BLOG BOARD_B
ติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Email: sale@soccersuck.com
ไว้คราวหน้า X
ไว้คราวหน้า X
ไม่ต้องแสดงข้อความนี้อีกเลย
ไปหน้าที่ 1
ไปที่หน้า
GO
ตั้งกระทู้ใหม่
ฝากรูป
ผู้ตั้ง
ข้อความ
ออฟไลน์
หัวหน้าแมวมอง
Status:
: 0 ใบ : 0 ใบ
เข้าร่วม: 01 Dec 2013
ตอบ: 39471
ที่อยู่:
โพสเมื่อ: Sun Mar 20, 2022 20:38
ประวัติ คลองดำเนินสะดวก ต้นทางจากบ้านแพ้วไปสิ้นสุดที่บางนกแขวก



"ดำเนินสะดวก” เป็นชื่อคลองที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯให้ขุดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๙ เชื่อมจากแม่น้ำท่าจีนเริ่มจากปากคลองบางยาง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาครกับแม่น้ำแม่กลอง ต.บางนกแขวก อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ขนาดคลองที่ขุดในระยะแรกมีความกว้าง ๖ วา (๑๒ เมตร) ลึก ๖ ศอก (๓ เมตร) ความยาว ๘๔๐ เส้น (๓๒ กิโลเมตรโดยประมาณ) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เมื่อครั้งยังเป็นที่พระสมุหกลาโหม เป็นผู้อำนวยการขุด โดยเกณฑ์แรงงานทหาร ข้าราชการ ประชาชน และจากการจ้างแรงงานกรรมกรชาวจีน การขุดนั้นใช้วิธีการขุดดินระยะหนึ่งแล้วเว้นไว้ไม่ต้องขุดดินระยะหนึ่ง เมื่อน้ำหลากมาจะเซาะดินที่เว้นไว้ไม่ได้ขุดพังทลายไป พร้อมทั้งมีการแบ่งคลองออกเป็นระยะๆระยะหนึ่งยาว ๑๐๐ เส้น (ประมาณ ๔ กิโลเมตร) จะมีเสาหินปักไว้เป็นหลักเขต แต่ละหลักได้จำหลักเลขไทย เลขโรมัน และเลขจีนกำกับไว้ทุกหลัก คลองนี้ใช้เวลาขุด ๒ ปี โดยใช้งบประมาณในการขุดเป็นค่าเงินในสมัยนั้นจำนวน ๑,๔๐๐ ชั่ง (๑๑๒,๐๐๐ บาท) โดยเป็นทรัพย์สินของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจำนวน ๔๐๐ ชั่ง (๓๒,๐๐๐บาท) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ จำนวน ๑,๐๐๐ ชั่ง เมื่อทำการขุดจนแล้วเสร็จ ได้มีการนำแผนผังคลองขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อขอพระราชทานนาม ซึ่งเมื่อทรงทอดพระเนตรแล้วทรงเห็นว่าคลองนี้มีเส้นทางตรงที่สุดกว่าคลองอื่นๆที่มีการขุดขึ้นในช่วงนั้น จึงได้รับพระราชทานนามว่า“ดำเนินสะดวก” และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้ประกอบพิธีเปิดคลองนี้เมื่อวันจันทร์เดือน ๗ ขึ้น ๔ ค่ำ (ตรงกับวันที่ ๒๕ พ.ค. พ.ศ.๒๔๑๑)



พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ เคยเสด็จพระราชดำเนินคลองดำเนินสะดวกหลายครั้งทั้งเสด็จประพาสและเสด็จพระราชดำเนินผ่านไปยังที่ต่างๆ ในปี ๒๔๓๑ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเสด็จประพาสไทรโยคครั้งที่ ๓ ปรากฏในพระราชนิพนธ์ว่า“...วันพฤหัสบดีขึ้น ๗ ค่ำเดือน ๓ ...เสด็จจากเมืองราชบุรีล่องลงไปถึงบ้านสี่หมื่นไปตามคลองดำเนินสะดวก ผ่านวัดโชติทายการามถึงหลักเจ็ด โคกไผ่ เมื่อถึงหลักห้าก็เป็นอันสิ้นสุดเขตเมืองราชบุรี...”

