สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้ หลายคนอาจจะรู้สึกว่ามันเป็นแค่คำแก้ตัว แต่ผมก็อยากจะแสดงความคิดเห็นในฐานะบุคลากรในองค์กรตรวจสอบและในฐานะประชาชนคนหนึ่ง
.
.
ใช่ครับ ผมคือ เจ้าหน้าที่ สตง. และที่ผ่านมานั้นผมไม่เคยโพสอะไรถึงประเด็นตึกพังถล่ม เพราะด้วยสถานการณ์ตึกพังถล่มที่เกิดขึ้นนั้นสร้างความเสียหายและการสูญเสียให้กับหลายฝ่ายและหลายมิติ ทั้งชีวิตคน ทรัพย์สิน เงินงบประมาณ (เงินภาษีประชาชน) ภาพลักษณ์ประเทศ และความเชื่อมั่นขององค์กร ซึ่งถึงแม้ว่าผมจะรักในองค์กรนี้มากเพียงใด ผมก็ไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นมันทำให้ผมเองก็รู้สึกเสียใจไม่น้อยกับการสูญเสียของชีวิตของประชาชนคนไทยหรือชีวิตของแรงงานต่างด้าว และยังรวมถึงการสูญเสียความเชื่อมั่นจากประชาชนต่อองค์กรตรวจสอบในประเทศไทย
.
.
อย่างไรก็ตามสำหรับเรื่องที่เกิดขึ้น เรื่องตึก สตง. พังถล่ม นั้น ประชาชนทุกคนสามารถตั้งคำถาม หรือ รู้สึกสงสัย หรือ รู้สึกไม่เชื่อมั่น หรือ รู้สึกโกรธ และวิพากย์วิจารณ์ถึงเรื่องตึกพังถล่มได้อย่างเต็มที่ ทั้งเรื่องที่มีข้อพิรุธต่าง ๆ เรื่องการจัดซื้อครุภัณฑ์ที่แพงเกินจริง หรือเรื่องอื่น ๆ เพราะนั้นเป็นสิทธิของประชาชนที่เสียภาษีมาเพื่อพัฒนาประเทศ และผมก็เห็นด้วยว่าเรื่องดังกล่าวควรมีการถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นและหากพบว่ามีการกระทำผิดหรือมีความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ ผู้ที่เกี่ยวข้องก็ควรได้รับโทษตามข้อเท็จจริงนั้น
แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าตั้งแต่วันที่เกิดเหตุการณ์ตึกพังถล่มจนถึงวันนี้
การนำเสนอข้อมูลบางอย่างไม่ว่าจะเป็นจากสื่อหลัก หรือ สื่อออนไลน์ มันถูกนำเสนอในแบบที่เข้าใจผิดและชี้นำโดยไม่ได้เข้าใจถึงหลักการ ดังนั้นผมก็อยากจะนำเสนอในมุมมองของผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบหรือเจ้าหน้าที่ตรวจสอบบ้างว่า เพราะเหตุผลใด เจ้าหน้าที่ สตง. ถึงอาจจะมีคำถามที่ถามผู้ถูกตรวจสอบแบบนั้นและในอีกหลายๆเรื่อง เช่น
.
.
