ผู้ชายที่หายไปจากโพเดี้ยม
เมื่อไม่นานมานี้ผมเจอ meme บน 9GAG ที่น่าสนใจ เลยรวบรวมข้อมูลจากหลายๆ เว็บ มาแชร์ให้ชาว SS อ่านครับ
เรื่องทั้งหมดเริ่มต้นจากภาพภาพเดียว และคำถามว่า
"ทำไมโพเดี้ยมด้านซ้ายถึงว่างเปล่า"
ปฏิมากรรมในภาพตั้งอยู่ที่ San José State University รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
การเหยียดสีผิว
โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Tommie Smith และ John Carlos นักกรีฑา ทีมชาติสหรัฐอเมริกา ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ปี 1968 ที่ประเทศเม็กซิโก
เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 1968 Tommie Smith ตัวแทนจากสหรัฐอเมริกา เข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 1 ในการแข่งขันกรีฑา ประเภท 200 เมตร ชาย ในขณะที่ John Carlos เข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่ 3
และทั้งสองคนทำให้หน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับทั่วโลกต้องจารึกภาพเหตุการณ์ในวันนั้น เมื่อทั้งสองคนตัดสินใจขึ้นรับรางวัลโดย
(1) ไม่สวมรองเท้า และเลือกสวมถุงเท้าสีดำ เพื่อสื่อถึงความยากจนของคนผิวสีในสังคมอเมริกา
(2) ใส่ผ้าพันคอสีดำ เพื่อสื่อถึงความภาคภูมิใจของคนผิวสี
(3) ปลดซิปเสื้อคลุม เพื่อสื่อถึงการเคลื่อนไหวของชนชั้นแรงงาน
(4) ติดเข็มกลัดรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน Olympic Project for Human Rights
(5) ทำท่า Black Power salute ตอนที่เพลงชาติ ของสหรัฐอเมริกาเริ่มบรรเลง
แต่ไม่มีใครจดจำผู้ชายผิวขาวคนนึงที่เข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 2
ผู้ชายที่มาอยู่ผิดที่ผิดทางคนนี้ ชื่อว่า Peter Norman เป็นนักกรีฑา จากประเทศออสเตรเลีย และเป็นเจ้าของสถิติในการแข่งขันกรีฑา ประเภท 200 เมตร ชาย ของประเทศออสเตรเลียจนถึงทุกวันนี้
ตอนที่ Smith และ Carlos กำลังวางแผนเกียวกับการขึ้นรับรางวัล พวกเขาถาม Norman ว่า "คุณเชื่อว่าคนทุกคนควรมีสิทธิเท่าเทียมกันหรือไม่" ซึ่ง Norman บอกว่าเขาเชื่อเช่นนั้น ดังนั้นทั้งสองคนจึงบอกกับ Norman ว่าพวกเขากำลังจะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ใหญ่ยิ่งกว่างานมหกรรมกีฬาใดๆ ที่เคยจัดขึ้นในโลกนี้
ในตอนนั้น Carlos เชื่อว่าเขาจะได้เห็นความกลัวในแววตาของ Norman แต่สิ่งเดียวที่เขาจำได้คือ Norman ตอบกลับสั้นๆ ว่า "ถ้าอย่างงั้น ผมจะยืนเคียงข้างพวกคุณ" นอกจากนี้ Norman ยังเป็นคนเสนอความคิดให้ Smith และ Carlos แบ่งถุงมือของ Smith ใส่คนละข้าง เพราะ Carlos ลืมนำถุงมือมา
โดย Norman เลือกจะแสดงจุดยืนของเขาโดยการติดเข็มกลัด Olympic Project for Human Rights ที่ขอมาจาก Smith และ Carlos
แน่นอนว่าทั้งสามคนต้องจ่ายราคาของการต่อต้านครั้งนี้สูงลิบ ทั้ง Smith และ Carlos ถูกเนรเทศออกจากการทีมนักกีฬาของสหรัฐอเมริกาทันที รวมถึงถูกทำร้ายร่างกายและถูกขู่ฆ่าอีกหลายครั้งเมื่อเดินทางกลับประเทศ
ส่วน Norman นั้น ต้องจบชีวิตการเป็นนักกรีฑาอาชีพในการแข่งครั้งนี้ โดยถึงแม้ว่าเขาจะสามารถทำผลงานดีพอที่จะติดทีมชาติ อีกหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ถูกสมาคมกรีฑาของออสเตรเลียเพิกเฉยอย่างต่อเนื่อง
หลายปีต่อมาคณะกรรมการโอลิมปิกออสเตรเลีย เสนอให้โอกาสให้ Norman แลกกับการกล่าวโทษการกระทำของ Smith และ Carlos แต่ Norman เลือกที่จะปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
Peter Norman เสียชีวิตอย่างกระทันหันในปี 2006 เนื่องจากภาวะหัวใจวาย โดยในพิธีศพของ Norman ทั้ง Smith และ Carlos ต่างก็มาร่วมเชิญหีบศพของเขา เพื่อเป็นการให้เกียรติมิตรสหายเป็นครั้งสุดท้ายอย่างวีรบุรุษ
จนกระทั่ง ปี 2012 รัฐบาลออสเตรเลียจึงออกแถลงการขอโทษอย่างเป็นทางการ และบันทึกความสำเร็จของ Peter Norman เข้าเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลสถิติอย่างเป็นทางการ
โพเดี้ยมที่ว่างเปล่า
ในปี 2005 San José State University ให้เกียรติ Tommie Smith และ John Carlos ด้วยการสร้างปฏิมากรรมสูง 22 ฟุต
ระหว่างการวางแผนสร้างปฏิมากรรม ทางมหาวิทยาลัยได้ติดต่อ Smith และ Carlos เกี่ยวกับแผนงานต่างๆ และเป็น Carlos ที่เอะใจว่าทำไมถึงมีแต่ปฏิมากรรมของพวกเขาแค่สองคน
Carlos ติดต่อไปยังมหาวิทยาลัยทันที ว่าเขาจะไม่ยอมให้มีปฏิมากรรมของเขายืนอยู่ตรงนั้นเป็นอันขาด ถ้าไม่มี Peter Norman ยืนอยู่ด้วยกัน แต่ทางมหาวิทยาลัยตอบกลับว่าเรื่องที่พูดมาเป็นความตั้งใจของ Norman
ทั้ง Smith และ Carlos จึงรีบโทรถามความจริงจาก Norman ทั้งสองคนกังวลว่า การที่ Norman ต้องเผชิญกับปัญหาและแรงกดดันอย่างโดดเดี่ยวที่ออสเตรเลีย อาจจะทำให้ Norman ยอมแพ้ต่อแรงกดดัน จึงเลือกจะถอยออกไปหรือเสียใจกับการกระทำในวันนั้น
แต่ความตั้งใจของ Norman ลึกซึ้งกว่านั้น
"ผมไม่ได้ทำในสิ่งที่พวกคุณทำในวันนั้น แต่เชื่อเถอะว่าผมเอาใจช่วยพวกคุณทั้งจากหัวใจและจิตวิญญาณ ดังนั้นจึงเป็นการเหมาะสมแล้วที่จะมีแค่พวกคุณที่ยืนอยู่บนนั้น ส่วนที่ว่างที่เหลืออยู่ ผมขอแค่ป้ายจารึกข้อความที่ว่าผมเคยยืนอยู่ตรงนั้น และใครก็ตามที่เห็นด้วยกับเรา ขอให้ลองมายืน ณ ตรงนั้น เพื่อสัมผัสความรู้สึกที่ผมเคยรู้สึก"
Credit