ต่อมาในปี ๒๔๔๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสต้นที่คลองดำเนินสะดวก ซึ่งจดหมายนายทรงอานุภาพ (สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) มหาดเล็กผู้ตามเสด็จได้บันทึกไว้ว่า “...ครั้นรุ่งขึ้นวันที่ ๑๖ ออกเรือล่วงหน้ามาคอยเสด็จอยู่ที่ปากคลองดำเนินสะดวก พอประมาณ ๔ โมงเช้ากระบวนเสด็จมาถึงเลยเข้าคลองต่อมา น้ำกำลังท่วมทุ่งคันคลองเจิ่งทั้งสองข้างแล่นเรือได้สะดวก พอบ่ายสัก ๓ โมงก็มาถึงหลักหกหยุดกระบวนประทับแรมที่วัดโชติทายการาม...”



ผลจากการขุดคลองดำเนินสะดวกในครั้งนั้น นอกจากจะเป็นส่งเสริมการค้าหลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง การคมนาคมสัญจรไปมาติดต่อกันทางน้ำด้วยความสะดวกแล้ว ยังส่งผลให้ผู้คนอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยตลอดคลองดำเนินสะดวกเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นจำนวนมาก ดังรายงานเสด็จตรวจราชการมณฑลราชบุรีปี ๒๔๔๑ ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพระบุว่า “...ที่สองฟากคลองดำเนินสะดวก เปนที่ทิ้งให้รกร้างอยู่มากกว่าที่มีผู้ทำเปนไร่นา ได้ความว่าที่เหล่านี้ที่จริงเปนที่ดี

แต่เป็นที่มีเจ้าของอยู่ในวงษ์วานญาติของสมเด็จเจ้าพระยา...” เปรียบเทียบกับปี ๒๔๕๒ ซึ่งในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อคราวเสด็จประพาสมณฑลราชบุรีกล่าวถึงถึงพื้นที่คลองดำเนินสะดวกไว้ว่า“...ในลำคลองระยะหลัก๑ หลัก๒ จนกระทั่งถึงหลัก ๓ เดิมเป็นจากและปรง เดี๋ยวนี้มีจากและปรงเข้าไปไม่ถึงหลัก ๑ เป็นไร่นาไปหมดได้ความว่าดีมาก...”แสดงให้เห็นว่ามีผู้เข้ามาอยู่อาศัยบริเวณคลองดำเนินสะดวกมีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีการขุดคลองลัดซอยมากกว่า ๒๐๐ คลองในเวลาต่อมา และมีการบุกเบิกป่ากลายเป็นนาเปลี่ยนจากนามาเป็นสวนเป็นไร่มากขึ้น



คลองดำเนินสะดวก บริเวณ หลักสี่ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร

นอกจากนี้ในรายงานโครงการทดน้ำไขน้ำฯ ของมิสเตอร์ เยโฮมานวาเดอร์ ไฮเด กระทรวงเกษตราธิการ ได้กล่าวถึงปริมาณเรือที่เข้าออกในคลองดำเนินสะดวกนั้นมีเป็นจำนวนมากเพราะนอกจากจะมีเรือซื้อข้าวและเรือสินค้าดังกล่าวแล้ว ยังมีเรือสินค้าอื่นๆแทบทุกอย่าง ทั้งเครื่องอุปโภค บริโภคจากกรุงเทพฯ เข้ามาด้วย จำนวนเรือที่เข้าออกในคลองนี้ชั่วระยะเวลาเพียง ๕ วัน ในช่วงเดือนเม.ย.พ.ศ. ๒๔๔๕ มีจำนวนถึง ๓,๑๖๘ ลำ

การเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญของคลองดำเนินสะดวกนั้นยังเห็นได้จาก ในปี ๒๔๔๗ เจ้าพระยาเทเวศรวงษ์วิวัฒน์ เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ รับพระบรมราชโองการฯ ให้ประกาศแก่ประชาชนทราบโดยทั่วกันว่า คลองดำเนินสะดวกซึ่งทรงพระกรุณาให้กระทรวงเกษตราธิการขุดซ่อมใหม่ นั้นได้ขุดซ่อมเสร็จแล้ว กำหนดเปิดให้ประชาชนใช้คลองได้ตั้งแต่วันที่ ๑๘ พฤษภาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๓ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้กระทรวงเกษตราธิการเป็นเจ้าหน้าที่จัดการรักษาและซ่อมคลองนี้ไว้ให้เรียบร้อย เพื่อให้ประชาชนใช้คลองได้โดยสะดวกเสมอไป ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ออกกฎข้อบังคับไว้เพื่อดูแลรักษาคลองแห่งนี้ เช่น กฎเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ เป็นข้อบังคับสำหรับคลองดำเนินสะดวก กฎกระทรวงเกษตราธิการ สำหรับเจ้าพนักงานรักษาคลองดำเนินสะดวก

หลักฐานต่างๆเหล่านี้ ล้วนสะท้อนให้เห็นว่าคลองดำเนินสะดวกหรือที่ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า“คลองใหญ่” เป็นคลองสายสำคัญสายหนึ่ง ที่มีเอกลักษณ์และความสำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเป็นเส้นทางคมนาคม ขนส่งสินค้า ตลอดจนสองฝั่งคลองยังเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่สำคัญที่มีความอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของไทย นอกจากนี้การขุดคลองดำเนินสะดวก ยังส่งผลต่อการเมือง การปกครอง ทำให้พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินตามหัวเมืองต่างๆ และสามารถเข้าถึงชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรได้เนื่องจากมีการคมนาคมที่สะดวกขึ้น คลองดำเนินสะดวกจึงถือเป็นคลองที่สำคัญแห่งหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย





หลักเขตที่ใช่แบ่งที่อยู่ของคนที่อยู่ริมคลอง

นอกจากนี้คลองดำเนินสะดวกยังมีการแบ่งหลักเขตทั้งหมด ๙ หลัก โดยเริ่มหลักแรกเป็นหลักศูนย์ ที่บริเวณปากคลองบางยาง และสิ้นสุดหลักสุดท้ายที่ หลักแปด แต่ละหลักจะห่างกัน ๔ กม. หลักเขตทั้ง ๙ หลักยัง ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน โดยหลักศูนย์ถึงหลักห้า อยู่ในเขต อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร

หลักห้า และหลักเจ็ดอยู่ในเขต อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี และหลักแปดอยู่ที่ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม

แต่เดิมในบริเวณนี้มีคลองบางยางเป็นคลองธรรมชาติแยกจากแม่น้ำท่าจีน มีความยาว 3.8 กิโลเมตร เมื่อเริ่มขุดคลองดำเนินสะดวกจึงขุดต่อจากต้นคลองบางยางไปออกแม่น้ำแม่กลอง มีประตูน้ำกั้นคลองบางยางกับคลองขุดใหม่ ถ้านับตามนี้จะมีความยาว 840 เส้น (32กิโลเมตร) แต่ถ้าหากเริ่มนับตั้งแต่แม่น้ำท่าจีนจะมีความยาว 895 เส้น (35.8 กิโลเมตร)

ตลอดความยาวของคลองจะมีเสาหินสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ 10 x 10 นิ้ว ปักไว้ที่พื้นดิน ทุก ๆ 100 เส้น ปักไว้ 1 ต้น ทางฝั่งใต้ของคลอง เริ่มจากตำบลสวนส้ม เป็นหลักที่ 0 ถึงหลักที่ 8 ที่แม่น้ำแม่กลอง แต่ละหลัก จะเขียนเลขไทย โรมัน จีน เป็นสีแดงบอกเลขไว้ทุกหลัก อยู่ในเขตอำเภอบ้านแพ้ว 5 หลัก หลักที่ 5 ถึงหลักที่ 7 อยู่ในเขตอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี และหลักสุดท้าย หลักที่ 8 อยู่ในเขตอำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม หลักคลองมีไว้เพื่อบอกที่อยู่ที่แน่ชัดของผู้คนริมคลอง คลองดำเนินสะดวกมีทั้งหมด 9 หลัก ยังคงปรากฏให้เห็นครบทั้งหมดถึงปัจจุบัน ดังนี้

