คาราบาวเตรียมเปิดธุรกิจเบียร์ปีนี้
กระตุกหนวดสิงห์ - เขย่าบัลลังก์ช้าง “คาราบาว” เตรียมแจ้งเกิด "เบียร์" ไตรมาส 4 ปีนี้
.
เป็นที่รู้กันดีว่าตลาดเบียร์มูลค่า 1.6-1.8 แสนล้านบาทของไทยในปัจุจบัน แบรนด์ “สิงห์” ของทางบุญรอดบริวเวอรี่ และ มีแบรนด์ “ช้าง” ของกลุ่มไทยเบฟ เป็นผู้เล่นหลักในตลาดมายาวนาน
.
ล่าสุด “คาราบาว กรุ๊ป” ก็สร้างแรงกระเพื้อมครั้งใหญ่ในตลาดเบียร์เมืองไทยในรอบหลายสิบปี ด้วยการทุ่มงบลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท ประกาศเปิดตัวเบียร์น้องใหม่ของทางเครือเข้ามาทำตลาด โดยเตรียมวางจำหน่ายทั่วประเทศในช่วงไตรมาส 4/2566 นี้ ทั้งรูปแบบขวดและกระป๋อง
.
แม้จะยังไม่มีการประกาศชื่อเบียร์น้องใหม่ครั้งนี้อย่างเป็นทางการ แต่ “คุณเสถียร เศรษฐสิทธิ์” กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารคาราบาวกรุ๊ป บอกว่า ยังอยู่ระหว่างการตัดสินใจเลือกชื่อที่ดีสุด โดยมีอยู่แล้วในใจ 2 ชื่อ ได้แก่ “เบียร์เยอรมันตะวันแดง” และ “เบียร์คาราบาว” ซึ่งจะได้ข้อสรุปในเร็ววันนี้ อย่างไรก็ตามจากความแข็งแกร่งของ “โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง" ที่มีจุดเด่นของเบียร์สดกว่า 10 ชนิดในทำให้มีความเป็นไปได้ว่าชื่อใหม่ของเบียร์จากทางคาราบาว กรุ๊ปในครั้งนี้น่าจะเป็น “เบียร์เยอรมันตะวันแดง”
.
สำหรับ “เบียร์น้องใหม่” ของคาราบาว มาพร้อมตัวแพ็คเกจจิ้งทั้งรูปแบบกระป๋อง และรูปแบบขวด โดยมีพื้นเป็นเบียร์ที่มีพื้นฐานมาจากเบียร์เยอรมัน มีการส่งตรงบริวมาสเตอร์ จากประเทศเยอรมันมาช่วยในการผลิต ในช่วงแรกจะเปิดตัว 2-3 รสชาติ แต่ครบทุกเซกเมนต์ โดยจะถูกผลิตขึ้นที่โรงงานของบริษัทที่ จ.ชัยนาท ซึ่งเป็นการเปิดไลน์การผลิตใหม่ ภายใต้งบลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท มีกำลังการผลิตที่ 400 ล้านลิตรต่อปี
.
โดยในช่วงแรกทางบริษัทจะเริ่มการผลิตครั้งแรกที่ 200 ล้านลิตรเพื่อนำร่องตลาดก่อน การผลิตจะอาศัย Know How และความแข็งแกร่งที่มีพื้นฐานจากโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงในการผลิต ซึ่งเตรียมวางจำหน่ายทั่วประเทศในช่วงไตรมาส 4/66 นี้ ในช่องทางร้านค้าทั่วประเทศ รวมไปถึงช่องทางจำหน่ายของทางค่าย อย่าง “ซีเจ มอลล์” และ “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” เป็นต้น ซึ่งเบื้องต้นยังไม่มีการกำหนดราคาขายอย่างชัดเจน เนื่องจากต้องดูทิศทางของตลาด และเซกเมนต์ที่จะเข้าไปทำตลาดอีกครั้ง
.
การแตกไลน์สินค้าในกลุ่มเบียร์ของคาราบาว เป็นการต่อยอดด้านงานขายของสินค้าในกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของทางคาราบาวกรุ๊ป หลังหลายปีที่ผ่านมา คาราบาวได้แตกไลน์ สินค้าในกลุ่มเหล้าขาว ,วิสกี้, โซจู ฯลฯ ออกมามากมาย แต่พบว่ายังขาดโอกาสทางการขาย เพราะสินค้าในกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำเป็นต้องให้ลูกค้าได้ทดลองก่อนซื้อ โดยให้เหล้าแข็งแรง ต้องอยู่ในออนพรีมิสให้ได้ และต้องมีเบียร์ที่แข็งแกร่ง
.
และ “เบียร์” คือสินค้าหลัก ที่ร้านอาหาร ผับ บาร์ ฯ นิยม ดังนั้นการทำเบียร์จึงเป็นไฟต์บังคับ เพื่อให้มี อำนาจต่อรองด้านสินค้ามากขึ้น พอทำเหล้าแล้วไม่ทำเบียร์โอกาสที่เหล้าจะเติบโตนั้นก็เป็นไปได้ยาก แน่นอนการที่จะสร้างแบรนด์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้รับรู้ในวงกว้าง จึงจำเป็นต้องมีสินค้าที่คนนิยมอย่าง “เบียร์” เป็นใบเบิกทาง ซึ่งจะทำให้เหล้าสี หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเครืออื่นๆ เกิดการรับรู้ไปในตัว
.
นอกจากนี้การมีช่องทางขายของบริษัทเองอย่าง ซีเจ มอลล์ ที่มีอยู่กว่าพันสาขา และร้านถูกดี มีมาตรฐานอีกกว่า 5,000 แห่งในปัจจจุบัน ก็ถือเป็นความได้เปรียบในการทำตลาด
.
“อดีตที่เราทำชูกำลัง คนก็คิดว่าไม่มีโอกาสสำหรับชูกำลังหน้าใหม่ เช่นเดียวกัน CJ ก็เป็นปรากฏการณ์ด้านรีเทล เมื่อสมัย6 ปีก่อน ที่ในจุดเริ่มเราไม่รู้ว่าทำอย่างไร แต่จากการเติบโตของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเชื่อว่าคู่แข่งกำลังตามเรา ไม่ใช่เราตามเขาแล้ว และเช่นเดียวกันกับธุรกิจเบียร์ที่ตอนนี้หลายคนอาจจะยังมองไม่ออก แต่เชื่อว่าจากจุดแข็งด้านเบียร์ของเราที่มีอยู่ก่อนแล้ว จะสามารถแจ้งเกิดได้แน่นอน” คุณเสถียรกล่าว
ที่มา เพจBrandBuffet