เจ้าของนิวคาสเซิ่ลคนใหม่ บางคนทราบว่าเขามีส่วนพัวพันกับคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญ บางคนไม่รู้ บางคนก็ดีใจที่มาซื้อทีมบอลเพราะรวย โดยที่ไม่สนใจหลักสิทธิมนุษยชนอะไรเลย ขอแค่ตัวเองได้รวยแค่นั้นพอ
นี่คือบทสนทนาระหว่างการอุ้มฆ่า
"คุณได้ยินเสียงพวกเขาหัวเราะ เป็นภารกิจที่เลือดเย็นมาก พวกเขารออยู่ที่นั้น รู้ว่าผู้ชายคนนี้จะเดินทางเข้ามา และเขาจะถูกสังหารและหั่นเป็นชิ้น ๆ"
นี่คือคำบอกเล่าของ บารอนเนส เฮเลนา เคนเนดี้ ทนายความชาวอังกฤษ เธอเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ได้ฟังเทปดักฟังโดยทางการตุรกีในสถานกงสุล ขณะนายจามาล คาชูจกิ นักข่าวซาอุฯ ผู้วิจารณ์รัฐบาลซาอุดีอาระเบียโดนสังหาร
"ความสะพรึงกลัวของการได้ยินเสียงคน ๆ หนึ่ง ความหวาดกลัวในเสียงคน ๆ นั้น คุณได้ฟังสด ๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้คุณสั่นไปทั้งตัว"
เคนเนดี้ ได้รับการเชื้อเชิญให้เข้าร่วมทีมซึ่งนำโดยนางแอกเนส คาลามาร์ ผู้รายงานพิเศษเรื่องการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมของสหประชาชาติ หลังจากเกลี้ยกล่อมหน่วยข่าวกรองตุรกีอยู่หนึ่งสัปดาห์ พวกเขาทั้งสองก็ได้โอกาสเข้าไปฟังเทปนี้พร้อมกับล่ามภาษาอารบิกอีกหนึ่งคน ได้ฟังเทปยาว 45 นาที ซึ่งคัดมาจากการดักฟังทั้งหมด 2 วัน
"ชัดเจนว่าเจตนาของฝ่ายตุรกีคือต้องการจะช่วยฉันพิสูจน์ว่ามีการวางแผนและไตร่ตรอง [การสังหารนี้] ไว้ก่อน" คาลามาร์ บอกกับรายการพาโนรามาของบีบีซี
หลังจาก คาชูจกิ ไปสถานกงสุลวันแรก เทปดักฟังโดยหน่วยข่าวกรองตุรกีเผยให้ทราบว่า มีการโทรศัพท์ติดต่อกลับไปยังกรุงริยาดทันที
"สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการโทรศัพท์ครั้งนี้คือมีการอ้างถึงนายคาชูจกิในฐานะหนึ่งในกลุ่มบุคคลที่ทางการต้องการตัว" คาลามาร์ เล่า
เชื่อกันว่าการโทรศัพท์ในครั้งแรกนั้นเป็นการส่งสัญญาณไปบอก ซาอุด อัล-คาห์ตานี ผู้ช่วยคนสำคัญของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย
ซาอุด อัล-คาห์ตานี เคยถูกกล่าวหาว่ามีความเกี่ยวข้องในการกักตัวและทรมานนักเคลื่อนไหวในซาอุดีอาระเบียมาแล้ว และนายคาชูจกิก็เคยเขียนกล่าวหาว่าเขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการ "บัญชีหมายหัว" ของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน
ในวันที่ 28 ก.ย. มีบันทึกโทรศัพท์อย่างน้อย 4 ครั้งระหว่างสถานกงสุลกับทางการซาอุดีอาระเบีย ในจำนวนนี้มีบทสนทนาระหว่างกงสุลใหญ่ซาอุดีอาระเบียที่ตุรกีกับหัวหน้าหน่วยความมั่นคงของกระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย
หัวหน้าหน่วยความมั่นคงผู้นี้ได้บอกกับกงสุลใหญ่ว่า ได้มีการวางแผนภารกิจลับสุดยอด ซึ่งเป็น "ภาระหน้าที่ของชาติ"
"ฉันมั่นใจเลยว่านี่เป็นภารกิจที่วางแผนมาอย่างจริงจังและรัดกุม และมาจากเบื้องบน" เคนเนดี้ กล่าว
