“วรรณวิทย์” โรงเรียนเล็ก หัวใจยิ่งใหญ่
“มนุษย์เกิดมาพร้อมความเห็นแก่ตัวและการแก่งแย่งชิงดี”
นักจิตวิทยาบางกลุ่มเชื่ออย่างนั้น จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีคำตอบสำเร็จรูปว่าแท้ที่จริงแล้วสัญชาตญาณดั้งเดิมของมนุษย์เป็นแบบไหน และเราก็คงตั้งคำถามกับมันได้อย่างไม่สิ้นสุด
...แต่เรื่องราวของ “โรงเรียนวรรณวิทย์” อาจจะทำให้เราเลิกหาคำตอบ
“โรงเรียนวรรณวิทย์” เป็นโรงเรียนเอกชนขนาดเล็ก มีพื้นที่ไม่ถึง 3 ไร่ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2489 ใจกลางสุขุมวิทซอย 8 หนึ่งในทำเลที่มีค่าครองชีพสูงเป็นอันดับต้นๆ ของกรุงเทพฯ แต่น่าแปลกที่โรงเรียนแห่งนี้
เก็บค่าเล่าเรียนเทอมละ 1,702 บาท สำหรับชั้นประถม และ 1,317.50 บาท สำหรับชั้นมัธยมปีที่ 1- 3
ย้อนกลับไปเมื่อ 68 ปีที่แล้ว “
หม่อมผิว สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา” มองเห็นว่า บุตรหลานของชาวบ้านละแวกนั้นไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงได้ตั้งโรงเรียนวรรณวิทย์ขึ้น โดยในช่วงแรกเป็นอาคารหลังคามุงจาก สร้างขึ้นอย่างง่ายๆ มีนักเรียนเพียง 8 คน หม่อมผิวทำหน้าที่เป็นครูใหญ่และสอนด้วยตัวเอง ไม่มีการเก็บค่าเล่าเรียนในช่วงแรก
แม้ในระยะต่อมาจะมีการเรียกเก็บค่าบำรุงการศึกษาตามสมควร แต่ก็อนุญาตให้ค้างค่าเล่าเรียนได้ เนื่องจากผู้ปกครองเด็กส่วนมากมีความเป็นอยู่ขัดสน จะเรียกว่าเป็นโรงเรียนเอกชนเพื่อสังคมก็คงไม่ผิดนัก
โรงเรียนวรรณวิทย์ในวันนี้ ประกอบไปด้วยครู 37 คน และนักเรียน 514 คน ครูใหญ่คนปัจจุบันคือ หม่อมราชวงศ์รุจีสมร สุขสวัสดิ์ อายุ 94 ปี ลูกสาวคนสุดท้องของหม่อมผิว รับหน้าที่นี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497
แม้ท่านจะมีอายุถึง 94 ปี แต่ก็ยังเดินมาทำงานที่โรงเรียนทุกวัน ท่าทางกระฉับกระเฉงแข็งแรงเกินกว่าจะเป็นคนอายุเกือบศตวรรษ แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับสุขภาพ “ใจ” เพราะท่านจะพูดคุยตอบคำถามด้วยน้ำเสียงเป็นมิตร มีเสียงหัวเราะปิดท้ายประโยคอยู่เสมอ โดยมากแล้วท่านจะแทนตัวเองว่า “ยาย”
บรรยากาศนอกรั้วโรงเรียนค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปตามความเจริญของยุคสมัย จากที่มีแต่บ้านคนก็กลายเป็นย่านที่เต็มไปด้วยอาคารสำนักงาน ร้านอาหารต่างประเทศ และคอนโดมิเนียมหรู
ทว่าเกือบทุกอย่างภายในรั้วโรงเรียนแห่งนี้ ยังคงสภาพเดิมเอาไว้เหมือนในวันแรกๆ ราวกับว่ากาลเวลาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเจตนารมณ์ดั้งเดิมของผู้ก่อตั้งได้
