“ตำบลเราไม่ได้มีสนามฟุตบอล เราที่เล่นฟุตบอลกันในทุ่งนา มาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่า นี่คือตัวตนและวิถีชีวิตของเรา และเราแค่ต้องการสื่อสารสิ่งนี้ให้คนภายนอกได้รับรู้แค่นั้นเอง”
ภาพของสนามฟุตบอลขนาดเล็ก ที่ใช้หญ้าฟางมาประกอบร่างกันเป็นอัฒจันทร์ล้อมรอบ กลายเป็นกระแสให้ผู้คนบนโลกโชเซียลได้พูดถึงไม่น้อยช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา
สนามแห่งนี้มีชื่อว่า “อบต.หนองกะปุ สเตเดียม” ตั้งอยู่บริเวณริมทางเข้า “งานวัวเทียมเกวียนและบ้านลาด 103 ปี” งานใหญ่ประจำปีของพี่น้องชาวอำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ที่ย้ายสถานที่จัดงานจากเดิม ตรงบริเวณริมถนนเพชรเกษม มาอยู่ที่ บริเวณทุ่งนา (ทุ่งทอง) หมู่ 5 ตำบลท่าช้าง
Main Stand ส่ง “อลงกต เดือนคล้อย” นักเขียนของเรา ที่มีภูมิลำเนาเป็นคนเพชรบุรี ฝ่าดงตาลสู่ลานวัว เพื่อไปสัมผัสบรรยากาศสังเวียนลูกหนังหญ้าฟาง ที่เกิดขึ้นจากน้ำพักน้ำแรง และความคิดสร้างสรรค์ของคนหนองกะปุ
ที่ต้องการบอกเล่าวิถีชีวิต ตัวตน ผ่านการสร้างสนามบอล ที่สุดแสนจะแปลกตา จนกลายเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของงานวัวเทียมเกวียนประเพณีปีนี้
วัว เกวียน คน
“งานวัวเทียมเกวียน เป็นประเพณีของชาวบ้านอำเภอบ้านลาด ในอดีตชาวบ้านจะใช้วัวและเกวียน ในการขนส่งพืชผลทางการเกษตร หลังเสร็จฤดูเก็บเกี่ยว ก็จะชักชวนกันมาจัดแข่งขันวัวเทียมเกวียนมาเป็นเวลาช้านาน”
“กระทั่งในยุคที่มีการนำเครื่องจักรเข้ามาใช้แทนเกวียน และชาวบ้านเริ่มใช้วัวทำการเกษตรน้อยลง ประเพณีตรงนี้ก็หายไปช่วงหนึ่ง กระทั่งทางอำเภอบ้านลาด ได้มีการรื้อฟื้นนำเอาการแข่งขันวัวเทียมเกวียนบ้านลาดกลับมาจัดอีกครั้ง โดยจัดควบคู่กับงานประจำปีพระนครคีรี บริเวณริมถนนเส้นเพชรเกษม (ขาล่องใต้)”
สุวรรณ หว่างจิตร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกะปุ ที่เป็นคนบ้านลาดโดยกำเนิด อธิบายถึงที่มาที่ไปของ งานวัวเทียมเกวียนประจำปี ที่จัดขึ้นมาหลายชั่วอายุคน และมีวิวัฒนาการไปตามยุคสมัย
จากในอดีตที่เป็นเพียงการละเล่นของ ชาวบ้านในอำเภอบ้านลาด ที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับวัวและเกวียน และมานำแข่งขันกันเพื่อความสนุกสนาน และเป็นกิจกรรมชุมชนหลังสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยวเป็นประจำ ต่อมาได้มีการพัฒนามาสู่การแข่งขันที่เป็นรูปแบบ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่ วัวเทียมเกวียน ประเภทความเร็ว และประเภทสวยงาม
นอกจากนี้ในงานวัวเทียมเกวียน ยังมีการละเล่นและกีฬาพื้นบ้าน เช่น การแข่งวัวเทียมไถ, วัวลาน, ล้มวัวด้วยมือเปล่า, จับหมู (บนดินเลน) กิจกรรมที่เกี่ยวกับต้นตาล อาทิ การแข่งเฉาะตาล, กินลูกตาล ฯลฯ รวมไปถึงการจัดแสดงซุ้มของแต่ละตำบลที่จะนำเสนอของดี หรือจัดแสดงวิถีชีวิต ภูมิปัญญาของคนท้องถิ่นมาให้นักท่องเที่ยวและผู้ร่วมงานได้ชม
