดูเหมือนเป็นแค่ “การคิดไปเอง” และกระแสลมที่ผ่านมาผ่านไป เพราะหลังจากเดอะ บีทเทิลส์เข้ามาสู่ญี่ปุ่น (หรือที่ในภาษาญี่ปุ่นมักใช้สำนวนว่า “ขึ้นบก” (โจริคุ 上陸 )เวลาใช้เรียกกิจการของต่างชาติที่เพิ่งเริ่มมาเปิดในญี่ปุ่น) ญี่ปุ่นเริ่มเปิดรับวงต่างชาติอย่างเต็มที่ เพื่อตอบสนองรสนิยมที่ผันแปรไปในทาง “อินเตอร์” ที่มาพร้อมกับเศรษฐกิจที่เติบโต วงดนตรีหน้าใหม่ที่ไม่โด่งดังในบ้านตัวเองตอนช่วงแรกเช่น Queen และ Bon Jovi ต่างพาเหรดเข้ามาสู่ฐานแฟนเพลงกลุ่มใหม่ที่ทุ่มเท จนเกิดเป็นคำพูดเชิงประชดประชันที่ใช้เรียกวงฝรั่งที่ดังแต่ในญี่ปุ่น หรือทำเพื่อขายในญี่ปุ่นว่า “Big in Japan” วงดนตรีที่เป็นทายาทของเดอะ บีทเทิลส์เช่น โอเอซิส ก็ได้รับอานิสงส์จนโด่งดัง ศิลปินต่างชาติต่างพาเหรดมาออกอัลบั้มพิเศษ ทุกฤดูร้อนญี่ปุ่นก็มีเทศกาลดนตรีใหญ่ๆ ให้เลือกชมได้ไม่แพ้ประเทตะวันตก

...หากมองดูแล้ว ก็คงไม่ต่างอะไรกับคราวยุคเมย์จิที่ญี่ปุ่นเปิดประเทศและสามารถย้นย่อความเจริญของตะวันตกและเรียนรู้ศิลปะวิทยาการ “จากฝรั่ง” ภายเวลาไม่กี่ปีโดย เพียงแเครื่องมือไม่ใช่อาวุธหรืออุดมการณ์ใดๆ แต่เป็นการส่งผ่านของศิลปะวัฒนธรรมจากเก่าไปใหม่ และอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนนั้นเอง....

จบหละครับ อาจจะยาวหน่อย
แต่ก็ถือว่าเป็นบทความที่ดีเลยทีเดียว

เครดิต นพรักษ์ ยังเอี่ยม
คณะนิติศาสตร์ Chuo University กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น


โหวตเป็นกระทู้แนะนำ
ไปหน้าที่ 1
ไปที่หน้า
GO
ตั้งกระทู้ใหม่
หน้าแรกบอร์ด >> เดอะ บีทเทิลส์กับญี่ปุ่น
กรุณาระบุเหตุผลที่จะแจ้งความ
ผู้ต้องหา:
ข้อความ:
Submit
Cancel
กรุณาเลือก Forum และ ประเภทกระทู้
Forum:

ประเภท:
Submit
Cancel