เที่ยวบินสุดระทึก Aloha 243...ฝันร้ายที่รอดตายราวปาฏิหาริย์
Aloha Airlines 243 เที่ยวบินเปิดประทุนไร้หลังคา รอดตายราวปาฏิหาริย์
ย้อนเวลากลับไป เมื่อวันที่ 28 เมษายน ปี 1988 สายการบินในอดีตที่ปัจจุบันปิดตัวลงไปแล้ว
Aloha Airlines flight 243 สัญชาติอเมริกา เครื่องบินแบบ Boeing 737-297 เป็นเที่ยวบินปกติจากเกาะ
ไฮโล ไปสู่ โฮโนลูลูเมืองหลวงของรัฐฮาวาย เครื่องได้ทำการบินขึ้นโดยปกติ และไม่มีเหตุการณ์ใดๆเกิดขึ้น
แผนเส้นทางการเดินทางของเที่ยวบิน
แต่หลังจากบินขึ้นได้เพียง 20 นาที กลับเกิดอุบัติเหตุสุดน่ากลัวกับเที่ยวบินนี้....
เที่ยวบินที่ 243 ของสายการบิน Aloha ออกเดินทางจากสนามบินเมืองไฮโลในเวลา 13.25 น. พร้อมกับผู้โดยสารจำนวน 85 คน และลูกเรืออีก 5 คน ก่อนการเดินทาง ไม่มีรายงานสภาพอากาศว่าผิดปกติแต่อย่างใด ทุกอย่างดูน่าจะราบรื่น...
ยกเว้นแต่เครื่องบินที่เพิ่งผ่านการบินมา 3 เที่ยวบินติดโดยไม่ได้หยุดพัก...
กัปตันในเที่ยวบินนี้คือ กัปตันโรเบิร์ต อายุ 44 ปี(ในขณะนั้น) มีประสบการณ์การบินมากว่า 8,500 ชั่วโมง และผู้ช่วยที่หนึ่งซึ่งเป็นผู้หญิงคือ แมเดลีน มีมี่ ทอมป์กินส์ อายุ 37 ปี(ในขณะนั้น)
กัปตันโรเบิร์ต และ ผู้ช่วยกัปตัน แมเดลีน มีมี่ ทอมป์กินส์ โดยในเที่ยวบินนี้ ผู้ช่วยกัปตันจะทำหน้าที่ขับเครื่องบิน ส่วนกัปตันจะทำหน้าที่สื่อสารวิทยุ
เวลา 13.48 น. หลังจากที่เครื่องบินบินขึ้นแตะระดับความสูงปกติที่ 24,000 ฟุต ผู้โดยสารทางด้านหน้าของเครื่องบินเริ่มรู้สึกได้ว่า มีลมจากด้านนอกพัดเข้ามาทางด้านบน และเมื่อเงยหน้า ก็พบว่า...
ชิ้นส่วนเล็กๆ บนหลังคาเครื่องบินทางด้านซ้ายค่อยๆ ปริและแตกออก!!
ข้าวของบนเครื่องบินทั้งกระเป๋าผู้โดยสาร นิตยสารที่กำลังถูกถืออ่าน จานชามอาหาร เริ่มถูกดูดออกไปทางช่องหลังคาที่แตก!
ผู้โดยสารต่างร้องเสียงระงมลั่นเครื่องด้วยความหวาดกลัว ข้าวของในเครื่องบินที่ปลิวลอยไปมาได้ลอยมากระแทกกับหน้าและลำตัวเข้าอย่างจังโดยที่พวกเขาไม่สามารถหลบหลีกได้
ฝ่ายนักบินเริ่มรู้สึกได้ว่า เครื่องบินเริ่มโคลงเคลงและเสียการควบคุม และเมื่อหันหลังไปมองก็พบว่า
ประตูห้องนักบินถูกแรงลมและแรงดันอากาศด้านนอกที่พัดเข้ามาในเครื่องฉีกกระชากจนบิดงอ จนมองเห็นที่นั่งของผู้โดยสารแล้ว!
ผู้ช่วยกัปตัน หันหลังกลับไปดู แล้วพบว่า หลังคาเครื่องบินหายไปซะแล้ว
เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือ Decompression ซึ่งหมายถึงการที่ระบบปรับความดันในห้องนักบินและห้องโดยสารของเครื่องบินล้มเหลว เครื่องบินสูญเสียความดัน เพราะความดันอากาศด้านนอกซึ่งต่ำมากได้เข้ามา ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างในห้องนักบินและห้องโดยสารที่ไม่มีอะไรยึดติด ถูกอากาศด้านนอกดูดออกไปหมด! รวมไปถึงชิ้นส่วนหลังคาและผนังเครื่องบินของที่นั่งชั้น First Class 6 แถว!
และเกิดเหตุไม่คาดคิด! เมื่อแอร์โฮสเตรสคนหนึ่งที่ยืนอยู่ใกล้กับประตูแถวที่ 5 ซึ่งถูกแรงดันกระชากจนประตูหลุดออกไป ร่างของแอร์โฮสเตรสคนนั้นได้ถูกแรงดันกระชากจนหลุดออกจากเครื่องบินไปพร้อมกับประตูด้วย...
