Tiki-Taka ตอนที่ 4: โซนทั้ง 8 ในการเล่นแบบ Tiki-Taka
ทั้งนี้หากมองตามหน้ากระดาษแล้วเราจะพบว่า บาร์ซ่า เล่นในระบบ 4-3-3 เป็นหลัก แต่ในความเป็นจริงแล้วระบบ Tiki-Taka เป็นระบบที่ไม่มีตำแหน่งตายตัวชัดเจน กล่าวคือไม่ใช่ว่าหากวางตัวระบบเป็น 4-3-3 นักเตะทุกคนจะเล่นตามตำแหน่งที่วางเช่น แบ็กขวา ปีกขวา กองกลางตัวรับ อย่างเดียวทั้งหมด
สิ่งที่ชัดเจนในระบบนี้จริงๆแล้วคือ “โซน” ที่จะมีการแบ่งออกเป็น 8 โซนด้วยกัน และเป็นหน้าที่ของนักเตะที่ได้รับมอบหมายจะต้องทำตาม “บทบาท” ของตัวเองในแต่ละโซน และสอดประสานกับผู้เล่นในโซนอื่นๆเพื่อให้เกิดความกลมกลืนกัน
โซนทั้ง 8 แบ่งได้ดังนี้
โซนที่ 1: ผู้รักษาประตูตัวกวาด (The sweeper goalkeeper)
นี่เป็นโซนพิเศษที่จะต้องรับบทบาทมากที่สุดในการเล่นแบบ Tiki-Taka เมื่อเปรียบเทียบกับการเล่นในสไตล์บอลโยนยาว โดยผู้รักษาประตูที่จะเล่นในระบบนี้ได้ต้องมีการเล่นด้วยเท้าที่ดีเยี่ยม และสามารถออกบอลสั้น-ยาวได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะบอลสั้นที่จะคล้ายเป็นคนเปิดเกมเป็นคนแรกในเกือบทุกจังหวะด้วย
แน่นอนในฐานะผู้รักษาประตูย่อมต้องมีคุณสมบัติในเรื่องของ การยืนตำแหน่งที่ดี การเล่นลูกกลางอากาศที่ดี ความกล้าหาญ ความคล่องตัว ความปรารถนาที่จะเล่น และการอ่านเกมที่ยอดเยี่ยม เพราะระบบการเล่นแบบนี้ค่อนข้างเปิด และมีโอกาสจะโดนจู่โจมเร็ว ซึ่งผู้รักษาประตูต้องอ่านเกมให้ดีที่สุดเพื่อออกมาตัดเกมได้อย่างทันท่วงที และต้องสามารถที่จะเปิดเกมเร็วให้เพื่อนได้ด้วย
โซนที่ 2: ลิเบอโร่
ผู้เล่นในโซนที่ 2 นี้จะเหมือนกับผู้รักษาประตูในระบบนี้ คือจะต้องมีการ “เก็บบอล” ที่มากกว่าปกติ นอกจากนี้ยังจะมีบทบาทสำคัญในการช่วย “ลดความกดดัน” ของผู้เล่นกองกลางด้วยการเป็นตัวเลือกที่จะสามารถฝากบอลได้ด้วย โดยคู่เซ็นเตอร์ฮาล์ฟที่ดีในระบบแบบนี้ควรจะมี 2 สไตล์ คนหนึ่งเป็นคนที่มีทักษะสูง และอีกคนมีร่างกายที่แข็งแกร่ง (ให้นึกถึงคู่ การ์เลส ปูโญล และเกราร์ด ปิเก้ ของบาร์ซ่า หรือ ดาเนี่ยล แอกเกอร์ และมาร์ติน สเคอร์เทล ของลิเวอร์พูล)
สำหรับคนที่มีเทคนิคสูงนั้น จะต้องเป็น “เพลย์เมคเกอร์” ที่สามารถเปลี่ยนเกมเร็วได้ด้วยการวางบอลยาวที่แม่นยำ เหมือนกรณีของ แอชลี่ย์ วิลเลี่ยมส์ กองหลังทีมสวอนซี ซิตี้ ที่เป็นเจ้าของสถิติการเปิดบอลยาวมากที่สุดในพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2011-12
อีกอย่างสำหรับบท “ลิเบอโร่” ที่เป็นมาแต่ดั้งเดิมนั้น ในฐานะเป็นนักเตะในแดนหลัง เราย่อมมองเห็นภาพรวมของเกมทั้งสนาม นักเตะตำแหน่งนี้คือคนที่จะส่งสัญญาณให้เพื่อนว่า “ต้องบุกทางนี้” หรือ “ต้องไปทางนั้น”
โซนที่ 3: The ‘volante de salida’
