ฟิสิกส์ของลูกฟรีคิกในตำนาน
ฟิสิกส์ของลูกฟรีคิกในตำนาน
(เรียบเรียงโดย ชนกานต์ พันสา)
#วิทยาศาสตร์การกีฬาเบื้องต้น
ฟุตบอลเป็นกีฬาสุดโปรดของมนุษยชาติ
ใครที่มีอายุ(มาก)หน่อยคงจำลูกเตะในตำนานในปี ค.ศ. 1997 ที่ทำเอาคนทั้งสนามตกตะลึงไปตามๆ กันได้ นั่นคือ ลูกเตะฟรีคิกของ
โรเบอร์โต คาร์ลอส (Roberto Carlos) นักฟุตบอลชาวบราซิลในแมตช์ระหว่างบราซิลและฝรั่งเศส
ตอนนั้นเขาเตะฟุตบอลห่างจากประตูออกไป 30 เมตรและเฉียงออกไปทางขวาเล็กน้อย โดยมีกำแพงนักฟุตบอลทีมตรงข้ามขวางอยู่ระหว่างทาง
โรเบอร์โต คาร์ลอส รวมกำลังเตะบอลให้ลอยเฉียงออกไปทางขวาจนผ่านกำแพงนักฟุตบอลนั้นไป ซึ่งลูกฟุตบอลพุ่งออกไปทางขวาเยอะมาก แต่หลังจากนั้นไม่นานมันก็ค่อยๆ เลี้ยวโค้งวกกลับมาทางซ้าย จนเข้ามุมขวาของประตูไปอย่างไม่น่าเชื่อ
นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะคาร์ลอสซุ่มซ้อมลูกเตะนี้มานานจนอาจกลายเป็นสัญชาตญาณของเขาไปแล้ว
ลูกฟุตบอลเลี้ยวโค้งแบบนี้ได้อย่างไร?
หัวใจสำคัญอยู่ที่การหมุนปั่นของลูกฟุตบอลที่กำลังเคลื่อนที่ อากาศที่ผ่านผิวของลูกฟุตบอลแต่ละด้านจะมีความเร็วต่างกัน เมื่ออากาศไหลเร็วไม่เท่ากันก็จะมีความดันไม่เท่ากันและทำให้แรงกระทำต่อผิวของลูกฟุตบอลทั้งสองด้านไม่เท่ากันด้วย เกิดเป็นแรงรวมผลักให้ลูกฟุตบอลเลี้ยวกลางอากาศได้
นักฟิสิกส์ที่อธิบายปรากฏการณ์ลักษณะนี้ได้ คือ กุสตาฟ แมกนัส (Gustav Magnus) ในปีค.ศ.1852 เราจึงเรียกปรากฏการณ์เลี้ยวโค้งนี้ว่า ปรากฏการณ์แมกนัส ตามชื่อของเขา
การศึกษาเพิ่มเติมในภายหลังพบว่ายิ่งลูกฟุตบอลหมุนเร็วขึ้น แรงผลักให้เลี้ยวโค้งไปก็จะยิ่งมีค่ามากขึ้น แต่หากความเร็วในการเคลื่อนที่เพิ่มขึ้นด้วย แรงผลักนั้นจะลดลง ดังนั้นความเร็วในการคลื่อนที่ต้องไม่มากเกินไปจึงจะเกิดปรากฏการณ์แมกนัส
ในการเคลื่อนที่ของลูกฟุตบอลยังมีแรงอีกประเภทที่ส่งผล คือ แรงต้านอากาศ(drag force) ซึ่งมีทิศตรงข้ามทิศการเคลื่อนที่ของลูกฟุตบอล แรงต้านอากาศหลักๆแล้วขึ้นอยู่กับลักษณะของลูกฟุตบอลและความเร็วของมัน ซึ่งอากาศไหลผ่านผิวของลูกฟุตบอลสองแบบคือ
- การไหลผ่านแบบราบเรียบ (laminar flow) แรงต้านอากาศจะมีค่าสูง
- การไหลแบบปั่นป่วน (turbulent flow) แรงต้านอากาศจะมีค่าต่ำลง
ถ้าหากเตะลูกฟุตบอลออกไปด้วยความเร็วที่มากพอ จะทำให้อากาศที่สัมผัสผิวของลูกฟุตบอลนั้นมีการไหลแบบปั่นป่วน แรงต้านอากาศที่ต้องเผชิญจะมีค่าน้อยลง ลูกฟุตบอลจึงลอยไปได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
ทั้งหมดนี้สามารถอธิบายลูกเตะของคาร์ลอสได้ เพราะเขาเตะฟรีคิกออกไปด้วยความเร็วสูงถึง 30 เมตรต่อวินาที จนอากาศไหลแบบปั่นป่วน แรงต้านการเคลื่อนที่ของลูกฟุตบอลจึงมีค่าน้อยลง
วันนั้นฝนไม่ตก เท้าของเขาจึงสัมผัสลูกฟุตบอลได้ดีและทำให้ลูกฟุตบอลหมุนได้เร็วถึงประมาณ 10 รอบต่อวินาที เมื่อลูกฟุตบอลลอยมาระยะหนึ่งจนผ่านกำแพงนักฟุตบอลฝั่งตรงข้าม ความเร็วของมันค่อยๆ ลดลง สันนิษฐานว่าอัตราการหมุนไม่ได้ลดลงนัก ลูกฟุตบอลจึงเลี้ยวโค้งได้มากขึ้นๆ เมื่อใกล้ถึงประตู จนเลี้ยวเข้าประตูไปอย่างเฉียดฉิว
ทั้งแสดงให้เห็นปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์อย่างชัดเจนและทั้งสร้างความประทับใจให้แฟนบอลเป็นอย่างมาก
การวิจัยเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของลูกฟุตบอลยังคงมีอย่างต่อเนื่องโดยมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลก และยังได้รับการสนับสนุนจากบริษัทธุรกิจกีฬามากมาย เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจทางฟิสิกส์และพัฒนาความสามารถของทั้งนักกีฬาและอุปกรณ์กีฬาให้ดีมากขึ้นไปอีก
อ้างอิง
https://physicsworld.com/a/the-physics-of-football/