เวียนว่ายตายไม่เกิด! จำนวนเกิดในไทยดิ่งต่ำ ตายแตะปีละ 6 แสน
จากข้อมูลจำนวนราษฎรของประเทศไทย เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2565 มีประชากรสัญชาติไทยอยู่ในทะเบียน 66,080,812 คน ขณะที่ปี 2565 มีคนเกิด 502,107 คน และมีคนตาย 595,965 คน แสดงให้เห็นว่าจำนวนคนตาย มากกว่าคนเกิดมากถึง 93,858 คน และเท่ากับว่าอัตราเพิ่มตามธรรมชาติของประชากรไทย ติดลบเป็นปีที่ 2 นับตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งเป็นปีแรกที่จำนวนเด็กเกิดน้อยกว่าจำนวนคนตาย จนทำให้อัตราเพิ่มของประชากรติดลบ
สถานการณ์จำนวนเกิดในไทยที่ดิ่งต่ำลง “ศ.เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล” นักประชากรศาสตร์ ในฐานะที่ปรึกษาสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ว่าประชากรไทยเริ่มลดจำนวนลงแล้ว ยังไม่นับรวมการย้ายถิ่นเข้าจากนอกประเทศ แต่ช่องว่างระหว่างจำนวนเกิดและตายของประเทศไทยในปี 2565 ยิ่งกว้างขึ้น อัตราเกิดเท่ากับ 7.6 ต่อประชากร 1,000 คน และอัตราตายเท่ากับ 8.9 ต่อประชากร 1,000 คน ทำให้อัตราเพิ่มตามธรรมชาติในไทย ติดลบ 0.1% เช่นเดียวกับประเทศเอเชียตะวันออกหลายประเทศมีอัตราเพิ่มตามธรรมชาติติดลบ เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ฮ่องกง และไต้หวัน ทำให้ไทยเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศที่มีอัตราเพิ่มประชากรติดลบแล้ว
“ระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา จำนวนเด็กเกิดในไทยได้ดิ่งลง ตั้งแต่ปี 2560 เด็กเกิดลดต่ำลงจนแตะหลัก 7 แสนคน อีกเพียง 4 ปีต่อมา ในปี 2564 จำนวนเด็กเกิดลดลงจนมาแตะที่หลัก 5 แสนคน เมื่อเทียบกับจำนวนเกิดในแต่ละปีเมื่อ 40-50 ปีก่อนแล้ว จำนวนเด็กเกิดได้ลดลงอย่างน่าใจหาย โดยเฉพาะปี 2565 เด็กเกิดไม่ถึงครึ่ง จากช่วงเวลา 20 ปีระหว่างปี 2506-2526 หรือประชากรรุ่นเกิดล้าน มีเด็กเกิดปีละเกินกว่า 1 ล้านคน และปี 2514 จำนวนเกิดสูงสุดที่ 1.2 ล้านคน”
เมื่อดูแนวโน้มแล้วจำนวนเด็กเกิดจะลดต่ำลงอีกในปีต่อๆ ไป เนื่องจากอัตราเจริญพันธุ์ของผู้หญิงไทยลดลงจนเหลือประมาณครึ่งหนึ่งของอัตราเจริญพันธุ์ระดับทดแทน และอัตราเจริญพันธุ์รวม เท่ากับ 2.1 ซึ่งอัตราเจริญพันธุ์ระดับทดแทน หมายความว่า ผู้หญิงคนหนึ่งมีบุตร 2.1 คนโดยเฉลี่ยตลอดช่วงชีวิต เท่ากับจำนวนที่จะทดแทนพ่อและแม่ และในปี 2565 มีเด็กเกิด 502,107 คน เมื่อคำนวณเป็นอัตราเจริญพันธุ์รวม จะเท่ากับผู้หญิงไทยคนหนึ่งมีบุตรโดยเฉลี่ยเพียง 1.1 คน
ในระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมาอัตราเจริญพันธุ์รวมของผู้หญิงไทยได้ลดต่ำลงอย่างรวดเร็วมาก จากเมื่อ 50 ปีก่อน ผู้หญิงไทยเคยมีบุตรเฉลี่ยมากกว่า 5 คน ถือว่าอัตราเจริญพันธุ์รวมปี 2565 อยู่ในระดับต่ำมาก ใกล้เคียงกับประเทศเอเชียตะวันออกหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อัตราเจริญพันธุ์รวม 1.2, จีน อัตราเจริญพันธุ์รวม 1.1, สิงคโปร์ อัตราเจริญพันธุ์รวม 1.1, ไต้หวัน อัตราเจริญพันธุ์รวม 1.0, ฮ่องกง อัตราเจริญพันธุ์รวม 1.0 และเกาหลีใต้ อัตราเจริญพันธุ์รวม 0.9
ขณะเดียวกันจำนวนคนตายในปี 2565 สูงขึ้นอย่างมากจนเกือบแตะหลัก 6 แสนคน ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากและมากกว่าคนเกิด ทำให้ประชากรไทยติดลบเป็นปีที่ 2 เพราะโครงสร้างอายุของประชากรที่มีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดว่าปี 2566 จำนวนคนตายน่าจะถึงหลัก 6 แสนคน และถึงหลัก 7 แสนรายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เท่ากับว่าประชากรไทยเริ่มลดจำนวนลงแล้ว และปี 2566 ประชากรรุ่นเกิดล้าน หรือสึนามิประชากรในปี 2506 จะเข้าสู่วัยสูงอายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นปีแรก มีคนเกือบล้านคนเข้าสู่วัยสูงอายุ
“เมื่อคลื่นยักษ์ หรือสึนามิประชากร เคลื่อนตัวเข้าสู่ฝั่งผู้สูงอายุแล้ว ต่อจากนี้ไปอีก 20 ปี จะมีคนไทยเข้าสู่วัยสูงอายุเกือบล้านคนในแต่ละปี ทำให้วันนี้ประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว เมื่อมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึง 20% อีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า เราจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด เมื่อ 1 ใน 3 ของประชากรไทยเป็นผู้สูงอายุ”.