[Seaman Life] เรื่องเล่าชาวเรือ ตอนที่ 2 : อาหารการกิน
สืบเนื่องมากจากผมเคยตั้งกระทู้เเชร์รูปภาพที่ทำงานบนเรือเดินทะเลไป
http://www.soccersuck.com/boards/topic/1730121
เเล้วหายไปยาวเลย เนื่องจากว่าผมติดสอบครับ ตอนนี้สอบผ่านมาได้สักพักเเล้ว มีเวลาว่าง เลยคิดว่าน่าจะทำมู้เล่าเรื่องชาวเรือเเบบจริงจังเลยดีกว่า เลยเป็นที่มาของตอนที่ 2 นี้ครับ เป็นเรื่องของอาหารการกินบนเรือ ตั้งเเต่ยุคเรือใบจนมาถึงยุคปัจจุบันเลยครับ
คำเตือน รูปเยอะมาก และ ดูแล้วอาจจะหิว เพราะดึกแล้ว 55555
เริ่มเลยดีกว่า ในสมัยยุคเรือใบ อาหารการกินของลูกเรือและคนประจำเรือจะมีการจัดเก็บที่ย่ำแย่มากๆ เนื่องจากไม่มีเทคโนโลยี หลักการเก็บเสบียงแบบง่ายที่สุดเลยก็คือ เก็บเอาไว้ในส่วนที่เย็นที่สุดของเรือ ซึ่งก็คือชั้นล่างๆของเรือนั่นเอง โดยเสบียงที่จะเอาไปเก็บในส่วนนี้ จะเป็นเสบียงที่อยู่ได้ไม่นาน เช่น ผักสด ผลไม้ต่างๆ ซึ่งเป็นเสบียงที่เสียง่ายที่สุดจึงต้องรีบนำมากินก่อน การเดินทางที่ไกลและนานจึงทำให้ลูกเรือป่วยเป็นโรคลักปิดลักเปิด เลือดออกตามไรฟัน เพราะขาดวิตามินที่จะได้จากผักผลไม้ จึงแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มน้ำมะนาวหรือน้ำจากผลไม้ตระกูลส้มเข้าไปในเรือด้วย ทำให้ปัญหานี้หมดไป
ชั้นถัดขึ้นมา ก็จะเอาไว้เก็บเครื่องดื่มต่างๆ เช่น ไวน์ วิสกี้ เหล้ารัม น้ำจืด โดยทุกอย่างจะถูกบรรจุและเก็บไว้ในถังไม้(Barrel) ซึ่งการเก็บน้ำจืดเอาไว้ในถังไม้เป็นเวลานานๆ จะทำให้คุณภาพของน้ำจืดแย่ลง ทั้งสี กลิ่น รส เกิดตะไคร่น้ำ เมือกเหนียวต่างๆ ชาวเรือในสมัยนั้นจึงนิยมดื่มเหล้ารัมกันแทนน้ำซึ่งไม่สะอาด(เป็นที่มาของภาพลักษณ์ของชาวเรือว่า คนเรือขี้เมานั่นเอง) โดยประเทศแรกที่มีการนำวัฒนธรรมนี้มาใช้ก็คือ ราชนาวีอังกฤษ เนื่องจากอังกฤษมีอาณานิคมมากในบริเวณทะเลแคริบเบียนซึ่งเป็นแหล่งปลูกอ้อย(ยุคเดียวกับในหนังโจรสลัดชื่อดังอย่าง Pirates of the Caribbean นั่นแหละ) จึงทำให้มีเหล้ารัมซึ่งหมักจากกากน้ำตาล(Molasses) อยู่จำนวนมาก เลยเอามาใช้จนกลายเป็นวัฒนธรรมไป โดยทางเรือจะแต่งตั้ง Rum Officer ขึ้นมาเพื่อดูแลการแจกจ่ายและแบ่งสรรปันส่วนเหล้าให้ลูกเรือและนายประจำเรือทุกคน พึ่งยกเลิกวัฒนธรรมนี้ไปเมื่อช่วงปี 1970 นี่เอง
ถังไม้สำหรับใส่สิ่งของในเรือ ทั้งสินค้า น้ำ อาหาร
