อั้งยี่ จากจับกังมาเป็นมาเฟีย ตอนที่ 3
(อั้งยี่ในเมืองไทย เมื่อต้นรัชกาลที่ ๕)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชย์ เมื่อเดือนตุลาคม ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ เวลานั้นยังทรงพระเยาว์วัย พระชันษาเพียง ๑๖ ปี จึงต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เมื่อยังเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมุหพระกลาโหม ได้เป็นผู้สำเร็จราชการอยู่ ๕ ปี
เวลาเมื่อเปลี่ยนรัชกาลครั้งนั้น มีเหตุต่างๆที่ทำให้รัฐบาลลำบากหลายเรื่อง เรื่องอื่นยกไว้จะเล่าแต่เรื่องกับพวกอั้งยี่ เมื่อกำลังจะเปลี่ยนรัฐบาลมีอั้งยี่พวกหนึ่งในกรุงเทพฯต่อสู้เจ้าภาษีฝิ่นในโรงกงก๊วน ที่ริมวัดสัมพันธวงศ์ ถึงศู้รบกันขึ้นในสำเพ็ง พอเปลี่ยนรัชกาล อั้งยี่พวกหนึ่งก็คุมกันเที่ยวปล้นราษฎรที่ในแขวงจังหวัดนครชัยศรี และท่าทางจะกำเริบขึ้นที่อื่นอีกทั้งในกรุงเทพฯและหัวเมือง สมเด็จเจ้าพระยาฯระงับด้วยอุบายหลายอย่าง พิเคราะห์ดูก็น่าพิศวง
อย่างที่หนึ่งใช้ปราบด้วยอาญา ดังเช่นปราบอั้งยี่ที่กำเริบขึ้นในแขวงจังหวัดนครชัยศรี เมื่อจับได้ให้ส่งเข้ามาในกรุงเทพ เอาตัวหัวหน้าประหารชีวิตและเอาสมัครพรคพวกทั้งหมดจำคุกให้ปรากฏแก่คนทั้งหลาย
อีกอย่างใช้อุบายขู่ให้พวกอั้งยี่กลัว ด้วยจัดการซ้อมรบที่สนามชัน ถวายพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรบนพระที่นั่งพุทไธสวรรค์ทุกสัปดาห์ ฉันยังเป็นเด็กไว้จุกเคยตาม้สด็จไปดูหลายครั้ง การซ้อมรบนั้นบางวันก็ให้ทหารปืนใหญ่ปืนเล็กยิงปืนติดดินดำ เสียงดังสนั่นครั่นครื้น บางวันก็ให้ทำเป็นโครงค่ายมีหุ่นรูปคนอยู่ประจำ เอาช้างรบออกซ้อมแทงหุ่นทำลายค่าย เวลานั้นมีช้างรบอยู่ในกรุงเทพฯสักสามสี่เชือก ตัวหยึ่งชื่อพลายแก้ว เจ้าพระยายมราช(แก้ว)หัดที่เมืองนครราชศรีมา กล้าหาญนัก พอเห็นยิงปืนออกมาจากค่ายก็สวนควันเข้าไปรื้อค้าย แทงรูปหุ่นมี่รักษาทำลายลง พวกชาวพระนครไม่เคยเห็นการซ้อมรบอย่างนั้น พากันมาดูมากกว่ามาก เกิดกิตติศัพท์ระบือไปถึงพวกอั้งยี่ ก็กลัวไม่ก่อเหตุอันใดได้จริง
อุบายของสมเด็จเจ้าพระยาฯอีกอย่างหนึ่งนั้น ขยายการบำรุงจีนอนุโลมตามกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงตั้งปลัดจีนตามหัวเมืองดังกล่าวมาแล้ว และเวลานั้นมีความลำบากเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งด้วย เพราะเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๔ มีพวกชาวจีนชาวเมืองขึ้นอังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลันดา และโปรตุเกส เข้ามาหากินในกรุงเทพฯมากขึ้น ก็ตามหนังสือสัญญายอมให้จีนเหล่านั้นอยู่ในความป้องกันของกงสุลชาตินั้นๆ จึงเรียกกันว่า "พวกร่มธง" หมายความว่า "อยู่ในร่มธงของต่างประเทศ" หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "สับเย๊ก" (Subject) หมายความว่าเป็นคนของชาตินั้นๆ ไม่ต้องอยู่ในอำนาจโรงศาลหรือในบังคับของรัฐบาลของบ้านเมือง