หัวใจของทีม - นี่คือบทบาทของ The volante de salida หรือหากเปรียบเป็นภาษาไทยแล้วคือกองกลางห้องเครื่อง ซึ่งจะเป็นคนบงการจังหวะของเกม โดยหน้าที่สำคัญคือการเป็นคนที่ “แบกรับ” บอลจากเพื่อนๆที่จะต้องมาฝากบอลไว้เสมอ นักเตะในโซนนี้จะต้องมีทักษะการจับบอลแรกที่ยอดเยี่ยม มี awareness หรือความตื่นรู้ เพราะต้องเอาตัวรอดให้ได้ในสถานการณ์คับขันที่เพื่อนฝากบอลมาให้ เป็นคนที่จะลดความกดดันให้เพื่อน และทำให้การเคลื่อนที่ของบอลเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
คนที่เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของโซนนี้คือ ชาบี้ เอร์นานเดซ เจ้าของวลีอมตะ “ผมรับบอล ผมผ่านบอล ผมรับบอล ผมผ่านบอล ผมรับบอล ผมผ่านบอล”
โซนที่ 4: วิงแบ็ก
นี่เป็นโซนที่ต้องใช้นักเตะที่มีความทุ่มเทไร้ขีดจำกัด และต้องมีการเตรียมตัวเตรียมใจมาอย่างดีในการวิ่งขึ้นลงตลอดแนว นอกเหนือจากเกมรับที่เป็นพื้นฐาน ยังต้องเติมเกมรุกมากกว่าปกติด้วย และยังจำเป็นที่จะต้องมีการ “ครอสบอล” หรือเปิดบอลที่แม่นยำ เนื่องจากหากเติมดีแต่เปิดไม่เป็น เปิดไม่แม่น ก็ไม่มีประโยชน์ ตรงกันข้ามหากวิงแบ็กสามารถเติมเกมจนสุดเส้นหลังแล้วเปิดเข้ามาได้อย่างแม่นยำจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการเล่นพื้นที่สุดท้าย (final third) ไปด้วย
โซนที่ 5: กองกลางตัวสร้างสรรค์ที่จะวิ่งขึ้น-ลงตลอดเกม
ปฏิภาณ ไหวพริบ ความสามารถที่จะเปลี่ยนจังหวะของเกมภายในเสี้ยววินาที และต้องมีทักษะการเล่นที่ดีรอบด้าน (all-round) คือสิ่งจำเป็นสำหรับนักเตะในโซนที่ 5 และนักเตะตำแหน่งนี้ยังต้องมีคุณสมบัติพิเศษในการหา “พื้นที่ว่าง” ให้ได้แม้ในพื้นที่ที่มีผู้เล่นหนาแน่นที่สุด และจะต้องทำให้เกิดมุม “สามเหลี่ยม” ให้ได้ เพื่อทำให้เพื่อนมีทางเลือกในการฝากบอล
นักเตะในโซนนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการเล่นที่หวือหวา หรือพยายามจ่ายบอลแบบ “คิลเลอร์พาส” ตลอดเวลา แต่ควรจะเป็นนักเตะที่เล่นแบบง่ายๆ ค่อยๆ “ถักทอ” เกมขึ้นอย่างประณีต ขึ้นเกมอย่างช้าๆ ใจเย็น และอดทนรอจนกว่าจะพบช่องว่างที่เล่นงานคู่แข่งได้ดีที่สุด
โซนที่ 6: กองหน้าตัวใน
กองหน้าในฉบับ Tiki-Taka ไม่ใช่กองหน้าแบบที่คอยป้วนเปี้ยนหาโอกาสทำประตูในกรอบเขตโทษ (Fox-in-the-Box) อย่างเดียว แต่ต้องมีนักเตะที่มีพรสวรรค์ มีความคิดสร้างสรรค์สูง และมีการเล่นที่คาดเดาได้ยาก สามารถพลิกแพลงการเล่นได้ตลอดเวลา ยกตัวอย่างคือ ลิโอเนล เมสซี่, อเล็กซิส ซานเชซ, เปโดร โรดริเกวซ หรือหลุยส์ ซัวเรซ คือนักเตะที่มีสไตล์เหมาะสมสำหรับโซนที่ 6
โซนที่ 7: ตัวเป้านักเชื่อมเกม (The false nine)
สำหรับตัวเป้าในระบบ Tiki-Taka ก็ไม่ใช้หัวหอกตัวเป้ารูปร่างใหญ่ที่เอาไว้ชน ปะทะ และคอยโหม่ง แต่จะต้องเป็นนักเตะที่มีเทคนิคยอดเยี่ยม มีพรสวรรค์ โดยเฉพาะในการจับบอลจังหวะแรกที่จะต้องสามารถเล่นต่อได้ทันทีจากการวิเคราะห์ล่วงหน้าว่าหลังการจับบอลแล้วจะเชื่อมเกมต่อให้เพื่อนอย่างไร