ชั้นถัดมา ชั้นนี้จะเก็บใช้เก็บอาหารที่ผ่านการถนอมอาหารมาแล้ว และอาหารสด ซึ่งชั้นนี้จะอยู่ใกล้ครัวที่สุด อาหารที่มีการถนอมอาหารแล้ว เช่น ไส้กรอก เนื้อสัตว์รมควัน หมูเค็ม เป็นต้น ส่วนอาหารสด ที่ผมบอกว่าสด หมายถึงสดจริงๆ ตัวเป็นๆเลยครับ ใช่ ฟังไม่ผิดหรอก เลี้ยงกันบนเรือเลยนั่นแหละ โดยสัตว์ที่นิยมเลี้ยงกันบนเรือส่วนมากจะเป็นไก่ เพราะสามารถกินไข่มันได้ด้วย รองลงมาก็จะเป็นหมูกับแพะ อีกอย่างคือปลา แต่ว่าปลาสามารถหาได้ทั่วไปในทะเลอยู่แล้ว เป็นโปรตีนเสริมสำหรับลูกเรืออย่างดี และเนื่องจากเรือใบสมัยก่อนไม่มีการจัดการสุขลักษณะบนเรือ สัตว์อีกชนิดที่มีบนเรือแทบจะทุกลำและเป็นเสบียงยามฉุกเฉินก็คือ หนู นั่นเอง หนูจี๊ดๆนั่นแหละครับ
การหมักหมูเค็มก่อนอัดใส่ถังไม้ เป็นเสบียงหลักประจำเรือ
แต่นั่นคือสมัยก่อน ในปัจจุบันนี้ เรือขนส่งสินค้าทุกลำจะถูกบังคับด้วย MLC (Maritime Labour Convention) หรืออนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเลในด้านความเป็นอยู่ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ การพักผ่อน อาหาร ของใช้ ยารักษาโรค ห้องพักอาศัย สุขลักษณะต่างๆ ที่ทางบริษัทต้องจัดให้มีอย่างครบถ้วน ไม่เช่นนั้นคนประจำเรือมีสิทธิเรียกร้องได้.......เลยไปด้านกฏหมายแล้ว กลับมาก่อนดีกว่า
บนเรือจะมีตำแหน่งที่เกี่ยวข้องด้านนี้โดยตรงอยู่สองตำแหน่ง(มีตำแหน่งอื่นเกี่ยวข้องด้วยเหมือนกัน แต่วันนี้จะพูดถึงแค่สองตำแหน่งนี้) แต่ละบริษัทจะเรียกไม่เหมือนกัน แต่บริษัทผมจะเรียกว่า Chief/Cook และ Messman
คนทางขวาคือ Chief/Cook คนทางซ้ายคือ Messman (ไม่มีความต่างในการสังเกตครับ สองคนนี้คือพี่ๆที่เรือผมเอง เป็นคนไทยทั้งลำครับ กุ๊กคนใต้ เมสแมนคนอีสาน )
Chief/Cook จะมีหน้าที่คือ กำหนดอาหารที่จะทำในแต่ละวันหรือแต่ละสัปดาห์ บริหารจัดการเสบียง ตรวจเสบียง จัดซื้อเสบียงอาหารและข้างของเครื่องใช้ส่วนตัวต่างๆ เช่น สบู่ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม เครื่องนอนต่างๆ ผ้าห่ม เป็นต้น (จัดซื้อร่วมกับกัปตันเพราะกัปตันเป็นผู้ถือเงินค่าอาหารของลูกเรือทั้งลำ บริษัทผมจะมีเงินค่าอาหารให้ลูกเรือเป็นรายวันต่อหัว ผมจำไม่ได้ละว่าหัวละกี่ดอลลาร์/วัน แต่บริษัทจะให้เงินเป็นเงินสดโดยให้ผ่านทางตัวแทนของบริษัทหรือเอเย่นต์ที่อยู่แต่ละประเทศ ให้นำมามอบให้ที่เรือ พี่กัปตันจะเป็นคนรับเงินและเก็บเงินไว้ในตู้เซฟเรือ และใช้เงินค่าอาหารนี้สั่งซื้อเสบียงมาเก็บที่เรือ การซื้อ 1 ครั้งจะอยู่ได้ประมาณ 1 เดือน)
Messman มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยกุ๊ก ช่วยเตรียมวัตถุดิบที่กุ๊กจะนำมาทำอาหาร ทำความสะอาดครัวและเครื่องครัว ล้างจาน ดูแล store ที่ใช้เก็บของใช้ต่างๆ เช่น น้ำยาทำความสะอาด น้ำยาล้างจาน ไม้สวบ(ภาษาชาวเรือ จริงๆมันคือไม้ถูพื้น ไม้ม๊อบนั่นแหละ) และอื่นๆอีกมากมาย รวมไปถึงการทำความสะอาดห้องเก็บเสบียงต่างๆ(ทำร่วมกับกุ๊ก) ทำความสะอาดห้องพักของกัปตันและต้นกล เป็นต้น