1. มีหลายๆแหล่งข่าวที่นำเสนอเรื่องที่บอกว่า สตง. นั้น ชอบตั้งคำถามแบบแปลกๆ หรือ บางท่านก็อาจจะมองว่าตั้งคำถามแบบโง่ๆ เช่น "รู้ได้ไงว่าศพที่ผ่าเสียชีวิตแล้ว" “เอาเงินให้ห้องสมุดไปซื้อหนังสือ แล้วรู้ได้อย่างไรว่านักเรียนจะอ่าน” เป็นต้น
สำหรับผมในมุมของคนตรวจสอบมีโอกาสที่จะถามคำถามเหล่านี้แบบ 90% ครับ เพราะอะไรถึงต้องถาม? ก็เพราะว่าในบางครั้ง ผู้ตรวจสอบ (ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชน) จะต้องทำความเข้าใจ (understanding) องค์กร หรือ ทำความเข้าใจสิ่งที่เราจะตรวจสอบ ซึ่งการถามคำถามเหล่านี้เป็นการสอบถามทั่วไปเพื่อให้เรารู้และเข้าใจมากยิ่งขึ้น ในส่วนตัวผมเองนั้นเคยไปตรวจหน่วยงานด้านน้ำ ผมก็เคยถามเหมือนกันครับว่า "พี่ครับ แล้วพี่รู้ได้ยังไงครับว่าชาวบ้านเขามีความต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรจริงๆ" สิ่งที่ผมถามนั้น ไม่ได้ถามเพราะตั้งใจจะกวนประสาทหรือถามแบบไม่มีเหตุผล แต่การถามของผมนั้นคือการถามเพื่อนำสิ่งที่ได้รับทราบไปประกอบการทำความเข้าใจหน่วยงานและงานที่ผมตรวจสอบนั้นเอง เช่นเดียวกันกับการที่ถามว่า"รู้ได้ไงว่าศพที่ผ่าเสียชีวิตแล้ว" ผู้ที่ถามอาจจะอยากรู้ว่ามีเงื่อนไขในการพิจารณาการ cut off ว่าบุคคลคนนี้เสียชีวิตแล้วตามหลักการแพทย์อย่างไร หรือคำถามที่ว่า “เอาเงินให้ห้องสมุดไปซื้อหนังสือ แล้วรู้ได้อย่างไรว่านักเรียนจะอ่าน” ผู้ที่ถามอาจจะถามเพียงเพราะอยากรู้วิธีการประเมินว่าผู้ถูกตรวจสอบนั้นใช้หลักการใดในการเลือกซื้อหนังสือเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนรักการอ่าน ซึ่งถ้าแตกประเด็นออกไปอีกก็อาจจะหมายถึงว่า สมมติ ท่านจะส่งเสริมนักเรียนในระดับชั้นนี้ให้รักการอ่าน หนังสือที่ท่านซื้ออาจจะต้องเป็นหนังสือในลักษณะที่เหมาะสมกับความสนใจในวัยนั้นๆ ก็ได้ (แต่อย่างไรก็ตามที่ผมอธิบายมานั้น ผมอธิบายจากหลักการทั่วไปของการตรวจสอบนะครับ ผมไม่สามารถยืนยันได้ว่าผู้ที่ถามคำถามเหล่านี้ถามโดยใช้น้ำเสียงหรือถามโดยแบบกวนๆหรือไม่ อย่างไร เพราะผมเองก็ไม่ได้อยู่ ณ ตรงนั้น เวลานั้น) ดังนั้น การที่ผู้ถูกตรวจสอบรู้สึกว่ามันเป็นคำถามที่ไม่ควรต้องถามนั้น
ผู้ถูกตรวจสอบอาจจะรู้สึกอึดอัดกับการต้องตอบคำถามเหล่านี้และอาจไม่เข้าใจถึงหลักการตรวจสอบจึงอาจทำให้เกิดความรู้สึกไม่ดี
2. มีหลายๆแหล่งข่าวที่นำเสนอเรื่องที่บอกว่า สตง. นั้น เช่น ตรวจสอบพริกโดยการวัดพริก ตรวจสอบใบเสร็จถ้าไม่ตรงแค่หลักหน่วยหลักสิบก็ไล่บี้ให้ไปหาใบเสร็จมาใหม่หรือไม่ยอม ตรวจสอบทรัพย์สินที่มีอายุกว่า 10 ปี แต่หาไม่เจอ จะขอตัดออกเป็นการชำรุดก็ไม่ได้ สตง. ไม่ยอมให้ไปจ่ายค่าไฟที่เซเว่น หรืออีกหลายๆประเด็น
