“สับปะรดห้วยมุ่น” ผลไม้ไทยชนิดแรก ญี่ปุ่นขึ้นทะเบียน GI ให้
กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของญี่ปุ่น ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications :GI) “สับปะรดห้วยมุ่น” ซึ่งเป็นผลไม้ไทยชนิดแรกที่ได้รับ GI ในประเทศญี่ปุ่น และเป็นสินค้ารายการที่ 3 ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ต่อจากกาแฟดอยช้าง และกาแฟดอยตุง พณ. ยินดี ญี่ปุ่นขึ้นทะเบียน GI “สับปะรดห้วยมุ่น” มอบหมายกรมทรัพย์สินทางปัญญาเดินหน้าสานต่อ
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ หารือ นายโยอิจิ วาตานาเบะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของญี่ปุ่น พร้อมรับมอบประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) “สับปะรดห้วยมุ่น” ผลไม้ไทยรายการแรกที่ได้รับ GI ในญี่ปุ่น และได้เยี่ยมชมตลาดค้าส่งสินค้า ผัก ผลไม้ ดอกไม้ และอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น
ตลาดสินค้าสับปะรดในญี่ปุ่นมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นนิยมรับประทานสับปะรดสดที่มีรสชาติหวานฉ่ำ มีปริมาณการบริโภคของคนในประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 180,000 ตัน รวมถึงสินค้าสับปะรดแปรรูป เช่น น้ำสับปะรด สับปะรดกระป๋อง และสับปะรดอบแห้ง แต่เนื่องจากสภาพภูมิอากาศในประเทศญี่ปุ่นไม่เหมาะกับการปลูกสับปะรด จึงมีการนำเข้าจากประเทศต่าง ๆ จำนวนมาก โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าสำคัญที่ส่งออกสับปะรดมากเป็นอันดับ 4 รองจากฟิลิปปินส์ คอสตาริกา และอินโดนีเซีย ทั้งนี้ มีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น (JTEPA) ที่ใช้เจรจาสิทธิประโยชน์ทางการค้าเพิ่มเติมให้กับสินค้าเกษตรรวมถึงสับปะรดจากไทย ในการลดภาษีนำเข้า เพื่อเพิ่มความได้เปรียบให้กับการส่งออกสับปะรดของประเทศได้
สำหรับสินค้า GI ที่ส่งออกและทำเงินเข้าประเทศได้มาก 10 อันดับแรก ได้แก่
1. ทุเรียนหมอนทองระยอง เป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่ง มีมูลค่า 15,645 ล้านบาท มีตลาดสำคัญ คือ จีน
2. ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา มูลค่า 4,890.2 ล้านบาท ตลาดสำคัญ คือ จีน และมาเลเซีย
3. มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี มูลค่า 285 ล้านบาท ตลาดส่งออก คือ จีน สหรัฐฯ แคนาดา และฝรั่งเศส
4. มะม่วงน้ำดอกไม้สระแก้ว 107 ล้านบาท ตลาดสำคัญ คือ ฮ่องกง
5. มังคุดทิพย์พังงา มูลค่า 80.12 ล้านบาท ตลาด คือ จีน และเวียดนาม
6. มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองบางคล้า (จ.ฉะเชิงเทรา) มูลค่า 35 ล้านบาท ตลาดเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น
7. กล้วยหอมทองเพชรบุรี มูลค่า 24 ล้านบาท ตลาดญี่ปุ่น
8. ส้มโอท่าข่อยเมืองพิจิตร มูลค่า 10.4 ล้านบาท ตลาดจีน
9. กล้วยตากบางกระทุ่มพิษณุโลก มูลค่า 10 ล้านบาท ตลาดซาอุดิอาระเบีย ซีเรีย ตุรกี บรูไน มาเลเซีย ฮ่องกง เกาหลีใต้ สหรัฐฯ และนิวซีแลนด์
10. มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองพิษณุโลก มูลค่า 9.45 ล้านบาท ตลาดญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และรัสเซีย
สินค้า GI ที่ส่งออกเป็นผลไม้ทั้งหมด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผลไม้ไทยมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของตลาดทั่วโลก สินค้า GI ได้ช่วยเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น และช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในเรื่องคุณภาพ มาตรฐาน สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาได้
ที่มา ....
https://www.mcot.net/view/FbfgBgYQ
ใครเคยลองชิมบ้างครับ รสชาติเป็นไงบ้าง พึ่งรู้ว่าสินค้า GI มะม่วงน้ำดอกไม้น่าจะตีตลาดได้มากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนทุเรียน no.1 อย่างไม่ต้องสงสัยแค่ตลาดที่จีนที่เดียว