รวมเสื้อบอล 32 ชาติ ในฟุตบอลโลก 2022 (Part III) | #SSColumn
เราเดินกันมาถึงครึ่งทางแล้ว จากนี้ทุกท่านจะได้ยลโฉมเสื้อฟุตบอลทีมชาติจากกลุ่ม E และ กลุ่ม F กันต่อ
.
เพื่อเป็นการไม่เสียเวลา... let's get it!!
1.สเปน / กลุ่ม E
สเปน ชุดเหย้า (Home Shirt)
เสื้อเหย้าของสเปนในฟุตบอลโลกปี 2022 ดูไม่ได้แตกต่างจากที่เคยผ่าน ๆ มา พวกเขายังคงใช้สีแดงเป็นสีพื้นหลัก มีสีเหลืองกับสีกรมท่าเป็นองค์ประกอบรอง พวกเขาทำลวดลายธงชาติเล็กเป็นเส้นเล็กๆ บริเวณคอเสื้อ ถึงแม้เมื่อเห็นครั้งแรกจะรับรู้ได้ทันทีตามสัญชาตญาณว่าคือทีมชาติอะไร แต่มันก็ดูเรียบง่ายไปหน่อยหากเทียบกับหลาย ๆ ทีม และดูเหมือนว่าเสียงตอบรับจากแฟนบอลจะถูกแบ่งออกไปเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายที่ยินดีกับความเป็นเอกลักษณ์ กับฝ่ายที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง
สเปน ชุดเยือน (Away Shirt)
ชุดเยือนของทีมชาติสปนในปีนี้ถือว่าดูแปลกใหม่อยู่เหมือนกัน พวกเขาใช้ลายเส้นที่โค้งมนสีฟ้าเป็นลวดลายของเสื้อ มีการปรับตำแหน่งตราสัญลักษณ์ทีมชาติและโลโก้แบรนด์เสื้ออยู่ตรงหลางหน้าอก และที่น่าสนใจคือการให้แถบ 3 ขีดอันเป็นอัตลักษณ์ของอาดิดาสเป็นสีของธงชาติสเปน มองดูแล้วน่าสนใจ ซึ่งการที่สเปนมีเสื้อเยือนเป็นโทนสีฟ้า ต้องย้อนกลับไป 10 ปีก่อนโน่นเลย (ปี 2012)
2.คอสตาริกา / กลุ่ม E
คอสตาริกา ชุดเหย้า (Home Shirt)
เสื้อทีมชาติของคอสตาริกา อยู่ในการดูแลของแบรนด์นิวบาลานซ์ ซึ่งแนวคิดของการออกแบบเสื้อนั้นไม่ได้มีอะไรซับซ้อน พวกเขาชะงชาติของคอสตาริกามาดัดแปลงให้อยู่ในรูปแบบของเสื้อผ้า ซึ่งในเสื้อเหย้าของคอสตาริกานั้นมีสีพื้นเป็นสีแดง มีปลายแขนเสื้อเป็นสีน้ำเงิน และใช้เส้นสีขาวล้อมรอบคอเสื้อ อาจจะดูเรียบง่ายไปเสียหน่อย แต่ถือว่ายังขับจุดเด่นของคอสตาริกาออกมาให้เห็นอยู่
คอสตาริกา ชุดเยือน (Away Shirt)
ในส่วนของเสื้อเยือน แทบจะเป็นแพทเทิร์นเดียวกันกับชุดเหย้าเลย พวกเขาเพียงแค่เปลี่ยนสีพื้นที่เป็นสีแดงเป็นสีขาว จากนั้นก็เปลี่ยนสีโลโก้นิวบาลานซ์เป็นสีแดง ส่วนเส้นสีขาวที่ล้อมรอบคอเสื้อนั้น ยังคงใช้เป็นสีขาวเหมือนเดิม
3.เยอรมนี / กลุ่ม E
เยอรมนี ชุดเหย้า (Home Shirt)