“ก็เมื่อก่อนนี้มันเป็นบ้านคน เด็กไม่มีที่จะเรียน ก็ถือว่าช่วยเด็ก ปลูกเป็นหลังคาจาก แล้วก็ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นหลังคากระเบื้อง เพราะว่าแม่ท่านเขียนเรื่องได้เงินเยอะ ท่านเขียนลงหนังสือเดลิเมล์ เขียนหนังสือขายด้วย เก็บเงินซื้อที่ดินทีละแปลงสองแปลง มาเป็นโรงเรียนได้ถึงวันนี้ก็ฝีมือท่านทั้งนั้นแหละ” ครูใหญ่รุจีสมรตอบพร้อมกับยกมือไหว้รูปหม่อมผิวบนฝาผนังในห้องพักครู
สำหรับแฟนนวนิยายนิยายรุ่นเก่าๆ จะรู้จักหม่อมผิวในชื่อ “วรรณสิริ” อันเป็นนามปากกาที่ท่านใช้ในการประพันธ์นวนิยายหลายๆ เรื่อง แต่ที่ดังที่สุดก็เห็นจะเป็น “นางทาส” และ “วนิดา”
โรงเรียนวรรณวิทย์ตกอยู่ในสภาวะขาดทุนมาหลายปีอย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยค่าเทอมอันน้อยนิดที่โรงเรียนเรียกเก็บ เทียบกับภาระต้นทุนในปัจจุบัน ครูใหญ่อธิบายว่า
ที่ยังยืนหยัดมาจนถึงทุกวันนี้ก็เพราะเงินทุนที่ได้มาจากบทประพันธ์เรื่อง “วนิดา”
“วนิดาทำเงินให้ท่านเยอะเลย แต่เราเอามาใช้จ่ายหมดแล้ว ปกติค่าใช้จ่ายในโรงเรียนก็มาจากค่าเล่าเรียน แต่ทีนี้นักเรียนน้อยลง มันก็ไม่พอ เราก็ต้องเบิกมา แต่ว่ามันหมดไปแล้ว วนิดาทำเงินเป็นล้านเลย เขาเอาไปพิมพ์เป็นเล่มบ้าง ทำละครบ้าง”
บทประพันธ์จากปลายปากกาของ “วรรณสิริ” จึงไม่ได้มีคุณค่าเฉพาะในวงการวรรณกรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นรากฐานสำคัญ ที่ช่วยให้ลูกศิษย์วรรณวิทย์หลายต่อหลายรุ่นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
แม้ที่ผ่านๆ มาจะมีหลายคนแนะนำว่าให้ขึ้นค่าเล่าเรียนมากกว่านี้ เพื่อจะได้ไม่ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นตามยุคสมัย แต่นั่นคือสิ่งที่ขัดต่อเจตนารมณ์ดั้งเดิมของผู้ก่อตั้งโรงเรียน
“
แม่ท่านอุตส่าห์เขียนหนังสือ ค่อยๆ เก็บเงิน ซื้อที่ทำโรงเรียน อยากให้เด็กมีที่เรียน ถึงผู้ปกครองไม่ค่อยมีเงิน แต่เราต้องให้เด็กมีที่เรียนถ้าเราอยากให้เด็กได้ดี แต่ว่าเด็กที่นี่ดีนะ เขาจบไปแล้ว ก็ยังกลับมาหาโรงเรียนอยู่ เขาไม่ลืม แวะมาเยี่ยมเรื่อยๆ” ครูใหญ่ตอบพร้อมรอยยิ้มในแววตา
ไม่ใช่แค่ค่าเทอมเท่านั้น แต่ค่าครองชีพในโรงเรียนแห่งนี้ถูกคิดคำนวณมาแล้วว่าต้องอยู่ในอัตราที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
นักเรียนโรงเรียนวรรณวิทย์จึงซื้อข้าวกลางวันได้ในราคาเพียงจานละ 20 บาทเท่านั้น
“ยายเก็บค่าเช่าที่ขายของในโรงอาหารวันละ 300 บาท ขายอาหารมันใช้น้ำล้างจานเยอะ เราจ่ายค่าน้ำแพงมาก แต่ไม่อยากไปเก็บค่าเช่าที่แพงๆ เพราะเขาจะได้ไม่ต้องไปขึ้นค่าอาหารเด็ก” ครูใหญ่ตอบอย่างเรียบง่าย
พื้นที่ขนาดเล็กที่รองรับนักเรียนกว่า 500 คน และในอดีตเคยมากที่สุดเกือบ 1,000 คน ทำให้ต้องใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่าทุกตารางนิ้ว เวลาแปดนาฬิกาตรง สนามกีฬากลางโรงเรียนจะทำหน้าที่เป็นลานเข้าแถวเคารพธงชาติ เวลาพักกลางวัน มันจะเป็นทั้งสนามบาส สนามฟุตบอล ส่วนเสาธงก็ทำจากเสาไม้เล็กๆ ตรึงไว้กับหลังคาของอาคาร