หลักที่ 0 ตั้งอยู่เลยประตูน้ำบางยางออกไป 55 เส้น สลักเป็นเลขไทยเท่านั้น ระยะทางในช่วงนี้มักจะเรียกกันว่าปากคลองบางยาง

หลักที่ 1 อยู่ในเขตคลองบางยางเดิม จุดเริ่มต้นจากประตูน้ำบางยาง นับเป็นระยะทางได้ 100 เส้น (4 กิโลเมตร) มีเสาหินสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ 8x8 นิ้ว ปักไว้ที่พื้นดินริมคลองดำเนินสะดวก สูงจากพื้นดินขึ้นไป 1 วา สลักเลข 1 เพื่อเป็นสัญลักษณ์บอกให้ทราบ จากประตูน้ำบางยางซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นคลองดำเนินสะดวกที่อยู่ติดกับแม่น้ำท่าจีน จนถึงเสาหินเลขที่ 1 เรียกว่าหลักหนึ่ง อยู่ในเขตตำบลบางยาง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร โดยทั่วไปมักเรียกว่า คลองบางยาง

หลักที่ 2 เริ่มนับระยะทางจากเสาหินเลขที่ 1 ไปอีก 100 เส้น (4 กิโลเมตร) มีเสาหินลักษณะเดียวกันแต่สลักหมายเลข 2 เป็นสัญลักษณ์ปักไว้ริมคลองดำเนินสะดวก เรียกว่าหลักสอง ซึ่งอยู่ในเขตตำบลหลักสอง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร

หลักที่ 3 เริ่มนับระยะทางจากเสาหินเลขที่ 2 ไปอีก 100 เส้น มีเสาหินลักษณะเดียวกันแต่สลักหมายเลข 3 เป็นสัญลักษณ์ปักไว้ริมคลองดำเนินสะดวก ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับที่ว่าการอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร พื้นที่ระหว่างเสาหินเลข 2 ถึงเสาหินเลข 3 เรียกว่าหลักสาม ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างร้านอาหารศรีสุวรรณ กับ ธนาคารกรุงเทพ สาขาหลักสาม อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร

หลักที่ 4 เริ่มนับระยะทางจากเสาหินเลขที่ 3 ไปอีก 100 เส้น มีเสาหินลักษณะเดียวกันแต่สลักหมายเลข 4 เป็นสัญลักษณ์ปักไว้ริมคลองดำเนินสะดวก บบริเวณข้างวัดหลักสี่ราษฎร์สโมสร พื้นที่ระหว่างเสาหินเลข 3 ถึงเสาหินเลข 4 เรียกว่าหลักสี่ ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ส่วนมากชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวมักเรียกชุมชนตนเองตามหมายเลขเสาหิน เช่น ชาวหลักสี่ ชื่อโรงเรียนหรือวัด ก็มักจะเรียกตามไปด้วย เช่น โรงเรียนหลักสี่ราษฎร์สโมสร หรือวัดหลักสี่ราษฎร์สโมสร ซึ่งมีหลวงพ่อโตที่พุทธศาสนิกชนทั่วไปให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก




ผลไม้คือจุดขายของ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร กับ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี



สวนยกร่อง ที่อยู่ในหลายๆพื้นที่ บริเวณ อ.บ้านแพ้ว , อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี






แหล่งท่องเที่ยว ณ คลองดำเนินสะดวก



วัดหลักสองราษฎร์บำรุง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร



หลวงพ่อพุทธสุโขทัยธรรมราชา ณ วัดหลักสอง



วัดธรรมจริยาภิรมย์ ที่ตั้งอยู่ที่หลักสาม อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร



หลวงพ่อโต วัดหลักสี่ราษฎร์สโมสร อ.บ้านแพ้ว จ.สมทรสาคร



แห่หลวงพ่อโต บริเวณคลองดำเนินสะดวก ที่อาจจะเรียบคลองไปตลอดทางถึง หลักห้า ที่เข้าเขต อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี



กิจกรรมแห่หลวงพ่อโต วัดหลักสี่ จะมีเรือถึง ห้าร้อยลำ ในงานวันแห่ ที่หลักสี่ ศรัทธาและนับถือ



