https://droidsans.com/android-13-whats-new-feature/
1. แยกสิทธิ์การเข้าถึงไฟล์มีเดียตามหมวดหมู่
ใน Android 13 ผู้ใช้งานจะให้สิทธิ์ในการเข้าถึงไฟล์สื่อแก่แอปต่าง ๆ ได้เฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น จากเดิมคือ กดให้สิทธิ์ครั้งเดียวเป็นการเหมารวมไฟล์มีเดียทั้งหมด แต่ล่าสุดมันได้ถูกแยกหมวดหมู่ออกจากกันแล้ว เป็น “ไฟล์รูปภาพและวิดีโอ” กับ “ไฟล์เพลงและเสียง” ยกตัวอย่างให้เห็นภาพกันง่ายขึ้น เช่น แอปแกลเลอรี มีเอาไว้ดูรูปภาพและวิดีโอ ก็ไม่ได้มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องเข้าถึงไฟล์เพลงและเสียง และในทางตรงกันข้าม แอปเครื่องเล่นเพลง มีหน้าที่เล่นเพลง การให้สิทธิ์เข้าถึงได้เฉพาะไฟล์เพลงอย่างเดียวนั่นก็เพียงพอแล้ว
2. แอปไหนจะส่งแจ้งเตือน ต้องขออนุญาตก่อนในครั้งแรก
เดิมที เราสามารถตั้งค่าได้ว่า จะให้แอปไหนส่งหรือไม่ส่งการแจ้งเตือนอยู่แล้วก็จริง แต่ Google ได้ทำให้มันง่ายขึ้นไปอีก โดยกำหนดให้แต่ละแอปต้องมีการขอสิทธิ์จากผู้ใช้งานก่อนเสมอในครั้งแรก เป็นอัปเดตที่ดูแล้วมีประโยชน์มาก ลดขั้นตอนและความวุ่นวายลงไปได้เยอะทีเดียว
3. ลดการขอสิทธิ์ระบุตำแหน่งโดยไม่จำเป็น
Google บอกว่า กำลังพยายามลดการขอสิทธิ์เข้าถึงการระบุตำแหน่งของแอปที่ไม่จำเป็นออกไป หนึ่งในตัวอย่างที่เพื่อน ๆ บางคนอาจเคยเจอกันคือ มันจะมีแอปบางตัวที่บังคับให้เราเปิด GPS ขณะสแกน Wi-Fi และ Bluetooth เพื่อเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อะไรสักอย่าง เป็นต้น
4. เพิ่มฟังก์ชันลบข้อความในคลิปบอร์ดโดยอัตโนมัติ
เมื่อแอปเข้าถึงคลิปบอร์ด ระบบจะส่งแจ้งเตือนให้ผู้ใช้งานทราบแบบเรียลไทม์ พร้อมการปรับปรุงเพิ่มเติมอีก 2 อย่าง (เป็นอย่างน้อย) อย่างแรกคือ ฟีเจอร์ลบเนื้อหาในคลิปบอร์ดโดยอัตโนมัติ เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ข้อความ รูปภาพ หรือคอนเทนต์อื่น ๆ ที่ถูกก๊อบปี้อยู่ในคลิปบอร์ดจะหายไปเอง เดิมทีฟีเจอร์นี้มีอยู่แล้วใน Gboard ที่เป็นแอปคีย์บอร์ดติดเครื่องของ Pixel และสมาร์ทโฟนอีกหลายยี่ห้อ แต่คราวนี้ Google ฝังเข้ามาในระบบ Android 13 เลย
อย่างถัดมาคือ Clipboard editor ลักษณะเดียวกับเวลาที่เราจับภาพหน้าจอใน Pixel แล้วจะมีโอเวอร์เลย์โผล่ขึ้นมา ให้แก้ไขเนื้อหา ลบทิ้ง หรือแชร์ต่อไปยังแอปอื่น ฟีเจอร์นี้ Google ใส่มาตั้งแต่ Beta 1 แต่ไม่ได้มีการพูดถึงในงาน
5. มีระบบตรวจสอบความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวในเครื่อง
ภายในสิ้นปีนี้ Security & Privacy ใน Settings จะได้รับการยกเครื่องใหม่ เป็นการต่อยอดจาก Privacy dashboard ใน Android 12 โดยรวมเอาสถานะเกี่ยวกับความปลอดภัยเข้าไปด้วย และสามารถดูข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวย้อนหลังได้นานขึ้น จาก 24 ชั่วโมง เป็น 7 วัน พร้อมแบ่งประเภทออกเป็นหมวดหมู่อย่างชัดเจน และจะมีคำแนะนำให้ผู้ใช้งานเพื่อเพิ่มความปลอดภัยของอุปกรณ์ คล้าย ๆ กับ Device care ของฝั่ง Samsung
