ภาษีง่ายโพดๆ ตอนที่ 3 : เสียภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วทำไมยังต้องเสียภาษีเงินได้อีกฟระ!!
[ ภาษีง่ายโพดๆ ตอนที่ 3 : เสียภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วทำไมยังต้องเสียภาษีเงินได้อีกฟระ!! ]
ในทุกๆวันที่เรามีการใช้จ่ายในเรื่องต่างๆ อย่างเพลิดเพลินไม่ว่าจะเป็นกิน เที่ยว เปรี้ยวซ่า ลัลล้าต่างๆอยู่นั้น เมื่อเหลือบมองดู "บิล" ที่ได้จากร้านค้าร้านอาหารต่างๆ เรามักจะเห็นคำว่า "ใบกำกับภาษี" และเจ้าใบกำกับภาษีที่ว่าจะมีตัวเลขบอกว่าเงินที่เราจ่ายไปนั้น มี "ภาษีมูลค่าเพิ่ม" อยู่ในนั้นเป็นจำนวนเท่าไร เช่น ซื้อสินค้าในราคา 535 บาท เราจะเห็นตัวเลขค่าสินค้าราคา 500 บาทและค่าภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 35 บาท
"อ้าววว แบบนี้ตรูก็เสียภาษีมูลค่าเพิ่มไปแล้ว แล้วทำไมยังต้องเสียภาษีเงินได้อีกล่ะฟระ!!!!" ผมมักจะได้ยินมิตรสหายหลายท่านบ่นแบบนี้ให้ฟังอยู่บ่อยๆ เอาล่ะครับ!! เรามาดูกันดีกว่าครับว่า เพราะอะไร?และทำไม? เราถึงต้องเสียภาษีทั้งสองประเภทนี้ ...
คำตอบจะอธิบายเรื่องนี้ได้ดีที่สุดนั้น คงต้องไปถามพี่สรรพากรเองแล้วล่ะฮะ (เย้ยยย!!! ไม่ใช่แย้ววคร้าบบบ) แต่เป็นเรื่องของ "ประเภทของภาษี" มากกว่า เนื่องจาก "ภาษีมูลค่าเพิ่ม" ถือเป็น "ภาษีทางอ้อม" ซึ่งก็คือ ภาษีที่สามารถผลัก "ภาระ" ไปให้กับผู้ซื้อหรือผู้บริโภคเป็นผู้รับชำระภาษีอากรแทนผู้ขาย โดยผู้ที่มีหน้าที่รับภาระสูงสุดก็คือ "ผู้บริโภค" อย่างเราๆท่านๆนี่แหละคร้าบบบบ
ตัวอย่างเช่น ประเทศแห่งหนึ่งที่มีความสงบสุขประชาชนไม่แบ่งฝ่ายแบ่งฝากจนปวดหัว (แหม่... มีด้วยหรือครัสส) มีนโยบายจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากประชาชนในอัตรา 7%
บริษัท ทักกี้ จำกัด ได้ซื้อวัตถุดิบและวัสดุอุปกรณ์มาจำนวน 107 บาท โดยมีราคาสินค้าจำนวน 100 บาทและภาษีซื้อจำนวน 7 บาท เมื่อผลิตเป็นสินค้าขายและขายให้บริษัท มาร์คกี้ จำกัด ในราคาค่าสินค้า 200 บาท บริษัททักกี้ จะต้องเรียกเก็บภาษีขายจำนวน 14 บาท ทำให้มูลค่าสินค้าทั้งสิ้นที่ต้องเรียกเก็บจาก บริษัทมาร์คกี้ คือ 214 บาท
หลังจากนั้น บริษัททักกี้จะมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะผลต่างจำนวน 14 - 7 = 7 บาท ให้แก่กรมสรรพากร ถ้าการซื้อขายนั้นเกิดขึ้นภายในเดือนภาษีเดียวกัน
ส่วนบริษัทมาร์คกี้ ถ้าหากนำสินค้าที่ซื้อจากบริษัททักกี้ ไปผลิตต่อแล้วจึงนำไปขายต่อให้ผู้บริโภคในราคา 500 บาท บริษัทมาร์คกี้ จะมีหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้บริโภคจำนวน 35 บาท โดยที่ผู้บริโภคต้องจ่ายภาษีจำนวนนี้และไม่สามารถเรียกเก็บต่อจากใครได้อีกเลย (ภาระมันอยู่ตรงนี้!! มันเจ็บ #นี่พูดเลย)
ในทางกลับกัน ภาษีเงินได้นั้นถือเป็น "ภาษีทางตรง" หรือภาษีที่ผู้เสียภาษีต้องเป็นผู้แบกรับภาระของภาษีนั้นทั้งหมด โดย "ไม่สามารถผลักภาระภาษี" ไปให้ผู้อื่นได้เลย (ตัวใครตัวมัน!!) โดยปกติแล้วภาษีทางตรงมักจะเรียกเก็บจากเงินได้หรือรายได้สุทธิ เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะเสียจาก "รายได้สุทธิ" ส่วนนิติบุคคลส่วนใหญ่ก็จะเสียจาก "กำไรสุทธิ" เป็นหลักครับ (จริงๆแล้วมีฐานอื่นด้วยแต่ส่วนใหญ่แล้วจะเสียจากฐานนี้เป็นหลักครับ)
ดังนั้นไม่ว่าจะใช้ชีวิตยังไง เราทุกคนก็หนีไม่พ้นภาษีที่ต้องจ่าย ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม และถึงแม้เราจะเสียภาษีมากหรือน้อย ก็ไม่สำคัญเท่ากับเราได้เสียภาษีถูกต้องแล้วหรือไม่ ดังนั้นเราทุกคนควรภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ประชาชนอย่างสมบูรณ์แล้วล่ะคร้าบบบบบบบบ
Credit
https://www.facebook.com/TaxBugnoms?ref=stream&hc_location=stream