วัดปราสาทสิทธิ(วัดหลักห้า) อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี



หลวงพ่อไตรรัตน์โรจน์ฤทธิ์ ณ วัดหลักห้า



ประเพณีแห่พระทางน้า ของวัดหลักห้าที่จะแห่ หลวงพ่อไตรรัตน์โรจน์ฤทธิ์ บริเวณหลักห้า



ตลาดน้ำหลักห้า ที่ตั้งรอยต่อระหว่าง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร และ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี



ไฮไลท์ที่สำคัญ และดังไปทั่วโลก ที่ฝรั่งรู้จักตลาดน้ำของประเทศไทย ตลาดน้ำดำเนินสะดวก อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี



ประตูน้ำบางนกแขวง จุดสิ้นสุดคลองดำเนินสะดวก อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม









เรื่องที่น่ารู้ของคลองดำเนินสะดวก

1.) คลองดำเนินสะดวก หลักห้า คือจุดสิ่นสุดของ อ.บ้านแพ้ว และจุดเริ่มต้นของคลองดำเนินสะดวก ใน อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
2.) หลัก 0 ถึง หลัก 5 ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร, หลัก 5 ถึง 8 อยู่ในพื้นที่ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี และ หลัก 8 ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม
3.) คลองดำเนินสะดวก เป็นแหล่งเกษตรกรมใหญ่ของประเทศไทย รวมทั้งแหล่งปลาสลิดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
4.) ตลาดน้ำดำเนินสะดวก ตั้งอยู่ในหลัก 7 ของ คลองดำเนินสะดวก
5.) ต.ดำเนินสะดวก เคยตั้งขึ้นตรงกับ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ก่อนเปลี่ยนขึ้นตรงไปอยู่ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร แล้วทางราชการกับชาวบ้านเห็นว่า ชื่อไปเหมือนที่ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี จึงได้เปลี่ยนชื่อว่าเป็น ต.สวนส้ม ในวันที่ วันที่ 29 ตุลาคม 2511 แต่ก็ยังมีสถานที่ โรงเรียนดำเนินสะดวก(กิมลี้มณีฉาย) ที่ไม่ได้เปลี่ยนชื่อไป ตั้งอยู่ใน ต.สวมส้ม อ.บ้านแพ้ว
6.) คลองดำเนินสะดวก มีความยาว 33 กิโลเมตร โดยยาวที่สุดในเขต อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร มีความยาว 20 กิโลเมตร
7.) ต.บ้านแพ้ว อ.บ้านแพ้ว อ.สมุทรสาคร ที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามคลอง โดยฝั่งตรงข้ามคลองอีกฝั่ง ต.บ้านแพ้ว คึอ ต.หลักสาม
8.) พื้นที่ริมคลอง จะมีคนไทยเชื้อสายจีน อยู่เป็นจำนวนมาก เพราะเนื่องจากในอดีตขุดคลอง
9.) ที่ตั้งศาสนสถาน มักจะมีศาลจีนอยู่เป็นระยะ
10.) คลองนี้เชื่อมจาก ต้นทางแม่น้ำท่าจีนไปยังแม่น้ำแม่กลอง



Spoil


เป็นคนราชบุรี แต่ยังไม่เคยไปตลาดน้ำดำเนินสะดวกเลย แต่ไป ตลาดน้ำอัมพวา มา 3-4 รอบละ
สินค้าผลไม้บ้านผมก็มักมาจากทาง ดำเนินสะดวก ซะส่วนใหญ่
แก้ไขล่าสุดโดย ปีศาจแดงดำ เมื่อ Sun Mar 20, 2022 20:40, ทั้งหมด 1 ครั้ง
โหวตเป็นกระทู้แนะนำ
ไปหน้าที่ 1
ไปที่หน้า
GO
ตั้งกระทู้ใหม่
กรุณาระบุเหตุผลที่จะแจ้งความ
ผู้ต้องหา:
ข้อความ:
Submit
Cancel
กรุณาเลือก Forum และ ประเภทกระทู้
Forum:

ประเภท:
Submit
Cancel