ซุปตาร์ยูโร
Status: ง่วงนอนทั้งวัน
: 0 ใบ
: 0 ใบ
เข้าร่วม: 12 Jul 2008
ตอบ: 10495
ที่อยู่: Highbury / Emirates
โพสเมื่อ: Mon Nov 25, 2024 11:35
'Breadcrumbing' ความสัมพันธ์แบบโปรยเศษขนมปัง
เธอคิดจะจริงจัง แต่เราคิดแค่จิงโจ้
'Breadcrumbing' ความสัมพันธ์แบบโปรยเศษขนมปังลวงให้หลงทาง
.
ในโลกยุคปัจจุบัน หลายคนอาจจะเคยได้ยินศัพท์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นมาเพื่ออธิบายลักษณะความสัมพันธ์ของคนยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Love Bombing หรือ Ghosting และอีกหนึ่งคำที่เกิดขึ้นมาก็คือ Breadcrumbing หรือที่มีความหมายตรงตัวว่า 'เศษขนมปัง'
.
ตอนเด็ก ๆ หลายคนอาจจะเคยได้ยินเรื่องราวในนิทานกริมม์ ในเนื้อหาเล่าถึงเรื่องราวของสองพี่น้องฮันเซลและเกรเทลที่พยายามโรยเศษขนมปังระหว่างเดินทางเข้าไปในป่าใหญ่เพื่อไม่ให้ตัวเองหลงทางกลับบ้าน แต่เศษขนมปังเหล่านั้นถูกสัตว์กัดกินจนหมด ทำให้พวกเขาหลงทางอยู่ดี และในบริบทของเศษขนมปังที่ถูกเอามาอธิบายถึงลักษณะความสัมพันธ์แบบ Breadcrumbing ก็เปรียบเหมือนการที่ใครสักคนโปรยเศษขนมปังเพื่อหลอกล่ออีกฝ่าย อาทิ การกดไลก์ในโซเชียล หรือการส่งข้อความหวาน ๆ ที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกมีความหวัง แต่ลึก ๆ แล้วเขาคนนั้นไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่นำไปสู่ความสัมพันธ์ที่จริงจังแต่อย่างใด ทั้งหมดที่ทำลงไปคือการบริหารเสน่ห์เล่น ๆ และทำให้คุณติดอยู่กับความสัมพันธ์ที่กลับตัวก็ไม่ได้ให้ไปต่อไปก็ไปถึง
.
ทางด้าน ดร.ซูซาน อัลเบอร์ส (Susan Albers, PsyD) นักจิตวิทยา ได้อธิบายเรื่องของ Breadcrumbing เอาไว้ว่า ลักษณะมันคือการให้ความหวังเล็ก ๆ น้อย ๆ ยกตัวอย่างเช่น การที่หัวหน้าชื่นชมและบอกคุณว่าเดี๋ยวจะขึ้นตำแหน่งให้นะ ขอให้อดทนอีกสักนิด แต่สิ่งเหล่านั้นมันไม่เคยเกิดขึ้นจริงเลย ซึ่งความน่าสนใจของ Breadcrumbing ก็คือ การทำงานของมันอยู่บนหลักการของการเสริมแรงเป็นครั้งคราว (Intermittent Reinforcement) เป็นหลักการทางจิตวิทยาที่อธิบายไปถึงวงจรการเสพติด ยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้นคือ สมมติคุณหยอดเหรียญใส่ตู้แมชชีนแล้วคุณไม่ได้รับรางวัลอะไรกลับมาเลย คุณก็มีแนวโน้มที่จะเลิกเล่นมันอย่างรวดเร็ว แต่หากคุณได้รับรางวัลหรือได้รับชัยชนะบ้างเป็นครั้งคราว คุณก็มีแนวโน้มที่จะเล่นมันต่อไปเรื่อย ๆ เฉกเช่นเดียวกับ Breadcrumbing ที่อีกฝ่ายจะเสริมแรงผ่านการกระทำอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็น โทรหาบ้าง ออกเดตบ้าง พูดคุยหยอกล้อบ้าง แต่ก็ดังที่ได้กล่าวไปว่า ความสัมพันธ์มันไม่ได้คืบหน้าไปไหนเลย
.
