[บทความ] 15 ปี “Glazer Out” (Part 1/2)
ช่วงนี้พอมีเวลาผมเลยลองนั่งเขียนบทความดู (ว่าจะเขียนมาตั้งนานละ) .... พอเริ่มลองเขียนแล้วรู้สึกว่าหัวใจเต้นเร็ว อะดรินาลีนสูบฉีด เลยอยากให้ตัวเองยังมีความรู้สึกแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ .... ผมเลยทำเป็นเพจให้รู้แล้วรู้รอดกันไปเลย .... ผมจะทิ้งช่องทางติดตามไว้ด้านล่างนะครับ .... ชอบกด LIKE ใช่กด SHARE .... อ่านแก้เหงาสู้ COVID .... อ่านให้มีความสุขนะครับ
15 ปี “Glazer Out” (Part 1/2)
“Glory glory Man United,
Glory glory Man United,
Glory glory Man United,
As the reds go marching on on on!”
เสียงเชียร์ทีมปีศาจแดงที่ดังกึกก้องโรงละครแห่งความฝัน จากแฟนผีที่ขายวิญญาณให้ปีศาจแห่งเมืองแมนเชสเตอร์ จนกระทั่ง ปี 2005 ตระกูลเกลเซอร์ ครอบครัวเศรษฐีชาวอเมริกัน ได้ทุ่มเงินราว 790 ล้านปอนด์ เข้าถือหุ้นทีมผีแดง แห่งเมืองแมนเชสเตอร์ อย่างเบ็ดเสร็จ พร้อมกุมอำนาจในการบริหารทีมทั้งหมด จากนั้น “Glazer Out” ก็เป็นอีกหนึ่งเสียงจากใจแฟนผีที่ดังสนั่นขึ้นมาพร้อม ๆ กับเสียงเชียร์นักฟุตบอลอันเป็นที่รักของแฟนบอล วันนี้ผมจะพาทุกคนย้อนกลับไปในวันที่เสียงตะโกน “Glazer Out” เริ่มดังขึ้น
-------------------------------------------------------------------------
ก่อนอื่นคงต้องย้อนไปในปี 1928 ที่มหานครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา บุตรคนที่ 5 ของครอบครัวอพยพชาวยิว - ลิทัวเนียได้ลืมตาดูโลก เขามีชื่อว่า มัลคอล์ม เออร์วิง เกลเซอร์ (Malcolm Irving Glazer) ตั้งแต่อายุ 15 ปี หลังจากการสูญเสียคุณพ่อ มัลคอล์ม เริ่มก้าวเข้าสู่โลกธุรกิจเต็มตัวจากขายนาฬิกาโดยหาลูกค้าจากการขายตรงตามบ้าน (เคาะประตูขายของ) ธุรกิจของเขาเริ่มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนได้สัมปทานซ่อมนาฬิกาให้กองทัพอากาศ และได้ขยายอาณาจักรธุรกิจไปอีกหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ ธนาคาร จิวเวอร์รี่ ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า สถานีโทรทัศน์ พลังงาน ฯลฯ
กระทั่งในปี 1995 ครอบครัวเกลเซอร์ เริ่มชิมลางในธุรกิจกีฬาเป็นครั้งแรก ซึ่งขณะนั้นเจ้าของเดิมของทีมแทมปาเบย์ บัคคาเนียร์ส ในศึกอเมริกันฟุตบอล (NFL) ได้เสียชีวิตลง และทายาทผู้รับช่วงต้องการที่จะขายทีมออกไป ครอบครัวเกลเซอร์ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยพวกเขาปล่อยให้นักลงทุนหลายรายเข้าเจรจาซื้อขายทีม ก่อนจัดดีลสุดเซอร์ไพร์ทุ่มเงิน 192 ล้านเหรียญฯ หรือราว 6,100 ล้านบาท เป็นสินสอดให้แก่เจ้าของทีมแทมปาเบย์ ซึ่งถือเป็นดีลการซื้อขายทีมอเมริกันฟุตบอลที่มีมูลค่าสูงสุดในขณะนั้น
ภายหลังการ takeover เสร็จสิ้น เกลเซอร์ผู้พ่อได้ดำเนินการยื่นเรื่องขออนุมัติให้สร้างสนามเหย้าแห่งใหม่แก่สภาเมืองฮิล์สโบโร่ รัฐฟลอริดา โดยสนามแห่งใหม่จะใช้ชื่อว่า “Raymond James Stadium” ความจุ 65,000 ที่นั่ง (ขยายได้ถึง 75,000 ที่นั่ง) มูลค่าในการก่อสร้าง 168.5 ล้านเหรียญฯ เพื่อแทนที่ Tamba Stadium ที่เปิดใช้งานมาตั้งแต่ปี 1967 โดยในรายละเอียดได้สรุปว่าให้สภาเมืองฮิล์สโบโร่ ขึ้นภาษี (Sales Tax คล้ายกับ VAT ของไทย) 0.5% เพื่อนำมาเป็นงบประมาณในการก่อสร้างทั้งหมด ซึ่งสนามได้ก่อสร้างเสร็จและเปิดใช้งานในเดือนกันยายน 1998 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี
ในเวลาเดียวกันที่ทีมได้ยื่นเรื่องขอสร้างสนามแห่งใหม่ มัลคอล์ม เกลเซอร์ได้มอบหมายให้ลูกชาย 3 คน คือ โจล (Joel) ไบรอัน (Byran) และเอ็ดเวิร์ด (Edward) เกลเซอร์ ให้เข้ามาบริหารทีมเต็มตัว สามพี่น้องเกลเซอร์เข้ามาพลิกโฉมทีมที่เข้ารอบ playoffs เพียง 3 ครั้ง นับตั้งแต่ก่อตั้งทีมในปี 1976 ให้กลายเป็นทีมได้เข้ารอบ playoffs ถึง 4 ใน 6 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 1996 - 2001 และคว้าแชมป์ซุปเปอร์โบว์ล ได้เป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์สโมสรในปี 2002
จากความสำเร็จในครั้งนี้ Statista บริษัทที่รวบรวมข้อมูลทางสถิติสัญชาติเยอรมัน รายงานมูลค่าของทีมเพิ่มขึ้นเป็น 606 ล้านเหรียญฯ แสดงให้เห็นว่าภายในระยะเวลาเพียง 7 ปี ครอบครัวเกลเซอร์ทำกำไรจากมูลค่าทีมที่เพิ่มขึ้นถึง 414 ล้านเหรียญฯ หรือคิดเป็นกำไร 215% จากเงินลงทุนซื้อทีมในปี 1995 ปัจจุบัน Statista ได้รายงานว่าในปี 2019 ทีมแทมปาเบย์ฯ มีมูลค่า 2,200 ล้านเหรียญฯ เท่ากับว่าครอบครัวเกลเซอร์ ทำกำไรจากการลงทุนครั้งนี้ ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านเหรียญฯ หรือ 64,000 ล้านบาท กำไรจำนวนนี้ยังไม่รวมเงินปันผลที่ได้รับในแต่ละปี ความหอมหวานในตัวเลขนี้เองที่ดึงดูดให้ตระกูลเกลเซอร์หลงไหลการลงทุนในธุรกิจกีฬาต่อไป
-------------------------------------------------------------------------
ภายหลังที่ประสบความสำเร็จอย่างสวยงามกับการลงทุนในศึกคนชนคน ครอบครัวเกลเซอร์พยายามที่จะบรรลุข้อตกลงในการซื้อทีมแอลเอ ดอชเจอร์ (LA Dodgers) ทีมเบสบอลชื่อดังแห่งเมืองลอสแอนเจลิส แต่ไม่ประสบควรสำเร็จ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จึงกลายเป็นเป้าหมายใหม่ของครอบครัวเกลเซอร์ ด้วยสโมสรมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งที่สุดในยุโรปในเวลานั้นและมีฐานแฟนบอลทั่วทุกมุมโลก ในปี 2003 ยูไนเต็ดยังไม่มีผู้ใดสามารถครอบครองทีมได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่ทีมมีกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 กลุ่มหลัก คือ
1. British Sky Broadcasting Limited (BSkyB) ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Sky UK Limited เจ้าของช่อง Sky Sport ที่ถือครองหุ้นอยู่ 9.9%
2. Cubic Expression ของจอห์น แม็กเนียร์ (John Magnier) และ เจ.พี. แม็กมานัส (J.P. McManus) สองมหาเศรษฐีชาวไอริชเพื่อนซี้ของเซอร์อเล็กซ์ฯ ถือหุ้น 8.65% และ
3. กลุ่มของแฮร์รี่ ด็อบสัน (Harry Dobson) และผองเพื่อน นักธุรกิจเจ้าของเหมืองพันล้านคนบ้านเดียวกับเซอร์อเล็กซ์และยังเป็นผู้ถือหุ้น 20% ของทีมกลาสโกว์ เซลติค ทีมฟุตบอลชื่อดังแห่งสก็อตแลนด์ ซึ่งกลุ่มของแฮรี่เพิ่งจะซื้อหุ้นมาจากมาร์ติน เอ็ดเวิร์ด อดีต CEO ของแมนยูฯ และครอบครัว ทำให้พวกเขาถือหุ้นอยู่ 6.5% ขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 3 ของทีม