แนวคิดในการใช้พื้นที่ของโรงเรียนเล็กๆ แห่งนี้คือ “เลือกใช้ตามความจำเป็น ภายใต้ข้อจำกัดที่มี” แม้แต่ชั้นวางของข้างโต๊ะครูใหญ่ ก็ยังถูกดัดแปลงให้เป็นสหกรณ์โรงเรียนสำหรับขายอุปกรณ์การเรียน ระหว่างที่พูดคุยกับครูใหญ่ จะมีนักเรียนเข้ามาซื้อดินสอยางลบเป็นระยะ โดยมีครูใหญ่ทำหน้าที่เป็นคนขาย ท่านยังคิดเงินได้อย่างแม่นยำ พูดคุยเป็นกันเองกับเด็กทุกคน
วรรณวิทย์ไม่มีเสียงออดไฟฟ้า แต่เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนคาบเรียน รองครูใหญ่จะเคาะระฆังหน้าห้องพักครูเป็นสัญญาณ เด็กๆ ก็จะทยอยเดินจากห้องนั้นไปห้องนี้ เป็นภาพที่เกิดขึ้นทุกวันที่นี่ ตั้งแต่ 68 ปีที่แล้ว
โรงเรียนแห่งนี้ไม่มีคอมพิวเตอร์ วิธีการสื่อสารที่ทันสมัยที่สุดคือระบบเสียงตามสายและไมโครโฟน กระดานดำกับชอล์กคือสื่อการเรียนการสอนอย่างเดียวที่มี โดยครูใหญ่บอกว่าครูส่วนมากมากของที่นี่อายุเกิน 60 ปีแล้ว ถึงจะไม่ใช่คนทันสมัยอะไรนัก แต่ก็ยังมุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดความรู้ให้กับลูกศิษย์
“ครูที่นี่อยู่กันมานานแล้ว รองครูใหญ่ก็อายุตั้ง 81 เป็นครูกันมาตั้งกี่สิบปีแล้ว อยู่ด้วยกันมาเรื่อยๆ ส่วนครูเด็กๆ ก็จะเป็นเด็กที่จบไปจากที่นี่ ครูอาวุโสมีประมาณครึ่งนึง ที่อายุเกิน 60 ขึ้นไปจะเยอะหน่อย มีมากกว่าครูสาวๆ ก็แล้วกัน สอนกันวันละ 4 คาบ 5 คาบ พวกเรารักโรงเรียน รักวรรณวิทย์ ก็ต้องสู้ เราเกิดมาเป็นคนต้องสู้”
ครูใหญ่เน้นว่าอายุไม่ใช่อุปสรรคในการมาสอนหนังสือ “หัวใจ” ต่างหากที่สำคัญ เพราะถ้าไม่มีใจรัก ก็จะไม่สามารถให้ถ่ายทอดวิชาความรู้ที่ดีๆ ให้กับเด็กได้
“สอนเด็ก ต้องเป็นกันเองกับเด็ก ให้วิชาเต็มที่ อย่าเช้าชามเย็นชาม ทำหน้าที่ของตัวให้สมบูรณ์ เด็กก็จะรัก เพราะเด็กเขารู้ คนไหนดีหรือไม่ดี เพราะเขาฉลาด”
ครูของโรงเรียนวรรณวิทย์ได้ค่าตอบแทนไม่มากนัก หากจะเปรียบเทียบกับโรงเรียนเอกชนแห่งอื่น “โรงเรียนของเราโชคดีนะ มีแต่ครูดีๆ ทั้งนั้นเลย เขาจะไปหางานที่ไหนก็ได้ ที่จ่ายเงินเดือนแพงๆ แต่ก็ยังอยู่ที่นี่”
คนทั่วไปอาจเชื่อว่าสำหรับผู้คนในวัยปลดเกษียณ คงไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการได้พักผ่อนอยู่ภายใต้ชายคาบ้านอย่างสงบ แต่การใช้ชีวิตหลังเกษียณในแบบฉบับของคุณครูโรงเรียนวรรณวิทย์ คือการเดินทางมาทำงานที่ตัวเองรักทุกวัน และได้อยู่ท่ามกลางเด็กๆ ในชั้นเรียน
ครูพิสมัย ชื่นอังกูร รองครูใหญ่ วัย 81 ปี เล่าให้ฟังว่าที่ยังมาทำงานกันอยู่ทุกวันนี้ ก็เป็นเพราะความผูกพัน ตัวท่านเองทำงานที่นี่มาแล้ว 57 ปี ครูคนอื่นๆ ก็เช่นกัน ส่วนมากจะสอนมาตั้งแต่ยังเป็นสาว
