[บ่น] Amazon กับ Lord of the Rings
ใจความหลักที่จะบ่นก็คือ “ผมรู้สึกว่า Amazon เข้าใจผิดอยู่หรือเปล่า ว่าเสน่ห์ของ The Lord of the Rings อยู่ตรงไหน” (กดปิดกระทู้ได้เลยครับ เนื้อหามันจะวน ๆ อยู่แถว ๆ นี้นี่แหละ)
บทนำ
ขออนุญาตเกริ่นก่อนว่ากระทู้นี้ ถือว่าเป็นการระบายความรู้สึกในฐานะแฟน The Lord of the Rings เท่านั้น ส่วนทาง Rings of Power ใครจะชอบหรือไม่ชอบจะไม่พูดถึงนะครับ
ก่อนจะเข้าเนื้อหา ต้องบอกตามตรงว่าตอนประกาศทำ Rings of Power ผมตื่นเต้นมาก ๆ แต่ยิ่งปล่อยบทสัมภาษณ์และตัวอย่างเริ่มออกมาให้ดู ก็ยิ่งรู้สึกว่าต้องทำใจเอาไว้ล่วงหน้าได้เลย
ปัญหาแรกที่ใหญ่ที่สุดคือ ดูเหมือน Amazon จะไม่ได้สิทธิในหนังสือตำนานแห่งซิลมาริล (The Silmarillion) ที่เป็นหนังสืออ้างอิงเล่มหลักของเหตุการณ์ก่อนยุคที่สามที่ปรากฎใน The Lord of the Rings
โดยผู้เขียนบทอย่าง J.D. Payne ก็เคยให้สัมภาษณ์กับ Total Film ไว้ว่า “Amazon ได้ซื้อสิทธิในหนังสือฮอบบิทและไตรภาคแห่งแหวน ซึ่งรวมถึงภาคผนวกด้วย...”
(“Amazon bought the rights to the trilogy, the appendices, and The Hobbit. They said the field was wide open: ‘Any story within that material, you can go and tell.’ You had people pitching the Young Aragon show, or the Gimli spin-off.”, https://www.gamesradar.com/lord-of-the-rings-the-rings-of-power-interviews-amazon/)
หรือใน Vanity Fair เอง ก็กล่าวถึงประเด็นนี้แบบเลี่ยง ๆ ไว้ว่า “ซีรี่ย์ของ Amazon ที่จะออกฉายทาง Prime Video ในวันที่ 2 กันยายน จะไม่ได้สร้างมาจากนวนิยายของ Tolkien แต่จะอิงอยู่เรื่องเล่ามากมาย Tolkien เองได้ประพันธ์เอาไว้ในภาคผนวกของไตรภาคแห่งแหวน”
(“Amazon’s show, which debuts on Prime Video on September 2, is based not on a Tolkien novel per se but on the vast backstory he laid out in the appendices to the Lord of the Rings trilogy.”, https://www.vanityfair.com/hollywood/2022/02/amazon-the-rings-of-power-series-first-look)
และมีการกล่าวถึงแบบตรงไปตรงมาอีกครั้งใน Vanity Fair ว่า “นั่นคือทั้งหมดที่เรามี (หมายถึงสิทธิในหนังสือไตรภาคแห่งแหวน) เราไม่มีสิทธิใน The Silmarillion, Unfinished Tales, The History of Middle-earth, or any of those other books.”
