หน้าที่ของไข่หัม อ่านก่อนจะไปตัดทิ้ง
เป็นข่าวฮือฮาเมื่อกลุ่มเกย์การเมืองไทยนำเรื่องร้อนๆ หนาวๆ ของหัวอกผู้ปกครองจำนวนมากที่มีลูกชายหัวใจหญิง แต่งบน้อยเข้าคิวตัดไข่ ก่อนเฉาะแปลงเพศ ด้วยวัยกระเตาะเพียงไม่ถึง 20 ปี
ทั้งที่มีผลทั้งเป็นคุณและเป็นโทษต่อร่างกายมากมาย
หากไม่ศึกษาให้ดี
อวัยวะสืบพันธุ์เพศชาย จะประกอบด้วยต่อมลูกหมาก องคชาต อัณฑะ ถุงอัณฑะ
ภายนอกจะมีองคชาต ซึ่งมีลักษณะเป็นท่อนยาวตรงบริเวณหัวหน่าว ภายในจะมีแกนซึ่งประกอบไปด้วยท่อปัสสาวะ กล้ามเนื้อ เส้นเลือด และเส้นประสาทจำนวนมาก สามารถขยายตัวได้
ต่อมลูกหมากมีหน้าที่สร้างสารคัดหลั่งที่จะผสมน้ำเชื้อและตัวอสุจิ ออกมาเป็นน้ำเชื้อ หรือสเปิร์ม
หน้าที่อีกอย่างคือสร้างแรงบีบตัว จากกล้ามเนื้อเรียบที่อยู่ในนั้น เวลามีการหลั่งน้ำเชื้อออกมา
น.พ.สิทธิพร ศรีนวลนัด อาจารย์ประจำสาขาวิชาศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ให้ความรู้เกี่ยวกับลูกอัณฑะว่า
ตามปกติอัณฑะจะมี 2 ลูก ตามปกติลูกอัณฑะจะไม่เท่ากัน เพื่อป้องกันการกระทบกระแทก
มีหลอดสร้างอสุจิขดอยู่ภายในถุงอัณฑะ ทำหน้าที่สร้างตัวอสุจิหรือสเปิร์มที่อยู่ในน้ำอสุจิ
และมีหลอดเก็บตัวอสุจิทำหน้าที่พักตัวอสุจิสะสมไว้ในอัณฑะ โดยอสุจิจะผ่านไปตามหลอดนำอสุจิ ไปพบต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิและเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ
เมื่อเด็กอยู่ในท้องแม่ ลูกอัณฑะจะอยู่ในช่องท้อง และค่อยๆ เลื่อนลงมาอยู่ในถุงอัณฑะบริเวณข้างๆ องคชาต หากไม่เลื่อนลงมาถือว่าเกิดความผิดปกติขึ้น และต้องผ่าตัดเพื่อให้ลูกอัณฑะเลื่อนมาอยู่ในถุงอัณฑะ
เพราะเชื้ออสุจิจะต้องถูกเก็บอุณหภูมิที่เย็นกว่าอุณหภูมิร่างกาย
หน้าที่สำคัญของอัณฑะก็คือสร้างสเปิร์มหรืออสุจิ และผลิตฮอร์โมนแอนโดรเจน หรือ Testosterone ซึ่งอัณฑะจะผลิตฮอร์โมนเพศชายและหญิง
แต่ส่วนใหญ่จะเป็นฮอร์โมนเพศชาย
ฮอร์โมนแอนโดรเจนจะทำให้เกิดลักษณะของเพศชาย เช่น การสร้างกล้ามเนื้อ กระดูก ลูกกระเดือก ขนตามที่ต่างๆ กล่องเสียง
หลังจากที่ร่างกายเข้าสู่วัยเจริญเติบโตในช่วงอายุ 12-15 ปี เด็กผู้ชายจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และร่างกายจะคงสภาพเหล่านั้นไว้ไปตลอด
โรคที่สามารถเกิดกับอัณฑะได้จะมีโรคที่เกิดตั้งแต่ในวัยเด็ก เช่น ลูกอัณฑะไม่เลื่อนลงมาอยู่ในถุงอัณฑะ และไส้เลื่อน ซึ่งมีอัตราการเป็นไม่มากนัก
ส่วนโรคมะเร็งอัณฑะอาจพบได้ตั้งแต่ในเด็กเล็ก แต่ส่วนใหญ่จะเกิดเมื่ออายุ 25-40 ปี และอุบัติการณ์มากขึ้นในช่วง 65-75 ปี โดยยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรค แต่ส่วนมากจะเกิดขึ้นเพียงข้างเดียว การรักษาคือการตัดทิ้ง กลุ่มเสี่ยงคือ ผู้ที่มีลูกอัณฑะข้างเดียว หรือเกิดการอักเสบของอัณฑะ
การตัดอัณฑะทิ้งอาจมีผลกระทบกับร่างกายตามมา เช่น การเจริญเติบโตของร่างกาย การสร้างมวลกระดูกจะไม่เติบโตเต็มที่ อ้วนลงพุง ศีรษะล้าน ความจำแย่ลง เป็นอัลไซเมอร์ เข้าสู่วัยทองเร็วกว่าคนปกติ
ความต้องการทางเพศอาจลดลงด้วย เพราะไม่มีแรงขับของฮอร์โมนเพศชาย
ทางการแพทย์ การตัดอัณฑะเพื่อทำให้ร่างกายเลิกผลิตฮอร์โมนเพศชาย แล้วจะได้มีร่างกายใกล้เคียงเพศหญิง ยังไม่เป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับ
ไม่เหมือนการแปลงเพศ
เป็นสิ่งที่ต้องคิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ "ตัด" ทิ้ง