ภาพดาวยูเรนัสจากกล้องเจมส์ เว็บ
NASA เปิดภาพดาวยูเรนัสพร้อมวงแหวนสีฟ้า คมชัดสุดเท่าที่เคยมีมา ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์
วันที่ 8 เมษายน 2566 NASA ได้เปิดภาพดาวยูเรนัสที่ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ (JWST) เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 โดยเผยให้เห็นมุมมองที่น่าทึ่งของวงแหวนดาวเคราะห์เฉดสีฟ้านี้
หลังภาพดาวเนปจูนที่เผยแพร่ออกมาในปี 2565 กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ของ NASA ได้ถ่ายภาพที่น่าทึ่งของดาวยูเรนัส ซึ่งเป็นดาวยักษ์น้ำแข็งอีกดวงหนึ่งในระบบสุริยะ โดยปรากฎให้เห็นถึงวงแหวนและชั้นบรรยากาศอย่างชัดเจนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
ด้วยเทคโนโลยีและความคมชัดของเจมส์เว็บบ์ทำให้ชาวโลกได้เห็นภาพของวงแหวนฝุ่นที่จางที่สุด ซึ่งในอดีตเคยมีเพียง 2 ครั้งที่บันทึกไว้ได้ คือ ยานอวกาศวอยเอจเจอร์ 2 ในปี 2529 ที่แสดงให้เห็นลูกบอลสีน้ำเงินอมเขียวที่เกือบจะไร้รูปร่าง และจากหอดูดาว Keck
ดาวยูเรนัสเป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 7 ในระบบสุริยะ มีลักษณะพิเศษคือหมุนตะแคงทำมุมประมาณ 90 องศาจากระนาบวงโคจร และด้วยการใช้เวลาถึง 84 ปีในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดฤดูกาลที่รุนแรงเนื่องจากขั้วของดาวยูเรนัสสัมผัสกับแสงแดดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ตามด้วยความมืดสนิทในจำนวนปีที่เท่ากัน
ยูเรนัสมีลักษณะเป็นดาวน้ำแข็งยักษ์เนื่องจากมีส่วนประกอบทางเคมีอยู่ภายใน มวลส่วนใหญ่ของยูเรนัสเป็นของเหลวที่ร้อนและหนาแน่น คือ น้ำ มีเทน และแอมโมเนีย เหนือแกนกลางที่เป็นหินขนาดเล็ก รวมทั้งมีวงแหวน 13 วง และ 11 วงในนั้นมองเห็นได้ในภาพที่เจ็มส์เว็บบ์ถ่ายล่าสุด ซึ่งเป็นวงแหวนหลัก 9 วง และอีก 2 วงเป็นวงแหวนฝุ่นจาง ๆ
เจมส์ เว็บบ์ ทำให้มองเห็นรายละเอียดของยูเรนัสได้มากขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชั้นบรรยากาศของดาวยูเรนัสนั้นมีไดนามิกมากเพียงใด นอกจากนี้ ทางด้านขวาของดาวมีพื้นที่สว่างซึ่งหันเข้าหาดวงอาทิตย์ เรียกว่าโพลาร์แค็ป (polar cap) ฝาครอบขั้วโลกนี้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของดาวยูเรนัส ที่จะปรากฏเมื่อขั้วสัมผัสกับแสงแดดโดยตรงในฤดูร้อนและหายไปในฤดูใบไม้ร่วง
ที่สำคัญ เจมส์ เว็บบ์ ยังบันทึกภาพดวงจันทร์บริวารของดาวยูเรนัส 27 ดวง ซึ่งส่วนใหญ่มีขนาดเล็กเกินไปที่จะมองเห็นได้
ดาวยูเรนัสมีความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ในการสำรวจอวกาศช่วงทศวรรษ 2023-2033 โดยขณะนี้กำลังมีการศึกษาและการวางแผนเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสำรวจ ข้อมูลจากเจมส์เว็บบ์เหล่านี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจกลไกที่ลึกลับของดาวยูเรนัสเพิ่มขึ้น
https://www.prachachat.net/d-life/news-1257898