ภาษีง่ายโพดๆ ตอนที่ 7 : เสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายแล้ว ไม่ต้องเสียภาษีอีก
[ ภาษีง่ายโพดๆ ตอนที่ 7 : เสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายแล้ว ไม่ต้องเสียภาษีอีก ]
อีกหนึ่งความเข้าใจผิดนอกจากเรื่อง "รายได้ของตรูไม่ต้องเสียภาษี" และ "เสียภาษีมูลค่าเพิ่มไปแล้วไยต้องเสียภาษีอีกล่ะเธอว์" นั่นก็คือการที่เราได้โดน "ภาษีหัก ณ ที่จ่าย" ไปแล้วแปลว่าไม่ต้องเสียภาษีอีก
แต่ความเป็นจริงแล้ว ภาษีหัก ณ ที่จ่ายไม่ได้แปลว่า "เราเสียภาษีเรียบร้อยแล้ว" แต่หมายความว่า "เราได้เสียภาษีล่วงหน้า" ไปแล้วต่างหากครับ
อ้าววววววว !!!!!
จริงๆแล้ว "ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย" คืออะไรแน่ล่ะเนี่ย ....
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ถ้าว่ากันบ้านๆก็คือ จำนวนเงินที่กฎหมายกำหนดให้ผู้จ่ายเงินหักออกจากเงินได้ก่อนจ่ายให้แก่ผู้รับ และถือเป็น "เครดิตภาษี" ของผู้ถูกหัก สำหรับการคำนวณภาษีที่ต้องยื่นในแบบแสดงรายการภาษี โดยทางผู้จ่ายเงินจะมีหลักฐานที่เรียกว่า "หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย" ให้แก่ผู้รับไว้เป็นหลักฐาน
เพื่อให้เข้าใจเรามาดูตัวอย่างของการ "เครดิตภาษี" กันต่ออีกหน่อยนะครับ
ถ้าหากเรามีภาษีที่ต้องเสียทั้งหมดในปี จำนวน 15,000 บาท แต่เรามีภาษีหัก ณ ที่่จ่ายที่ถูกหักไว้แล้วระหว่างจำนวน 10,000 บาท แปลว่าในปีนั้นเราจะต้องเสียภาษีเพิ่มเติมแค่เพียง 15,000 - 10,000 = 5,000 บาทเท่านั้นเอง (10,000 บาทที่ถูกหักไว้ นำไปเครดิตออกจากภาษีที่ต้องชำระตอนปลายปี)
ทีนี้ก็มีคนสงสัยอีกสิครับว่า ... ทำไมถึงจะต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ด้วย จ่ายทีเดียวไม่ได้หรือไงฟระ!!! ขออธิบายเพิ่มเติมครับว่าการหักภาษี ณ ทีจ่ายนั้น มีวัตถุประสงค์หลักๆอยู่ 4 ข้อ ได้แก่
1. บรรเทาภาระภาษี เนื่องจาก ภาษีเป็นเรื่องยิ่งใหญ่สำหรับคนทุกคน ดังนั้นทางรัฐจึงต้องบรรเทาภาษีที่เราจะต้องจ่ายโดยการหักไว้ล่วงหน้า (ตอนที่เราได้รับเงิน) เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในการชำระเงินครั้งละมากๆ ตอนสิ้นปี เพราะตอนนั้นเราอาจจะไม่มีเงินพอที่จะชำระนั่นเอง ลองคิดดูง่ายๆว่า ถ้าเราโดนนายจ้างหักภาษี ณ ที่จ่ายไปเดือนละ 1,000 บาท ทุกๆเดือน กับ เราต้องจ่ายภาษีทั้งจำนวน 12,000 บาท ในตอนสิ้นปีเลยทีเดียว แบบไหนจะโหดต่อเงินในกระเป๋าของเรามากกว่ากันคร้าบ
2. ให้รัฐมีรายได้เข้าคลังอย่างสม่ำเสมอ ผมคิดว่าข้อนี้น่าจะเป็นวัตถุประสงค์สำคัญที่สุดของภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เนื่องจากทางรัฐเองต้องการรายได้อย่าสม่ำเสมอมาเพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศ (หรือเปล่าน้อ - -')
3. สร้างความเป็นธรรมแก่ผู้มีเงินได้ บางคนบอกว่าเป็นธรรม บางคนก็อาจจะบ่นว่าไม่เป็นธรรม สำหรับข้อนี้ผมขอไม่แสดงความเห็นละกันนะคร้าบ แหะๆๆๆๆ
4. ป้องกัน ปราบปราม การหลบเลี่ยงภาษี เนื่องจากการหักภาษี ณ ที่จ่ายจะทำให้ทางรัฐมีกลไกใช้ตรวจสอบข้อมูลของผู้ที่มีเงินได้จากการหัก ณ ที่จ่ายไว้ในระบบ และผู้จ้างส่วนใหญ่นั้นมักจะเป็นคนที่อยู่ในระบบการหัก ณ ที่จ่ายอยู่แล้ว ซึ่งจะช่วยนำส่งข้อมูลการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้กับรัฐอีกทางหนึ่ง
สุดท้ายนี้ ผมหวังว่าบทความสั้นๆในตอนนี้จะทำให้เข้าใจความหมายของภาษีหัก ณ ที่จ่ายกันมากขึ้นนะคร้าบบบบบบบ ....
เครดิต
https://www.facebook.com/TaxBugnoms?fref=ts