สำหรับผมในมุมของคนตรวจสอบ ขออธิบายแยกเป็นเรื่องๆ ดังนี้ครับ
- ตรวจสอบพริกโดยการวัดพริก จริงๆ เชื่อว่าหลายท่านคงได้เห็นการชี้แจงของอดีตผู้ว่า สตง. ไปแล้วบ้างตามสื่อสาธารณะ ซึ่ง ถูกแล้วครับ ในมุมของคนตรวจสอบเราตรวจสอบตามเอกสารที่มี
ตรวจสอบตามรายละเอียดที่หน่วยงานผู้ถูกตรวจสอบจัดทำขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น TOR สัญญา ทะเบียนควบคุมต่างๆ เป็นต้น ดังนั้นหากรายละเอียดกำหนดไว้แบบไหน ผู้ตรวจสอบก็อาจจะต้องสุ่มตรวจสอบรายการเหล่านั้นเปรียบเทียบกับรายละเอียดตามเอกสารนั้นเอง ซึ่งแน่นอนครับว่าส่วนตัวผมก็เคยตรวจเจอข้อสังเกตในลักษณะดังกล่าวอยู่บ้าง ส่วนใหญ่เราก็จะเสนอแนะแนวทางให้ปรับปรุงแก้ไขกันไป (ถ้ามันไม่ได้ร้ายแรงจนเข้าข่ายการทุจริต หรือ เข้าข่ายการกระทำผิดด้วยความเจตนา)
- ตรวจสอบใบเสร็จถ้าไม่ตรงแค่หลักหน่วยหลักสิบก็ไล่บี้ให้ไปหาใบเสร็จมาใหม่หรือไม่ยอม คือ เราต้องทำความเข้าใจก่อนนะครับว่าด้วยหลักการตรวจสอบไม่เพียงแค่การตรวจสอบของหน่วยงานรัฐแต่การตรวจสอบในภาคเอกชนนั้นก็
ใช้หลักการเดียวกันครับ หากใบเสร็จหรือใบสำคัญจ่ายนั้นไม่ตรงกับจำนวนเงินที่จ่ายไปไม่ว่าจะกี่บามก็ตาม มันคือสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นจะต้องไปขอใบเสร็จมาใหม่หรือแก้ไขให้ถูกต้อง
- ตรวจสอบทรัพย์สินที่มีอายุกว่า 10 ปี แต่หาไม่เจอ จะขอตัดออกเป็นการชำรุดก็ไม่ได้ ตามระเบียบพัสดุนั้นมีการกำหนดเรื่องการขอตัดจำหน่ายสินทรัพย์ไว้หลายกรณีด้วยกันครับ ซึ่งแน่นอนครับว่าหนึ่งในกรณีนั้นคือ การตัดจำหน่ายสินทรัพย์ที่สูญหาย หรือ ตรวจสอบไม่พบ ไว้ในระเบียบนี้ด้วย ดังนั้น กรณีข้างต้น สตง. ไม่ยอมให้ตัดจำหน่ายเป็นสินทรัพย์ชำรุดนั้นถูกต้องแล้วครับ เพราะการตัดจำหน่ายสินทรัพย์ที่หาไม่เจอด้วยการแจ้งชำรุดไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นครับ หลักการก็มีแค่นี้เลยครับ ดังนั้นไม่ใช่ว่า สตง. เรื่องมากนะครับ แต่การตรวจสอบมันคือ
การรายงานตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
- เรื่องครูนำพัดลมที่ออกเงินซื้อส่วนตัวมาใช้ให้นักเรียนได้นอนกลางวัน แต่ สตง. ทักท้วงว่าอาจเข้าข่ายการใช้ไฟหลวง เรื่องนี้ผมไม่รู้ว่าหน้างานจริง สตง. ให้ท่านปฏิบัติอย่างไร แต่ส่วนตัวผมเคยตรวจเจอเคสลักษณะนี้อยู่บ่อยมากๆ ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 เคสหลักๆ คือ สินทรัพย์ที่ได้รับบริจาคมาจากภาคเอกชนหรือหน่วยงานอื่น สินทรัพย์ลักษณะนี้จะต้องนำมาดำเนินการขออนุมัติรับเข้าเป็นสินทรัพย์ของรัฐครับ (
