ไทยเผชิญวิกฤตประชากร คาดอีก 50 ปี ประชากรหายไป 25 ล้านคน
สถาบันวิจัยประชากรฯ ม.มหิดล กางตัวเลขวิกฤตประชากร ไทยยืนหนึ่งในภูมิภาค ‘อัตราเกิดต่ำสุด’ ปี 2567 มีลูกเพียง 4.6 แสนคน คาดอีก 50 ปีข้างหน้า ประชากรหายไป 25 ล้านคน จะเหลือคนทำงานแค่ 22 ล้านคน
รศ.ดร.เฉลิมพล กล่าวว่า การกลับมาพิจารณาเรื่องการเกิดน้อยเป็นสิ่งสำคัญ โดยเราจะได้ยินนโยบายการส่งเสริมให้มีบุตร มีลูกเพื่อชาติ แต่ผลที่เกิดขึ้นใน 2 ปีที่ผ่านมากลับสวนทาง จึงเป็นเรื่องที่เราควรกลับมาฉุกคิดให้มากขึ้นว่า เกิดน้อยและยังไม่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นนั้น ประเทศไทยจะมีโอกาสหรือทางเลือกอะไรได้บ้าง
ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติ (United Nations :UN) ได้จัดกลุ่มประเทศทั่วโลกที่มีอัตราการเกิดกำลังลดลง โดยไทยเป็นประเทศเดียวในเขตภูมิภาคที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าว นอกจากนั้น ประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศไทยที่พัฒนาแล้ว ประเทศที่รายได้ค่อนข้างสูง ส่วนกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา จะอยู่ในกลุ่มประเทศที่อัตราการเกิดยังไม่ถึงจุดพีค แต่ก็อาจจะถึงในอีก 30 – 40 ปีข้างหน้า
“อัตราการเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate :TFR) ล่าสุดในปี 2567 อยู่เพียง 1.0 ซึ่งถ้าเทียบกับหลายประเทศจะอยู่ในกลุ่มประเทศที่ต่ำมาก ๆ เช่น เกาหลี สิงคโปร์ แต่เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นที่มี TFR อยู่ที่ 1.2 จะเห็นได้ว่าไทยต่ำกว่าญี่ปุ่นด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม นักประชากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้นำข้อมูลการเกิดและ TFR มาคำนวณ โดยมีการคาดการณ์ว่าในอีก 50 ปีข้างหน้า ไทยจะมีการเกิดที่ลดลงเหลือเพียง 40 ล้านคน เท่ากับว่าประชากรจะหายไป 25 ล้านคน หรือมองให้เห็นภาพคือ เฉลี่ยทุก 2 ปี ประชากรจะลดลง 1 ล้านคน” รศ.ดร.เฉลิมพล กล่าว
รศ.ดร.เฉลิมพล กล่าวต่อว่า ในจำนวนประชากรที่หายไปนั้น ส่งผลกระทบต่ออัตราแรงงานที่จะหายไปเช่นเดียวกัน จากปัจจุบันที่มีจำนวนผู้มีงานทำ 37.2 ล้านคน ในอีก 50 ปีข้างหน้าจะเหลือเพียง 22.8 ล้านคน หรือเท่ากับมีแรงงานหายไป 15 ล้านคน ซึ่งเรื่องนี้เป็นโจทย์สำคัญของวิกฤตประชากร และวิกฤตเด็กเกิดน้อย ซึ่งหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือ แน่นอนว่าวิกฤตแน่นอน
https://isranews.org/article/isranews/134951-isra-336.html