(“And that is it. We do not have the rights to The Silmarillion, Unfinished Tales, The History of Middle-earth, or any of those other books.”, https://www.vanityfair.com/hollywood/2022/02/10-burning-questions-about-amazons-the-rings-of-power)
แปลว่า Amazon จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับยุคที่สองโดยตรงจากปลายปากกาของ J.R.R. Tolkien แค่ 4 หน้ากระดาบเท่านั้นเอง หากไม่นับรวมข้อมูลประกอบอื่น ๆ เช่น ผังตระกูลพรายเจ้า การสืบตระกูลของคนแคระ ฯลฯ
แถมท้ายด้วยบทสัมภาษณ์ท่อนนี้ของ Patrick McKay ผู้เขียนบท ที่เหมือนเปิดแผลของผมแล้วเอาเกลือทาลงไป โดย McKay ให้สัมภาษณ์ว่า “เป็นไปได้มั้ยที่เราจะสร้างเรื่องราวที่ Tolkien ไม่ได้เขียนเอาไว้ และทำมันในระดับมหากาพย์...”
(“Can we come up with the novel Tolkien never wrote and do it as the mega-event series that could only happen now?”, https://www.vanityfair.com/hollywood/2022/02/amazon-the-rings-of-power-series-first-look)
ผมได้แค่ตะโกนอยู่ในใจว่า ไม่ได้อยากดูซีรี่ย์ของ Patrick McKay กับ J.D. Payne แม้แต่นิดเดียว คนเขาอยากดูงานของ Tolkien ต่างหาก แต่ในใจก็ยังหวังว่ามันจะออกมาดี
มาเข้าเรื่องกันดีกว่า ว่าอะไรที่ผมรู้สึกว่า Amazon ไม่เข้าใจแฟน ๆ หนังสือ
(1) - ว่าด้วยเรื่องของฮอบบิท
เป็นที่รู้กันดีว่าโลกมิดเดิ้ลเอิร์ทกำเนิดขึ้นจาก ประโยคสั้น ๆ จากปลายปากกาของ Tolkien ว่า “In a hole in the ground there lived a hobbit..." แต่ว่าฮอบบิทสำคัญอย่างไรกับ The Lord of the Rings?
Tolkien เลือกที่จะดำเนินเรื่องของทั้งฮอบบิทและไตรภาคแห่งแหวน ผ่านสายตาของฮอบบิทเป็นผู้เล่าเรื่องราว ผ่านการจดบันทึกในสมุดปกแดงโดยบิลโบ โฟรโด และแซม การเล่าเรื่องผ่านฮอบบิทซึ่งแตกต่างจากหลักนิยมที่มักเล่าเรื่องผ่านมนุษย์เป็นตัวละครหลัก แต่ถ้ามองเร็ว ๆ แล้ว ฮอบบิทมีความคล้ายกับมนุษย์มาก แต่ก็ไม่ได้เป็นผู้เดินเรื่องตามขนบของการผจญภัยทั่วไป
จึงเป็นที่มาของปัญหาแรกของ Rings of Power คือ การไม่เข้าใจว่าความตัวเล็กและธรรมดาของฮอบบิทไม่ได้เป็นเสน่ห์ในตัวของมันเอง แต่ด้วยความตัวเล็กและอ่อนต่อโลกนี่แหละ ที่ขับเน้นให้การเดินทางออกไปยังโลกภายนอกโดยเฉพาะในหนังสือเล่มแรก (คณะเดินทางแห่งแหวน) เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนให้คนอ่านได้ตื่นเต้นและลุ้นระทึกไปกับการผจญภัย
