ชีวิตรักของแพนด้าแดง (Red Panda)
ซุนดาร์คือชื่อของแพนด้าแดงฝ่ายชาย คูซีคือชื่อของแพนด้าแดงฝ่ายหญิง พ่อสื่อแม่ชักในนิวซีแลนด์แนะนำให้พวกมันรู้จักกันในถิ่นอาศัยของแพนด้าแดงที่สวนสัตว์เวลลิงตัน จุดประสงค์คือเพื่อการสืบพันธุ์
.
เครือข่ายของโครงการขยายพันธุ์ในสถานเพาะเลี้ยงทั่วโลกแบ่งปันและจับคู่สัตว์ต่างๆ โดยหวังจะเพิ่มจำนวนประชากรให้ชนิดพันธุ์ที่ตกอยู่ในความเสี่ยง และส่งเสริมความหลากหลายทางพันธุกรรม เมื่อซุนดาร์และคูซีจากสวนสัตว์อื่นมาถึงสวนสัตว์เวลลิงตันเมื่อปี 2015 พวกมัน “เข้ากันได้ดีมากค่ะ” แมกซีน เจนกินส์ หัวหน้าทีมดูแลสัตว์กินเนื้อของสวนสัตว์ บอก ถึงกระนั้น การเริ่มครอบครัวของแพนด้าแดงหรือ red panda ก็ต้องใช้เวลา เพราะเพศเมียเป็นสัดเพียงปีละครั้ง ครั้งละแค่ 24 ชั่วโมงเท่านั้น
.
วันหนึ่งในเดือนกรกฎาคม ปี 2017 คนดูแลสวนสัตว์สังเกตเห็นพฤติกรรมการเกี้ยวพาราสีกัน ได้แก่ การส่งเสียงร้องดังลั่น ซุนดาร์บังคับคูซีให้ลงจากต้นไม้ไปยังพื้นดิน ติดตามคูซีอยู่นานหลายชั่วโมง และแล้วทั้งคู่…ก็ผสมพันธุ์กัน ไม่กี่เดือนต่อมา เริ่มมีสัญญาณบางอย่างปรากฏ นั่นคือคูซีดูตัวหนักขึ้นเล็กน้อย และเก็บรวบรวมกิ่งไม้กับใบไม้เพื่อสร้างรัง
.
พอถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2017 คูซีให้กำเนิดลูกซึ่งได้รับการตั้งชื่อว่า งีมา คำในภาษาเนปาลที่แปลว่า “ดวงอาทิตย์บนท้องฟ้า” เจนกินส์บอกว่า สักวันหนึ่งงีมาอาจ “เป็นส่วนหนึ่งของโครงการขยายพันธุ์เช่นกันค่ะ”
.
ถิ่นอาศัย/ถิ่นกระจายพันธุ์
.
Ailurus fulgens หรือที่รู้จักกันในชื่อแพนด้าแดง อาศัยอยู่ในบางส่วนของประเทศจีน ภูฏาน อินเดีย เมียนมา และเนปาล ถิ่นอาศัยที่มันโปรดปราน ได้แก่ เชิงเขาที่ลาดชันเล็กน้อย ป่าเขตอบอุ่น และไม้พื้นชั้นล่างที่เป็นต้นไผ่ (แหล่งอาหารหลัก)
.
สถานะการอนุรักษ์
.
องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติหรือไอยูซีเอ็น (IUCN) ประเมินว่า แพนด้าแดงอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ จำนวนโดยประมาณในธรรมชาติอยู่ระหว่าง 2,500 ถึง 10,000 ตัว ถิ่นอาศัยของมันเสื่อมโทรมและกระจัดกระจายจากกิจกรรมของมนุษย์ แพนด้าแดงถูกล่าเพื่อการค้าสัตว์เลี้ยง และสุ่มเสี่ยงต่อโรคที่แพร่กระจายจากปศุสัตว์
.
ข้อมูลน่าสนใจอื่นๆ
.
ความเชื่อท้องถิ่นในภูฏานบอกว่า แพนด้าแดงเป็นการกลับชาติมาเกิดใหม่ของพระในพุทธศาสนา และการได้เห็นแพนด้าแดงถือเป็นลางดี
.
เรื่อง: แพทริเซีย เอดมันด์ส