อาดิดาสดีไซน์เสื้อเหย้าตัวใหม่ให้กับทีมชาติเยอรมัน ออกมาได้อย่างดุดันถึงแม้รูปแบบจะจำเจ แถบกว้างสีดำดตรงกลางที่พาดลงบนพื้นสีขาวทำให้เสื้อตัวนี้ดูแข็งแกร่ง ไหนจะการที่เอาตราสัญลักษณ์ทีมชาติกับโลโก้แบรนด์เสื้อมาอยู่ตรงกลางเสื้อ แล้วใช้สีทองเมทาลิคอีก (สีทองที่มีลักษณะเป็นเหล็ก) การประกาศตนว่าแป็นแชมป์ฟุตบอลโลก 4 สมัยผ่านเสื้อตัวนี้คงทำให้คู่แข็งขวัญผวาอยู่ไม่น้อย นอกจากนี้อาดิดาสยังใส่สีของธงชาติเยอรมันไว้บนขอบคอเสื้ออีกด้วย
เยอรมนี ชุดเยือน (Away Shirt)
น่าสนใจที่อาดิดาสสามารถทำเสื้อเยือนเยอรมันออกมาได้แปลกตา แต่สามารถสัมผัสได้ถึงความดั้งเดิม เสื้อเยือนตัวนี้มีสีพื้นที่เป็นสีดำที่ผสมไปกับสีแดง หนำซ้ำยังคงความดุดันเอาไว้อยู่ การที่เยอรมันใช้สีแดงในเสื้อเยือนได้อย่างโดดเด่น คงต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2014 โน่นเลย ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาก็ให้คนละอารมณ์กันอย่างเห็นได้ชัด
ในชุดนี้พวกเขายังคงใช้สีทองเมทาลิคบนตราสัญลักษณ์ทีมชาติและโลโก้แบรนด์อยู่ แต่ได้ปรับเปลี่ยนตำแหน่งให้ไปอยู่ด้านซ้ายและด้านขาวของเสื้อแทน
4.ญี่ปุ่น / กลุ่ม E
ญี่ปุ่น ชุดเหย้า (Home Shirt)
เสื้อของ ‘ซามูไรสีน้ำเงิน’ ยังอยู่ในการดูแลของแบรนด์อาดิดาส ซึ่งรูปแบบเสื้อของทีมชาติญี่ปุ่นมักออกมาไม่ค่อยซ้ำซากกันเท่าไหร่ และในปีนี้อาดิดาสก็ไม่ทำให้ผิดหวัง พวกเขาใช้เทคนิค 3 มิติเข้าไปในลวดลาย ‘โอริงามิ’ (ศิลปะการพับกระดาษแบบญี่ปุ่น) นกกระเรียนกระดาษดูมีชีวิตชีวาเมื่ออยู่ในพื้นสีน้ำเงิน ทั้งนี้อาดิดาสยังได้ใส่สีขาวบนแถบ 3 เส้นตรงหัวไหล่ และสีแดงตามสีข้างหรือขอบชายเสื้อ ถือว่าเป็นการนำสีประจำชาติญี่ปุ่นมาเล่นได้อย่างน่าชื่มชม
ญี่ปุ่น ชุดเยือน (Away Shirt)
เสื้อเยือนของทีมชาติญี่ปุ่นดูโดดเด่นไม่ต่างจากเสื้อเหย้า พวกเขาใช้สีพื้นของเสื้อเป็นสีขาว และลดทอนงาน ‘โอริงามิ’ แบบ 3 มิติเข้ามาอยู่ที่เฉพาะแขนเสื้อเท่านั้น แถมยังปรับเปลี่ยนให้ลวดลายใช้สีน้ำเงินกับแดงแทน (เพราะสีขาวเป็นสีพื้นของเสื้อ) นอกจากนี้ยังเลือกใช้สีดำได้อย่างฉลาด พวกเขาดึงสีดำขากตราสัญลักษณ์ทีมชาติเข้ามาใส่ตามเส้นขอบต่าง ๆ บนเสื้อ ทำให้เสื้อสีขาวตัวดูโดนเด่นขึ้นมาอีก
5. เบลเยียม / กลุ่ม F
เบลเยี่ยม ชุดเหย้า (Home Shirt)
