The Godfather จากนวนิยายขายดีของ มาริโอ พูโซ่ (Mario Gianluigi Puzo, ๑๙๒๐-๑๙๙๙) สู่การเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ควรจดจำของโลกใบนี้ กำกับการแสดงโดย ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า (Francis Ford Coppola, ๑๙๓๙) The Godfather ออกฉายในปี ๑๙๗๒ และหยิบออสการ์มาได้สามตัว คือภาพยนตร์ยอดเยี่ยม บทดัดแปลงยอดเยี่ยม และนำชายยอดเยี่ยม จากฝีมือการแสดงแบบเกินร้อยของ มาร์ลอน แบรนโด (Marlon Brando, ๑๙๒๔-๒๐๐๔) และอีกสองปีถัดมา คอปโปล่า ก็เข็น The Godfather II ออกมา และกลายเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ภาคต่อที่ดีที่สุด น่าเสียดายที่คล้อยหลังอีก ๑๖ ปี The Godfather III กลับกลายเป็นบทสรุปไตรภาคที่แทบทุกคนส่ายหน้าว่า “จะสร้างมาทำหอกอะไรวะ”
เจ้าพ่อ หรือ Godfather คือคำเรียกขาน ดอน วีโต้ คอลิโอเน่ (คำว่า ดอน ในภาษาอิตาเลียน ใช้เรียกคนที่มีตำแหน่งระดับหัวหน้า หรือคนที่มีอำนาจ) ถ้าจะเรียกกันแบบคุ้นหูเขาก็คือ มาเฟีย เป็นชาวอิตาเลียนที่อพยพมาตั้งรกรากในอเมริกา แล้วก็ขยับขยายอำนาจบารมีจนกลายเป็น ดอน ที่ใครๆ เกรงขาม
พูโซ่ นำเสนอภาพของ ดอน วีโต้ ในแบบที่แตกต่างจากมาเฟียขาใหญ่ที่เราคุ้นเคย ดูเป็นผู้ใหญ่ใจดี มาดนิ่ม ใจเย็น สุขุม แต่แฝงไว้ด้วยพลังอำนาจ ดอน วีโต้ นิยมเจรจาธุรกิจ (เขาเรียกมันว่าอย่างนั้น) ด้วยเหตุผลมากกว่าจะใช้กำลัง แต่ถ้าใช้เหตุผลแล้วยังเสือกคุยไม่รู้เรื่องอีก เขาก็จะให้ “ข้อเสนอที่มันจะปฏิเสธไม่ได้” (I’m gonna make him an offer he can’t refuse.) ดอน วีโต้ ไม่ปฏิเสธว่าเขาดำเนินธุรกิจผิดกฎหมายแบบที่แก๊งค์มาเฟียทั่วไปทำกัน แต่เขาทำมันอย่างเป็นระบบ มีการวางแผน และมีหลักการ เขาพยายามอย่างที่สุดที่จะให้กิจการของครอบครัวคอลิโอเน่เป็นธุรกิจที่ถูกกฎหมายให้ได้สักวัน และยังยืนกรานที่จะไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจยาเสพติด ตามที่แก๊งค์อื่นๆ เรียกร้อง จนกลายมาเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาเกือบม่องเท่ง
เขาถูกลอบสังหาร แต่ก็รอดมาได้ราวปาฏิหารย์ ขณะที่คนในครอบครัวกำลังวางแผน ‘เอาคืน’ ไมเคิล ลูกชายคนเล็กก็ลุกขึ้นอาสาจัดการเรื่องนี้ด้วยตนเองท่ามกลางคำปรามาสของ ซันนี่ พี่ชาย “ไอ้แหยอย่างแกเนี่ยนะ จะไปจัดการอะไรได้” แต่ไมเคิลก็แสดงให้เห็นว่าเขามีเลือดพ่ออยู่เต็มเปี่ยม แต่ก็ต้องลี้ภัยไปอยู่อิตาลีหลายปี
