ภาษีง่ายโพดๆ ตอนที่ 9 : หนีภาษี VS เลี่ยงภาษี VS วางแผนภาษี
[ภาษีง่ายโพดๆ ตอนที่ 9 : หนีภาษี VS เลี่ยงภาษี VS วางแผนภาษี]
มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ผมอยากให้เพื่อนๆทุกคนทำความเข้าใจใหม่นั่นคือนิยามของคำ 3 คำนี้ ระหว่างคำว่า "การหนีภาษี" "การเลี่ยงภาษี" และ "การวางแผนภาษี" ซึ่งเป็น 3 คำที่ทำให้เราได้ผลทางด้านภาษีเหมือนกัน คือ เสียภาษีน้อยลง แต่มักจะมีคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับความหมายของทั้งสามคำนี้บ่อยๆครับ
เอาล่ะคร้าบบบบบ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เรามาดูกันเลยดีกว่าครับ ^^
1. การหนีภาษี (Tax Evasion) คือ การ "ฝ่าฝืน" บทบัญญัติแห่งกฎหมายด้วยการดำเนินการอย่างบิดเบือนของผู้ที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษี หรือสรุปง่าย ๆ ก็คือการไม่จ่ายภาษี (ชักดาบ) เพราะว่ากฎหมายกำหนดให้คนทุกคนต้องเสียภาษีแต่คุณเลือกที่จะไม่เสีย ซึ่งการหนีภาษีนี้ ไม่ต้องใช้เทคนิคอะไรเลย แค่เพียงเลือกที่จะไม่จ่ายภาษีเท่านั้นเองครับ
2. การเลี่ยงภาษี (Tax Avoidance) คือ การหา "ช่องว่าง" ทางกฎหมายโดย "การบิดเบือน (Manipulation)" โดยเริ่มต้นด้วยวัตถุประสงค์ของการประหยัดภาษีเป็นลำดับแรก ส่วนความถูกต้องเป็นลำดับรอง ดังนั้นจึงประกอบด้วยการจัดทำธุรกิจลวง เช่น การซื้อขายในราคาที่ต่ำหรือสูงกว่าราคาตลาดด้วยความจงใจ หรือ การจัดตั้งคณะบุคคลจำนวนมากเพื่อกระจายฐานภาษี โดยไม่มีวัตถุประสงค์อื่นใดทางการพาณิชย์หรือธุรกิจใดๆ นอกจากเพื่อรองรับวัตถุประสงค์ในการเลี่ยงภาษีและใช้ช่องว่างทางกฎหมายภาษีเท่านั้นเอง
3. การวางแผนภาษี (Tax Planning) คือ การเตรียมการ การบริหารจัดการภาระภาษีที่พึงจะเกิดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะดำเนินการอย่างถูกต้องเป็นสำคัญ ซึ่งประเด็นนี้จะต้องพิจารณาถึงความถูกต้องทางกฎหมายมาก่อน หลังจากนั้นจึงประเมินว่าจะประหยัดหรือลดภาระภาษีได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาก็เลือกเอา LTF หรือ RMF เข้ามาช่วยในการลดภาระภาษี เป็นต้น
สุดท้ายนี้ หวังว่าเพื่อนๆทุกคนอ่านจบแล้ว อยากเป็นกลายคนที่ "วางแผนภาษี" มากกว่า "เลี่ยงภาษี" และ "หนีภาษี" นะคร้าบบบบบ
เครดิต
https://www.facebook.com/TaxBugnoms?fref=ts