Phenomena Prophecies
By Manit Sriwanichpoom
ที่มา
http://tunyaarticle.blogspot.com/
มานิต ศรีวานิชภูมิ มักได้รับการพูดถึงว่าเป็นศิลปินที่ชอบทำงานเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของสังคมการเมือง แต่ในทางกลับกัน ก็คงไม่ผิดที่จะบอกว่าเขาเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองที่เลือกใช้ศิลปะเป็นสื่อ เรื่องแบบนี้ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกมองมุมไหนมากกว่า ซึ่งก็คงเหมือนกับการชมนิทรรศการครั้งนี้ของเขา
Pink, White, Blue (2005)
เรื่องตลกมีอยู่ว่า...ผู้ชมกลุ่มหนึ่งที่เคยเห็นผลงานภาพถ่ายของ มานิต ศรีวานิชภูมิ มาบ้าง จะทึกทักไปเองว่า มานิตก็คือ Pink Man ที่ปรากฏอยู่ในภาพถ่ายของเขา และ Pink Man ก็คือ มานิต
สำหรับบางคน ความเข้าใจนี้อาจกินเวลามายาวนานกว่าทศวรรษ เพราะครั้งแรกที่มานิตได้แนะนำชายในชุดสูทสีช็อกกิ้งพิ้งก์ผู้เดินทางไปทุกหนทุกแห่งพร้อมรถเข็นซูเปอร์มาร์เก็ตในสีชมพูเฉดเดียวกัน ให้พวกเราได้รู้จักนั้น ก็ตั้งแต่ปี 2007 (Pink Man Begins, 1997) หลังจากนั้น Pink Man ที่มานิตใช้เป็นสัญลักษณ์แทนลัทธิบริโภคนิยมซึ่งเข้ามาครอบงำวิถีชีวิตคนเมืองส่วนมากจนเรียกว่าแทบจะหาทางออกกันไม่เจอ ก็ได้เดินทางต่อมาเรื่อยๆ บางครั้ง Pink Man ก็ไปปรากฏกายอยู่ต่างบ้านต่างเมือง (Pink Man on European Tour, 2000) บางครั้งก็เข้าไปอยู่ในโลกอดีตที่เกือบจะถูกลืมเลือนไปแล้วในปัจจุบัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดในข้อนี้คงจะเป็น Horror in Pink (2001) ที่ Pink Man เดินทางย้อนเวลากลับไปยังเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองของประเทศไทย เมื่อครั้ง 6 ตุลา และ Horror in Pink นี้ ก็ดูจะเป็นซีรี่ส์ Pink Man ชุดแรกๆ ที่มีเรื่องของการเมืองเข้ามาแสดงตนให้เห็นชัดเจน แม้จะอยู่ท่ามกลางเหตุการณ์ความขัดแย้งรุนแรง และอยู่ร่วมภาพกับชีวิตหลายชีวิตที่กำลังถูกปลิดปลิวให้จบสิ้นอย่างไร้ค่า Pink Man ก็ยังคงเป็น Pink Man ที่ไม่ยี่หระต่อเรื่องราวใดๆ ทั้งนั้น นอกจากการบริโภคและผลประโยชน์ของตัวเอง
Pink, White, Blue (2005)
นิทรรศการ Phenomena Prophecies (ท้าและทาย: ปรากฏการณ์) ที่มานิตจัดแสดงเป็นครั้งแรกที่ Singapore Art Museum at 8Q เมื่อปลายปีที่ผ่านมา และนำกลับมาจัดแสดงที่หอศิลป์ g23 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒนี้ เป็นการรวบรวมผลงานศิลปะของเขาในช่วงปี 1997-2009 ที่มีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกับสังคมการเมืองไทยร่วมสมัย แน่นอนว่า ในจำนวนผลงานเหล่านั้น