แม้กงสุลต่างประเทศช่วยห้ามมิให้จีนในร่มธงเป็นอั้งยี่ก็ดี สมเด็จเจ้าพระยาฯก็ยังวิตก เกรงว่าพวกจีนชั้นพลเมืองจะพากันอยากเข้าร่มธงฝรั่ง เพราะฉะนั้นเมื่อเปลี่ยนรัชกาลได้ ๓ สัปดาห์ก็ประกาศตั้งศาลคดีจีนขึ้นในกรมท่าซ้าย ให้พระยาโชฎีกราชเศรษฐี(จ๋อง แล้วเปลี่ยนเป็นพระยาโชฎึกฯ พุก)คนหนึ่ง หลวงพิพิธภัณฑ์วิจารณ์(ฟัก ภายหลังได้เป็นพระยาโชฎึกฯ)คนหนึ่ง กับหลวงพิชัยวารี(มลิ)คนหนึ่ง (เป็นชั้นลูกจีนทั้งสามคน)เป็นผู้พิพากษา สำหรับชำระตัดสินคดีคู่ความเป็นจีนทั้งสองฝ่าย ด้วยใช้ภาษาจีนและประเพณีจีนในการพิจารณา แต่ห้ามมิให้รับคดีคู่ความเป็นจีนแต่ฝ่ายเดียว หรือคดีที่เป็นความอาญาว่ากล่าวในศาลนั้น นอกจากตั้งศาล ให้แบ่งเขตท้องมี่อันมีจีนอยู่มาก เช่น ในสำเพ็ง เป็นหลายอำเภอ ตั้งนายอำเภอจีนประจำสำหรับอุปการะจีนในถิ่นนั้นทุกอำเภอ ตามหัวเมืองก็ให้ปลัดจีนมีอำนาจว่ากล่าวคดีจีน อำเภอที่มีจีนอยู่มากก็ตั้งหัวหน้าให้เป็นตำแหน่ง "กงสุลจีนในบังคับสยาม" สำหรับเป็นผู้อุปการะจีนอยู่ในอำเภอนั้นๆ
ส่วนมากการควบคุมพวกอั้งยี่นี้น สมเด็จเจ้าพระยาฯก็อนุโลมเอาแบบอย่างอังกฤษ "เลี้ยงอั้งยี่" ในแหลมมลายูมาใช้ ปรากฏว่าให้สืบเอาตัวจีนเถ้าเก๋ที่เป๋นหัวหน้าอั้งยี่ได้ ๑๔ คน แล้วตั้งข้าหลวง ๓ คน คือ เจ้าพระยาภาณุวงศ์ เมื่อยังเป็นพระยาเทพประชุน(ซึ่งเคยปราบอั้งยี่ที่เมืองภูเก็ต)คนหนึ่ง พระยาโชฎึกราชเศรษฐีคนหนึ่ง พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง(เนียม)ซึ่งเป็นผู้บังคับการกองตระเวน(โปลิศ)ในกรุงเทพฯคนหนึ่ง พร้อมด้วยขุนนางเจ้าภาษีอีกบางคน พาพวกหัวหน้าอั้งยี่ ๑๔ คนนั้นไปทำพิถือน้ำกระทำสัตย์ในวิหารหลวงพ่อโต ณ วัดกัลยาณมิตรซึ่งจีนนับถือมาก รับสัญญาว่าจะไม่คิดประทุษร้ายต่อพระเจ้าอยู่หัว และจะคอยระวังพวกอั้งยี่ของตนมิให้คิดร้ายด้วย แล้วปล่อยตัวไปทั้ง ๑๔ คน แต่นั้นสมเด็จเจ้าพระยาฯก็เอาพวกหัวหน้าอั้งยี่เหล่านั้นเป็นคนรับใช้สอยของท่านให้ตรวจตราว่ากล่าวมิให้พวกอั้งยี่กำเริบ ก็สำเร็จประโยชน์ได้อย่างประสงค์ พวกอั้งยี่ก็เรียบร้อยเพราะใช้วิธี "เลี้ยงอั้งยี่" มาตลอดเวลาสมเด็จเจ้าพระยาฯมีอำนาจในราชกาลแผ่นดิน
ที่มา แฟนเพจ สงคราม ประวัติศาสตร์