แอร์โฮสเตรส ที่ยืนอยู่ใกล้ประตู ถูกดูดออกไป
โชคยังดีที่เหตุเกิดขึ้นหลังจากเครื่องบินแตะระดับการบินปกติ ทำให้ผู้โดยสารทุกคนยังนั่งอยู่กับที่ ไม่ลุกไปไหน ทุกคนรีบคว้าหน้ากากออกซิเจนมาครอบจมูกและปาก และยังคาดเข็มขัดนิรภัยไว้ทุกคน ทำให้ไม่ถูกแรงดันกระชากหลุดออกจากเครื่อง....นี่คือสาเหตุว่าทำไม เราควรคาดเข็มขัดเวลาอยู่บนเครื่องบิน
ในเวลาที่เกิดเหตุ ผู้ที่กำลังทำการขับเครื่องบินคือผู้ช่วยนักบินที่หนึ่งซึ่งเป็นผู้หญิง ได้เปลี่ยนหน้าที่ให้กัปตันเป็นคนขับเครื่องบินแทน และ ได้พยายามหาทางนำเครื่องบินลงจอดที่สนามบินที่ใกล้ที่สุด
ซึ่งก็เป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะการติดต่อกับศูนย์ควบคุมจราจรทางอากาศถูกขัดขวางด้วยเสียงลมแรงจากช่องหลังคาที่แตกเข้ามาแทรก แม้แต่นักบินและผู้ช่วยนักบินซึ่งนั่งใกล้กัน ก็ต้องสื่อสารกันด้วยภาษามือแทน แต่โชคดีที่เจ้าหน้าที่ที่ศูนย์ควบคุมจราจรทางอากาศมองเห็นสัญญาณฉุกเฉินของเครื่องบินบนจอเรดาร์ ทำให้สามารถรีบเตรียมความช่วยเหลือได้ทัน
เมื่อเครื่องบินลดระดับความสูงลง ผู้โดยสารและนักบินเริ่มหายใจได้โดยไม่ต้องพึ่งหน้ากากออกซิเจน ถึงแม้เครื่องบินจะเสียสมดุลไปบ้าง แต่ก็ยังสามารถควบคุมได้อยู่
และในที่สุด ... นักบินสามารถนำเครื่องบินร่อนลงจอดที่สนามบินบนเกาะมาอิได้อย่างปลอดภัย
ท่ามกลางความตกใจของผู้ที่พบเห็นสภาพเครื่องบิน ไม่น่าเชื่อจริงๆ ว่ากัปตันจะสามารถนำเครื่องบินสภาพนี้ลงจอดได้ราวกับปาฏิหาริย์
มีผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บจำนวน 65 คน ในจำนวนนี้มี 8 คนที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส ทั้งหมดได้ถูกนำตัวไปยังโรงพยาบาล รายที่ได้รับบาดเจ็บหนักๆ คือผู้โดยสารบริเวณแถวหน้าหรือชั้น First Class ที่ชิ้นส่วนหลังคาเครื่องบินและผนังด้านข้างหลุดออกไป ทำให้มีอาการแก้วหูฉีกขาดจากการที่เครื่องบินลดระดับอย่างรวดเร็ว ข้าวของบนเครื่องบินลอยมากระแทกอย่างรุนแรง สมองกระทบกระเทือน กระดูกแตก ไม่มีการพบชิ้นส่วนของเครื่องบินที่แตกหักและหลุดออก และที่น่าสลดใจคือ
ไม่มีการเจอร่างของแอร์โฮสเตรสที่ลอยหลุดออกจากเครื่องด้วยเช่นกัน....
หลังจากเกิดเหตุ ทีมของ NTSB (United States National Transportation Safety Board) หรือ หน่วยรักษาความปลอดภัยการขนส่งของอเมริกา ได้เข้ามาทำการตรวจสอบสาเหตุและได้ระบุว่า สาเหตุหลักของอุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจากสภาพของเครื่องบินที่เก่าและทรุดโทรม จนทำให้เกิดรอยแตกบนหลังคาตั้งแต่ก่อนขึ้นบิน โดยเครื่องบินลำนี้มี
อายุการใช้งานเกือบ 20 ปี ทำให้สภาพเครื่องบินเริ่มผุกร่อนจากความชื้น
แต่รากของปัญหาจริงๆที่นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้ได้แก่ความบกพร่องของโปรแกรมการซ่อมบำรุงรักษาอากาศยาน (Aircraft Maintenance Program) ของสายการบิน Aloha Airlines นั่นเอง อาทิเช่น ช่างซ่อมบำรุงและเจ้าหน้าที่ตรวจสอบมีความบกพร่องในการตรวจสอบรอยแตกร้าวและการไม่ยึดติดของผนังลำตัวเครื่องบิน ช่างซ่อมบำรุงและเจ้าหน้าที่ตรวจสอบไม่มีคุณสมบัติที่เพียงพอเหมาะสม ขาดการฝึกอบรมการตรวจสอบด้วยสายตา (Visual Inspection) เป็นต้น
และจากการสอบสวนผู้โดยสารบนเครื่อง พบว่า มีผู้โดยสารคนหนึ่งสังเกตเห็นรอยแตกเล็กๆ ก่อนออกเดินทาง แต่ไม่ได้แจ้งกับใคร ต่อมา เหตุการณ์นี้จึงถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี 1990 ชื่อเรื่องว่า
Miracle Landing
ผู้โดยสารเห็นรอยแตกของเครื่องบิน ตั้งแต่ก่อนขึ้นเครื่อง
มีเป็นคลิป Animation ครับ
Credit.