บ่ายวันที่ 1 ต.ค. เจ้าหน้าที่หน่วยกรองซาอุดีอาระเบีย 3 คนบินมายังนครอิสตันบูล ทราบกันว่าสองคนในจำนวนนั้นทำงานให้กับเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน
คาลามาร์ เชื่อว่าภารกิจนั้นเป็นการสำรวจดูลาดเลา
เมทิน แอร์ซุส อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองตุรกีและผู้เชี่ยวชาญด้านซาอุดีอาระเบีย บอกว่า ปฏิบัติการในลักษณะนี้จะต้องได้รับการอนุมัติไม่จากกษัตริย์หรือไม่ก็มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย
"เป็นเวลานานกว่าที่ คาชูจกิ จะตระหนักถึงอันตรายและหาวิธีป้องกันตัว และราคาที่เขาต้องจ่าย [สำหรับความผิดพลาดนั้น] ก็สูงลิ่ว"
เช้ามืดวันที่ 2 ต.ค. เครื่องบินส่วนตัวลำหนึ่งลงจอดที่สนามบินอิสตันบูล บนเครื่องมีชาวซาอุดีอาระเบีย 9 คน รวมถึงแพทย์นิติเวชชื่อ ซาลาห์ อัล-โตเบกี
คาลามาร์เชื่อว่าพวกเขาเหล่านี้คือทีมสังหารของซาอุดีอาระเบีย
"ภารกิจนี้ทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ… มีสองคนที่ถือหนังสือเดินทางทูต"
จากการฟังเทปดักฟัง เคนเนดี้ เชื่อว่าชายที่ชื่อ มาเฮด มูเตร็บ เป็นหัวหน้าหน่วยสังหารนี้
ที่ผ่านมา บ่อยครั้งที่คนเห็น มูเตร็บ เดินทางไปกับเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน แต่จะวางตัวเงียบ ๆ อยู่เบื้องหลัง
เคนเนดี้ เล่าว่า บทสนทนาระหว่างกงสุลใหญ่และมูเตร็บ มีการพูดถึงข้อมูลว่า คาชูจกิ จะเดินทางเข้ามาวันอังคาร
เช้าวันที่ 2 ต.ค. ขณะที่ คาชูจกิ และ ฮาทีเจอ เจนกิซ คู่หมั้นของเขา กำลังเดินทางไปสถานกงสุล บทสนทนาที่น่าสะพรึงกลัวระหว่าง มูเตร็บ และ ซาลาห์ อัล-โตเบกี ก็กำลังเกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กัน
เคนเนดี้ เล่าว่า ดร. อัล-โตเบกี เล่าให้ มูเตร็บ ฟังว่า "ผมชอบเปิดเพลงเวลาผ่าศพ บางครั้งผมก็ดื่มกาแฟและก็มีซิการ์วางไว้ใกล้ ๆ ...เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมต้องหั่นชิ้นส่วนบนพื้น แม้กระทั่งถ้าคุณขายเนื้อ คุณก็ต้องจับสัตว์แขวนไว้"
เคนเนดี้ เล่าอีกว่า พวกเขาสองคนพูดกันว่า "สัตว์บูชายัญมาถึงหรือยัง ?"
และแล้วเวลาแห่งการสังหารก็มาถึง
"มันมาถึงจุดหนึ่งที่คุณได้ยินคาชูจกิเปลี่ยนจากผู้ชายที่มีความมั่นใจในตัวเอง กลายเป็นเผชิญหน้ากับความกลัว ความวิตกกังวลและความหวาดกลัวที่เพิ่มระดับขึ้น และก็เริ่มตระหนักว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้น" เคนเนดี้ เล่า
เธอได้ยิน คาชูจกิ ถามขึ้นสองครั้งด้วยกันว่าเขากำลังถูกลักพาตัวใช่ไหม และเขาก็พูดว่า "เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นในสถานทูตได้ยังไง"
คาลามาร์ เล่าต่อว่า เสียงที่ได้ยินหลังจากจุดนั้นเป็นสัญญาณบอกว่าเขาขาดอากาศหายใจ เขา "อาจจะถูกใช้ถุงพลาสติกคลุมหัว"
จากนั้น เคนเนดี้ เชื่อว่า เป็นหน้าที่ของแพทย์นิติเวชที่มารับช่วงต่อ
"คุณได้ยินเสียงที่พูดว่า "ปล่อยให้เขาหั่นไป" ...และจากนั้นก็มีคนตะโกนขึ้นว่า 'มันจบแล้ว เอามันออก เอามันออก เอานี่ไปสวมหัวเขาไว้'..."