มีระเบียบกำหนดไว้ชัดเจน) ในส่วนสินทรัพย์ส่วนตัวที่นำมาใช้เพื่อประโยชน์ของทางราชการ ผมจะแนะนำว่าหากเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางราชการก็ให้ทำหนังสือแจ้งหัวหน้างานและทำทะเบียนควบคุมของหน่วยงานไว้ เพื่อเป็นหลักฐานว่ามีความประสงค์เช่นนั้นจริง เพราะมันจะได้เป็นการควบคุมภายในที่มีความชัดเจนและไม่ก่อให้เกิดข้อพิพาทตามมาในภายหลัง
- สตง. ไม่ยอมให้ไปจ่ายค่าไฟที่เซเว่น จริงๆเคสนี้คิดว่าเนื่องมาจากระเบียบนั้นมี
รายละเอียดของเอกสารหลักฐานที่กำหนดไว้ ซึ่งการไปจ่ายค่าไฟฟ้าที่เซเว่นนั้นอาจไม่สามารถได้หลักฐานตามที่ระเบียบกำหนดได้ จึงอาจจะเป็นที่มาของเรื่องดังกล่าว ดังนั้น สตง. ไม่ได้เป็นผู้กำหนดว่าใครควรทำอะไร แต่ในเรื่องที่อาจจะเป็นการไม่เป็นไปตามระเบียบ สตง. ก็อาจจะเสนอแนะเพื่อให้ท่านปฏิบัติได้เป็นไปตามระเบียบนั้นเอง และหากจะว่ากันจริงๆ เ
รื่องนี้หัวใจสำคัญคือการแก้ไขระเบียบที่อาจจะไม่ทันสมัย ล้าหลัง และไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันแล้ว ดังนั้นหน่วยงานผู้ออกระเบียบอาจต้องพิจารณาแก้ไขระเบียบหรือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น มีหนังสือเวียนยกเว้นหรือมีเงื่อนไขให้สามารถทำได้ นั้นคือการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดที่สุดครับ
3. สืบเนื่องมาจากข้อ 2 แต่ผมจะเขียนขยายความในข้อ 3 นี้ คือเรื่องที่หลายๆสื่อตั้งคำถามว่า สตง. แช่แข็งความเจริญของท้องถิ่น ซึ่งในการที่ท้องถิ่นจะใช้เงินอุดหนุนของท้องถิ่น ซึ่งบางโครงการที่ท้องถิ่นจะทำอาจจะไม่เข้าเงื่อนไขที่จะทำได้ตามที่ระเบียบกำหนดไว้ ดังนั้นท้องถิ่นก็ต้องกลัวว่า สตง. จะตรวจสอบ เลยไม่อยากทำกันแล้ว สิ่งนี้จุดสำคัญเลยอาจจะไม่ใช่ สตง. ที่แช่แข็งการทำโครงการของท้องถิ่น แต่
เป็นระเบียบที่กำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆจนไม่สามารถใช้เงินดังกล่าวได้ตามความต้องการที่จะทำโครงการที่ท้องถิ่นอยากจะทำ ดังนั้นสิ่งที่ต้องแก้ หัวใจสำคัญก็คือกฎหมาย ระเบียบ นั้นเอง
สตง. เป็นปลายทางที่ต้องตรวจสอบตามสิ่งที่กฎหมาย ระเบียบกำหนดไว้ ถ้ากฎหมายให้อำนาจไว้ว่าทำได้ สตง. ก็ไม่มีสิทธิไปคัดค้านแน่นอน
4. ประเด็นเรื่องของครูที่อาจจะรู้สึกเบื่อหน่าย รู้สึกไม่ชอบการถูก สตง. ตรวจสอบ หรือ การได้รับผลกระทบจากการตรวจสอบของ สตง. นั้น ไม่ผิดหรอกครับที่ครูอาจจะคิดแบบนั้น เพราะปกติของคนเราที่เมื่อเราได้รับการท้วงติงหรือได้รับผลกระทบจากสิ่งที่เราอาจจะไม่รู้มากพอและ