เสื้อเหย้าของเบลเยี่ยมปีนี้ให้ความรู้สึกที่ประหลาด จะว่าสวยก็สวย จะว่าไม่สวยก็ไม่แปลก อาดิดาสใช้สีแดงประจำของเบลเยี่ยมเป็นสีพื้นของเสื้อ ใช้สีดำเป็นสีรองอยู่ตรงแขนเสื้อและวาดเส้นตรงสีข้าง แต่สิ่งที่ทำให้ดูแปลกตาคือกราฟฟิกรูปเปลวไฟที่ประดับอยู่บนแขนเสื้อ พวกเขาใช้เทคนิคเดียวกันกับญี่ปุ่น เข้าใจว่าต้องการชูความแข็งแกร่งของปีศาจแดงแห่งยุโรป แต่ดูเหมือนจะผิดที่ผิดทางไปหน่อย การดีไซน์อะไรใหม่ ๆ ของอาดิดาส เป็นสิ่งที่แฟนบอลส่วนมากต้องการ เพราะมันไม่น่าเบื่อ แต่กลายเป็นว่ามันก็ไม่สามารถเอาชนะสายตาของใครหลายคนเหมือนกัน
เบลเยี่ยม ชุดเยือน (Away Shirt)
เสื้อเหย้าของเบลเยี่ยมได้รับแรงบันดาลใจจาก คอนเซ็ปเก่าที่อาดิดาสเคยทำไว้คือ the Adidas x Belgian FA x Tomorrowland "LOVE" ซึ่งสีสีนที่ปรากฏอยู่ในเสื้อจะทำให้คิดถึงพลุในเทศกาลดนตรี Tomorrowland ที่จัดขึ้นในประเทศเบลเยี่ยม สีสันหลากหลายของพลุแสดงถึงความหลายหลายทางเพศ ในเสื้อเยือนของเบลเยี่ยมนั้น ใช้สีขาวเป็นสีพื้น ส่วนสีสันหลากหลายที่พ่วงมาด้วยคอนเซ็ปจะถูกจัดวางอยู่ในขอบแขนเสื้อ บริเวณคอเสื้อ ตราสัญลักษณ์ทีมชาติและโลโก้แบรนด์อาดิดาส ภาพรวมดูสวยใช่ย่อย
6. แคนาดา / กลุ่ม F
แคนาดา ชุดเหย้า (Home Shirt)
หลายวันก่อนหน้านี้ได้เกิดกระแสวิพากษวิจารณ์เป็นอย่างมากเรื่องเสื้อแข็งของแคนาดา เมื่อ ‘โจนาธาน เดวิด’ ศูนย์หน้าทีมชาติแคนาดายกมือปิดโลโก้ไนกี้หลังจากที่เจ้าตัวยิงประตูได้ในนามทีมชาติในนัดกระชับมิตร ซี่งสาเหตุการกระทำของเดวิด คือการแสดงความไม่เห็นด้วยที่ไนกี้ไม่ยอมออกแบบเสื้อตัวใหม่ให้แคนาดา...แคนาดาเป็นชาติเดียวที่ไนกี้ไม่ออกแบบเสื้อใหม่ให้ฟุตบอลโลกครั้งนี้
ว่ากันด้วยเรื่องเสื้อเหย้าของแคนาดา การดีไซน์ดูไม่หวือหวาและไปทางเรียบง่าย พวกเขาใช้สีแดงที่อยู่ในตราสัญลักษณ์ประจำชาติมาเป็นสีพื้นหลัก บริเวณแขนเสื้อทำลวดลายและปรับสีให้จางลงเพื่อไม่ทำให้เสื้อดูแบนเกินไป
แคนาดา ชุดเยือน (Away Shirt)
สำหรับเสื้อเยือนของแคนาดานั้น แทบจะเรียกได้ว่า ‘ไม่มีอะไรเลย’ มันไม่ต่างอะไรกับการเอาเสื้อฟุตบอลสีขาวธรรมดามาใส่ตราสัญลักษณ์ประจำชาติกับโลโก้แบรนด์เสื้อ
7. โมร็อกโก / กลุ่ม F
โมร็อกโก ชุดเหย้า (Home Shirt)