เมื่อมีการจัดซื้อเสบียงมา คนเรือเกือบทั้งลำที่ไม่ติดงานอะไรอยู่ ก็จะต้องมาช่วยกันขนเสบียงเข้าไปให้กุ๊กตรวจสอบ ว่าครบตามที่สั่งซื้อมา และขนไปเก็บในห้องเก็บเสบียง (ตอนขนเสบียงจะยุ่งมากจนไม่มีเวลาถ่ายรูปมาให้ดู เวลาเสบียงมาทีจะมาเป็นคันรถเลยครับ หลายคันเลย รถบรรทุกเล็กที่ด้านหลังเป็นตู้ฟรีซ อัดมาแน่นมากๆ อันนี้จะเป็นอาหารสด รถกระบะที่มีตู้บรรทุกด้านหลังแบบธรรมดา ก็จะขนพวกอาหารแห้ง เครื่องปรุงรสต่างๆ น้ำมันทำอาหาร บางเมืองท่าอย่างเช่น สิงคโปร์ จะรับเสบียงทางเรือ มีเรือเล็กเอาเสบียงใส่เรือมา แล้วเอาเครนเรือหย่อน hook ลงไปยกขึ้นมา)
ห้องเก็บเสบียงบนเรือจะมีอยู่ 3 ห้อง ห้องแช่ผักผลไม้ ห้องแช่เนื้อ และห้องเก็บอาหารแห้ง
ห้องแช่ผักผลไม้
ห้องแช่ผักผลไม้ จะเป็นห้องเย็นที่เอาไว้แช่ผักผลไม้และน้ำผลไม้ และก็เอาไว้เก็บข้าวสารด้วย จะได้ไม่เกิดมอด อุณหภูมิจะตั้งเอาไว้ประมาณ 3-4 องศาเซลเซียส
ห้องแช่เนื้อ
ห้องแช่เนื้อก็เอาไว้แช่พวกเนื้อสัตว์ต่างๆครับ หมู เนื้อ ไก่ เป็น หมึก กุ้ง ปลา ฯลฯ และก็ผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น ไส้กรอก ชีส เบคอน ลูกชิ้น เป็นต้น ห้องนี้อุณหภูมิ -20 องศา ก่อนเข้าห้องนี้ต้องใส่เสื้อกันหนาวก่อนเข้า (พี่ๆลูกเรือเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนถ้ามีคนเรือตายกลางทะเลแล้วเรือยังไม่ถึงที่หมาย ก็ต้องเอาศพใส่ถุงเก็บศพแล้วเอามาเก็บในห้องนี้ก่อน กุ๊กไม่กล้ามาเอาเสบียงคนเดียวเลยครับ ต้องมากันทีสองสามคน อันนี้เรื่องจริงครับ 55555)
ห้องเก็บอาหารแห้ง
เป็นห้องที่เอาไว้เก็บพวกอาหารแห้ง เครื่องปรุงรสต่างๆ เกลือ น้ำตาล ชา กาแฟ น้ำแร่(น้ำจืดที่กินและใช้กันบนเรือเป็นน้ำกลั่นที่กลั่นจากน้ำทะเลครับ จึงไม่มีแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายมนุษย์ จึงต้องเสริมด้วยน้ำแร่) อุณหภูมิห้องนี้จะเฉลี่ยๆไปตามภูมิภาคที่เรือไป ส่วนลังแดงๆที่อยู่ในห้องไม่เกี่ยวกับ store นี้นะครับ 55555 จะไปเกี่ยวกับ store อื่น ซึ่งผมจะเล่าให้ฟังในตอนหลังๆนะ
มาถึงสิ่งที่สำคัญที่สุด คนประจำเรือเขากินอะไรกัน ตอบตามตรงครับ กินเหมือนที่คนบกกินกันนั่นแหละ แค่มีคนทำให้และมีคนล้างจานให้เท่านั้นเอง แต่ผมเคยเจอบางบริษัทที่เขามีคนประจำเรือหลายชาติ เช่น มีคนประจำเรือเป็นคนไทยกับคนอินเดีย ก็จะมีกุ๊กสองคน กุ๊กอินเดียคนนึง กุ๊กไทยคนนึง แต่ของผมคนไทยทั้งลำ เลยมีกุ๊กคนเดียว รูปตัวอย่างอาหารนี้ผมรวบรวมมาจากเรือหลายๆลำในบริษัทครับ
ข้าวคลุกกะปิ