เราก็ทำไปเพราะมันคือหน้าที่ ซึ่งผมเข้าใจนะครับ แล้วเพราะอะไรที่เป็นแบบนั้น? ที่ครูอาจจะเจอปัญหากับ สตง. มากที่สุด ก็เพราะครูต้องทำหน้าที่เกินความจำเป็นและเกินภาระหน้าที่นั้นเอง ผมจึงอยากให้คุณครูทุกท่านสะท้อนปัญหานี้ไปยังกระทรวงต้นสังกัด เพื่อให้กระทรวงนั้นได้ตระหนักถึงภาระและความเสี่ยงของครูที่อาจจะต้องเสียอนาคตในชีวิตราชการไปเพราะต้องมาทำหน้าที่ เจ้าหน้าที่การเงิน หรือ เจ้าหน้าที่พัสดุ นั้นคือการแก้ไขปัญหาตรงจุดและเป็นหัวใจสำคัญเลยครับ เพราะ สตง. เองไม่ได้อยากจะตรวจเพื่อให้ครูได้รับโทษหรอกครับ แต่
สตง. ก็ต้องทำหน้าที่ของตนเอง นั้นคือ หน่วยงานตรวจสอบ ซึ่งแน่นอนว่าเราก็ต้องทำหน้าที่ตาม
วิธีการ หลักการ ที่กฎหมายกำหนด
5. หลายคนตั้งคำถามว่าทำ สตง. ตรวจสอบโดยไม่มีความมุทิตาจิต ไม่เห็นอกเห็นใจ ทำไมไม่เห็นถึงความดีของผู้ที่ถูกตรวจสอบและพบว่ามีการกระทำผิดบ้าง ทำไมไม่หยวนๆกันบ้าง ทำไมไม่เป็นไม้บรรทัดที่ในบางครั้งก็ต้องงอบ้าง แน่นอนครับว่าในมุมของการตรวจสอบเราไม่สามารถใช้คำว่าหยวนๆกันไปได้ตามความรู้สึกของตนเอง ยิ่งหากว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องของการกระทำผิดแล้วด้วย เพราะมันคือการใช้ดุลยพินิจส่วนตัวซึ่งแน่นอนครับว่ามันจะมีปัญหาตามมาอีกว่าแล้วทำไมคนนั้นทำผิด สตง. ยอมได้ แต่อีกคนทำผิด สตง. ไม่ยอม มันก็จะสร้างบรรทัดฐานการใช้ดุลยพินิจที่ไม่เป็นธรรม เกิดความขัดแย้งตามมาอีก และถ้าให้พูดจริงๆ ณ ปัจจุบัน (ถ้าในปัจจุบัน ผมว่า ถ้าเป็นข้อบกพร่องเล็กๆน้อยๆ ที่สามารถและนำและแก้ไขได้ เราก็จะแนะนำให้แก้ไขนะครับ แต่ในบางครั้งก็อาจจะต้องมีการรายงานต่อฝ่ายบริหารเพื่อกำกับดูแล ซึ่งไม่ได้เป็นการรายงานเพื่อให้ได้รับโทษ แต่เป็นการายงานเพื่อให้ทราบถึงปัญหาของหน่วยงานและกำกับดูแล)
สุดท้ายนี้ผมเข้าใจถึงความโกรธ ความไม่เข้าใจ ความไม่เชื่อมั่น ความหมดศรัทธาใน สตง. ของประชาชนทุกท่าน เพราะผมเองและหลายๆคนในหน่วยงานก็รู้สึกไม่ต่างไปจากพวกท่าน สำหรับเรื่องตึกของ สตง. ถล่ม ทุกท่านจะตั้งคำถามยังไงก็ได้ วิพากย์วิจารณ์ยังไงก็ได้ ทำได้เต็มที่บนเหตุและผล และท้ายที่สุดหากการตรวจสอบพบว่ามีการกระทำผิดของใครก็ตามใน สตง. คนเหล่านั้นก็ต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ซึ่งผมเห็นด้วยครับ
อย่างไรก็ตา
มผมยังคงอยากให้ทุกท่านเชื่อมั่นในหลักการและวิธีการตรวจสอบ เพราะมันมีวิธีการ มีหลักการของมัน ในตอนนี้หลายๆคนอาจจะกำลังใช้ความรู้สึกชี้นำเหตุผลและหลักการ และไม่ได้คิด วิเคราะห์ แยกแยะ เป็นประเด็นไป ผมไม่อยากให้เอาทุกอย่างที่เป็นเรื่องต่างกรรมต่างวาระมาผสมรวมไป เพราะสุดท้ายเราจะไม่ได้อะไรเลยนอกจากความสะใจ