ต้องมีซีรี่ส์ Pink Man รวมอยู่ด้วย นอกจากซีรี่ส์ทั้ง 3 ชุดที่ได้พูดถึงไปแล้ว ก็ยังมี Pink, White, Blue (2005) ที่มีภาพ Pink Man กอดธงชาติอย่างรักและหวงแหน Pink Man เข็นรถเข็นสีชมพูที่ประดับธงชาติและต่อท้ายด้วยเด็กนักเรียนเป็นพรวน Pink Man ทำหน้าเฉยชา นั่งอยู่ท่ามกลางเด็กนักเรียนที่ถือธงชาติด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม และ Pink Man ที่เอามือปิดตาเด็กนักเรียนที่ถือธงชาติอยู่ในมือ
ถึงแม้ว่า Pink, White, Blue จะไม่ได้มีฉากหลังเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นให้เราได้เห็นหรือมีหลักฐานการบันทึกเก็บไว้เป็นรูปธรรมเหมือนกับ Horror in Pink แต่การจัดฉากให้ Pink Man เข้าไปอยู่ร่วมกับเด็กนักเรียนที่ไร้เดียงสาดังกล่าว กลับสร้างข้อความบางอย่างที่ผู้ชมอาจรู้สึกเชื่อมโยงกับความเป็นไปในสังคมปัจจุบันได้ไม่ยากเลย ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะข้อความใน Pink, White, Blue เข้ากับสภาพความไปในสังคมร่วมสมัยที่เรามักได้ยินหลายคนให้เหตุผลต่อการกระทำของพวกเขาว่าเป็นไปเพื่อชาติ เพื่อประชาชน และอาจจะรวมไปถึงสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย จะอย่างไรก็ตาม เมื่อชายที่สร้างความรู้สึกรังเกียจให้เกิดขึ้นในใจเราตลอดมา อย่าง Pink Man เข้ามาแสดงให้เห็นบทบาทของชายผู้รักประเทศอย่างท้วมท้น โดยถ่ายทอดผ่านสัญลักษณ์ธงชาติซึ่งเป็นวัตถุที่เขากอดรัดอย่างหลงใหล เราก็อดตั้งคำถามต่อความรักเหล่านั้นไม่ได้ว่ามันจริงแท้แค่ไหน มันมีอยู่จริงหรือไม่ มันเป็นความรักแบบไหน หรือว่า Pink Man หวังผลอะไรหรือเปล่าจากการบอกว่ารักชาติ รวมทั้งยังสอนให้เด็กๆ รักบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขาตามไปด้วย เพราะที่ผ่านมา เราแทบจะไม่เคยเห็นชายในชุดสูทสีชมพูนี้ รักหรือคำนึงถึงใคร นอกจากตัวเขาเอง
ที่สำคัญอีกอย่าง แม้ตอนนี้เราจะรู้แล้วว่า Pink Man ที่ปรากฏในภาพ ไม่ใช่มานิตผู้เป็นเจ้าของงาน แต่เป็นศิลปินชื่อ สมพงษ์ ทวี ทว่าอีกคำถามหนึ่งที่ผุดตามมาอย่างปฏิเสธไม่ได้ก็คือ แท้จริงแล้ว Pink Man เป็นใครกัน
Pink Man on European Tour (2000)
อย่างไรก็ตาม หากคุณหวังจะหาคำตอบที่แน่ชัดจากนิทรรศการครั้งนี้ คงต้องบอกว่าเสียใจด้วย เพราะมานิตดูจะไม่ได้แสดงคำตอบของเขาไว้ให้เห็น ตรงกันข้าม ศิลปินกลับเปิดช่องว่างขนาดกำลังดีไว้ให้ผู้ชมแต่ละคนได้เข้ามาหาความหมายด้วยการตีความเป็นของตัวเอง