ถึงแม้ว่าความคิดและพฤติกรรมของเด็กๆ อาจเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่ครูที่นี่เชื่อว่า “ลูกศิษย์ก็คือลูกศิษย์” หน้าที่อย่างหนึ่งของครูคือต้องรับผิดชอบต่ออนาคตของพวกเขา ต้องอบรมสั่งสอนอย่างเต็มที่ อย่างน้อยก็เพื่อไม่ให้นักเรียนหลงเดินทางผิด
“เห็นเด็กไปได้ดี ครูก็ดีใจ” คุณครูพิสมัยสรุป และบางทีประโยคสั้นๆ นี้อาจจะสะท้อนความหมายของการเป็นครูได้ดีที่สุด โรงเรียนเก่าแก่แห่งนี้อาจไม่มีคอมพิวเตอร์ หรือสื่อการเรียนการสอนสมัยใหม่ สิ่งที่เราเห็นมีเพียงแค่ “ครู” ที่มีจิตวิญญาณแห่งความเสียสละอย่างเต็มเปี่ยม
คงจะไม่เป็นการกล่าวเกินไปนัก หากจะสรุปว่า สิ่งที่ประกอบกันเป็น “โรงเรียนวรรณวิทย์” ทั้งหมด คือ
“ความเสียสละ” ที่จับต้องได้
ถึงครูใหญ่จะบอกว่าโรงเรียนประสบปัญหาขาดทุนมาตลอด และเงินสำรองจากบทประพันธ์ “วนิดา” ก็ถูกนำมาใช้ในกิจการของโรงเรียนจนหมด แต่ก็ไม่เคยคิดตกลงใจยอมรับการเสนอซื้อจากนักลงทุนที่หมายตาทำเลทองแห่งนี้แม้แต่ครั้งเดียว แม้ว่าที่ดินเล็กๆ ผืนนี้จะมูลค่านับพันล้านบาท
“
ใครมาซื้อก็ไม่ขาย จะขายทำไม มีเด็กๆ เรียนอยู่ บางคนเขายังไม่ได้บอกว่าจะซื้อเท่าไร ไม่ได้สนใจเพราะไม่ขายอยู่แล้ว ก็นี่โรงเรียนของใครล่ะ โรงเรียนของเรา ที่ดินของแม่เรา นักเรียนของเรา อนาคตของเด็กอยู่ตรงนี้ มันประเมินค่าไม่ได้หรอก”
จากคำตอบของหัวเรือใหญ่วัย 94 ปี แสดงให้เห็นแล้วว่า “เงิน” อาจซื้อได้ทุกอย่าง ยกเว้นโรงเรียนวรรณวิทย์ และอุดมการณ์ของครูผู้เสียสละ ถึงแม้จะประสบปัญหาขาดทุนมาตลอดจนเงินทุนสำรองจากบทประพันธ์ “วนิดา” หมดลง แต่ก็ไม่เคยล้มเลิกความตั้งใจที่อยากให้เด็กด้อยโอกาสทุกคนมีที่เรียนหนังสือ
“เงินจากวนิดาหมดแล้วนะ แต่ยังไม่คิดหรอก ยังไงยายก็จะทำโรงเรียนต่อ อะไรที่เป็นทุกข์ ไม่ต้องไปคิด นี่ไงถึงอายุยืน ถึงเวลามันอยู่ตรงหน้าแล้วเราค่อยแก้ ตอนนี้เราก็ปล่อยมันไปก่อน เรายังไม่รู้ว่าเหตุการณ์อะไรมันจะเกิดขึ้นในอนาคต เราค่อยๆ แก้ไป” ครูใหญ่ตอบพร้อมเสียงหัวเราะปิดท้ายประโยคเช่นเคย
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของโรงเรียนเล็กๆ กับภารกิจที่ยิ่งใหญ่ หัวใจของผู้คนสมัยนี้อาจแห้งแล้งและหยาบกระด้าง ด้วยว่าเราชาชินกับความเห็นแก่ตัวของเพื่อนร่วมโลก แต่อย่างน้อยที่สุด ยังมีหญิงชราหนึ่งคนที่ยินดีใช้ทั้งชีวิตของตัวเองวางเป็นเดิมพัน เพื่อประคับประคองอนาคตของเด็กๆ เอาไว้ในสองมืออย่างเต็มใจ
ขอแสดงความนับถือครูบาอาจารย์ทุกท่านด้วยจิตคารวะ ขอให้โรงเรียนนี้เป็นรากฐานสำหรับเด็กในรุ่นนี้ได้เติบโตเป็นคนดีและมีคุณภาพต่อไป
หากเคยอ่านมาแล้วก็ขออภัยด้วย
เครดิต
http://women.sanook.com/33841/