ธรณีวิทยาสามัญประจำบ้าน ตอนที่ 2: ธรณีวิทยาคืออะไร?
ธรณีวิทยา เป็นสาขาวิชาที่ศึกษาองค์ประกอบ โครงสร้างเเละกระบวนการตามธรรมชาติของโลก ตลอดจนผลอันสืบเนื่องมาจากกระบวนการที่เกิดขึ้น รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของโลก เนื่องจากกระบวนการธรรมชาติที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาทางธรณีกาล โดยอาศัยหลักการทางวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ เนื่องจากการดำรงชีพของมนุษย์จำเป็นต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรธรณี อันได้แก่ แร่ หิน น้ำใต้ดิน และเชื้อเพลิงธรรมชาติ ทรัพยากรเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตและการก่อสร้าง โดยเป็นทั้งวัตถุดิบและพลังงาน ความรู้ทางธรณีวิทยาจึงมีความสำคัญในการนำไปประยุกต์กับงานสำรวจ และการออกแบบ เพื่อการพัฒนาปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความมั่นคงของชาติ เช่น เส้นทางคมนาคม เขื่อน โรงไฟฟ้า แหล่งสำรองของทรัพยากรทางธรรมชาติ รวมทั้งการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ อีกด้วย การศึกษาในสาขาวิชาธรณีวิทยาจึงประกอบด้วยการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานและวิชาทางธรณีวิทยาแขนงต่างๆ รวมทั้งการศึกษาและการฝึกภาคสนาม
ธรณีวิทยา (Geology) มาจากภาษากรีกว่า Geos ซึ่งแปลว่าโลก และ Logi หรือ Logus วึ่งหมายถึงวิทยาศาสตร์ ดังนั้นธรณีวิทยาจึงหมายถึงวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโลกพิภพหรือโลกมนุษย์ (planet earth) ซึ่งครอบคลุมถึงกำเนิดของโลกมนุษย์ที่รวมถึงดวงดาวต่างๆ และระบบสุริยจักรวาล วัสดุและรูปร่างลักษณะของโลก ประวัติความเป็นมา และกระบวนการที่กระทำต่อโลกทั้งในอดีตและปัจจุบัน ดังนั้นวิชานี้จึงรวมถึงแรงที่มากระทำที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงหรือยังคงมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะทางเคมี มวลสาร และส่วนประกอบ ตลอดจนอายุและร่องรอยการบันทึกในอดีตของโลกมนุษย์ ซึ่งแสดงออกด้วยส่วนที่เหลืออยู่ของสิ่งมีชีวิตซึ่งคงอยู่ในหินบนเปลือกโลก และโดยการตีความจากรูปแบบและสภาวะแวดล้อมที่ยังคงเหลืออยู่ให้เห็นในปัจจุบัน
ส่วนคำว่า
ธรณีศาสตร์ (Earth Sciences) มักจะใช้กันอย่างผิดๆ แทนคำว่าธรณีวิทยา (Geology) อยู่บ่อยๆ ซึ่งความจริงมีความหมายกว้างกว่าธรณีวิทยามาก เพราะหมายถึงวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโลก ซึ่งรวบรวมสรรพวิทยาและเนื้อหาครอบคลุมถึงอุทกวิทยา อุตุนิยมวิทยา ปฐพีวิทยา เคมีของดิน ฯลฯ ซึ่งไม่ใช่ส่วนของธรณีวิทยาจริงๆ หรืออาจกล่าวได้ว่า เนื้อแท้ของธรณีวิทยานั้นศึกษา วัสดุ (material) กระบวนการ (process) และวิวัฒนาการ (evolution) ของโลก
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าธรณีวิทยานั้นเน้นหนักและเกี่ยวข้องกับสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติ (natural environment) อันเป็นสภาวะแวดล้อมหนึ่งในอีกหลายสภาพแวดล้อม อันประกอบด้วย 4 ภาค (sphere) สำคัญๆ คือ
ธรณีภาค (Lithosphere หรือ Lithosperic realm) อันได้แก่ อาณาจักรทั้งหมดที่เป็นของแข็งของโลก เช่น ดิน หิน แร่
อุทกภาค (Hydrosphere หรือ Hydrospheric realm) อันได้แก่ อาณาจักรส่วนที่เป็นน้ำ เช่น แม่น้ำ ลำธาร ทะเล มหาสมุทร น้ำในเขื่อน ธารน้ำแข็ง
อากาศภาค (Atmosphere หรือ Atmospheric realm) อันได้แก่ อาณาจักรส่วนที่เป็นก๊าซห่อหุ้มปกคลุมพื้นผิวโลก เช่น ไอน้ำ และอากาศ
ชีวภาค (Biosphere หรือ Biospheric realm) อันได้แก่ อาณาจักรส่วนที่เป็นชีวิต เช่น คน สัตว์ และพืช เป็นต้น
(
ข้อมูลคำจำกัดความจากหนังสือธรณีวิทยากายภาพ โดย ผศ. ดร. ปัญญา จารุศิริ และคณะ พ.ศ. 2545)
ที่มา: ธรณีวิทยาคืออะไร? - GeoThai.net
พรุ่งนี้จะนำบทความตอนต่อไปมาลงต่อนะครับว่า
ทำไมต้องศึกษาธรณีวิทยา?