ดอน วีโต้ มีลูกชายสามคนที่มีนิสัยต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซันนี่ มุทะลุ เฟรโด อ่อนแอ ไมเคิล เงียบขรึม และก็เป็นซันนี่ที่ไปก่อนคนแรก ซันนี่ไม่เคยจำคำสอนของพ่อที่ว่า “อย่าให้คนอื่นรู้ว่าแกกำลังคิดอะไร” เขากร่างเต็มที่ จนกลายเป็นเป้าหมายของฝ่ายตรงข้าม เขาหุนหันขับรถออกไปลุยเดี่ยวจนถูกกราดยิงจนพรุนตายโหงคารถนั่นเอง
ดอน วีโต้ ไม่เคยคิดจะให้ไมเคิลเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการของครอบครัวเลย และตัวไมเคิลเองก็ไม่ได้สนใจและยังไม่เห็นด้วยกับธุรกิจผิดกฎหมายทั้งปวง แต่กลับกลายเป็นว่าคนที่ห่างเหินครอบครัวที่สุดต้องกลายมาเป็นคนสืบทอดอำนาจทั้งหมด แม้จะผิดหวังที่ไมเคิลต้องมาสืบทอดอำนาจแทนเขา แต่ลึกๆ ในใจก็อดชื่นชมลูกชายไม่ได้ว่า “ไอ้นี่มันก็แน่เหมือนกันเว้ย” ไมเคิลแทบจะถอดแบบตัวเขามาไม่ผิดเพี้ยน ทั้งความสุขุมเยือกเย็น รอบคอบ มองการณ์ไกล แต่ที่ไมเคิลมีเหนือกว่านั่นคือ ความเหี้ยมเกรียม
เมื่อลูกชายขึ้นเถลิงอำนาจ ดอน วีโต้ ก็ถอยมาเป็นเพียงที่ปรึกษาและอยู่บ้านเลี้ยงหลาน ตอนนี้เขาเป็นเพียงตาแก่ที่อยู่บ้านทำสวนครัวแก้เซ็งแล้วก็เล่นกับหลานไปวันๆ วาระสุดท้ายของ ดอน วีโต้ จบลงอย่างเงียบเชียบท่ามกลางสวนมะเขือเทศหลังบ้าน มีเพียงหลานชายวัยกระเตาะร้องไห้จ้าอยู่ข้างๆ
อาณาจักรของคอลิโอเน่ภายใต้การกำกับของ ดอน วีโต้ ว่ายิ่งใหญ่แล้ว มันกลับยิ่งใหญ่กว่าเมื่อเปลี่ยนมาอยู่ในมือของ ไมเคิล เขาชอบอ้างเสมอว่าทำเพื่อครอบครัว แต่ครอบครัวที่เขาหมายถึงน่าจะเป็นอาณาจักรมาเฟียของเขาเองมากกว่า ไมเคิลสั่งเก็บเสี้ยนหนามของเขาจนเหี้ยน ไม่สนว่าไอ้คนนั้นมันจะเป็นใคร เขาสั่งฆ่ากระทั่ง เฟรโด พี่ชายของตัวเอง และกลายเป็นบาปที่ตามหลอกหลอนเขาไปจนวาระสุดท้าย
ไมเคิลชี้เป็นชี้ตายได้กับทุกคน แต่กลับไม่สามารถรักษาชีวิตลูกสาวของตัวเองไว้ได้ หัวใจเขาแตกสลาย ครอบครัวที่เขาวาดฝันไว้ไม่เหลืออีกแล้ว วินเซนต์ หลานชายขึ้นครองอำนาจแทนเขา มันเป็นเวลาของคนรุ่นใหม่ เหมือนตอนที่เขาก้าวขึ้นมาแทน ดอน วีโต้ ประวัติศาสตร์กำลังจะซ้ำรอย คนดูเองก็คงคาดเดาได้ไม่ยากว่า คอลิโอเน่ ในยุคของวินเซนต์จะต้องยิ่งใหญ่และ “เหี้ยมโหด” มากว่าเดิมอีกหลายเท่า
ไมเคิล กลายเป็นตาแก่ที่อยู่ไปเหมือนไร้ชีวิต วาระสุดท้ายของเขาอ้างว้างยิ่งกว่าผู้เป็นพ่อ ครอบครัวในฝันของเขาล่มสลายไปตั้งแต่วันที่เขาสั่งฆ่าพี่ชายนั่นแหละ ไมเคิลสิ้นใจอย่างเดียวดายท่ามกลางอากาศอันร้อนอ้าวของบ่ายวันหนึ่ง
ที่มา
http://deadmanstation.wordpress.com/
ปล.หลังจากที่ดูทั้งสามภาคจบไปเป็นรอบที่สาม ดอนที่ผมชอบท่สุดก็ยังเป็น ดอน วีโต คอลิโอเน่ ก็อดฟาเธอร์ตัวพ่อของจริง