6. ไอคอนแอปเปลี่ยนสีตามธีมได้แล้ว
Themed icons หรือฟีเจอร์เปลี่ยนสีไอคอนตามธีม ที่คาอยู่ในสถานะ Beta ให้ชาว Pixel ได้ขัดใจมานานตั้งแต่ Android 12 ในที่สุดก็ถูกปรับปรุงให้รองรับกับทุกแอปบนแพลตฟอร์ม Android แล้ว ไม่ได้จำกัดแค่แอดของ Google อีกต่อไป
นอกจากนี้ Media controls หรือหน้าต่างควบคุมเพลงยังได้ปรับดีไซน์ใหม่ โดยนำเอาหน้าปกเพลงมาแสดงผลเป็นพื้นหลังเต็มพื้นที่ของการ์ด กลับไปคล้ายกับสมัย Android 10 แต่ผสมผสานความเป็น Material You ลงไป และเพิ่มลูกเล่นโดยการใส่เอฟเฟกต์แอนิเมชันเป็นคลื่นเสียงยุกยิกบริเวณแถบเวลา ตามภาพด้านล่าง
7. รองรับการตั้งค่าภาษาแยกกันแต่ละแอป
อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ Google ซุ่มพัฒนามานาน คือการให้ผู้ใช้งานกำหนดภาษาในแอปต่าง ๆ แยกกันอย่างอิสระได้จากตัวระบบเลย อยากจะใช้ YouTube ภาษานึง Facebook ภาษานึง ก็ไม่มีปัญหา แต่ข้อจำกัดที่ต้องแจ้งให้ทราบก่อนคือ แอปต้องรองรับภาษานั้น ๆ ด้วยนะ ไม่อย่างนั้นถึงเปลี่ยนการตั้งค่าไปก็ไม่มีผล
8. เตรียมอัปเดตแอปให้รองรับกับแท็บเล็ตเต็มรูปแบบ
ในรอบปีที่ผ่านมา การกระทำหลายอย่างของ Google บ่งชี้ว่า บริษัทกำลังจะหันมาให้ความสำคัญกับอุปกรณ์ในกลุ่มแท็บเล็ต ซึ่งเป็นเรื่องที่ชาว Android บ่นกันมานานนมถึงการถูกปล่อยปละละเลย ถึงแม้ Android 12L จะเริ่มปรับปรุงอินเทอร์เฟซบางส่วนของระบบ และยกระดับฟังก์ชันด้านมัลติทาสกิงให้เหมาะสมกับหน้าจอขนาดใหญ่ไปบ้างแล้ว แต่ “แอป” ที่เป็นหัวใจสำคัญยังไม่มีเจ้าไหนอัปเดตตาม
ทาง Google รับรู้ถึงปัญหานี้เป็นอย่างดี เพราะไม่อย่างนั้นทุกอย่างที่พัฒนามามันก็แทบจะไม่มีความหมายอะไรเลย Google เลยประกาศว่า แอปของ Google จะนำร่องปรับโฉมให้เข้ากับอุปกรณ์หน้าจอขนาดใหญ่ในเบื้องต้นกว่า 20 แอปในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า และรองรับการทำงานแบบ Drag and drop ลากนิ้วเพื่อก๊อบปี้ข้อความหรือรูปภาพข้ามไปมาระหว่าง 2 หน้าต่างได้ง่าย ๆ หลังจากนั้นจะมีแอปอื่น ๆ ตามมาอีกในอนาคต รวมถึงแอปดัง ๆ อย่างเช่น TikTok, Facebook, Zoom
ในขณะที่ Play Store สำหรับแท็บเล็ตก็จะถูกปรับปรุงอินเทอร์เฟซใหม่เช่นกัน มีฟิลเตอร์ Tablet แยกออกมาโดยเฉพาะ สำหรับกรองพวกแอปที่ถูกปรับแต่งให้เข้ากับหน้าจอขนาดใหญ่
9. ทำงานร่วมกับปากกาสไตลัสได้ดีขึ้น
และสุดท้ายคือ ปรับปรุงการทำงานร่วมกับปากกาสไตลัส โดยเพิ่มฟีเจอร์ Palm rejection เข้ามาใน Android 13 ฟีเจอร์นี้จะช่วยให้หน้าจอไม่ตอบสนองการทัชกับสันมือที่ไปแตะโดนหน้าจอโดยไม่ตั้งใจ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถขีดเขียนหน้าจอได้ถนัดมากขึ้น
ทั้งนี้ย้ำกันอีกทีว่า Google กำหนดไทม์ไลน์คร่าว ๆ ของ Android 13 โดยจะออกรุ่น Beta ราว 3 ถึง 4 รุ่นจนถึงเดือนกรกฎาคม ก่อนที่รุ่น Stable ตัวเต็มจะตามมาภายหลังจากนั้น