“ในช่วงระยะหลัง งานวัวเทียมเกวียน ได้รับความสนใจจากผู้คนค่อนข้างน้อย เพราะงานจัดในช่วงกลางวัน ขนาดผมเป็นผู้นำชุมชนยังไม่อยากไปเลยเพราะร้อน (หัวเราะ)”
“ที่นี้ทางผู้ใหญ่ในอำเภอบ้านลาด ก็มีแนวคิดที่จะย้ายสถานที่จัดงานมาตรงบริเวณนี้ (หมู่ 5 ตำบลท่าช้าง) และแยกจัดเป็นงานประเพณีของตัวเอง รวมถึงเปลี่ยนเวลามาเป็นตอนกลางคืน เพื่อดึงดูดคนเข้าร่วมงาน ก็ย้ายมาจัดที่นี่ได้ประมาณ 3 ปีแล้ว”
“ทางอำเภอก็มีนโยบายให้ แต่ละ อบต. เป็นแกนนำในการจัดทำซุ้มหรือกิจกรรม เพื่อนำเสนอจุดเด่นของแต่ละพื้นที่ เป็นส่วนหนึ่งของงานวัวเทียมเกวียน”
“ผมในฐานะผู้นำชุมชนก็ต้องหาไอเดียในแต่ละปีว่า ปนี้เราจะนำเสนออะไรที่บอกเล่าวิถีชีวิตหรือตัวตนของคนตำบลหนองกะปุและตำบลห้วยข้อง ที่เป็นสองตำบลในการพื้นที่บริการของ อบต.หนองกะปุ” นายกฯ อบต. สุวรรณ เผย
เท้าเปล่า ท้องนา หญ้าฟาง ฟุตบอล
ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมแก่กับการเพาะปลูกนาข้าว ทำให้ร้อยละ 80 เปอร์เซนต์ของผู้คนในตำบลหนองกะปุ จึงประกอบอาชีพเกี่ยวข้องกับการทำเกษตรกรรม
แต่น่าเสียดายบนเนื้อที่ประมาณ 58.29 ตารางกิโลเมตรของตำบลหนองกะปุ ไม่มีสนามฟุตบอลแม้แต่แห่งเดียว ให้คนในพื้นที่ได้ลงไปหวดแข้งเหมือนอย่างตำบลอื่นๆ
“ปีแรกที่ อบต.เราได้มีส่วนร่วมจัดกิจกรรมในงานวัวเทียมเกวียน เรานำเอา เตาตาล, ลานนวดข้าว รวมถึงการเลื่อยแบบใช้มือ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวบ้าน ที่ปัจจุบันไม่มีแล้ว นำมาโชว์กันสดๆ ส่วนงาน ปีที่สอง ด้วยความที่ในตำบลเรามี หมู่บ้านชาวลาวโซ่ง (ไททรงดำ) อาศัยอยู่ เราจึงทำเรือนลาวขนาดจำลอง มาตั้งโชว์ในงาน พร้อมกับนำเอาการละเล่น และวัฒนธรรมของลาวโซ่ง มาให้คนที่มาร่วมงานได้เห็น”
“หลังจบงานวัวเทียมเกวียนปี 2562 ไปได้ไม่นาน ผมเลื่อนฟีดเฟซบุ๊กก็ไปเจอ ภาพของสนามฟุตบอลที่ทำมาจากหญ้าฟาง ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นที่ไหน ผมก็เซฟเก็บไว้ในมือถือ ตั้งใจไว้ว่าปี 2563 อบต.เราจะสร้างสนามฟุตบอลแห่งนี้ เนื่องจากมันตรงกับวิถีชีวิตของพวกเรา ตั้งแต่สมัยรุ่นปู รุ่นพ่อ รุ่นผม ที่เตะฟุตบอลเท้าเปล่ากันในนา เพราะตำบลผม ไม่มีสนามฟุตบอลให้คนได้เล่น”
“ส่วนตัวผมก็ชอบเล่นฟุตบอลมาตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว พอถึงหน้าเกี่ยวข้าวเสร็จ เราก็ไปวิ่งเตะบอลกับเพื่อนบนทุ่งนา ใช้เวลาเป็นเดือนกว่าดินจะเรียบ ผมก็เลยคิดว่าสนามแบบนี้แหละที่บอกเล่าตัวตนของคนในตำบลเราได้ดีที่สุด”
สุวรรณ หว่างจิตร ใช้เวลาวางแผนร่วม 1 ปี ในการทำสนามฟุตบอลจากหญ้าฟาง เพราะการจะเนรมิตสังเวียนลูกหนังที่ทำมาจาก วัสดุธรรมชาติที่ดูแลได้ยากและไม่ได้แข็งแรงมากนัก ต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร
อีกทั้งยังต้องเตรียมการให้และติดต่อหาซื้อฟางจำนวนมาก ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้มีปริมาณฟางมากพอ สำหรับใช้การทำสนามฟุตบอลขนาด 10x20 เมตร