กลุ่ม Cubic Expression ของสองนักธุรกิจไอริช ดูจะมีความต้องการที่จะยึดครองโรงละครแห่งความฝันไว้มากที่สุด ทั้งสองคนทยอยซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายย่อยและประสบความสำเร็จในการทุ่มเงิน 62 ล้านปอนด์ เพื่อซื้อหุ้นจาก BSkyB ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของทีม ทำให้ Cubic Expression ถือหุ้นของปีศาจแดง 23.15% ขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของทีมในทันที แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น จอห์น แม็กเนียร์ และเซอร์อเล็กซ์ฯ ผิดใจกันเรื่องสัดส่วนในความเป็นเจ้าของม้าแข่งชื่อ “ร็อค ออฟ ยิบรอลตาร์ หรือ Rock of Gibraltar” ม้าแข่งระดับแชมป์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในช่วงเวลานั้น (ชนะ 10 จาก 13 สนาม และเป็นการชนะ 7 สนามรวด) ในเมื่อทั้งสองไม่สามารถตกลงกันได้ จนเรื่องได้เลยเถิดบายปลายถึงขั้นฟ้องร้องขึ้นศาลในที่สุด
จากการผิดใจกันเรื่องม้า ม้า ทำให้ในเดือนมกราคม 2004 จอห์น แม็กเนียร์ และ เจ.พี. แม็กมานัส ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ยื่นเรื่องต่อบอร์ดบริหารของแมนยูฯ เพื่อสอบสวนท่านเซอร์ฯ เรื่องดีลการซื้อขายนักของทีม 13 คน อย่าง ริโอ เฟอร์ดินาน ฮวน เซบาสเตียน เวรอน คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ฯลฯ ในหนังสือที่ยื่นให้สโมสร สองนักธุรกิจไอริชจัดเต็มด้วย คำถาม 99 ข้อ ทั้งเรื่องการซื้อขายที่คาดว่ามีความไม่โปร่งใสในหลายดีลในช่วงเวลานั้น ความเหมาะสมของการจ่ายค่าจ้างริโอ กว่า 7 หมื่นปอนด์ต่อสัปดาห์ ทั้งที่เจ้าตัวโดนแบนจากเรื่องการใช้สารกระตุ้น การจ่ายค่าธรรมเนียมจำนวนมหาศาลให้แก่เอเย่นต์ของนักเตะ ฯลฯ เดวิด กิลล์ CEO ของทีม รับเรื่องเอาไว้ และบอกว่าจะสอบสวนเรื่องให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม Cubic Expression ยังคงไล่ล่าซื้อหุ้นของสโมสรต่อไป จนถือครอง 28.7% ของสโมสร
-------------------------------------------------------------------------
ท่ามกลางข่าวการ takeover ของสโมสร และดราม่าของสองนักธุรกิจไอริช ครอบครัวเกลเซอร์ได้เริ่มแผนการที่จะครอบครองยูไนเต็ด ในวันที่ 2 มีนาคม 2003 พวกเขาซื้อหุ้นล๊อตแรกด้วยเงินประมาณ 9 ล้านปอนด์ คิดเป็นสัดส่วนหุ้น 2.9% ของหุ้นทั้งหมด และเพิ่มเป็น 3.17% ในสิ้นเดือนกันยายนของปีเดียวกัน ด้วยกฏการซื้อขายหุ้นของตลาดหลักทรัพย์ของประเทศอังกฤษ (London Stock Exchange: LSE) ระบุว่า ใครก็ตามที่ถือหุ้นเกิน 3% ของบริษัท จะต้องรายงานให้ทีมบริหารของบริษัทที่ถูกซื้อหุ้นรับทราบ จึงเปรียบเสมือนการประกาศเข้าร่วมสงครามครั้งนี้อย่างเป็นทางการของครอบครัวเกลเซอร์
จากนั้นในเดือนต้นตุลาคม 2003 ครอบครัวเกลเซอร์ ซื้อหุ้นจากนักลงทุนรายย่อยเพิ่มเป็น 8.94% ก่อนสิ้นเดือนตุลาคม พวกเขาถือหุ้นของสโมสรเป็น 9.66% และก่อนจะจบเดือนพฤศจิกายน ตระกูลเกลเซอร์ ทุ่มเงินซื้อหุ้นเพิ่มอีก 4.5% ส่งผลให้พวกเขาใช้เวลาเพียง 2 เดือน นับจากการรายงานการเข้าถือหุ้น ในการรวบรวมหุ้นได้เกือบครบ 15% หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน รายงานเพิ่มเติมว่า มัลคอล์ม เกลเซอร์ ได้นัดคุยกับเดวิด กิลล์ อย่างลับ ๆ เกี่ยวกับดีลการซื้อขายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และ ณ ตอนนี้มิสเตอร์เกลเซอร์ ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับสอง รองจากกลุ่ม Cubic Expression เพียงเท่านั้น
------ อ่านให้มีความสุขนะครับ #มือใหม่หัดเขียน ------
------ Blockdit: onthepitchth >>>>
https://www.blockdit.com/onthepitchth
------ FB: OnthePitchTH >>>>
https://www.facebook.com/OnthePitchTH/