เช่นเดียวกันกับผลงานภาพถ่ายของเขาที่อยู่ในอีกห้องหนึ่งของหอศิลป์ g23 ในห้องนี้ เราจะพบผลงานภาพถ่ายขาวดำของเขาที่น่าจะแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก คือ เรื่องของลัทธิทุน-บริโภคนิยม (This Bloodless War, 1997) ที่สร้างภาพถ่ายขึ้นเลียนแบบภาพถ่ายจากสงครามเวียดนามและเหตุการณ์การระเบิดที่นางาซากิ แต่ในภาพถ่ายของเขา มานิตใช้ผู้คนในชุดแบบคนเมืองชนชั้นกลาง มือหิ้วถุงช้อปปิ้งแบรนด์เนม วิ่งหนีชายในชุดสูทด้านหลัง แทนที่จะเป็นระเบิดนาปาล์ม ส่วนภาพถ่ายขาวดำอีกกลุ่มหนึ่งคือภาพบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา อย่างเช่น ภาพประชาชนรอรับเสด็จฯ ในหลวง ภาพพี่ป้าน้าอาเอาดอกไม้ไปให้ทหารที่เข้าร่วมการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 และภาพการชุมนุมของฝ่ายพันธมิตรฯ
Liberators of the Nation (2006)
หัวข้อของเรื่องราวที่มานิตนำมาถ่ายทอดลงไปในภาพถ่ายชุดนี้ เป็นหัวข้อเดียวกับที่เราเคยเห็นอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ มาแล้วหลายครั้ง วิธีการนำเสนอขั้นพื้นฐานที่มานิตใช้ก็เช่นกัน เพราะมันเป็นเพียงภาพถ่ายขาวดำธรรมดาเท่านั้น และภาพที่ออกมาก็คือการบันทึกเหตุการณ์ อย่างไรก็ตาม เมื่อภาพถ่ายเหล่านี้ถูกศิลปินนำมาจัดเรียงกัน ตั้งชื่อ และติดตั้งในหอศิลป์สีขาว ก็ดูเหมือนว่ามันจะมีนัยยะหรือเนื้อหาแฝงเกิดขึ้นทันที และเมื่อนำมารวมกับภาพถ่ายชุด Pink Man ในอีกห้องหนึ่งแล้ว ผู้ชมหลายคนที่ไปชมนิทรรศการครั้งนี้ ก็ดูเหมือนจะมองเห็นข้อความเหล่านั้นได้ชัดเจน แถมยังมีแนวโน้มว่าจะตีความแตกต่างกันไปอีกด้วย
ประเด็นที่น่าคิดตรงนี้ก็คือ สภาพสังคมแวดล้อมและวัฒนธรรมที่พวกเรามีร่วมกันกลับหมดความสำคัญไปทันที เพราะในการตีความสิ่งที่เห็นหรือได้ยินตรงหน้า เรากลับเลือกที่จะใช้ความคิดเห็นและความเชื่อส่วนตน หรือแม้แต่สิ่งที่เราอยากจะได้ยินได้เห็น มาเป็นปัจจัยสำคัญในการอ่านข้อความบางอย่าง สิ่งที่น่าคิดยิ่งกว่านั้นก็คือ เป็นไปได้ไหมที่ความจริงแล้วมานิตอาจจะไม่ได้ใส่ข้อความอะไรในผลงานของเขาเลย แต่มันเกิดจากการที่เราเดินเข้าไปและเอาความคิดของเราไปใส่ไว้ในพื้นที่ตรงนั้น
หรือไม่...หากมีข้อความที่หลายคนมองว่าเป็นคำตอบอยู่จริง ก็อาจจะมีมากกว่าหนึ่ง และอาจจะไม่ใช่ขาวดำ แต่เป็นสีเทา สีฟ้า สีคราม เพราะอย่าลืมว่าบนโลกใบนี้ยังมีสีและความหลากหลายอีกมากมาย เพียงแต่เราจะค้นพบและยอมรับมันได้แค่ไหน
This Bloodless War (1997)
Pink Man เป็นใคร เราอาจจะไม่รู้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือ สำรวจดูให้ดีว่าเรากำลังตกอยู่ภายใต้การครอบงำของชายชุดสูทสีชมพูหรือไม่ และเราได้กลายเป็นชายผู้นั้นไปแล้วหรือเปล่า
Pink Man Begins (1997)