เคนเนดี้ บอกว่าเธอตั้งสมมติฐานได้อย่างเดียวว่าในจุดนั้นพวกเขาได้ตัดหัวนายคาชูจกิออก
ฮาทีเจอ เจนกิซ คู่หมั้นคาชูจกิ บอกกับบีบีซีว่า ขณะที่การสังหารเกิดขึ้น "ฉันกำลังฝันถึงอนาคต เช่นว่างานแต่งงานเราจะเป็นยังไง เราวางแผนจะมีพิธีแต่งงานเล็ก ๆ"
ช่วงสามโมงเย็นของวันเกิดเหตุ กล้องวงจรปิดแสดงภาพรถสถานกงสุลขับออกจากสถานกุงสลไปที่บ้านพักของกงสุลใหญ่ซาอุดีอาระเบียซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียง 2 ซอย
หลังจากนั้นก็ไม่มีใครเห็น คาชูจกิ อีกเลย
ตลอดช่วงเวลานี้ ฮาทีเจอ เจนกิซ ก็ยังรออยู่หน้าสถานกงสุล
"ฉันรอ รอ แล้วก็รอ จนเลยสามโมงครึ่งแล้ว ฉันก็นึกได้ว่าสถานกุงสุลปิดสามโมงครึ่ง ฉันวิ่งเข้าไปถามว่าทำไมเขายังไม่ออกมาอีก ยามหน้าสถานกงสุลบอกว่าเขาไม่รู้เรื่องว่าฉันกำลังพูดเรื่องอะไร"
ขอรับผิดชอบ
เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบียทรงปฏิเสธไม่ได้ออกคำสั่งให้สังหารคาชูจกิ แต่ก็ขอรับผิดชอบเรื่องที่เกิดขึ้นในฐานะผู้นำประเทศ
เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ทรงตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ออกคำสั่งให้สังหารนายคาชูจกิ เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ปีที่แล้วในสถานกงสุลซาอุดิอาระเบียในตุรกี พระองค์ทรงให้สัมภาษณ์กับช่อง CBS News ของสหรัฐฯ ว่า พระองค์ไม่ได้อยู่เบื้องหลัง "อาชญากรรมอันเลวร้าย" นี้ แต่ "ขอรับผิดชอบไว้ทั้งหมดในฐานะผู้นำของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการสังหารนี้ทำโดยบุคคลที่ทำงานให้กับรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย"
พระองค์ทรงปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้ออกคำสั่งและก็ไม่รู้เรื่องตอนที่เหตุเกิดขึ้น ก่อนหน้านี้ทางการซาอุฯ ได้ออกมากล่าวโทษว่าการสังหารนี้เป็น "ปฏิบัติการเถื่อน" และมีเจ้าหน้าที่ซาอุฯ 11 คนถูกพิจารณาคดี
อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่สำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ หรือซีไอเอ ซึ่งได้รับเชิญจากทางการตุรกีให้เข้าฟังเทปที่ดักฟังขณะเกิดเหตุในสถานกงสุล ระบุว่า ข้อสรุปที่ได้คือ "เป็นเรื่องแน่นอนระดับกลางถึงสูง" ว่าเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ทรงอยู่เบื้องหลังการสังหารนี้
รายงานของคาลามาร์ที่เขียนให้กับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ข้อสรุปอย่างแน่ชัดว่า "ภายใต้กฎหมายนานาชาติ ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าอาชญากรรมนี้สามารถถูกจัดประเภทให้เป็นอย่างอื่นไปนอกเสียจากการสังหารโดยรัฐ"
ก่อนจะจบการสัมภาษณ์กับ ฮาทีเจอ เจนกิซ เธอบอกว่า การเสียชีวิตของ คาชูจกิ มีนัยสำคัญแค่ไหน
"มันไม่ใช่แค่โศกนาฏกรรมสำหรับฉัน แต่สำหรับทั้งมนุษยชาติ สำหรับทุกคนที่คิดเหมือนจามาล และยืนหยัดแบบเขา"
(จามาล คาชูจกิ นักข่าวที่ถูกสังหาร)
-------------------------------
คุ้นๆเหมือนบางประเทศไหมครับ ถ้าจะบอกว่าผู้ลี้ภัยบางประเทศถูกกษัตริย์สั่งฆ่า เราก็น่าจะมองออกว่าซาอุก็สั่งฆ่าเหมือนกัน และเอาผิดไม่ได้ด้วย ส่วนคนสั่งก็ลอยหน้าลอยตาในสังคมมีคนชื่นชม แต่คนที่ต้องตายและหายไปกลับถูกลืม
บางทีก็อยากตั้งที่บอร์ดบอลนอก แต่ก็จะหาว่าการเมืองนอกบอร์ด แต่ถ้าแอดมินมองออก เรื่องนี้มันแยกออกจากกันไม่ได้
-------------------------------
เทปดักฟังวินาที จามาล คาชูจกิ ถูกสังหาร
https://www.bbc.com/thai/international-49900141
จามาล คาชูจกิ คือใคร
https://www.bbc.com/thai/international-45840702