แต่เมื่อ Rings of Power ตั้งเป้ามาว่า เราต้องมีฮอบบิทในเรื่องให้ได้ เพราะตัวละครพวกนี้ ช่างน่ารักและน่าสนใจ จึงติดกับดักเข้าเต็มเปา เพราะฮอบบิทเอง ไม่ได้แตกต่างกับมนุษย์ถึงขนาดนั้น หากไม่มีเหตุการณ์ภายนอกมาช่วยขับเน้นการตัดสินใจของคนตัวเล็กพวกนี้
(2) - ว่าด้วยเรื่องของคนตัวเล็ก
ถ้าผมถามว่าใครคือตัวละครเอกของ The Lord of the Rings ผมคิดว่าทุกคนน่าจะตอบได้ไม่ยากว่าคือ โฟรโด นั่นเอง แต่ถ้าเรามองย้อนกลับไป จะเจอว่าตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง โฟรโดไม่ได้ฟันดาบเก่งขึ้น มีเรี่ยวแรงมากขึ้น หรือฉลาดขึ้นเหมือนการนิยายผจญภัยตามปกติ ส่วนบิลโบจะแตกต่างออกไปเล็กน้อยจากการที่ฮอบบิทถูกเขียนในลักษณะวรรณกรรมเยาวชน
ใช่ครับ เส้นเรื่องหลักของ The Lord of the Rings ไม่ใช่อารากอร์นรวบรวมพลังผู้กล้าไปปราบจอมมาร ไม่ใช่การเดินทางฝึกวิชาไปแก้แค้นให้อาจารย์ แต่พลังอันยิ่งใหญ่ที่สุดของ The Lord of the Rings คือการเอาชนะด้วยจิตใจ
ในขณะที่การเดินทางของอารากอร์น คือ การเดินทางของวีรบุรุษตามธรรมเนียมนิยมที่รวบรวมประสบการณ์และความกล้าเพื่อล้มล้างจอมมาร แต่การเดินทางของโฟรโดคือการต่อสู้กับจิตใจ ความกลัวและการล่อลวงจากแหวน หรือจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพก็คือ แซม ในภาคสามที่เด็ดเดี่ยวยิ่งกว่าใคร ๆ ในคณะเดินทางแห่งแหวน
จะเห็นว่า Peter Jackson ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มากทั้งในฉากบทสนทนาในเหมือง Moria ที่โฟรโดระบายความในใจกับแกนดัลฟ์ว่าถ้าเป็นไปได้ก็ไม่ได้อยากให้แหวนมาอยู่ในมือของตน ซึ่งแกนดัลฟ์ตอบกลับไปว่าชีวิตเต็มไปด้วยเรื่องที่เลือกไม่ได้ หรือในฉาก “You bow to no one.” ในภาคสาม ที่เป็นฉากจบองก์ของตัวละครอารากอร์น เพื่อส่งให้คนดูทุกคนได้อิ่มเอมกับฮอบบิทที่เป็นผู้เดินเส้นเรื่องหลักของ The Lord of the Rings แบบเต็มอิ่ม
(3) – ว่าด้วยเรื่องของความสามารถและองค์ประกอบของคณะเดินทาง
หลาย ๆ ท่านอาจจะพอคุ้นหูคุ้นตา ข่าวคราวที่เหล่านักแสดงจาก The Lord of the Rings กลับมารวมพลกันทาง Zoom ซึ่งกระแสตอบรับจากแฟน ๆ เรียกได้ว่าเป็นระดับปรากฎการณ์เลยทีเดียว อะไรที่ทำให้คนดูผูกพันกับตัวละครขนาดนั้น ทั้งที่ตัวภาพยนตร์ฉบับที่เข้าฉายสั้นกว่า Rings of Power ด้วยซ้ำ
