พบหลักฐานชัดสุดสิ่งมีชีวิตดาวอื่น
BREAKING: นักดาราศาสตร์อาจได้พบหลักฐานชัดเจนที่สุด ของการมีชีวิตอาศัยอยู่บนดาวดวงอื่น โดยรอบนี้เป็นดาวเคราะห์ที่ปกคลุมไปด้วยมหาสมุทรขนาดใหญ่ อยู่ไกลออกไป 124 ปีแสงจากโลก
งานวิจัยโดยคณะของศาสตราจารย์ Nikku Madhusudhan มหาวิทยาลัย Cambridge ได้ตรวจพบสัญญาณบ่งชี้ทางชีวภาพอย่างโมเลกุลของ ไดเมทิลซัลไฟด์ (Dimethyl Sulfide) ปรากฏอยู่ในบรรยากาศของดาวเคราะห์ K2-18b
บนโลกของเรา ไดเมทิลซัลไฟด์ ถูกผลิตได้เพียงจากกระบวนการชีวภาพ จากสิ่งมีชีวิตอย่างแพลงก์ตอนในทะเลเท่านั้น ทำให้การตรวจพบไดเมทิลซัลไฟด์บนดาว K2-18b เป็นหนึ่งในหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดในปัจจุบัน ว่าเราอาจตรวจพบสัญญาณของชีวิตบนดาวดวงอื่นได้แล้ว
นอกจากนี้ ดาวเคราะห์ K2-18b ยังเป็นดาวประเภท Super-Earth หรือมีขนาดใหญ่กว่าโลกประมาณ 2.6 เท่า โดยมีองค์ประกอบของคาร์บอนไดออกไซด์และมีเธนอยู่ในบรรยากาศ และยังโคจรรอบดาวฤกษ์ในเขต Habitable Zone ที่อาจพบน้ำในรูปของเหลวได้
ด้วยข้อมูลเหล่านี้ ทำให้นักดาราศาสตร์คาดว่าดาวเคราะห์ K2-18b อาจปกคลุมด้วยมหาสมุทร หรือเป็นดาวแบบ 'Hycean Planet' ซึ่งอาจสอดคล้องกับกระบวนการพบไดเมทิลซัลไฟด์บนดาวได้ แต่นักดาราศาสตร์ยังต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อยืนยันแหล่งที่มาของโมเลกุลดังกล่าว
การศึกษาธาตุและองค์ประกอบของดาวเคราะห์ที่อยู่ไกลโลกไปหลายปีแสง ต้องอาศัยการตรวจดูสเปกตรัมของแสงดาวฤกษ์ที่ส่องทะลุผ่านบรรยากาศของดาวเคราะห์ เพื่อดูว่ามีการดูดซับในช่วงคลื่นไหน ซึ่งเป็นข้อมูลบ่งชี้ว่ามีธาตุใดเป็นองค์ประกอบบ้าง โดยงานวิจัยนี้ได้ใช้ข้อมูลจากอุปกรณ์ MIRI บนกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ เพื่อส่องดูดาวเคราะห์ K2-18b จนตรวจพบสัญญาณบ่งชี้ดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายส่วนที่นักดาราศาสตร์ยังไม่สามารถยืนยันได้อย่างมั่นใจ โดยงานวิจัยนี้มีความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ ‘Three-sigma’ หรือที่ 99.7% ว่ากระบวนการบนดาวไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ
แม้จะเป็นตัวเลขที่สูง แต่พวกเขาต้องการความเชื่อมั่นมากถึง 99.99999% หรือเป็นระดับ 'Five-sigma' เพื่อให้ได้รับการยอมรับว่าเป็นการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ โดยค่อนข้างแน่ชัดว่าดาวเคราะห์ K2-18b จะเป็นหนึ่งในดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่ได้รับความสนใจ และถูกสำรวจเพิ่มเติมในอนาคตอันใกล้
งานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร The Astrophysical Journal Letters วันนี้ (17 เมษายน 2025)
ที่มา เพจ KornKT