ลักษณะความสัมพันธ์แบบ Breadcrumbing มักจะสร้างความรู้สึกมากมายให้แก่คุณ ไม่ว่าจะเป็น ความรู้สึกสับสน รู้สึกโกรธ รู้สึกสงสัยในตัวเอง รู้สึกวิตกกังวล รู้สึกโศกเศร้า รู้สึกเหงา หรือรู้สึกมีความหวัง และหากถามต่อว่า ใครมีแนวโน้มจะตกเป็นเหยื่อของ Breadcrumbing บ้าง คำตอบก็คือ คงไม่มีใครไม่เคยรู้สึกถึง Breadcrumbing เลย แต่บางคนอาจจะตกอยู่ในสถานการณ์นานกว่าคนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีบุคลิกภาพที่มีแนวโน้มเสพติด หรือคนที่มีความมั่นใจในตัวเองต่ำ หรือคนที่ปัญหาด้านสุขภาพใจบางประเภท อาทิ โรคซึมเศร้า หรือ โรควิตกกังวล ก็มีโอกาสที่จะตกเป็นเหยื่อได้ง่ายขึ้น และหากบางคนมีประสบการณ์เลวร้ายหรือบาดแผลทางจิตใจในวัยเด็ก อาจจะคุ้นเคยและตกกับวงจรของความหวังและความผิดหวังจาก Breadcrumbing นานขึ้น เพราะอาจจะคุ้นเคยกับการได้รับการปฏิบัติเช่นนี้จากผู้ที่ดูแลหรือคนเป็นพ่อแม่
.
สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณอาจจะตกอยู่ในลักษณะความสัมพันธ์แบบ Breadcrumbing ก็คือ การสื่อสารของเขาจะไม่สม่ำเสมอ หรือเป็นการสื่อสารเพียงผิวเผินเท่านั้น, เขาไม่มีแผนในอนาคตกับคุณ, การกระทำของเขาจะสวนทางกับคำพูดของเขา และวิธีการจัดการกับ Breadcrumbing ก็คือ ทำความเข้าใจและระบุพฤติกรรมนั้น ๆ ว่ามันเข้าข่าย Breadcrumbing ไหม จากนั้นให้อาจจะหาที่ปรึกษาดี ๆ ในการพูดคุยถึงสิ่งที่คุณกำลังเผชิญ หรืออาจจะจดบันทึกเรื่องราวในชีวิตประจำวันเพื่อเป็นการจัดระเบียบความคิดดี ๆ จากนั้นให้สื่อสารโดยตรงกับผู้ที่กำลังกระทำลักษณะ Breadcrumbing กับเรา เพราะในบางครั้งเขาอาจจะไม่รู้ตัวว่าสิ่งที่ทำอยู่สร้างความเจ็บปวดหรือความไม่สบายใจให้แก่คุณ การพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาอาจจะนำไปสู่หนทางการแก้ไขปัญหาที่เฮลตี้ขึ้น และในท้ายที่สุดอาจจะต้องยุติความสัมพันธ์ที่ว่านี้ เมื่อค้นพบว่าในที่สุดแล้วมันไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่เฮลตี้สำหรับคุณ
.
อย่างไรก็ดี เราทุกคนอาจจะเคยตกอยู่กับการเป็นผู้กระทำ Breadcrumbing หรือการถูกกระทำ Breadcrumbing เรื่องเหล่านี้มีสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง อย่าง พฤติกรรมหลงตัวเอง พฤติกรรมที่เรียกร้องความสนใจ หรือพฤติกรรมที่มองเห็นคุณค่าในตัวเองต่ำต้อยเหลือเกิน ทั้งนี้การตกเป็นเหยื่อของ Breadcrumbing อาจจะช่วยทำให้คุณกลับมาทบทวน การมองเห็นคุณค่าในตัวเองมากยิ่งขึ้น
.
เรื่อง : วรรณรี ศรีสริ
ภาพ : มณฑล ชลสุข
แก้ไขล่าสุดโดย Backspace เมื่อ Mon Nov 25, 2024 11:36, ทั้งหมด 1 ครั้ง
โหวตเป็นกระทู้แนะนำ