อั้งยี่ จากจับกังมาเป็นมาเฟีย ตอนที่ 2
(อั้งยี่ในเมืองไทย เมื่อรัชกาลที่ ๔)
ความเดิมจาก ตอนที่ 1
http://www.soccersuck.com/boards/topic/920229
ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรัสปรึกษาเสนาบดีเห็นพร้อมกันว่า การจับฝิ่นเมื่อรัชกาลที่ ๓ แม้จับกุมอย่างกวดขันมาหลายปี ฝิ่นก็ยังเข้ามาได้เสมอ คนสูบฝิ่นก็ยังมีมากไม่หมดไป ซ้ำเป็นเหตุให้เกิดอั้ยี่ถึงต้องรบพุ่งฆ่าฟันกันหลายครั้ง จะใช้วิธีจับฝิ่นอย่างนั้นต่อไปเห็นจะไม่เป็นประโยชน์อันใด จึงเปลี่ยนนโยบายเป็นตั้งภาษีฝิ่นผูกขาด คือ เฉพาะแต่รัฐบาลซื้อฝิ่นเข้ามาต้มขายเอากำไร ให้จีนซื้อฝิ่นสูบได้ตามชอบใจ คงห้ามแต่ไทยมิให้สูบฝิ่น
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริอีกอย่างหนึ่งว่า ที่อั้งยี่หาพรรคพวกได้มาก เป็นเพราะพวกจีนที่ไปทำเรือกสวนหรือค้าขายอยู่ตามหัวเมืองมักถูกพวกจีนเจ้าภาษีเบียดเบียนในการเก็บภาษีและถูกคนในพื้นเมืองรังแก ทรงแก้ไขข้อนี้ด้วยเลือกหาจีนที่ตั้งตัวได้เป็นหลักแหล่งแล้ว และเป็นคนซื่อตรงมีคนนับถือมากตั้งเป็นตำแหน่งปลัดจีนขึ้นในกรมการตามหัวเมืองที่มีจีนมาก สำหรับช่วยเป็นธุระและรับทุกข์ร้อนของพวกจีนขึ้นเสนอต่อรัฐบาล เมื่อทรงแก้ไขด้วยอุบาย ๒ อย่างนั้น เหตุการณ์เรื่องอั้งยี่ก็สงบมาได้หลายปี
แต่ถึงตอนปลายรัชกาลที่ ๓ มีอั้งยี่เกิดขึ้นด้วยเหตุอย่างอื่น เหตุที่เกิดอั้งยี่ตอนนี้เนื่องจากประเพณีจีนเข้าเมือง ด้วยจีนที่ทิ้งถิ่นไปทำมาหากินในต่างประเทศล้วนเป็นคนยากจนมักไปแต่ตัว แม้เงินค่าโดยสารเรือก็ไม่มีจะเสีย เมื่อเรือไปถึงเมืองไหน เช่น เมืองสิงคโปร์ก็ดี หรือมาถึงกรุงเทพฯก็ดี มีจีนในเมืองนั้นที่เป็นญาติหรือเป็นเถ้าเก๋หาลูกจ้าง ไปรับเสียเงินค่าโดยสารและรองเงินล่วงหน้าให้จีนที่เข้ามาใหม่ ไทยเรียก "จีนใหม่" ทางเมืองสิงคโปร์เรียกว่า "sing Keh" แล้วทำสัญญากันว่าเถ้าเก๋จะรับเลี้ยงให้กินอยู่ ข้างฝ่ายจีนใหม่จะทำงานให้เปล่าไม่เอาค่าจ้างปีหนึ่ง งานที่ทำนั้นเถ้าเก๋จะใช้เอง หรือจะให้ไปทำงานให้คนอื่น เถ้าเก๋เป็นผู้รับค่าจ้าง หรือแม้เถ้าเก๋จะโอนสิทธิ์ในสัญญาให้ผู้อื่นก็ได้ เมื่อครบหนึ่งปีแล้วสิ้นเขตที่เป็นจีนใหม่พ้นหนี้สิน จะรับจ้างเถ้าเก๋ทำงานต่อไป หรือไปทำมาหากินที่อื่นโดยลำพังตนก็ได้ มีประเพณีอย่างนี้มาแต่เดิม
ถึงรัชกาลที่ ๔ ตั้งแต่ไทยทำหนังสือสัญญาค้าขายกับฝรั่งต่างชาติ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ การค้าขายในเมืองไทยเจริญขึ้นรวดเร็ว มีโรงจักรสีข้าว เลื่อยไม้ และมีการขนลำเลียงสินค้า อันต้องการแรงงานมากขึ้น ทั้งในเวลานั้นการคมนาคมกับเมืองจีนสะดวกขึ้นด้วยมีเรือกำปั่นไปมาบ่อยๆ พวกจีนใหม่ที่เข้ามาหากินก็มากขึ้น จึงเป็นเหตุให้จีนในกรุงเทพฯคิดหาผลประโยชน์ด้วยการเป็นเถ้าเก๋รับจีนใหม่เข้าเมืองโดยวิธีดังกล่าวมาแล้วมากขึ้น และการนั้นได้กำไรงาน ก็เกิดแข่งขันเกลี้ยกล่อมจีนใหม่ พวกเถ้าเก๋ก็เลยอาศัยจีนใหม่ของตนให้ช่วยกันเกลี้ยกล่อมจีนเข้ามาใหม่ ตลอดจนไปชิงกันหางานให้พวกจีนใหม่ของตนทำ ก้เลยตั้งพวกเป็นอั้งยี่ด้วยประการฉะนี้ แต่ผิดกับอั้งยี่ในรัชกาลที่ ๓ ด้วยไม่คิดร้ายต่อรัฐบาลและมีแต่พวกละน้อยๆหลายพวกด้วยกัน