ปลาทูฟู เมนูนี้เนื่องจากตกปลาทูเเขกได้เยอะ กินไม่ทัน พี่กุ๊กเลยเอามาทำเมนูนี้ ปลาทูเต็มห้องเเช่หมดภายในอาทิตย์เดียว
น้ำตกคอหมูย่าง เมนูนี้น้าสรั่งเรือเป็นคนอุดรขอมา พี่กุ๊กก็จัดให้
ไก่ผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์ กับเเกล้มก็ดี กับข้าวก็เริ่ด
หอยทอด หอยเเมลงภู่นิวซีเเลนด์เหลือเยอะ ลูกเรือไม่ค่อยชอบกิน พี่กุ๊กเอามาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ผสมเเป้ง ทอด กินกับซอสพริกผสมน้ำจิ้มเเม่ประนอม
ถั่วงอกที่เห็นนั่นไม่ได้ซื้อมานะครับ พี่กุ๊กปลูกเองในครัว เอาเม็ดถั่วเขียวมาพรมน้ำ เอาทิชชู่รองล่าง-บน เจ๋งมั้ยล่ะกุ๊กเรือผม
กะเพราหมูสับ+ไข่ดาวกรอบๆ ได้ใบกะเพรามาจากฮ่องกง พี่กุ๊กจัดให้ กินกันคนละสองสามจาน ท้องจะเเตก
ไข่ยัดไส้+ไก่ต้มพะโล้
ห่อหมก
สเต๊กชนิดต่างๆ
อาหารเช้าต่างๆ ปาท่องโก๋ กาแฟ ขนมจีบ ซาลาเปา
พิซซ่า
ขนมหวานต่างๆก็ทำได้
เรือสินค้า เวลานำสินค้าขึ้นเรือเสร็จ เรือออกจากท่าแล้ว ก็มักจะมีการไหว้แม่ย่านางเรือกัน เพื่อขอให้คุ้มครอง แคล้วคลาดปลอดภัย ไม่เจอปัญหาตลอดการเดินทาง กุ๊กก็จะเป็นคนเตรียมของเซ่นไหว้เช่นกัน เช่น ไก่ต้ม หัวหมูต้ม ผลไม้ น้ำผลไม้ เหล้า เอาไปไหว้กันที่หัวเรือ ถ้าหาประทัดได้ก็จะมีการจุดประทัดกันด้วย
วันไหนที่มีการไหว้แม่ย่านาง ตอนเย็นก็จะมีการปาร์ตี้กัน พี่กัปตันมักจะยกให้หยุดครึ่งวันเป็นกรณีพิเศษ(แล้วแต่คนนะครับ บางคนก็ไม่ให้หยุด) พี่ๆลูกเรือก็จะซัดกันตั้งแต่บ่ายๆเลย คนที่คออ่อนหน่อย เย็นๆก็เริ่มเหลวแล้ว 55555 คนเตรียมกับแกล้ม ก็กุ๊กอีกนั่นแหละครับ
ปาร์ตี้หมูกระทะ
ปาร์ตี้คาราโอเกะ
อุปกรณ์ทำอาหารบนเรือส่วนมากจะใช้ระบบไฟฟ้า เพื่อหลีกเลี่ยงการระเบิดของถังแก๊สครับ ละก็เป็นการประหยัดด้วย มีทั้งเตาความร้อน เตาอบ เครื่องกวนส่วนผสม ฯลฯ
กุ๊กบนเรือสินค้าและเรือสำราญในปัจจุบัน ต้องผ่านการอบรม 4 หลักสูตรพื้นฐานของคนประจำเรือ และผ่านการอบรมการจัดการอาหารและโภชนาการบนเรือ(food and catering) จากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานก่อน จึงจะสามารถเป็นกุ๊กบนเรือเดินทะเลได้ ถ้าเป็นเรือสำราญก็อาจจะต้องมีประสบการด้านงานโรงแรมหรือการทำอาหารระดับภัตตาคารมาก่อนครับ บริษัทผมทุกวันนี้ก็มีน้องๆจากวิทยาลัยอาชีวศึกษา นครศรีธรรมราช มาทำงานด้วยในตำแหน่ง Messman ใช้เวลาไม่นานก็ขึ้นเป็นกุ๊กแล้ว ฝีมือดี ทำอาหารอร่อย ทำเบเกอรี่ก็ได้ ขนมหวานก็ได้
ขอจบไว้แต่เพียงเท่านี้ครับ ไว้มีเวลาว่างจะมาทำเรื่องเล่าชาวเรืออีกหลายๆเรื่องให้อ่านกัน ที่คิดไว้ในหัวตอนนี้มีหลายสิบเรื่องครับ แต่ขอยกยอดไว้ก่อน