“ผมคิดและวางแผนมาเกือบ 1 ปี ว่าเราจะต้องใช้ฟางจำนวนเท่าไหร่, ความสูง, ความกว้าง, ความยาว ประมาณไหน”
“ผมใช้เวลารวบรวมฟางอยู่ประมาณ 3 เดือน เพราะต้องติดต่อจองฟางกับชาวบ้านๆ หลายครอบครัว บางเจ้าได้ 50 ก้อน 100 ก้อน 200 ก้อน ก็เอามาเก็บสะสมไว้ในโรงจอดรถ เพื่อไม่ให้โดนฝน เพราะฟางถ้าโดนฝนจะเสีย ช่วงนั้นเจ้าหน้าที่ อบต. ไม่มีใครได้ใช้โรงจอดรถเลย เวลามาทำงานต้องขับรถจอดตามใต้ต้นไม้ (หัวเราะ)”
“เราก็คำนวณจากขนาดของฟาง ก้อนหนึ่งประมาณ 1 เมตร ตั้งไว้สูงสักประมาณ 7 ชั้น ก็ไปหาซื้อฟางได้มาทั้งหมด 2,700-2,800 ก้อน เมื่อได้ฟางมาทั้งหมดก็ต้องขนจาก อบต. มาที่สนาม อีกประมาณ 2 สัปดาห์ เพราะวันหนึ่งเราขนได้เต็มที่แค่ประมาณ 600-700 ก้อนเท่านั้น”
เจ้าหน้าที่และคนในตำบลหนองกะปุ ลงมือทำสนามกันอย่างหามรุ่งหามค่ำ โดยแบ่งช่วงเช้า-กลางวัน เป็นขั้นตอนของการขนย้ายฟางมาจัดตั้ง ช่วงเย็นถึงค่ำ เป็นขั้นตอนของการจัดเรียงฟางประกอบร่างเป็นสนาม และดูแลความเรียบร้อย เพื่อให้เป็นสนามที่สวยงาม แข็งแรง จนแน่ใจได้ว่าจะไม่เกิดอุบัติเหตุกับผู้เข้าชมงานที่นั่งบนกองฟาง
ด้วยความร่วมมือร่วมใจของผู้คนในท้องถิ่น สุดท้าย อบต.หนองกะปุ สเตเดียม ก็สามารถสร้างได้เสร็จทันการแข่งขันงานวัวเทียมเกวียน ประจำปี 2563 ระหว่างที่ 15-19 มกราคม และไม่เกิดอุบัติเหตุที่รุนแรงแก่ผู้ชม (มีเพียงบางคนเท่านั้นแค่โดนลูกบอลในสนาม เพราะหลบไม่ทัน)
โดยบริเวณหน้าทางเข้าสนาม มีการติดป้ายห้ามสูบบุหรี่ ภายในสนาม เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟไหม้ฟาง รวมถึงการประกาศขอความร่วมมือเรื่องนี้ จากโฆษกนักพากย์เป็นระยะๆ ด้วยสำเนียงภาษาถิ่นบ้านลาด
“ตอนที่สร้างเสร็จ ก็ถือว่ายังไม่ได้สนามแบบที่คิดไว้ร้อยเปอร์เซนต์นะ เพราะฟางโดยธรรมชาติ เวลาโดนน้ำหนักของคนไปนั่งทับนานๆ ก็จะมียุบตัวบ้าง” นายก อบต.หนองกะปุ กล่าวเริ่ม
“แต่เราพยายามแก้ไขในทุกๆวัน ทำให้ดีที่สุด เพราะคนให้ความสนใจเข้าชมฟุตบอล กันค่อนข้างเยอะ เราจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัย พยายามทำให้แข็งแรงที่สุด เพื่อให้สนามใช้การถึงวันสุดท้าย ไม่มีล้มหรือโค่นลงมา ก็โล่งใจที่ทุกอย่างผ่านไปได้ดี”
ตัวตน ผู้คน ท้องถิ่น
หนองกะปุ สเตเดียม ถูกใช้จัดการแข่งขันกีฬาตั้งแต่วันที่ 15-19 มกราคม โดยใช้จัดทั้งฟุตบอล และวอลเลย์บอล สำหรับฟุตบอลนั้น เนื่องจากสนามมีพื้นที่ค่อนข้างเล็ก ทำให้ผู้จัดฯ ใช้รูปแบบฟุตบอลข้างละ 3 คน ในกติกาที่ว่า ฝ่ายรุกและฝ่ายรับ ไม่สามารถยิงทำประตู หรือสกัดได้ในเส้นกรอบเขตโทษ
แม้จะใช้ระยะเวลาการเตรียมงาน และสร้างสนามที่นานพอสมควร แต่ทาง อบต.หนองกะปุ ในฐานะแม่งานและผู้สร้างสนาม กลับเลือกจัดแข่งขัน แค่เฉพาะภายทีมในตำบลหนองกะปุ และตำบลห้วยข้อง ไม่ได้เปิดรับสมัคร ทีมจากภายนอกพื้นที่แต่อย่างใด
Photo : KOOL Supporters ซอยมังกร