ต้องบอกว่าความสำเร็จของคณะเดินทางแห่งแหวนคือ การนำเสนอความเติบโตของตัวละครออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติมาก ๆ ธรรมชาติในระดับที่คนเอาอารากอร์นในภาคสามไปใช้ตำหนิอารากอร์นในภาคแรกเรื่องความเป็นผู้นำ ทั้งที่จริง ๆ แล้วผู้นำของคณะเดินทางแห่งแหวนคือแกนดัลฟ์ต่างหาก และอารากอร์นเองก็ตัดสินใจผิดพลาดติดต่อกัน จนคณะเดินทางล่มสลาย หรือพูดง่าย ๆ ก็คือภารกิจล้มเหลวและอารากอร์นตัดสินใจไปล่าผีร้ายแบบ YOLO แล้วในตอนต้นของภาคที่สอง
หรือคนอาจจะติดภาพว่าเหล่าพรายเจ้าต้องฉลาดรอบรู้สิ ดูอย่างเอลรอนด์ที่เรียกประชุมเพื่อหาคำตอบเรื่องแหวนสิ ซึ่งในหนังสือมันเป็นการประชุมที่ผู้คนจากหลายอาณาจักรบังเอิญนำปัญหามาปรึกษาเอลรอนด์พร้อม ๆ กัน จนเกิดเป็นที่ประชุมขึ้นมา
ซึ่งพอหันมาดู Rings of Power ที่เหมือนจะพยายามประหยัดบทตัวละคร ด้วยกันยำรวมมิตรแกนดัลฟ์ อารากอร์น กิมลี เลโกลัส เป็นตัวละครเดียวแบบครบวงจรมันเสียเลย เรียกได้ว่าดูมาถึงตอนนี้ ยังแทบจะไม่รู้สึกผูกพันกับตัวละครตัวไหนเลย
(4) – ว่าด้วยเรื่องของยุคสมัยแห่งวีรบุรุษที่ถูกป้ายสี
ท่านคิดว่าแฟน ๆ อยากเห็นอะไรในยุคที่สองของ The Lord of the Rings ยุคที่พรายเจ้ายังท่องไปในโลกกว้าง แม้จะไม่ยิ่งใหญ่เท่ายุคที่หนึ่ง แต่โลกก็ยังเต็มไปด้วยวีรบุรุษมากมาย แฟน ๆ ไม่รู้เท่าไหร่ ตั้งหน้าตั้งตารอดู กิลกาลัด องค์กษัตริย์แห่งโนลดอร์พระองค์สุดท้าย หรือจะเป็นผู้ก่อตั้งอานอร์อย่าง เอเรนดิล
ยุคที่สอง คือ ยุคที่เหล่าวีรชนที่บทเพลงและบทกวียุคที่สามยังหวนรำลึกถึงเหล่าผู้ยิ่งใหญ่ให้เราได้ฟังในยุคที่สาม ชาวนูเมนอร์ที่เก่งกล้าจนเซารอนยังไม่อาจต่อกรได้ ตัวอย่างเช่น กิลกาลัด องค์กษัตริย์แห่งพรายเจ้าโนลดอร์ที่ปกครองเหล่าพรายเจ้ามาตั้งแต่ยุคที่หนึ่งและครองราชย์ยาวนานถึง 3,400 ปี จนได้ชื่อว่าทั้งทรงปัญญาและกล้าหาญไม่มีใครทัดเทียม ที่ผมตั้งหน้าตั้งตารอดู แล้วใน Rings of Power เอามาเป็นกระสอบทรายชัด ๆ
(5) - ว่าด้วยเรื่องของการรบ
ถ้าถามว่าฉากที่เป็นเพชรยอดมงกุฎของ The Lord of the Rings คือฉากไหน? แน่นอนว่าคงหนีไม่พ้นฉากศึกป้อมเฮลม์ดีฟ หรือการเข้าประจันบาญของทหารม้าโรฮัน หรือศึกประตูดำ ซึ่งบอกตามตรงว่า Rings of Power ทำได้ไม่ถึงเป้าเลย
ซึ่งในที่นี้ ผมไม่ได้พูดถึงเรื่องขนาดการต่อสู้นะ แต่พูดถึงการลงรายละเอียด จะเห็นว่า Tolkien ให้ความสำคัญกับรายละเอียดของสงครามในแต่ละสมรภูมิมาก ๆ มีการกำหนดภาพรวมของการศึกให้คนอ่านเข้าใจ มีการกล่าวถึงแผนแวดล้อม เช่น การต่อแพ หรือ การส่งหน่วยไปแบ่งแยกโจมตีเพื่อลดกำลังเสริม การวางหน่วยสอดแนมและม้าเร็วส่งข่าว ซึ่งใน Rings of Power