ทั้งนี้ นี่อาจจะเป็นวาระสำคัญครั้งใหญ่ที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองจะต้องหันกลับมามองถึงปัญหาและปฏิรูปหลายๆเรื่องที่ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นในตอนนี้
ทั้งเรื่องกฎหมาย ระเบียบ ที่ไม่ทันสมัย หรือ มีข้อจำกัดในการปฏิบัติงานจริง และ สตง. เองก็ต้องมีการพูดคุย รับฟีดแบคและปฏิรูประบบการควบคุมภายในให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น และปฏิรูปกฎหมายและแนวทางการตรวจสอบให้มีความทันสมัย
“ในฐานะเจ้าหน้าที่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เหตุการณ์ในครั้งนี้ถือเป็นบาดแผลสำคัญที่มีการสูญเสียชีวิตผู้คน สูญเสียทรัพยากรทั้ง คน (แรงงานและผู้ปฏิบัติงาน) เงิน (ภาษีของประชาชน) และรวมถึงการสูญเสียความเชื่อมั่นในหลักการปฏิบัติงาน ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน และยังกระทบต่อจิตใจของเราคนในองค์กร ผมรู้สึกเสียใจอย่างที่สุดที่เหตุไม่คาดคิดนี้เกิดขึ้น และผมเองก็ขอยืนยันว่าผมเห็นว่าไม่มีสิ่งใดสำคัญไปกว่าความปลอดภัยของประชาชนและความโปร่งใสในทุกขั้นตอนของการดำเนินงาน รวมไปถึงการตรวจสอบในเรื่องนี้”
“ในวรรคนี้ผมอยากฝากถึงองค์กรแห่งนี้ ในวันนี้…แม้จะเกิดเหตุที่สั่นคลอนความเชื่อมั่น ความศรัทธา และเต็มไปด้วยคำถามถึงการทำงานขององค์กรตรวจสอบว่าเป็นองค์กรที่จะช่วยดูแลเงินภาษีของประชาชนได้จริงหรือไม่ แต่ผมก็ยังเชื่อมั่นว่า ถ้าคุณซื่อสัตย์ กล้ายอมรับความจริงอย่างตรงไปตรงมา และแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด สตง. จะกลับมายืนได้อย่างสง่างามอีกครั้ง ซึ่งแน่นอนครับมันอาจจะต้องใช้เวลา”
สุดท้ายจริงๆ อยากตอบคำถามหลายๆคน ว่า
อย่าถามเลยนะครับว่าแล้วทำไมไม่ไปตรวจสอบหน่วยงานตัวเองกันบ้าง เพราะผมเองก็ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดมา ซึ่งแน่นอนครับว่ากฎหมายกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของ สตง. (ฝ่ายปฏิบัติงาน) นั้น มีหน้าที่ตรวจสอบหน่วยงานที่เป็นหน่วยรับตรวจครับ สำหรับ สตง. นั้นจะมีคณะคณะหนึ่งที่มีหน้าที่ตรวจสอบ สตง. ตามที่กฎหมายกำหนดไว้อยู่ครับ แต่อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบันนี้ มีหลายหน่วยงานที่เข้ามาดำเนินการตรวจสอบแล้วครับ คงต้องรอฟังผลกันต่อไป ซึ่งผมก็ตั้งตารอเช่นกันครับ.....
ด้วยความเคารพและเสียใจครับ
Spoil
https://www.facebook.com/share/p/16CmRqbw75/
ความห่วยแตก --> เกิดขึ้นเพราะผู้ถูกตรวจไม่เข้าใจหลักการนะครับ
แต่ถ้าตรวจมากเกินไป --> อย่าโทษพวกเราน้า กฎหมายบอกไว้ให้ทำงี้อ่า
เป็นตั้งแต่หัวยันหาง พอจะทำอะไร อ้างกฎหมายให้อำนาจ
แต่พอเข้าตัว งื้อ เข้าใจผิดกัล เราทำตามขั้นตอนแล้ว