“เหตุผลที่ผมไม่จัดแข่งแบบโอเพ่น เพราะผมมองว่า งานวัวเทียมเกวียน โดยปกติคนที่มีส่วนร่วมกับงาน มีแค่คนเลี้ยงวัว คนที่ชอบดูวัว แต่เด็กๆและเยาวชน ประชาชนทั่วไป ไม่มีพื้นที่ให้เขาได้แสดงออก โดยเฉพาะในตำบลของเราที่ไม่มีสนามฟุตบอล ก็เลยคิดว่าเราอยากแค่จัดภายในสองตำบล เพื่อเด็กๆ ได้มีเวทีแสดงออก”
“อีกอย่างมันตรงกับจุดประสงค์ของเรา ที่ต้องการมาโชว์ว่า คนที่นี่เล่นฟุตบอลกันบนนา เล่นกันเท้าเปล่า นี่คือตัวตนของเราจริงๆ บางตำบลเขาอาจไม่ได้เตะบอลกันในนา เพราะมีสนามฟุตบอลให้เล่นอยู่แล้ว แต่เด็กๆของเราเตะบอลกันในนา ก็อยากเอาโชว์ให้คนภายนอกได้เห็น เราต้องการสื่อสารแค่นี้ ไม่ได้ต้องการจัดการแข่งขันที่มันยิ่งใหญ่อะไร” สุวรรณ หว่างจิตร แม่งานในการสร้างสนาม เผย
Photo : KOOL Supporters ซอยมังกร
ทันทีที่มีการเผยแพร่ภาพสนามหนองกะปุ สเตเดียม ออกไปทางสื่อสังคมออนไลน์ สนามฟุตบอลหญ้าฟางแห่งนี้ ก็ได้รับการส่งต่อภาพด้วยการแชร์เป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้คนทั่วไปได้รู้จัก ตำบลหนองกะปุ มากขึ้นจากการทำสนามฟุตบอลที่แปลกใหม่เช่นนี้
แน่นอนว่าในมุมของคนที่คิดและจัดงานอย่าง สุวรรณ หว่างจิตร เขารู้สึกดีใจที่คนภายนอกให้การตอบรับที่ดีเกินคาด และหลายๆเสียงชื่นชมในการคิดสร้างสรรค์ทำสิ่งนี้ออกมา
รวมถึงการได้เห็นนักท่องเที่ยวที่เข้างานวัวเทียมเกวียน ประจำปี 2563 ให้ความสนใจ เข้ามาเยี่ยมชม ถ่ายรูปกับสนาม ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกคุ้มค่ากับระยะเวลาร่วมปีที่เตรียมงาน วางแผน จนผ่านพ้นการแข่งขันไปได้ด้วยดี
Photo : KOOL Supporters ซอยมังกร
“ก็มีกระแสอยากให้ทำสนามอีกในปีหน้า แต่ผมยังลังเลอยู่ว่าจะทำต่อดีไหม เพราะเราก็อยากนำเสนอตัวตน วิถีชีวิตของคนหนองกะปุ และห้วยข้อง ในมิติอื่นๆ ให้นักท่องเที่ยวได้ชม ได้ชม เอาเป็นว่าให้คนติดตามดูต่อไปว่าปีหน้า ตำบลเราจะทำอะไร อาจมีสนามบอล และกิจกรรมอื่นๆ พ่วงมาด้วย”
“ผมว่าทุกตำบลมีของดี มีจุดเด่นนะ อยู่ที่ว่าเราจะดึงความน่าสนใจออกมาให้คนภายนอกได้เห็นมากน้อยแค่ไหน สำหรับผม ผมอยากให้คนที่มาเทื่ยวงานวัวเทียมเกวียน เขารู้สึกประทับใจเมื่อตอนกลับไป เขาจะได้กลับมาใหม่ ไม่ใช่ทุกปีมีแต่อะไรเดิมๆ ไม่มีอะไรแปลกใหม่ ก็เป็นโจทย์ของเราว่าปีหน้า เราจะมีอะไรมาให้ผู้คนได้ชมกัน”
เครดิต
https://www.mainstand.co.th/catalog/1-Feature/1322-%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B0%E0%B8%9B%E0%B8%B8+%E0%B8%AA%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A1+%3A+%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%95%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%96%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%9F%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%9F%E0%B8%B2%E0%B8%87?fbclid=IwAR1_-0Ql2QUHK1eDdWcO9Xum2s7rn7VZMVL7fAPM5FbWVPW1wFMKweFNzUg
โคตรชอบเลยครับ