เสื้อฟุตบอลของโมร็อกโกนั้นอยู่ในการดูแลของแบรนด์พูม่า ซึ่งทางแบรนด์ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก เสื้อของโมร็อกโกในบอลโลกปี 1998 อันที่จริงจะเรียกว่ารูปแบบเหมือนกันเลยก็ว่าได้ พวกเขาใช้สีแดงเป็นสีพื้น และมีแถบคาดหน้าอกสีเขียว ตรงกลางเสื้อมีโลโก้แบรนด์พูม่า ส่วนตรงอกด้านซ้านบนเส้นแถบเป็นตะรางสัญลักษณ์ทีมชาติ ทั้งนี้พวกเขายังใช้สีเขียวตรงแถบหน้าอก มาอยู่ตรงปลายแขนเสื้อและขอบคอเสื้ออีกด้วย มองผิวเผินแอบเข้าใจว่าเสื้อโปรตุเกส
โมร็อกโก ชุดเยือน (Away Shirt)
เสื้อเยือนของโมร็อกโกดูใกล้เคียงกับเสื้อเยือนอีกหลายชาติที่พูม่าเป็นคนออกแบบ พวกเขาใช้สีพื้นเป็นสีขาวสะอาด สีเส้นแถบสีขาวขุ่นผ่าตรงกลางเสื้อ และบริเวณตรงกลางเสื้อก็ทำพวงขนาดใหญ่ โดยมีอักษรย่อทีมชาติโมร็อกโกอยู่ข้างใน ตรงกลางอกมีสัญลักษณ์ทีมชาติและโลโก้แบรนด์ นอกจากนี้ยังนำสีแดงและสีเขียวมาใส่ปลายแขนเสื้อและขอบคอเสื้อ
8. โครเอเชีย / กลุ่ม F
โครเอเชีย ชุดเหย้า (Home Shirt)
หมากรุกพิฆาต! โครเอเชียรองแชมป์ฟุตบอลโลกหนก่อน มีชุดเหย้าที่ดูแปลกออกไปจากทุก ๆ ปี ไนกี้เลือกที่จะลดทอนตารางหมากรุกสีขาว-แดงออก และเพิ่มพื้นที่ว่างมากขึ้น รู้สึกว่าเสื้อตัวนี้มีความโมเดิร์นเพิ่มขึ้นพอสมควร และทั้งนี้ ไนกี้ยังเลือกที่จะนำตราสัญลักษณ์ทีมชาติและโลโก้แบรนด์มาไว้ตรงกลางเสื้อ และให้ Swoosh (โลโก้แบรนด์) เป็นสีฟ้าน้ำทะเล ซึ่งเป็นสีที่อยู่ในตราสัญลักษณ์ทีมชาติด้วยเช่นกัน
โครเอเชีย ชุดเยือน (Away Shirt)
เสื้อเยือนของโครเอเชียเป็นสีน้ำเงินอีกครั้ง หลังจากที่ยูโร 2020 และฟุตบอลโลก 2018 ใช้เสื้อเยือนเป็นสีดำ และดีไซน์ในครั้งนี้ก็ดูแปลกใหม่อยู่ไม่น้อย ไนกี้ยังเลือกใช้วิธีการตัดทอนได้ดูที่ถูกจุด พวกเขาใช้สีพื้นเป็นสีกรมท่าเข้ม และนำลวดลายตารางหมากรุกไปอยู่บนแขนซ้ายเป็นหลัก โดยที่ตัวตารางจะเป็นสีฟ้าอ่อนดูไปได้ดีกับสีพื้น ทั้งนี้บริเวณตราสัญลักษณ์ทีมชาติที่อยู่บนอกซ้ายของเสื้อ ยังใช้กราฟฟิกทำให้ตัวตารางที่ไหลมาจากแขนซ้ายให้ดูซีดลงไป ดูแล้วเก๋ไก๋เอาเรื่อง ภาพรวมเสื้อเยือนของโครเอเชียถือว่าสวยเลยที่เดียว
_______________________
SoccerSuck พร้อมนำเสนอรายการที่ได้รู้ความจริง ได้ยิ่งกว่าฟุตบอล!
ผ่านทุกช่องทางของ SoccerSuck TH แล้วที่
Facebook:
https://bit.ly/3DeU6BX
Instagram:
https://bit.ly/3xzln0z
YouTube:
https://bit.ly/3reBi3f
TikTok:
https://bit.ly/3Oq18JC
Blockdit:
https://bit.ly/3qU7B5G