การลุกฮือแห่ง “กวางจู” ปรากฏการณ์ที่ทำให้วงจรรัฐประหารในเกาหลีใต้สิ้นสุด
18 พฤษภาคม: การลุกฮือแห่ง “กวางจู” ปรากฏการณ์ที่ทำให้วงจรรัฐประหารในเกาหลีใต้สิ้นสุด
การลุกฮือแห่งกวางจูมีสาเหตุเริ่มมาจากความพยายามในการทำรัฐประหารของ ชุน ดูฮวาน (Chun Doo-Hwan) ผู้นำทหารที่ยึดอำนาจภายในกองทัพไว้ได้ในเดือนธันวาคม 1979 ก่อนบีบให้รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศขยายพื้นที่บังคับใช้ “กฎอัยการศึก” ไปทั่วประเทศในวันที่ 17 พฤษภาคม 1980 ซึ่งเท่ากับเป็นการบังคับโอนอำนาจบริหารมาไว้ที่กองทัพโดยปริยาย
ก่อนหน้านั้นไม่นาน นักศึกษาและประชาชนจำนวนหนึ่งได้เริ่มออกมาประท้วง เพราะเกรงว่า กองทัพภายใต้การนำของชุน ดูฮวาน กำลังนำพาประเทศไปสู่ยุคเผด็จการเบ็ดเสร็จเช่นเดียวกับสมัยอดีตประธานาธิบดีปาร์ก จุงฮี (Park Chung-Hee) โดยมีเมืองกวางจู (Gwangju) เมืองเอกทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ซึ่งมีประวัติศาสตร์ในการต่อต้านระบอบเผด็จการมาตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดีปาร์ก เป็นศูนย์กลางของการต่อต้านการยึดอำนาจของ ชุน ดูฮวาน
วันที่ 18 พฤษภาคม นักศึกษาราว 5,000 คน ได้ออกมารวมตัวประท้วงในเมืองกวางจู ก่อนถูกฝ่ายรัฐบาลใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม โดยได้รับการอนุมัติจาก “สหรัฐฯ” ที่ยังคงดูแลกองกำลังผสมเกาหลีใต้-สหรัฐฯมาตั้งแต่ยุคสงครามเกาหลี ซึ่งรัฐบาลยังได้จับกุมตัว “คิม แดจุง” แกนนำฝ่ายค้านที่ภายหลังได้กลายเป็นประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ไว้ด้วย โดยรัฐบาลกล่าวหาว่าเขาและรัฐบาลคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนืออยู่เบื้องหลังการปลุกปั่นนักศึกษาให้ก่อการจลาจล
ความพยายามในการควบคุมการชุมนุมด้วยความรุนแรงยิ่งทำให้ประชาชน ออกมาร่วมการชุมนุมกับนักศึกษามากขึ้น และผู้ประท้วงก็เริ่มตอบโต้ฝ่ายอำนาจรัฐด้วยอาวุธจำพวกมีด ไม้ ค้อน ระเบิดเพลิง ขณะที่ฝ่ายรัฐรับมือด้วยตำรวจปราบจลาจล 18,000 นาย บวกกับหน่วยพลร่มอีก 3,000 นาย แต่ในวันที่ 21 พฤษภาคม รัฐบาลก็ตัดสินใจถอนกำลัง ชาวกวางจูจึงประกาศว่าเมืองของพวกเขาได้รับการปลดปล่อยจากการปกครองโดยคณะทหารแล้ว
หลังเหตุการณ์ผ่านพ้นไปอย่างเงียบสงบได้เพียง 6 วัน ในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 27 พฤษภาคม กองทัพเกาหลีใต้ได้เคลื่อนทัพเต็มอัตราศึกทั้งรถถัง รถหุ้มเกราะ และเฮลิคอปเตอร์ เข้าโจมตีใส่ผู้ชุมนุมอย่างไม่เลือกหน้า ทำให้สามารถสลายการชุมนุมที่ดำเนินมานับสิบวันได้ภายในเวลาเพียงสองชั่วโมง
ภายหลังรัฐบาลได้ออกมาแสดงความเสียใจ ก่อนย้ำถึงความจำเป็นของการใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมเพื่อกำจัดภัยจากคอมมิวนิสต์ พร้อมอ้างว่า ผู้ที่ถูกควบคุมตัวทั้งหมดล้วนเป็นกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรง ส่วนตัวเลขผู้เสียชีวิตรัฐบาลอ้างว่ามีราว 200 ราย ขณะที่ชาวบ้านและนักศึกษายืนยันว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตน่าจะมีเกือบ 2,000 ราย
แม้การลุกฮือของประชาชนในครั้งนั้นจะประสบกับความพ่ายแพ้ แต่อารมณ์ร่วมของประชาชนต่อเหตุการณ์ดังกล่าวยังส่งผลต่อพัฒนาการทางการเมืองในลำดับต่อมา นำมาซึ่งการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงเป็นครั้งแรก ส่วนการที่สหรัฐฯให้ท้ายเผด็จการทหารก็นำมาซึ่งความรู้สึกต่อต้านสหรัฐฯอย่างรุนแรงในบรรดานักศึกษาและนักกิจกรรม
ขณะที่ ชุน ดูฮวาน และโรห์ แตวู (Roh Tae-Woo ผู้สืบทอดอำนาจต่อจากชุน) เมื่อสิ้นอำนาจก็ถูกดำเนินคดีฐานก่อจลาจล เป็นกบฏ และคดีทุจริต สืบเนื่องจากการรัฐประหารในปี 1979 และ การสังหารหมู่ในกวางจู โดยชุนต้องโทษประหารก่อนได้รับการลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต ส่วนโรห์ต้องโทษจำคุก 22 ปี 6 เดือน ก่อน คิม แดจุง ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งคนที่สองของเกาหลีใต้ และอดีตนักโทษในเหตุจลาจลที่กวางจูจะอภัยโทษให้ผู้นำเผด็จการทั้งสองในปี 1997
เครดิต เพจศิลปวัฒนธรรม