มี 2 ตัวอย่างที่ดีสำหรับนักเตะโซนนี้ คนแรกคือ เมสซี่ ที่เป็นคนเชื่อมเกมในแดนหน้าของทีมบาร์ซ่า เมสซี่ โดยตำแหน่งแล้วจะยืนเป็นกองหน้าตัวเป้า แต่จะขยับลงมาเพื่อต่อเกมกับเพื่อนมากกว่าจะรอบอลในกรอบเขตโทษอย่างเดียว และยังสามารถสอดขึ้นไปหาจังหวะทำประตูได้
อีกคนที่มีสไตล์แตกต่างกันคือ เซสก์ ฟาเบรกาส ในทีมชาติสเปนชุดแชมป์ยูโร 2012 ที่แม้จะโดนวิจารณ์อย่างมาก แต่เซสก์ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าในระบบ Tiki-Taka นั้นอยู่เหนือความเข้าใจเกมฟุตบอลในแบบเดิมๆ เพราะเซสก์ ทำให้เกมของสเปน ลงล็อกต่อเนื่องและไหลลื่น และมีความสมดุลสูงมาก แม้อาจจะแลกกับความน่ากลัวในแนวรุกที่ลดลงไปมากก็ตาม
โซน G (8): ตำแหน่งทำประตูและตำแหน่งแอสซิสท์
โซนนี้เป็นโซนที่ต้องทำความเข้าใจว่า “ไม่มีนักเตะคนไหนประจำการในโซนนี้” แต่เป็นนักเตะทุกคนที่จะต้องพร้อมหาจังหวะที่ดีที่สุดในการขึ้นมาเพื่อทำประตู หรือเพื่อช่วยเปิดบอลให้เพื่อนทำประตู หรือหากพบว่าไม่สามารถทำประตูได้ คนที่เติมขึ้นมาเล่นจะต้องตัดสินใจเลือกผ่านบอลกลับไปให้เพื่อนเพื่อค่อยๆต่อบอลกันขึ้นมาใหม่ เซ็ตเกมใหม่ ดังจะเห็นได้จากการเล่นของบาร์ซ่า ที่เมื่อบุกมาถึงโซน G แล้วหากพบช่องจะเจาะเข้าทำอย่างรวดเร็วทันที แต่หากไม่พบช่องให้จู่โจมที่ดีพอจะเสี่ยงเจาะเข้าทำ ก็จะคืนบอลย้อนกลับไปหลังเพื่อค่อยๆปั้นเกมขึ้นมาใหม่อย่างใจเย็น และรอช่องกับโอกาสต่อไป
บทสรุปของโซนทั้ง 8
การเล่นแบบ Tiki-Taka ไม่ใช่งานหนักเฉพาะสำหรับนักเตะเท่านั้น แต่โค้ชเองก็ต้องทำงานหนักเช่นกัน นอกเหนือจากการสอนและอธิบายให้นักเตะในทีมเข้าใจถึงระบบแบบ Tiki-Taka ก็ต้องสามารถวิเคราะห์กลยุทธ์นี้ให้ออกด้วย ดูว่าทีมเล่นในระบบนี้ได้ใกล้เคียงความสมบูรณ์แบบหรือไม่ มีจุดอ่อน-จุดแข็งตรงไหน นักเตะที่ให้ประจำในแต่ละโซนมีความเหมาะสมขนาดไหน
อย่าลืมว่า Tiki-Taka คือระบบที่ไม่ใช่ระบบ นักเตะทั้ง 8 โซนจะต้องสอดประสานกันอย่างลงตัว ขึ้นก็ขึ้นทุกคน ลงก็ลงทุกคน และสิ่งนึงที่สำคัญมากๆที่ต้องเน้นย้ำด้วยคือ Tiki-Taka จะใช้เกม “เพรสซิ่งสูง” ไล่บี้กดดันคู่แข่งให้จนตั้งแต่ในแดนศัตรู ดังนั้นการเคลื่อนที่ การกดดัน จะต้องเป็นไปอย่างพร้อมเพรียงทั้งหมด เพื่อเอาบอลกลับมาเร็วที่สุดจะได้บุกใหม่เร็วที่สุด
“เวลาที่เราได้บอลนักเตะทุกคนคือผู้เล่น ความแตกต่างของเรากับทีมอื่นคือเมื่อเวลาเราได้บอล เรามีนักเตะ 11 คน ขณะที่ทีมอื่นเล่น 10 คนและมีผู้รักษาประตู” เบร็นดอน ร็อดเจอร์ส (2012)
ตอนที่ 1
http://www.soccersuck.com/boards/topic/929620
ตอนที่ 2
http://www.soccersuck.com/boards/topic/930775
ตอนที่ 3
http://www.soccersuck.com/boards/topic/931624
ที่มา :
http://www.azay.co.th/