อยู่ดี ๆ ก็ล่องเรือมากันกองเล็กนิดเดียวทั้งที่มีคนสำคัญมาด้วย และรู้ด้วยว่าจะต้องมาต่อสู้ อยู่ดี ๆ ก็รู้ว่าต้องไปสู้กับผีร้ายที่ไหน รู้ทุกอย่างว่าผีร้ายจะทำอะไรบ้าง หรือการไปตั้งรับในที่มั่นอย่างหอระวังภัยของพวกพราย แล้วก็ทิ้งที่มั่นง่าย ๆ แค่ทุบหอคอยลงมา แล้วมาสู้กับผีร้ายในหมู่บ้านที่ตอนแรกก็มีบทพูดเองว่าไม่เหมาะจะใช้เป็นที่ตั้งรับ ทุกอย่างมันดูมึนงงกันไปหมด
(6) – ว่าด้วยเรื่องของโลกใบนี้
หลาย ๆ ครั้ง คนมักมองข้ามความมหัศจรรย์ของ The Lord of the Rings ในเรื่องของความเป็นเอกภาพของโลกมิดเดิ้ลเอิร์ท ในยุคสมัยที่เริ่มตีพิมพ์ The Lord of the Rings จัดเป็นวรรณกรรมส่วนน้อยมาก ๆ ที่พูดถึงโลกอีกใบที่สมบูรณ์ในตัวเองและแยกต่างหากจากโลกแห่งความจริงอย่างแท้จริง จะไม่ใช่การไปผจญภัยในเนเวอร์แลนด์ก่อนจะกลับมาที่ห้องนอน หรือการหาทางกลับบ้านในวันเดอร์แลนด์
มันคือการหลุดเข้าไปในอีกโลกจริง ๆ โลกที่มีวัฒนธรรม ภาษา มีแผนที่และประวัติศาสตร์ยาวเหยียด แต่โลกของ Rings of Power ไม่ให้ความรู้สึกนั้นเลย ส่วนหนึ่งเพราะโครงสร้างของเรื่องที่ร้อยเรียงเรื่องราวได้ไม่ราบรื่นเท่าที่ควร มีการข้ามไปมาตลอดเวลาและข้ามเวลาอีกต่างหาก ทำให้คนดูไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้ และความพยายามเอาแนวคิดสมัยใหม่มายัดลงไปใน Rings of Power จนลืมคิดไปว่าโลกแฟนตาซี มันจะสนุกได้ก็เพราะความเป็นแฟนตาซีของมัน ไม่ใช่เพราะความคล้ายกับโลกแห่งความจริง
(7) - ว่าด้วยเรื่องของคนช่างอ่าน
รู้หรือไม่ว่าทำไมลำดับของเหตุการณ์และปีที่เกิดขึ้นจึงสำคัญมาก ๆ ในยุคที่สอง ทำไมคนถึงจำกันได้ว่าเซารอนสร้างแหวนในปีที่เท่าไหร่ของยุคที่สอง แต่กลับจำไม่ได้ว่าโฟรโดได้รับแหวนจากบิลโบในปีที่เท่าไหร่ของยุคที่สาม ทั้งที่เป็นเหตุการณ์สำคัญเท่ากัน ก็เพราะว่ายุคที่สองมันมีแค่ลำดับปีศักราชให้แฟน ๆ ได้ขุดได้คุ้ยมาอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่านั่นเอง
เมื่อผู้เขียนแก้บทจนแตกต่างจากต้นฉบับขนาดนี้ แฟน ๆ ก็ยิ่งเห็นชัด เพราะมันคือ ปีศักราชแค่ไม่กี่หน้าที่อ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อจินตนาการภาพว่าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในรูปแบบไหนกันนะ แต่ Amazon กลับเลือกจะโยนประเด็นนี้ออกนอกหน้าต่างไปแบบไม่ใยดีแม้แต่น้อย
ขออภัยที่ทำให้กระทู้ดี ๆ ตกไป