แต่เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๐ ก่อนจะสิ้นรัชกาลที่ ๔ มีพวกอั้งยี่กำเริบขึ้นที่เมืองภูเก็ต แต่มิได้เกี่ยวข้องกับจีนในกรุงเทพฯ ด้วยพวกอั้งยี่ที่เมื่อภูเก็ตขยายมาจากเมืองขึ้นของอังกฤษ ซึ่งรัฐบาลใช้นโยบาย "เลี้ยงอั้งยี่" ดังกล่าวมาแล้ว พวกจีนในแดนอังกฤษไปมาค้าขายกับหัวเมืองไทยทางตะวันตกอยู่เป็นนิจ พวกอั้งยี่จึงมาเกลี้ยกล่อมจีนที่เมืองภูเก็ตให้ตั้งอั้งยี่เพื่อสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน เป็นสาขาของกงสี "งี่หิน" พวกหนึ่งมีประมาณ ๓,๕๐๐ คน ของกงสี "ปูนเถ้าก๋ง" พวกหนึ่งประมาณ ๔,๐๐๐ คน อยู่มามีนายอั้งยี่ทั้งสองพวกนั้นวิวาทกันด้วยชิงสายน้ำที่ทำเหมืองแร่ดีบุก ต่างเรียกพวกอั้งยี่ของตนมารบกันที่กลางเมือง ผู้ว่าราชการเมืองภูเก็ตห้ามก็ไม่ฟัง จะปราบปรามก็ไม่มีกำลังพอการ
จึงโปรดฯให้เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯเมื่อยังเป็นที่พระยาเทพประชุนปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหมเป็นข้าหลวงออกไปยังเมืองภูเก็ต ให้ไปพิจารณาว่ากล่าวเรื่องอั้งยี่วิวาทกัน ถ้าพวกอั้งยี่ไม่ฟังคำบังคับบัญชาให้เรียกระดมพลตามหัวเมืองปราบปรามด้วยกำลัง แต่เมื่องเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯออกไปถึง หัวหน้าอั้งยี่ทั้งสองพวกอ่อนน้อมโดยดี เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯว่ากล่าวระงับเหตุวิวาทเรียบร้อยแล้ว พาตัวหัวหน้าอั้งยี่ทั้งสองกงสีรวม ๙ คนมาสารภาพผิดในกรุงเทพฯ จึงโปรดให้ถือน้ำกระทำสัตย์สาบานว่าจะไม่คิดร้ายต่อแผ่นดิน แล้วปล่อยตัวกลับไปทำมาหากินอย่างเดิม
การระงับอั้งยี่วิวาทกันที่เมืองภูเก็ตครั้งนั้น เป็นเหตุที่ไทยจะเอาวิธี "เลี้ยงอั้งยี่" อย่างที่อังกฤษจัดตามหัวเมืองในแหลมมลายูมาใช้ที่เมืองภูเก็ตก่อน แล้วเลยเอาเข้ามาใช้ในกรุงเทพฯ เมื่อภายหลัง แต่อนุโลมให้เข้ากับประเพณีไทยมิให้ขัดกัน เป็นต้นว่าที่เมืองภูเก็ตนั้นเลือกจีนที่มีพรรคพวกนับถือมากมาตั้งเป็น "หัวหน้าต้นแซ่" สำหรับนำกิจทุกข์สุขของพวกของตนเสนอต่อรัฐบาล และควบคุมว่ากล่าวของตนตามประสงค์ของรัฐบาล คล้ายๆกับกรรมกรจีน ที่เป็นคนมีหลักฐานมั่นคงถึงให้มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนเป็นหลวงก็มี แต่พวกหัวหน้าต้นแซ่นั้นก็เป็นอั้งยี่พวกงี่หินหรือปูนเถ้าก๋งทุกคน การที่จัดขึ้นเป็นแต่อย่างควบคุมอั้งยี่และให้มีพวกหัวหน้าต้นแซ่สำหรับรัฐบาลใช้ไปว่ากล่าวพวกอั้งยี่ และคอยห้ามปรามพวกอั้งยี่ต่างพวกวิวาทกัน แต่ยังยอมให้พวกจีนตั้งอั้งยี่ได้ตามใจไม่ห้ามปราม
ที่มา แฟนเพจ สงคราม ประวัติศาสตร์